"คงไม่ค่อยมีใครนึกถึงว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของห้างสรรพสินค้าที่เติบโตเร็วที่สุดในยุคนี้
จะเคยเป็นคนที่เรียนจบแค่ ม.6
เริ่มงานครั้งแรกด้วยการเช็คขวดเหล้าและเริ่มตั้งอาณาจักรของตัวเองด้วยเงินเพียง
4 แสนบาท การตัดสินใจแต่ละครั้งของเขา แทบไม่มีใครเห็นด้วย แต่แล้วทุกคนก็ต้องยอมรับว่า
เขาตัดสินใจถูก
และที่น่าแปลกใจมาก ๆ ก็คือ ทุกวันนี้เขายังใช้ชีวิตที่สมถะเรียบง่าย แต่งตัวปอน
ๆ คุมงานขยายอาณาจักรด้วยตัวเองและนั่งกินข้าวเหนียวไก่ย่างริมถนนเช่นเดียวกับคนงานนับร้อยของเขา….!!!!!"
ปีนี้ "เสี่ยศุภชัย" หรือ ศุภชัย อัมพุช อายุ 60 ปีแล้ว
นามสกุล "อัมพุช" นั้นดูเผิน ๆ ก็น่าคิดว่ามีเชื้อสายคนไทยเต็มตัว
แต่ความจริงแล้ว พ่อของเสี่ยศุภชัยนั้นเป็นคนจีนที่อพยพมาจากเมืองจีนแท้
ๆ เป็นจีนแต้จิ๋วที่ใช้แซ่อื้อ เช่นเดียวกับตระกูลอื้อจือเหลียงในเมืองไทยนั่นเอง
เขาเกิดที่นครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี โตและเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นจนจบชั้น
ม. 6
"เขาคงได้เรียนสูงกว่านั้นแน่ ถ้าหากไม่เกเร ไม่งั้นคงได้เรียนถึงมหาวิทยาลัยแล้วละ
ตอนนั้นน่ะไม่เบาเลยละ ร้ายที่สุด" ประไพ แย้มสะอาด พี่สาวร่วมท้องเดียวกันกับเขาเล่าชีวิตวัยเด็กของเสี่ยศุภชัยให้ฟัง
สมัยนั้นต้องถือว่าครอบครัวอัมพุชนั้นมีฐานะดีครอบครัวหนึ่ง เพราะพ่อแม่ของเสี่ยศุภชัยทำมาหากินด้วยการเป็น
"ยี่กงสี" เหล้าหรือยี่ปั๊วประมูลขายเหล้าในเขตจังหวัดนครสวรรค์ทั้งหมด
รวมทั้งเปิดโรงยาฝิ่น
ซึ่งในสมัยนั้นฝิ่นยังไม่เป็นสินค้าต้องห้าม
แต่ชีวิตของศุภชัยก็ต้องหักเหเป็นครั้งแรก เมื่อพ่อแม่ต้องมาเสียชีวิตลงในขณะที่เขายังเด็ก
ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ระเบิดขึ้นและลุกลามมาถึงประเทศไทย
ช่วงนั้นรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งสหกรณ์กันขนานใหญ่ สิทธิ์ในการขายเหล้าและฝิ่นของเขาก็ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในสหกรณ์ด้วย
ซึ่งเท่ากับทำให้ครอบครัวอัมพุชต้องถอนตัวจากธุรกิจเหล้าและยาฝิ่นไปโดยปริยาย
ช่วงปี 2487 นั้นศุภชัยยังเป็นหนุ่มเพิ่งแตกพาน ก็เลยต้องระเห็จมาอยู่กับพี่สาวในกรุงเทพฯ
อาศัยเรือนไม้เก่า ๆ 2 ชั้นในซอยประสานมิตร ยมราช เป็นที่ซุกหัวนอน
เมื่อไม่คิดเรียนต่อ ด้วยความเป็นคนว่องไว ไม่อยู่เฉย เขาก็เริ่มบทแรกของการทำมาหากิน
ด้วยการออกรับจ้างทำงานทั่วไปเท่าที่จะมีคนจ้าง จนไปปักหลักเป็นเด็กเช็คขวดเหล้าอยู่ร้านน่ำอา
ย่านหัวลำโพง
ซึ่งเป็นโรงเหล้าที่ผสมเหล้าขายและเป็นยี่ปั๊วขายเหล้าด้วย (ตอนนี้เลิกกิจการไปแล้ว)
ความที่วงจรชีวิตไม่ห่างจากกลิ่นเหล้า หนุ่มศุภชัยเช็คขวดเหล้าอยู่ไม่นานก็ไปได้งานเสมียนที่ร้านประไพสวัสดิ์ย่านพระโขนง
ซึ่งเป็นยี่ปั๊วขายเหล้ารายใหญ่รายหนึ่งในแถบนั้น
