|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2548
|
 |
เมื่อ GM บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สุดของโลก มาบวกกับ Fiat ที่เคยเป็นความภูมิใจของคนอิตาลี ผลลัพธ์คือข้อตกลงที่น่าขายหน้า
เดือนที่แล้ว (ม.ค.) Richard Wagoner CEO ของ General Motors หรือ GM บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สุดของโลก มีภารกิจเร่งด่วนสำคัญที่ไม่เหมือนใครให้ต้องไปจัดการ นั่นคือ การหาทาง "หลีกเลี่ยง" ที่จะไม่ซื้อหุ้น 90% ของ Fiat
เพราะการที่จะต้องเข้าไปแบกรับภาระบริษัทรถยนต์ที่กำลังประสบปัญหาหนักกว่าที่ตัวเองกำลังเจอ คงจะเป็นสิ่งสุดท้ายในโลกนี้ที่ GM ต้องการจะทำ
เกิดอะไรขึ้นกับ GM บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สุดของสหรัฐฯ และของโลก และ Fiat บริษัทรถยนต์ที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนอิตาลีทั้งชาติ
นั่นเป็นผลพวงจากข้อตกลงประหลาดที่ทำขึ้นตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อ GM ตกลงซื้อหุ้นมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ ของ Fiat และให้สิทธิ์ put option แก่ Fiat ที่สูงอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งจะทำให้ Fiat มีสิทธิ์ที่จะบังคับให้ GM ซื้อหุ้นของ Fiat ที่เหลือทั้งหมดอีก 90%
ถ้าถามคนอิตาลี หลายคนเชื่อว่า นี่เป็นวิธีที่ Gianni Agnelli ผู้ก่อตั้ง Fiat เตรียมจะสลัดทิ้ง Fiat อย่างเงียบๆ โดยไม่ต้องขายทิ้งอย่างโฉ่งฉ่าง
5 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการควบรวมกิจการกำลังแพร่สะพัดอย่างรุนแรงทั่วโลก ทำให้ Wagoner เหมือนถูกบีบให้ต้องตัดสินใจยอมให้สิทธิ์ put option ดังกล่าวแก่ Fiat เนื่องจากกลัวว่า Daimler บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ซึ่งเพิ่งจะซื้อ Chrysler มาหยกๆ จะมาแย่งตัดหน้าซื้อ Fiat ไปเสียก่อน
และขณะนี้ Fiat ก็สามารถใช้สิทธิ์ option ดังกล่าวได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นที่มาของภารกิจที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใครของ Wagoner ดังกล่าว ที่กำลังจะกลายเป็นการเข้าครอบครองกิจการแบบปรปักษ์ ที่ผู้ขายกลับกลายเป็นฝ่ายมัดมือชกผู้ซื้อ และยังความอับอายขายหน้าให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยถ้วนหน้า
โดยข้อตกลงดังกล่าวทำให้ Sergio Marchionne CEO ของ Fiat กล้ากล่าวหา GM ว่า ผิดสัญญาที่จะลงทุนในบริษัท Fiat Auto และแสดงท่าทีที่จริงจังเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้สิทธิ์ put option บังคับให้ GM ซื้อหุ้น Fiat ทั้งหมด
นั่นหมายถึง GM จะต้องจ่ายเงินถึง 8 พันล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อกิจการบริษัทผลิตรถยนต์ที่กำลังขาดทุนถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2004 พร้อมด้วยภาระหนี้จำนวนมหาศาล และอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ junk bond
