Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2529
“จิราธิวัฒน์และห้างเซ็นทรัลกำลังจะผ่านเข้าสู่ยุคที่สาม ยุคที่ห้างเซ็นทรัลอาจไม่ใช่ของจิราธิวัฒน์!?”             
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ บุญศิริ นามบุญศรี
 

 
Charts & Figures

เปอร์เซ็นต์การถือหุ้นของสมาชิก "จิราธิวัฒน์" ในบริษัทหลักของกลุ่มเซ็นทรัล


   
www resources

โฮมเพจ เซ็นทรัลกรุ๊ป

   
search resources

เซ็นทรัลกรุ๊ป
สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์
วันชัย จิราธิวัฒน์
Shopping Centers and Department store




ห้างเซ็นทรัลสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ซื้อมา 40 ปีเต็ม จนจะกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทย ห้างนี้ยืนยงคงกระพัน แม้ท่ามกลางพายุการแข่งขันที่รุนแรง ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปลายปี 2527 เป็นต้นมา สำหรับคนในตระกูล "จิราธิวัฒน์" ผู้สร้างและผู้บริหารห้างนี้แล้วมันไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก แต่ปัญหาอนาคตเกี่ยวกับโครงสร้างบริหารนี่สิ เป็นปัญหาใหญ่หลวง…

เมืองไทยในปี 2522-2523 เหมือนตั้งอยู่บนปากเหว

หลังจากลัทธิคอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลยึดครองหลายประเทศด้านตะวันออกของไทย และเป็นที่คาดหมายกันอย่างหวาดหวั่นว่าเป้าหมายต่อไปก็คือไทย

ต้นปี 2522 ชาวกัมพูชาเรือนหมื่นกลุ่มแรกได้อพยพหนีตายจากแผ่นดิน ที่บ้านแตกสาแหรกขาดเข้าสู่ดินแดนไทย ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน (เดือนมิถุนายน) หมู่บ้านชายแดนไทยด้านตะวันออก 3 แห่งถูกโจมตีโดยทหารต่างชาติอย่างหนักหน่วง ภาพหวาดกลัวจากทฤษฎีโดมิโนชัดเจนและเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นๆ ทุกขณะ

ข่าวระดับลึกรายงานว่าเศรษฐีไทยและนักลงทุนกำลังขนเงินออกนอกประเทศ บรรยากาศการลงทุนอึมครึมที่สุด

ห้วงเวลาเดียวกันวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเมืองไทย ค่าครองชีพทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดอกเบี้ยเงินกู้จากระบบธนาคารสูงลิ่วเกือบจะชนเพดาน 20%

แต่ในปีเดียวกันนั้นบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนาของตระกูลจิราธิวัฒน์ ชนะการประมูลเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ณ บริเวณสามเหลี่ยมถนนวิภาวดีรังสิต ตัดกับถนนพหลโยธิน และได้ประกาศโครงการสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดมหึมาขึ้น บนที่ดินตรงนั้น

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัลเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า เซ็นทรัลพลาซ่าเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกของเมืองไทย ที่ต้องใช้เงินลงทุนนับพันล้านบาทบนที่ดินที่ไม่ใช่ของ "จิราธิวัฒน์" และอยู่ชานเมืองอย่างโดดเดี่ยวทั้งยังไม่เป็นที่ยอมรับของวงการธนาคารพาณิชย์

"ก่อนจะลงมือทำได้ก็ต้องผ่านมรสุมหนักหน่วงจากหลายฝ่าย หนังสือพิมพ์บางฉบับเขียนโจมตีว่าเอาสวนมาทำศูนย์การค้าบ้าง เอาที่ดินเวนคืนมาทำศูนย์การค้าบ้างก็ว่าจับเสือมือเปล่าจนต้องถูกระงับไว้ชั่วคราว…" เขากล่าวอย่างเจ็บปวด

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ห้างเซ็นทรัลเจ้าของธุรกิจค้าปลีกรายแรกและใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ได้เริ่มก่อสร้างห้างสรรพสินค้าครั้งแรกที่ฝั่งธนฯ ลาดหญ้าและวังบูรพา (2) ควบคู่กันไป

วงการธนาคารชี้ว่า เป็นครั้งแรกที่จิราธิวัฒน์เปิดศักราชเอาที่ดินและทรัพย์สินค้ำเงินกู้ธนาคาร พร้อมๆ กับการขวนขวายกู้เงิน OFFSHORE

วีรกรรมของจิราธิวัฒน์ในยุคที่สองครั้งนั้น ได้จารึกอยู่ในความทรงจำของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน จนหลายคนเอ่ยปากชม

จิราธิวัฒน์ผ่านยุคแรก (2490-2511) โดยมีเตียง จิราธิวัฒน์เป็นผู้บุกเบิกแผ้วทางมาแล้ว (โปรดอ่าน "ตำนานเซ็นทรัล ยุคแรกคือชีวิตและงาน นี่เตียง แซ่เจ็ง" ในล้อมกรอบเรื่องเดียวกันนี้)

เซ็นทรัลยุคที่สองเริ่มขึ้นเมื่อเตียง จิราธิวัฒน์ลาโลกไปโดยไม่สั่งเสีย ทิ้งห้างเซ็นทรัลสาขาสีลมให้ขาดทุนแทบจะไม่เห็นอนาคต ทิ้งทายาทจากภรรยา 3 คนจำนวน 26 คนโดยไม่มีพินัยกรรม แต่สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ บุตรชายคนโตจากภรรยาคนแรก เข้ามากอบกู้สถานการณ์พร้อมผนึกกำลังจิราธิวัฒน์เข้าเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

"ตอนนั้นไม่มีพินัยกรรม ก็ได้ทางแบงก์ช่วย เขาถามว่าเรารวมกันได้ไหม เขาจะแขวนหนี้ให้ 3 ปี เนื่องจากครอบครัวเราดูแลกันตามอายุ เมื่อคุณพ่อเสีย พี่ใหญ่ก็จัดการ ทุกคนลงชื่อเห็นด้วย ไม่ต้องให้ศาลพิจารณานาน…" วันชัย จิราธิวัฒน์ เปิดอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์เองก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "…ผมไปหานายแบงก์ 3 ท่าน คือคุณอุเทน (เตชะไพบูลย์) คุณชิน (โสภณพานิช) และคุณบุญชู (โรจนเสถียร) ไปเล่ารายละเอียดให้ท่านฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร แล้วถามทางแบงก์ว่าจะให้ผมใช้หนี้ที่ทำโอดีไว้ หรือจะให้โอดีต่อ พวกท่านก็ให้ความร่วมมือดีบอกว่าไม่เป็นไร ยังไม่เอาคืน แถมให้เพิ่มอีกด้วย และผมก็มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ทุกรายว่า ถ้าใครต้องการเก็บเงินที่ผมก็ให้มาเก็บได้เลย แต่ไม่มีใครมา…"