และสำหรับ Wagoner แล้ว นี่คือความล้มเหลวอีกครั้ง หลังจากการซื้อกิจการครั้งแล้วครั้งเล่าที่ล้วนแล้วแต่ทำให้ GM มีแต่สิ้นเปลืองเงินทอง และนักวิเคราะห์ยังเชื่อว่า จะเป็นความล้มเหลวครั้งที่อาจมีผลถึงขั้นสังเวยด้วยตำแหน่งของเขา ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงว่า GM กำลังถูกปัญหารุมเร้า ทั้งราคาหุ้นที่ตกลงไปแล้วถึง 50% นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เนื่องจากยอดขายตกต่ำ และส่วนแบ่งตลาดหดตัว และเมื่อเดือนที่แล้ว (ม.ค.) บริษัทแม่ยังจำเป็นต้องเข้าเทกโอเวอร์บริษัท Saturn ซึ่งมีปัญหา
คงจะเป็นช่วงเวลาที่แปลกประหลาดมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจโลก เมื่อผู้ซื้อกลับต้องเป็นฝ่ายอ้อนวอนขอความเมตตาจากผู้ขาย Marchionne CEO ของ Fiat ยืนยันอย่างมะนาวไม่มีน้ำว่า ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับ GM เมื่อ 5 ปีก่อนนั้น GM ไม่มีทางเลือกอื่นอีก และรายงานของธนาคาร Citigroup ก็ระบุว่า Fiat มีโอกาสจะชนะค่อนข้างแน่ หากเลือกที่จะใช้สิทธิ์ put option โดยขอให้ศาลมีคำสั่ง
ในช่วงเวลาที่ใครๆ กำลังเชื่อกันว่า กระแสการควบรวมกิจการกำลังจะฟื้นคืนชีพ ขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้ (2005) เรื่องราวของ GM กับ Fiat กำลังกลายเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการทำอย่างไรจึงจะทำให้ข้อตกลง "ไม่บรรลุผลสำเร็จ"
GM นั้นเป็นนักซื้อกิจการตัวยง อันมีพื้นฐานมาจากปรัชญาสำคัญของบริษัท ที่ต้องการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ตลอดเวลา ส่วน Wagoner ขึ้นกุมบังเหียนต่อจาก Jack Smith ตั้งแต่ปี 1998 และเช่นเดียวกับ Smith คือตั้งหน้าตั้งตาซื้อกิจการในต่างประเทศเป็นว่าเล่น ทั้งกิจการในเอเชียและยุโรป จน GM ได้ฉายาว่าบริษัทรถยนต์ที่ช่างซื้อที่สุดในโลก
แต่น่าเสียดายที่ความช่างซื้อของ GM หาได้สร้างประโยชน์โภชน์ผลอันใดให้แก่ GM ไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงกับ Fiat ในคราวนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงซื้อกิจการที่ GM ไม่เคยยอมให้ใครมากเท่านี้มาก่อน การซื้อกิจการที่แล้วๆ มาทั้งหมดของ GM ค่อนข้างอนุรักษนิยม โดยจะซื้อหุ้นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แม้กระนั้นกิจการส่วนใหญ่ที่ซื้อมาก็ไม่มีอะไรน่าพอใจ
ในปี 1998 GM เพิ่มหุ้นใน Isuzu ขึ้นเป็น 10% 4 ปีต่อมา GM ต้องควักกระเป๋า อีก 420 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยไม่ให้ Isuzu ต้องล่มสลาย ส่วน Saab ของสวีเดนที่ซื้อมาก็ยังคงมียอดขายตกต่ำ ปี 2002 ซื้อ Daewoo ของเกาหลีซึ่งกำลังล้มละลาย และซื้อหุ้น 40% ของ Atovoz บริษัทรถยนต์ของรัสเซีย ซึ่งมีปัญหาคนล้นงานอย่างหนัก โดยใช้คนงานมากกว่า 100,000 คน ผลิตรถยนต์เพียง 750,000 คัน
ส่วนกิจการที่ GM ลงทุนแล้วประสบความสำเร็จมีอยู่เพียง Suzuki ของญี่ปุ่น และ Shanghai Automotive Industry ของจีนเท่านั้น