อุปสรรคความลำบากของเซ็นทรัลยุคแรกเมื่อปี 2490 กับปี 2511 จึงแตกต่างราวฟ้ากับดิน

สมัยเมื่อ 40 ปีก่อน เตียง จิราธิวัฒน์ มีความอดทนเป็นเลิศและความประหยัดสุดเหวี่ยง สยบปัญหาผลักดันธุรกิจก้าวหน้าออกไป

แต่เซ็นทรัลในยุคใหม่เมื่อรวมพลัง จิราธิวัฒน์แล้ว ต้องเผชิญปัญหารากเหง้าของการค้าปลีกเลยทีเดียวคือ MARKETING ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานของธุรกิจทั่วไปคือ FINANCING

ประการหลังสัมฤทธิ์ นำทีมแก้ตกไปแล้วส่วนหนึ่ง

ห้างเซ็นทรัลสีลม บนเนื้อที่ 2 ไร่ พื้นที่ขายสินค้า 11,311 ตารางเมตรของตึกสูง 9 ชั้นเงียบเหงาอย่างมาก นอกจากตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่ใช่ย่านการค้าแล้ว ห้างสรรพสินค้าปรับอากาศใหญ่ที่สุดในเวลานั้นก็เป็นภาพใหม่ ที่คนเกรงกันว่าราคาสินค้าจะสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ความเงียบเหงามาพร้อมกับการขาดทุนถึง 2 ปีเต็ม

นักธุรกิจรุ่นเก่าที่เติบโตมากับถนนสีลม ซึ่งถูกขนานนามต่อมาว่าวอลท์สตรีทเมืองไทยเล่าว่า กว่าห้างเซ็นทรัลจะทำความเข้าใจให้ลูกค้ารู้ว่า สินค้าของตนมิได้แพงกว่าร้านที่ไม่ได้ติดแอร์นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร เวลาช่วยได้มาก ซึ่งมันคลี่คลายไปพร้อมกับถนนสีลมที่ค่อยๆ แปรสภาพเป็นย่านธุรกิจสำคัญเป็นลำดับ

สำหรับวันชัย จิราธิวัฒน์ คีย์แมน 1 ใน 5 คนของห้างเซ็นทรัลในเวลานั้น เปิดเผยยุทธวิธีการเรียกคนเข้าห้างสีลมและได้รับความสำเร็จอย่างดี คือการจัดงานแสดงสินค้าจากต่างประเทศ "คุณคงจำได้ว่าการจัดงานแสดงสินค้าอิตาลีของเซ็นทรัล ซึ่งเป็นการส่งเสริมการขายครั้งแรกของห้างสรรพสินค้าเมืองไทยเป็นที่ฮือฮากันมาก"

เขาบอกว่าได้รับความร่วมมือด้วยดีจากสถานทูต ทำให้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ การแสดงสินค้าบางรายการที่ตื่นเต้น เช่น การเป่าแก้วถึงกับลงทุนยกเตาขึ้นเครื่องบินมาจากอิตาลีกันเลยทีเดียว และจากความสำเร็จครั้งนั้น ห้างเซ็นทรัลสีลมก็เปิดงานแสดงสินค้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจากชาตินั้นมาชาตินี้ จากอิตาลีไปอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ

ยุทธวิธีนี้เซ็นทรัลจะนำมาใช้เสมอเมื่อมีปัญหาการขาย จะเห็นได้ชัดที่เซ็นทรัลลาดพร้าวซึ่งได้ดำเนินการตามสิ่งที่สืบทอดมาแต่อดีตเป็นปีๆ จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นแผนการส่งเสริมการขายของห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ด้วย

วันชัยยกความดีของยุทธวิธีนี้ให้กับสัมฤทธิ์ โดยอ้างว่าพี่ของเขาเป็นคนต้นคิด

ท่ามกลางการแก้ปัญหานี้ ผู้บริหาร 5 คนแรกของเซ็ฯทรัล (สัมฤทธิ์ วันชัย สุทธิพร สุทธิชัย และสุทธิเกียรติ) ได้จัดขบวนดีขึ้น แม้จะใช้เวลาพอสมควร เป้าหมายที่เด่นชัดต่อไปของห้างเซ็นทรัลนั้นอยู่ที่ย่านศูนย์การค้าราชประสงค์ ที่เคยพยายามแล้วสมัยพ่อแต่ไม่สำเร็จ ปี 2517 ห้างเซ็นทรัลสาขาชิดลม ก็อุบัติขึ้นและได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยขณะนั้น และพัฒนาปรับปรุงจนเป็นห้างฯ ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันด้วย

จะต้องย้อนกลับไปจับภาพปัจจัยความเติบโตของห้างเซ็นทรัลให้ชัดขึ้นเสียก่อน ห้างเซ็นทรัลตั้งแต่ยุคแรก (เตียง จิราธิวัฒน์) ยุคที่สอง (ภายใต้การนำของสัมฤทธิ์) เดินมาได้ด้วย 2 ขา หนึ่ง - การนำเข้าสินค้ามาขายเริ่มด้วยหนังสือจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อปี 2500 เขามีห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง (วันชัย จิราธิวัฒน์ รับผิดชอบ) เพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ไล่เลี่ยกับห้างที่วังบูรพาเกิดขึ้น สอง - การพัฒนาระบบขายปลีกในรูปของห้างสรรพสินค้า

ปี 2516-7 เมืองไทยเกิดวิกฤติการณ์การเมืองอีกครั้งหนึ่ง ขบวนการนักศึกษาประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมือง เป้าหมายหนึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่น ปลุกกระแสชาตินิยม ต่อต้านสินค้าต่างประเทศ ในปีที่เซ็นทรัลเปิดห้างที่ชิดลม "จิราธิวัฒน์" ไม่กล้าแม้แต่จะติดป้ายห้างเป็นภาษาอังกฤษ

ว่ากันว่าเงื่อนไขเหล่านั้นผลักดันให้เซ็นทรัลเข้าสู่อุตสาหกรรม บริษัทเซ็นทรัลการ์เม้นท์แฟคตอรี่ (สุทธิพร จิราธิวัฒน์ รับผิดชอบ) ในเวลาใกล้เคียงกับห้างชิดลม อันเป็นจุดบรรจบครั้งแรกของธุรกิจค้าปลีกครบวงจรในเมืองไทย

สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ทายาทจิราธิวัฒน์ระดับหัวแถวของกลุ่มปฏิบัติงานเคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่เซ็นทรัลต้องบุกเบิกอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก่อน เพราะว่าดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ขายเสื้อผ้ามากที่สุดถึง 30-40% ของร้าน แต่ในทรรศนะเขาคิดว่าการมีโรงงานของตนเองทำการตลาดได้ง่ายกว่าการนำเข้า

วันชัยบอกว่าโรงงานเสื้อผ้าเดินเครื่องห้างชิดลมก็เปิดไปแล้ว 1 ปี โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่คลองตัน ผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อแมนฮัตตัน

"มันเป็นการวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ พอประเทศเจริญขึ้นก็ควบคุมสินค้านำเข้าบ้าง ตั้งกำแพงภาษีสูงบ้าง เราก็มองว่าควรจะมีแรงงาน โดยอาศัย NOWHOW จากบริษัทในต่างประเทศที่เราเป็นเอเยนต์เขาอยู่ โดยส่วนใหญ่คิดเป็นเปอร์เซนต์ของยอดขาย ลักษณะเช่นนี้เราเริ่มทีหลังฮ่องกง" เขาอธิบายเหตุผลและรายละเอียด

ห้างเซ็นทรัลชิดลมตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ อันเป็นที่ดินที่เตียง จิราธิวัฒน์ซื้อไว้นานแล้ว ด้วยราคาเพียงตารางวาละ 7000 บาท (ขณะสร้างราคาเป็นแสน) จากอธิบดีกรมสรรพากรคนหนึ่ง ผู้รู้เล่าให้ฟังที่ดินผืนนี้เดิมมีบ้านขนาดใหญ่หลังหนึ่ง ทรงแบบเดียวกับพระราชวังของในหลวงที่หัวหิน เพราะสร้างโดยสถาปนิกคนเดียวกัน เตียงได้รับปากกับเจ้าของเดิมว่าจะไม่รื้อ ครั้นต่อบริษัทฟิลิปส์ขอเช่าทำ SERVICE CENTER ทำให้เสียหายบ้าง พอตกมาถึงมือลูกๆ ของเตียง เพราะความจำเป็นทางธุรกิจ บ้านหลังนั้นจึงถูกรื้อทิ้ง

วันชัยเล่าว่าห้างชิดลมนั้นมีลักษณะแตกต่างจากที่สีลมเนื่องจากผู้บริโภคย่านนี้มีกำลังซื้อสูง และขายสินค้าเครื่องใช้ในบ้านมากเป็นพิเศษ สุทธิธรรม ซึ่งเป็นผู้ดูแลการตกแต่งภายในบอก "ผู้จัดการ" ห้างชิดลมเสียค่าตกแต่งต่อตารางเมตรแพงกว่าทุกสาขาของเซ็นทรัล

ตามสไตล์ของเซ็นทรัล โครงการชิดลม เกิดขึ้นโดยอาศัยวงเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพจำนวน 60 ล้านบาท!

เซ็นทรัลสาขาชิดลมเปิดขึ้นก็กำไรทันที!

จากสายตาอันยาวไกลของเตียง จิราธิวัฒน์ สาขาชิดลมได้กลายเป็นป้อมปราการ ในยุคที่ห้างสรรพสินค้าแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา สุทธิธรรมยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ทั้งเปิดเผยว่าภายใน 1 ปีจากนี้สำนักงานใหญ่กลุ่มเซ็นทรัลจะย้ายจากสีลมมาอยู่ที่ชิดลม

ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของสาขาชิดลมก็คือ บริษัทห้างสรรพสินค้าชิดลม จำกัด ได้กลายเป็นบริษัทที่รับผิดชอบกิจการเฉพาะสาขานี้ เพียงแห่งเดียวและทำรายได้ไม่น้อยหน้าเซ็นทรัลเทรดดิ้ง, เซ็นทรัลการ์เม้นท์แฟคตอรี่ และห้างเซ็นทรัลที่มีอยู่เดิมทุกสาขา

พื้นที่ยุทธศาสตร์ตรงนี้เดิมมีพื้นที่ขายและบริการเพียง 13,357 ตารางเมตร สำนักงาน 6,267 ตารางเมตร และพื้นที่จอดรถเพียง 13,584 ตารางเมตร ปัจจุบันได้ปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ขายและบริการเป็น 48,881 ตารางเมตร สำนักงาน 15,580 ตารางเมตร และที่จอดรถเป็น 37,307 ตารางเมตร

พนักงานเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 900 คนเป็น 2,000 คน เมื่อเป็นสำนักงานใหญ่ในปลายปีนี้

การสะสมทุนของกลุ่มเซ็นทรัลถึงปี 2520 เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา (สิ้นสุดยุคแรก) ได้ก้าวกระโดดจากระดับ 100 ล้านบาท เป็นประมาณ 1 พันล้านบาทอย่างไม่ยากเย็นนัก และเพราะการที่เซ็นทรัลได้สร้างอาณาจักรในลักษณะอุตสาหกรรมทันสมัย จึงเป็นเนื้อดินในการก่อรูปลักษณ์การบริหารงาน ที่แบ่งงานกันค่อนข้างชัดเจนตามความสามารถประจำวัน (ROUTINE กับงานระดับตัดสินใจ DECISION MAKING)

สัมฤทธิ์เป็นนักวางแผน มองการณ์ไกล คุณวันชัยแกมีพรสวรรค์ทางด้านติดต่อผู้ใหญ่ได้ทุกวงการ คุณสุทธิพรเป็นผู้ที่ทำงานแล้วมองการซื้อขายได้ดีมาก… "สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์" ผู้ที่เกือบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเซ็นทรัลเคยกล่าวถึงพี่ๆ เอาไว้

สำหรับสุทธิเกียรติ ถึงแม้ตัวเองจะบอกว่าได้รวมลักษณะเด่นของพี่ๆ เอาไว้ แต่บทบาทเด่นมากๆ ที่จับต้องได้คือนักการตลาดและนักประชาสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับ ตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารฝ่ายวางแผนและการตลาด ของกลุ่มเซ็นทรัลในเวลาต่อมา

เมื่อมีห้างชิดลมลูกชายของเตียง จิราธิวัฒน์ จากเมืองนอกรุ่นที่ 2 ก็กลับมาเสริมทีมงาน สุทธิธรรม, สุทธิศักดิ์ (คุมโรงงาน) สุทธิชาติ (งานบุคคล) และสุทธิเดช

สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ผู้ที่เข้ามาทำงานพร้อมๆ กับสุทธิเกียรติ แต่กลับทำตน LOW PROFILE อย่างมากๆ นั้นแท้ที่จริงมีบทบาทอย่างสูงในกลุ่มเซ็นทรัล เขาเรียนจบปริญญาตรีทางวิศวกรรมจากประเทศอังกฤษ อายุไล่เลี่ยกับสุทธิเกียรติ (ประมาณ 40 ปี) ปัจจุบันเขาเป็น FINANCE MANAGER ของกลุ่มเซ็นทรัล ทำงานเงียบๆ กู้เงินเงียบๆ เป็นหัวใจของการขยายงานและการเติบโตของเซ็นทรัลมาจนทุกวันนี้