สำหรับในกรณีของ Fiat เมื่อ 5 ปีก่อน GM หวังว่า การ ยอมให้สิทธิ์ put option แก่ Fiat จะช่วยให้ความเป็นพันธมิตรในอนาคตระหว่าง 2 บริษัทแนบแน่น เนื่องจากในปี 2000 นั้น Fiat ยังไม่ได้อยู่ในสภาพย่ำแย่ขนาดนี้ ราคาหุ้นของ Fiat ยังอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ ไม่ใช่ 6 ดอลลาร์อย่างตอนนี้ และภาระหนี้สินก็ยังไม่ชัดเจน
GM ลนลานไขว่คว้า Fiat เพราะไม่ต้องการยกตลาดรถยนต์ขนาดเล็กของยุโรปมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ Daimler Chrysler คู่แข่งจากเยอรมนีซึ่งก็กำลังจีบ Fiat อยู่เช่นกันในขณะนั้น ซ้ำยังมีข่าวลือว่าตกลงกันได้ลอยมาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ข้อตกลงระหว่าง GM กับ Fiat จึงสำเร็จลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีข่าวรั่วแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม Fiat เองก็กดดันอย่างมากในการที่จะขายหุ้น เนื่องจากขณะนั้น Ginanni Agnelli ยังไม่พร้อมจะขายทิ้ง Fiat ทั้งหมด อย่างที่ Daimler ต้องการและพอใจข้อเสนอของ GM มากกว่า และความกลัวของ GM ว่าจะสูญเสียตลาดรถยนต์ในยุโรป ได้กลายมาเป็นข้อต่อรองที่ทำให้ Fiat ได้สิทธิ์ put option อย่างที่ไม่มีใครเคยได้มาก่อน
แรงกดดันจากการแข่งขันทำให้ GM มองข้ามความล้มเหลวของ Fiat ซึ่งรวมถึงการเปิดตัว world car ของ Fiat ซึ่งออกแบบมาเพื่อหวังจะขายได้ในทุกตลาดตั้งแต่เอเชียยันอเมริกา แต่กลับล้มเหลว และส่งผลสั่นคลอนอนาคตของ Fiat
ตั้งแต่นั้นมา Fiat เปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุดไปแล้ว 5 คน ยิ่งเมื่อ Gianni และ Umberto Agnelli เจ้าของ Fiat เสียชีวิต โดยไม่มีผู้สืบทอดที่ชัดเจน Fiat ก็ยิ่งประสบปัญหาทางการเงินขนาดหนักจนต้องขายทิ้ง Fidis บริษัทให้บริการการเงินในเครือ Fiat Auto ทำให้ GM อ้างว่า Fiat ทำผิดข้อตกลง ซึ่งน่าจะส่งผลให้สิทธิ์ put option เป็นโมฆะ
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา GM กับ Fiat ร่วมมือกันน้อยมาก มีเพียงรถรุ่น Croma เท่านั้นที่กำหนดจะเปิดตัวในเดือนหน้า (มี.ค.) และ GM ไม่เคยคิดว่า Fiat จะใช้สิทธิ์ put option จริงๆ
อย่างไรก็ตาม เรื่องอาจจะลงเอยที่ GM อาจต้องยอมจ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อดิ้นให้หลุดจาก put option แต่หากตกลงกันไม่ได้ อาจเป็นหนังเรื่องยาวในศาล แต่ Citibank คาดว่าโอกาสที่ Fiat จะตัดสินใจมัดมือชก GM คงจะมีเพียง 10%
แต่ในอิตาลีก็ยังเชื่อกันว่า ตระกูล Agnelli ซึ่งเหน็ดเหนื่อยกับปัญหาที่ไม่สิ้นสุดของ Fiat คงจะต้องปล่อยบริษัทไปแน่ๆ หากไม่สามารถขายให้ GM ได้ Fiat ก็คงจะต้องมองหาผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่งยังคงมีมาให้เลือกได้แก่ Renault, Peugeot และ Daimler Chrysler เจ้าเก่า ที่เคยเป็นคู่แข่งแย่งซื้อ Fiat กับ GM เมื่อ 5 ปี ก่อน จนเป็นที่มาของข้อตกลงที่แปลกประหลาดระหว่าง Fiat กับ GM ดังกล่าว
แปลและเรียบเรียงจาก Newsweek January 17, 2005
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
 |
|
|