ว่ากันว่า เซ็นทรัลบริหารหนี้สิน (LIABILITY MANAGEMENT) เก่งกาจมาก อันนำมาซึ่งการเติบโตใหญ่และสืบทอดธุรกิจจากรุ่นพ่อคือคงความเป็นนักกู้เงินที่ดี สุทธิชัยคนนี้อยู่เบื้องหลัง

และเพราะฝีมือสุทธิชัยนี่เอง โครงการเซ็นทรัลพลาซ่าจึงดำเนินไปได้

โครงการใหญ่เซ็นทรัลพลาซ่าเกิดขึ้นในเงื่อนไขยากลำบาก สัมฤทธิ์กล่าวไว้ว่าเป็นโครงการที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไม่สนับสนุน แต่เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีที่ยาวนาน ระหว่างจิราธิวัฒน์กับธนาคารกรุงเทพ ธนาคารศรีนครและธนาคารกรุงไทย โครงการนี้จึงมีเงินกู้ภายในประเทศส่วนหนึ่ง ประกอบกับสามารถทำความเข้าใจกับธนาคารต่างประเทศ เช่น BANK OF AMERICA, SOCIETE GENERALE (ฝรั่งเศส) และ NATIONAL BANK OF CANADA ทำให้มีเงินก้อนใหญ่สำหรับหมุนเวียนโครงการ

แน่นอนสุทธิชัยคือผู้บริหารหนี้ก้อนนี้

บริษัทเซ็นทรัลพลาซ่าจัดตั้งขึ้นในปี 2523 เพื่อดำเนินศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าและห้องประชุมนานาชาติ

วันชัย จิราธิวัฒน์บอก "ผู้จัดการ" เมื่อเร็วๆ นี้ว่าความจริงโครงการเซ็นทรัลพลาซ่าที่ปากทางลาดพร้าวเริ่มแรกกะลงทุนประมาณ 4-500 ล้านบาท แต่เอาเข้าจริงต้องบานปลายออกไป โดยเฉพาะโรงแรมเดิมกำหนดไว้ขนาด 2-300 ห้อง เมื่อไปขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) วันชัยเล่าว่าบีโอไอต้องการให้สร้าง 600 ห้องก็ต้องทำตาม

"สำหรับ CONVENTION HALL ก็เหมือนกับเรา FIGHT กับรัฐบาลเขาให้เราสร้าง โดยเปลี่ยนจากโรงหนังเพราะเห็นว่าให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าและเมืองไทยไม่มี พอเราเริ่มสร้างญี่ปุ่นก็จะสร้างให้อีก คุณสมหมาย (ฮุนตระกูล) จะไปเอาญี่ปุ่นมาสร้าง แถวๆ อโศก เราต้องต่อสู้ให้ระงับไปกับรัฐบาลพูดยากเหมือนกัน" วันชัยสรุปบทเรียน

และดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่บริษัทเซ็นทรัลพลาซ่า ที่จิราธิวัฒน์ถือหุ้นเพียง 90% ที่เหลือเป็นของกลุ่มเตชะไพบูลย์ประมาณ 5%

ส่วนโรงแรม 600 ห้องนั้นมีบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาเป็นผู้บริหาร

ทั้งโรงแรมและพลาซานี้เป็นสิ่งที่จิราธิวัฒน์ "อึดอัด" มากในเวลานี้ ปัจจุบันหนี้สินรวมๆ กันก็ประมาณ 1.5 พันล้านบาท สัมฤทธิ์ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ พลาซ่าจะ BREAK EVEN ในปีหน้าตรงกับที่วันชัยยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ส่วนโรงแรมนั้นวันชัยบอกว่าคงอีกสัก 5-6 ปี ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการขยายตัวของการท่องเที่ยวด้วย

เมื่อมองเจตนาการลงทุนของจิราธิวัฒน์กับผลประกอบการที่ออกมาเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับความกล้าหาญอย่างมาก "ไม่เพียงอุปสรรคของภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น ประสบการณ์ธุรกิจที่จิราธิวัฒน์ไม่เคยจับธุรกิจนี้มาก่อนก็มีผลบ้าง แต่ปัจจัยหนึ่งที่ต้องจำยอมอย่างมากคือเขาโดนการลดค่าเงินบาทถึง 2 ครั้ง" นักธุรกิจผู้ใกล้ชิดตระกูลจิราธิวัฒน์แสดงความเห็นใจ

เขาท้าวความต่อว่า ผลกระทบการลดค่าเงินมีต่อหนี้ธนาคารต่างประเทศเป็นเงินสกุลดอลลาร์ทั้งสิ้น ซึ่งมียอดถึง 75% ของหนี้ทั้งหมด "ปี 2523 ดอกเบี้ยเงินกู้ระบบธนาคารไทยเกือบๆ 20% เขาเลยกู้จากต่างประเทศดอกเบี้ยอย่างมากประมาณ 14% มันเป็นการลดค่าใช้จ่ายมากทีเดียว ผมเข้าใจจิราธิวัฒน์คิดว่านี้ คือไม้เด็ดของเขา" แหล่งข่าวคนเดิมชี้

ถ้าจะถาม "หัวแถว" จิราธิวัฒน์ไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหนว่าโครงการเช่นเซ็นทรัลพลาซ่าเขาจะทำอีกไหม ก็ต้องรอคำตอบอยู่นาน โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลยังต้องรอคำตอบนานหน่อย ถึงแม้จะนานจิราธิวัฒน์ก็สร้างบทพิสูจน์อีกแห่งแล้วที่หัวหิน เซ็นทรัลพลาซ่าใกล้บรรลุฝั่งเต็มที่คงไม่ลำบากใจมากนัก

ส่วนดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ที่ลาดพร้าวนั้นถึงลงทุนมากแต่มันคุ้ม!

เพราะดีพาร์ทเม้นท์สโตร์คือแหล่งหล่อเลี้ยงธุรกิจของจิราธิวัฒน์ ดังที่วันชัยบอกว่าที่จิราธิวัฒน์กล้าโดดไปสู่ธุรกิจอื่นก็เพราะมีดีพาร์ทเม้นท์สโตร์เป็นฐาน

เซ็นทรัลพลาซ่าและโรงแรมเป็นอนุสาวรีย์แห่งความกล้าหาญ และความดีของจิราธิวัฒน์ในสายตาของ "ผู้จัดการ"

เริ่มตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา กิจการด้านห้างสรรพสินค้าของเซ็นทรัลได้เปิดฉากลงทุนขนานใหญ่และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สาขาลาดพร้าว ลาดหญ้า วังบูรพา (2) การลงทุนเน้นหนักกู้เงินจากต่างประเทศจากตัวเลขที่ "ผู้จัดการ" ประมาณนั้นราวๆ 1 พันล้านบาท หรือประมาณ 80% ของเงินกู้ทั้งหมด ปัจจุบันคืนไปแล้วประมาณ 525 ล้านบาทเศษ (ไม่รวมสาขาชิดลม) เพื่อแลกกับยอดขาย (ไม่รวมกับสาขาชิดลม) ได้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 775 ล้านบาทในปี 2524 เป็น 1,223 ล้านบาทในปี 2525 และในปี 2528 เพิ่มเป็นประมาณ 2,600 ล้านบาท

ส่วนสาขาชิดลมซึ่งครองแชมป์ยอดขายกำไรมาตลอดนั้น เริ่มลงทุนปรับปรุงครั้งใหญ่ไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งได้ชำระไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง โครงการพลิกโฉมครั้งนี้จะสำเร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ ดังนั้นยอดขายจึงยังไม่เพิ่มเด่นชัด

กำไรของกิจการห้างสรพพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลมิอาจจะพูดถึงอย่างชัดเจน ตัวเลขบางครั้งดูเหมือนว่าขาดทุนเพราะอยู่ระหว่างการใช้หนี้เงินตราต่างประเทศ ซึ่งโดนกระหน่ำซ้ำจากการลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง (ครั้งแรกในปี 2524 และครั้งล่าสุดปลายปี 2527) รวมๆ แล้วขาดทุนจากการลดค่าเงินบาทประมาณ 100 ล้านบาท อีกเหตุหนึ่งอยู่ระหว่างการลงทุนเพิ่มยังไม่ได้หยุด

ห้วงเวลา 15 ปีของเซ็นทรัลยุคที่สอง (2511-2517) ได้เติบโต (ยอดขาย) จากระดับ 100 ล้านบาทเป็นประมาณ 4,000 ล้านบาทแล้ว!

กลุ่มเซ็นทรัลปัจจุบันสร้างงานให้กับคนประมาณ 8,000 คน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ปกติหางานทำยาก ขณะเดียวได้พัฒนา KNOW-HOW อุตสาหกรรมพื้นฐานเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แม้ว่าเซ็นทรัลจะต้องลงทุนซื้อ LICEACE และ FRANCHISES ปีหนึ่งๆ เป็นเงินจำนวนไม่น้อย

จุดข้อต่อที่ชัดที่สุดคือ เริ่มต้นจากการที่กลุ่มเซ็นทรัลมีเซ็นทรัลพลาซ่าและโรงแรมกลุ่มธุรกิจของคนไทย ที่ประกอบด้วยคนและผู้ถือหุ้นเฉพาะตระกูลจิราธิวัฒน์เท่านั้น ได้ก้าวพ้นไปสู่วงจรธุรกิจระดับกว้างมากขึ้น ด้านอุตสาหกรรมพัฒนาผลผลิตมากชนิดขึ้น อาศัย KNOW-HOW ระดับสูงยิ่งขึ้น อาทิโรงงานเซรามิค และลูกอม ด้านการบริหารได้พยายามพัฒนาตัวเองให้ทันสมัยและบริหารร่วมกับมืออาชีพ อาทิกิจการโรงแรม

ปี 2527 เป็นต้นมากิจการแวดล้อมห้างสรรพสินค้า อาทิโรงแรม พลาซ่า โรงงานอุตสาหกรรม ได้พัฒนาตามแนวที่กล่าวมาแล้ว

แต่ทว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้า (DEPARTMENT STORE) ตระกูลจิราธิวัฒน์ซึ่งถือว่ามีประสบการณ์ยังยึดกุมไว้อย่างมั่นคง

ปี 2527 เป็นต้นมากลุ่มเซ็นทรัลได้พยายามจัดขบวนสู้รบที่ DYNAMIC มากขึ้นและเป็นการปรับตัวที่ค่อนข้างเหน็ดเหนื่อย ภายใต้สถานการณ์สู้รบจริงๆ

เพราะในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มของสงครามธุรกิจห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ที่ดุเดือดและทวีความดุเดือดมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ธนาคารกสิกรไทยเคยรายงานสรุปภาวะธุรกิจห้างสรรพสินค้าไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า ตั้งแต่ปี 2526 ราคาน้ำมันที่เคยสูงลิ่วเริ่มลดต่ำลง และมีการพัฒนาทางด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจหลายอย่างดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงกิจกรรมการค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้า จนเป็นสิ่งจูงใจแก่บรรดานักลงทุนหน้าใหม่

"ในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีห้างสรรพสินค้าเปิดขึ้นในระยะใกล้เคียงกันถึง 7 แห่ง อีกหลายโครงการเตรียมตัวจะเปิดดำเนินการในช่วงปี 2528-2530"

รายงานชิ้นนั้นกล่าวต่อไปว่าภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี 2527 จนกระทั่งกลางปี 2528 กลับไม่ได้ดีขึ้นตามที่คาดหมาย ทั้งนี้เนื่องจากต้องเผชิญกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น นโยบายจำกัดสินเชื่อช่วงต้นปี 2527 การปรับค่าเงินบาทปลายปี 2527 และการปรับโครงสร้างภาษีในช่วงต้นไตรมาสที่สองของปี 2528 ต่างล้วนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ปี 2528 จึงเป็นปีที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด โดยการนำยุทธวิธีทางการตลาดออกมาห้ำหั่นกัน

เช่นเดียวกับห้างเซ็นทรัลซึ่งได้ชื่อว่าอันดับ 1 ของเมืองไทย (เมื่อเร็วๆ นี้ สัมฤทธิ์กล่าวว่าอันดับ 1 ของเอเชียอาคเนย์) ก็พลิกกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย ผู้คร่ำหวอดธุรกิจห้างสรรพสินค้ามองว่ากลยุทธ์ของเซ็นทรัลมีสองระดับ หนึ่ง - ระดับยุทธศาสตร์

"สิ่งที่เซ็นทรัลกลัวมากคือห้างญี่ปุ่นที่มาเปิดในเมืองไทยช่วงนั้น คุณสุทธิเกียรติ ในฐานะนายกสมาคมผู้ค้าปลีกจำต้องออกโรงต้านอยู่พักใหญ่ ขอให้รัฐคุมกำเนิดห้างจากต่างประเทศ ที่จริงผลโดยตรงไม่ค่อยจะมีมาก แต่ด้านจิตวิทยามี รายที่จะมาใหม่ต้องหนักใจ" ผู้อธิบายรายละเอียด และเน้นว่าวิธีนี้เป็นแผนการสกัดกั้นการเกิดของคู่แข่งขันที่ได้ผลพอสมควร

ส่วนวิธีที่ได้ผลชะงักมากกว่านั้นคือ การประโคมข่าวว่าเซ็นทรัลจะรุกเปิดสาขาในจุดต่างๆ "ผู้จัดการ" ได้ติดตามข่าวพบว่าในช่วงปี 2527-2528 มีข่าวออกมาบ่อยครั้งในทำนองว่า ห้างเซ็นทรัลจะเปิดสาขาในพื้นที่หลายจุดแถบชานเมืองต่างจังหวัด แม้กระทั่งเผชิญหน้าโรบินสันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เกี่ยวกับเรื่องนี้วันชัย จิราธิวัฒน์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ต่อกรณีจะเปิดห้างที่เชียงใหม่ "เชียงใหม่ผมซื้อที่ไว้ตั้ง 8 ปีแล้ว ห้างตันตราภรณ์เขาขอไว้ 3 ปีซึ่งเขาก็เป็นลูกค้าเรา มันพูดลำบากถ้าผมไม่เกริ่นข่าวหรือไม่ซื้อที่ไว้อาจจะมีญี่ปุ่นลงมาแล้วก็ได้ พอเขารู้ว่าเราจะไปแน่ก็ยั้งๆ ไว้" พร้อมทั้งกล่าวว่าห้างเซ็นทรัลจะไปเปิดที่ไหนที่ดินก็ขึ้นราคาจำนวนมาก

"ห้างไหนที่คิดจะเปิดในบริเวณที่เซ็นทรัลบอกว่าจะไปลง ลำบาก 2 อย่างที่ดินขึ้นราคาและต้องกลับมานั่งคิดว่าจะสู้เซ็นทรัลไหวไหม" ผู้อยู่ในวงการคนหนึ่งคอมเมนต์เพิ่มเติม

สอง - ระดับยุทธวิธี นอกจากห้างเซ็นทรัลจะพยายามรักษาคุณภาพสินค้าไว้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็น "จุดแข็ง" ที่พยายามรักษามานาน การค้าปลีกเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก หากภาพไม่ดีเกิดขึ้นเพียงบางจุดหรือเล็กน้อย เซ็นทรัลมีประสบการณ์ว่ามันอาจจะลุกลามแบบไฟไหม้ป่าเลยทีเดียว เรื่องนี้ สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ผู้คุมแผนส่งเสริมการขายของห้างเซ็นทรัลคุยกับ "ผู้จัดการ" เมื่อไม่นานมานี้ว่าในภาวะที่ห้างแข่งขันกันลดราคาสินค้า แนวโน้มสินค้าด้อยคุณภาพจะเกิดมากขึ้น" เราจึงต้องพยายามควบคุมคุณภาพสินค้าภายในห้างของเราอย่างใกล้ชิด" เขาเน้น

ในระดับกว้างแล้วพนักงานอาวุโสห้างเซ็นทรัลคนหนึ่งกล่าวว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้บริษัทใหม่ๆ ในเครือเซ็นทรัลเกิดขึ้นอย่างมากมาย เกือบทั้งหมดคือบริษัททำหน้าที่การตลาด

"มันช่วงการจัดการที่คล่องแคล่ว ยืดหยุ่นปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลง"

อาทิ บริษัทคิดตี้แลนด์ จำหน่ายของเด็กเล่น บริษัทบูคแลนด์ เปิดร้านขายหนังสือชมอักษร บริษัทอัพรอนท์จำหน่ายเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ เป็นต้น

แผนการตลาดทั้ง 2 ระดับนั้นผ่านมาทางผู้บริหารสองระดับเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัลได้แตกตัวออกเป็น 2 ส่วน 1) ระดับตัดสินใจประกอบด้วยสัมฤทธิ์ วันชัย สุทธิพร สุทธิเกียรติ และสุทธิชัย ดังนั้นแผนสกัดกั้นการเกิดของคู่แข่งจึงผ่านบุคคลเหล่านี้ และดูเหมือนสุทธิเกียรติจะมีบทบาทเด่นที่สุด 2) ระดับปฏิบัติการ วางแผนการตลาดต่อเนื่องเป็นรายสัปดาห์ต่อสัปดาห์กลุ่มนี้มีจำนวนเกือบ 20 คน โดยมีสุทธิชาติ สุทธิธรรมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ประกอบด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่จากตระกูลจิราธิวัฒน์ที่เพิ่งจบ MBA. จากเมืองนอกเมื่อปี 2528 อาทิลูกชาย - ลูกสาวสัมฤทธิ์ วันชัยและสุทธิพร (โปรดอ่านล้อมกรอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ)

คนตระกูลจิราธิวัฒน์ (โดยเฉพาะผู้ชาย) ปัจจุบันเชื่อว่าไม่มีใครแยกวงออกไปทำธุรกิจอื่นเลยห้างเซ็นทรัลเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนในตระกูลจิราธิวัฒน์มีปริมาณมากพอจะรองรับงาน นั่นเป็นความเชื่อเมื่อ 5 ปีมาแล้ว

ทุกวันนี้ความเชื่อนี้กำลังสั่นคลอน

เมื่อปลายปี 2528 สัมฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ นสพ. รายสัปดาห์ฉบับหนึ่งถึงการดึงคนนอกเข้ามาร่วมบริหารธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล

"งานเรากว้างขึ้นๆ แต่ก่อนเรามีเพียงห้างสรรพสินค้าและอุตสาหกรรมย่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า อุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ฯลฯ คนในครอบครัว ลูกหลานที่มีอยู่หลายสิบคนเริ่มไม่พอ ก็เลยไปไหว้วานเพื่อนฝูงให้มาช่วยเรา พยายามเลือกคนที่ไว้ใจได้และมีความซื่อสัตย์…"

ก่อนหน้าไม่นานพลตรีกวี สุทัศน์ ณ อยุธยา เลขาธิการรัฐสภาได้ลาออกมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่า และพลเอกผิน เกษร อดีตรองเสนาธิการทหาร มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า

เมื่อไม่นานมานี้วันชัย จิราธิวัฒน์ ก็ยอมรับปัญหานี้ของกลุ่มเซ็นทรัลเช่นเดียวกัน "เราขยายงานเร็ว คนของเราก็ไม่พอ" เขากล่าวว่าสัมฤทธิ์เป็นต้นคิดแก้ไขปัญหานี้ โดยใช้วิธีดึงเพื่อนมาร่วมงานและเขาเองก็กำลังดำเนินตามเช่นกัน ซึ่งตรงกับข่าวบางกระแสที่ว่าเพื่อนคนแรกของวันชัย ที่จะถูกดึงเข้ามาเป็นผู้บริหารเซ็นทรัลคือ เอนก สิทธิประสาสน์ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครองและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

"…บางกิจการเราไม่มีคนเข้าไปตรวจเลย เราให้เขาเข้าไปดูซิว่าตรงนั้นตรงนี้ทำไมขาดทุนหรือกำไรน้อยไป" วันชัยให้เหตุผล

"ผู้จัดการ" ได้ตั้งปุจฉาถามวันชัย จิราธิวัฒน์ ต่อกรณีคนนอกมองจิราธิวัฒน์ว่า หากการบริหารภายใต้เงื่อนไขที่ครอบครัวคุมกันได้ กลุ่มเซ็นทรัลจะไม่มีปัญหา แต่ใน GENERATION ต่อๆ ไปความเหนียวแน่นของครอบครัวจางลงไป ปัญหาย่อมเกิดขึ้น!

"คนภายนอกก็เข้าใจถูก" วันชัยยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

"เราจึงพยายามเอาคนนอกเข้ามาเพื่อให้มีความมีอาวุโส" เขาเน้นซึ่งโยงไปถึงการมาของผู้บริหารเซ็นทรัลที่เป็นคนนอก "จิราธิวัฒน์"

เมื่อสักสองปีมาแล้ว สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเขาแสดงบทบาทโฆษกเซ็นทรัลอย่างเห็นได้ชัด ได้กล่าวถึงแผนการในอนาคตของห้างเซ็นทรัลคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายๆ คนฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อหรือไม่ก็มองว่าไกลเกินไป นานเกินไปที่จะพูดถึงในขณะนั้น เพราะสุทธิเกียรติมิได้อธิบายเหตุผลชัดแจ้ง

นิตยสารผู้หญิงฉบับหนึ่งเปรยกับสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ - บุคคลที่วงการธุรกิจมองว่า เขาคืออนาคตของเซ็นทรัลคนหนึ่งในทำนองว่า ลูกหลานจิราธิวัฒน์ไม่ต้องวิตกกังวลอนาคต สุทธิธรรมกล่าวอย่างชัดแจ้ง "ผมว่าอีกหน่อยอาจจะไม่มีใคร (จิราธิวัฒน์) ทำ (ธุรกิจห้างสรรพสินค้า) ก็ได้ ผมบอกแล้วว่าเราใช้ระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่เลือกข้างตัวเองเข้ามา มันไม่แฟร์เราจะเลือกคนดีเข้ามามากกว่า ถ้าลูกหลานเราไม่ดีจริง เราไม่เลือกก็ได้ ให้อยู่เฉยๆ เถอะเอาเงินไปเที่ยวดีกว่าให้คนอื่นทำแล้วเราเอาเงินไปเที่ยวดีกว่า…" สุทธิธรรมกล่าวอย่างชัดแจ้ง

ล่าสุดวันชัย จิราธิวัฒน์ - - บุคคลที่ถูกจับตามองในฐานะผู้นำกลุ่มเซ็นทรัลในอนาคต ได้พูดถึงแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กระจายหุ้นสู่มหาชนอีกครั้ง ครั้งนี้ดูมีน้ำหนักมาก เขาชี้ว่า มันเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาโครงสร้างในการบริหารงานแบบครอบครัวของเซ็นทรัล ที่เกรงกันว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งจะไม่เข้มแข็งเช่นทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัลมีขนาดใหญ่โตกว่านี้มาก

เขาคาดว่าเวลานั้นอาจจะไม่เร็วเกินไปแต่ก็ไม่นานนักแล้ว

วันชัยเน้นว่าภารกิจของคนรุ่นเขาในการพัฒนา วางรากฐานกลุ่มเซ็นทรัลยังไม่สิ้นสุด ท่ามกลางภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ต้องพยุงตัว ปรับตัวผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้

"อย่างไทยไดมารู เวลาจะขออนุมัติอะไรต้องของสำนักงานใหญ่ เราไม่อยากเสียโอกาสนั้น โอกาสที่เราคุยกันเพียงคนสองคนก็เอา เพราะฉะนั้นคนอื่นสู้เราไม่ได้ในเรื่อง ความคล่องตัวในการตัดสินใจ เช่น กรณีลาดพร้าว และหัวหมาก แต่ก็ยอมรับว่าเมื่อถึงขั้นหนึ่งเราต้องทำแบบไดมารู มีบอร์ด มีโครงสร้างที่ดี…" เขาพยายามอธิบายโดยเน้นประโยคที่ว่า "ไม่ต้องการเสียโอกาส"

เซ็นทรัลยุคที่สองภายใต้การนำของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ - - ผู้เป็นศูนย์กลางประสานสามัคคี "จิราธิวัฒน์" แบกรับภารกิจในยุคของเขา ที่หนักอึ้ง และได้รับผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ได้ตระหนักดีว่าใกล้จะสิ้นสุดแล้ว

นักศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยคนหนึ่งกล่าวไว้ว่าในช่วงทศวรรษจากนี้ไป ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ดำเนินภายใต้การบริหารและโครงสร้าง "ความเป็นเจ้าของ" ระบบครอบครัวจะถูกท้าทายอย่างหนักจะต้องเผชิญ "ความเจ็บปวด" ในปัญหาการต่อเนื่องทางธุรกิจ

ช่วงเวลานั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากธุรกิจของ "นักเสี่ยงโชค" ได้ค่อยล้มหรือมีอันเป็นไปทีละรายๆ หากแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ แน่นอนย่อมจะมีบางกิจการจะต้องซวนเซหรือแม้กระทั่งล้มพับไป

ทศวรรษนี้จึงเป็นทศวรรษแห่งการ "ผ่าตัด" ธุรกิจระบบครอบครัวของไทยโดยแท้!

สำหรับจิราธิวัฒน์แห่งห้างเซ็นทรัล แผนการที่วางไว้คร่าวๆ จะแก้ปัญหาข้างต้นด้วยการอาศัย "คนนอก" และการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กระจายหุ้นสู่มหาชนนั่นย่อมมิใช่สูตรสำเร็จ

เพราะ "คนนอก" ที่เข้ามาในห้างเซ็นทรัลในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณอายุ ที่ยังคงบารมีไม่มากก็น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ภาพของเซ็นทรัลที่หวังเอาไว้อาจจะถูกมองไปอีกแง่หนึ่งในสายตาของคนทั่วไป - เซ็นทรัลกำลังดำเนินการเช่นเดียวกับธุรกิจใหญ่อื่นๆ ในประเทศไทยต้องอาศัยบารมีเพื่อ "กันชน" กับอำนาจบางอย่าง

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าที่สำคัญ "คนนอก" เหล่านั้นมิใช่นักธุรกิจ ย่อมมิใช่อนาคตธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัล ที่สะสมความเชื่อถือมาเกือบ 40 ปี

"คนนอก" ที่เซ็นทรัลต้องการจริงๆ เป็นใครกันแน่?

ตลาดหลักทรัพย์ฯ - - ประสบการณ์ของธุรกิจไทยชี้ชัดว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นจุดประสงค์ใหญ่คือการระดมทุนโดยเฉพาะในจังหวะดีจะเป็นทุนที่ต้นทุนต่ำอย่างมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในบ้านเรามิใช่สถานที่จะค้นหา "มืออาชีพ" อย่างที่หวังกันในทฤษฎี "คุณดูอย่างธนาคารศรีนครหรือบริษัทไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ ก็ยังเป็นของตระกูลเตชะไพบูลย์ และศรีเฟื่องฟุ้ง-เอื้อชูเกียรติอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น" ผู้คลุกคลีกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

ตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นเพียง "ธง" ที่ผู้บริหารเซ็นทรัลชูขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นสัญลักษณ์ของธุรกิจที่พยายามสลัดคราบระบบครอบครัวออกไป แต่ทว่าหนทางนั้นยังมาไม่ถึงง่ายๆ

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ปัจจุบันอายุ 62 ปี มีโรคประจำตัวมะเร็งที่ปอด ต้องบินไปรักษาตัวที่เมืองนอกบ่อยครั้ง เขาได้รับการยอมรับจากสมาชิก "จิราธิวัฒน์" อย่างดุษฎี เป็นคนเด็ดขาดและมีประสบการณ์ทางการตลาดอันอุดมสมบูรณ์ บริหารงานโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการรักษาเงิน ดังนั้นสุทธิชัยน้องชายคนที่ 3 จึงรับหน้าที่นี้

สุทธิชัยเก่ง แต่เก็บตัว และเขามักจะเป็นคนเกือบสุดท้าย ในการตัดสินใจการลงทุนหรือขยายกิจการอื่นใดครั้งสำคัญๆ ของเซ็นทรัล

วันชัย จึงดูจะเป็นเพียงคนเดียวที่จะมาแทนสัมฤทธิ์ แต่ด้วยเขาเป็นคนชอบติดต่อคน คบคนจึงมีเพื่อนมาก บ่อยครั้งชื่อของเขาจะปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการแปลกๆ ที่คนในตระกูล "จิราธิวัฒน์" ต้องตั้งคำถาม

วันชัยเคยบอก "ผู้จัดการ" ว่า กฎของครอบครัวไม่ห้ามให้ทำธุรกิจอื่น เพียงแต่ห้ามไม่ให้ทำธุรกิจที่ซ้ำซ้อน เขาเองให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการกับ "ผู้จัดการ" เมื่อไม่นานมานี้ว่า "ปัจจุบันผมคุมด้านบริหารของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งรวมทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม ธุรกิจการนำเข้าและจัดจำหน่าย คุณสัมฤทธิ์คุมด้านนโยบายเท่านั้น.."

อย่างไรก็ตามได้รับการยืนยันจากพนักงานระดับสูงของห้างเซ็นทรัลว่าเมื่อใดที่สัมฤทธิ์ ไม่มีปัญหาสุขภาพและ "ไฟแรง" ขึ้นมาก็จะคุมงานอย่างใกล้ชิด "ตอนที่ นสพ. ฉบับหนึ่งลงข่าวว่าคุณวันชัยจะมาแทนคุณสัมฤทธิ์นั้น คุณสัมฤทธิ์ไม่ค่อยพอใจ หลังจากนั้นดูกระฉับกระเฉงมาทำงานบ่อยขึ้น" พนักงานคนเดิมกระซิบ

ว่ากันว่าบทบาทคุมนโยบายที่อาจจะล้ำเส้นมาทำงานด้าน OPERATION ของสัมฤทธิ์นั้นได้ลดทอนไปตามลำดับ เพราะน้องๆ และหลานๆ เบรคเอาไว้ "แกเป็นคนฟังคนนะฮะ"

สุทธิพร สุขภาพไม่ดีปัจจุบันแทบจะไม่ได้ทำงานประจำ ปกติสาขาลาดพร้าวเขาเป็นคนรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติสุทธิธรรม รองผู้จัดการเป็นคนทำงานแทน

สุทธิเกียรติเป็นคนฉลาด หัวใหม่ในช่วงขยายกิจการมาทำโรงแรมและศูนย์การค้าเขามีบทบาทมาก แต่เผอิญเป็นกิจการที่ไม่ประสบความสำเร็จดีนัก ในสายตาของพี่ๆ เขาเป็นนักบุกเบิก ระยะหลังสัมฤทธิ์จึงส่งเขาไปทำงานประเภทดังกล่าว อาทิโรงงานผลิตลูกอม และโรงแรมที่หัวหิน เมื่อ 2-3 ปี สุทธิเกียรติมีบทบาทเด่นมาก แต่พอหลังจากแต่งงานกับนางงามจักรวาล เขาได้รับคำสั่งจากพี่ใหญ่ได้ LOW PROFILE จนถึงปัจจุบันนี้

แม้วันชัยจะยืนยันว่าเขาคือผู้จะมาแทนสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ แต่สัมฤทธิ์ก็ยังไม่เคยพูดเป็นทางการเลยสักครั้ง "เราไม่มีทายาท ทุกคนก็คือทายาท แต่คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารจะมาจากการเลือกตั้งของคนในครอบครัว พี่ๆ น้องๆ ผู้ถือหุ้น จะต้องมีการโหวต โดยเราพิจารณาตามความอาวุโส ความสามารถ ความซื่อสัตย์ มีศีลธรรม ชอบรังแกคนก็ไม่เอา คนโกงก็ไม่เอา ซึ่งก็มีการกำหนดอายุในตำแหน่งบ้าง อาจจะเกษียณสัก 60-65"

สัมฤทธิ์พูดถึงวิธีคัดเลือกผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัลกับ นสพ. ธุรกิจฉบับหนึ่งเมื่อปลายปี 2528

นักวิเคราะห์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าตระกูลจิราธิวัฒน์ไม่มี HOLDING COMPANY ดูเหมือนบริษัทห้างเซ็นทรัลดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด จะเป็น HOLDING COMPANY กลายๆ แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะพบความลักหลั่น (โปรดพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทหลักของกลุ่มเซ็นทรัล) "เมื่อคุณสัมฤทธิ์ไม่อยู่ ใครจะเป็นผู้จัดสรรผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและยอมรับทุกฝ่าย"

คำถามทั้งหลายทั้งปวงล้วนต้องการคำตอบ ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล โดยเฉพาะสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์จะต้องแก้ให้ตก!

เซ็นทรัลและจิราธิวัฒน์ได้เปรียบธุรกิจยักษ์ใหญ่ระบบครอบครัวอื่นๆ ในประเทศไทย ตรงที่มองเห็นปัญหาและพยายามแสวงหาหนทางที่นำไปสู่การแก้ไข ทว่ากว่ายุคที่สองจะสิ้นสุดผ่านเข้าสู่ยุคที่สามอย่างต่อเนื่องและเป็นปึกแผ่น ก็คงต้องเหน็ดเหนื่อยกันมา มากกว่ายุคที่สองทั้งยุคเลยทีเดียว!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us