"ดิฉันไม่ได้รู้จักเขามาก่อนเลย แกมาเดินเที่ยวแถบนี้ อยู่ ๆ ก็เดินเข้ามาสมัครงานเห็นหน่วยก้านเขาดีก็เลยรับไว้ทำงานด้วย
ดิฉันไว้ใจเขาเพราะเห็นเขาเป็นคนดี งานการก็คล่องแคล่ว นิสัยก็ดี ไม่เกะกะเกเร
แล้วแกก็เก่งเรื่องเหล้ามาก" ประไพ กันเขตต์ วัย 70 กว่าในวันนี้ เจ้าของร้านเหล้าประไพสวัสดิ์ในยุคนั้นเล่า
นั่นเป็นจุดหักเหอีกครั้งหนึ่งของหนุ่มศุภชัย อาจจะเป็นเพราะด้วยเขาคลุกคลีอยู่กับเหล้าตั้งแต่เด็ก
ๆ ทำให้เขามีหัวทางด้านนี้ ชั่วเวลาเพียงไม่ถึง 3
ปีที่อยู่กับร้านประไพสวัสดิ์เขาก็เลื่อนตำแหน่งจากเสมียนมาเป็นผู้จัดการร้านกินเงินเดือนพันกว่าบาท
ซึ่งในสมัย 30 ปีก่อนนั้นเงินเดือนเป็นหมื่นเดี๋ยวนี้ก็ยังสู้ไม่ได้
ความเก่งกาจในเรื่องธุรกิจเหล้านั้นอาจพิสูจน์ได้จาการที่ ประไพ กันเขตต์
ผู้เป็นเจ้าของร้านตบรางวัลเขาด้วยการแบ่งหุ้นลมให้เขา เพื่อที่เขาจะได้มีกำไรเป็นกอบเป็นกำเป็นทุนรอนของเขาเองได้
เพราะการค้าเหล้าสมัยนั้นมันกำไรดีจะตาย
ก็ดีขนาดที่ตอนที่เขาเดินออกจากร้านประไพสวัสดิ์เมื่อปี 2502 นั้นเขามีเงินเก็บอยู่
4-5 แสนบาททีเดียว
วันที่เขาเดินออกจากร้านนั้น ศุภชัยให้เหตุผลกับประไพว่า "กิจการที่นี่มันเล็กไปแล้วหละ
ทำแล้วไม่พอทำ อยากจะทำงานใหญ่ ๆ กว่านี้" ซึ่งประไพก็บอกว่า "เราก็ตามใจเขา
แต่ก็บอกเขาไปว่าถ้าไม่ดียังไงก็กลับมาทำใหม่ได้ แต่ถ้าเผื่อไปดีก็ทำไป"
ตอนที่เขามาทำงานที่นี่เขามาตัวคนเดียว แต่ตอนที่เขาจากร้านประไพสวัสดิ์นั้นเขาพาสมาชิกในครอบครัวไปด้วยอีก
5 คน
ใช่แล้ว เขาพบรักกับสาวบุญเลี้ยงซึ่งเป็นน้องบุญธรรมของประไพ อายุรุ่นราวคราวเดียวกับศุภชัยนั่นเอง
วันที่เขาแต่งงานนั้น เขาอายุ 25 เขาออกจากร้านนั้นอายุก็กว่า 31 แล้ว ช่วงเวลานี้เขาผลิตสมาชิกที่เกิดกับบุญเลี้ยงได้ถึง
4 คน โดยอาศัยชั้น 2 ของร้านประไพสวัสดิ์นั่นเองเป็นเรือนหอ
ก้าวแรกในการทำธุรกิจของเขานั้น เขามุ่งเข็มไปทำโรงเหล้ากับลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งที่พิจิตร
โดยการลงทุนกันคนละครึ่ง แต่ทำได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องย้ายกลับมากรุงเทพฯ
ด้วยเหตุผลที่ภรรยาของเขาป่วยหนักด้วยโรคมะเร็ง
ลูกพี่ลูกน้องที่ทำเหล้ากับเขาคนนั้นก็คือ นงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์
นงลักษณ์ เดิมนามสกุล อัมพุช พ่อของนงลักษณ์นั้นเป็นพี่ชายของพ่อของศุภชัย
แล้วทั้งศุภชัยกับนงลักษณ์ก็เกิดปีเดียวกัน เพียงแต่นงลักษณ์อ่อนเดือนกว่าศุภชัยไม่กี่เดือน
แต่ลูก ๆ
ของศุภชัยก็ยังเรียกนงลักษณ์ว่า "ป้า" ทุกคนอันเป็นการเรียกตามศักดิ์
นงลักษณ์เองก็ได้เชื้อนักธุรกิจมาเต็มตัว และยิ่งมาแต่งงานกับวิศาล ภัทรประสิทธิ์ด้วยแล้ว
ก็ทำมาค้าขึ้นกันทั้งคู่
"ทั้งคู่นี่เขาเป็นนักธุรกิจ ต่างคนต่างทำธุรกิจไม่เกี่ยวกัน เดิมพื้นเพของวิศาลก็เป็นคนทำมาหากินนี่แหละไม่ได้ร่ำรวยอะไรเท่าไร
แต่จังหวะเขาดี ตอนแรกก็ทำโรงยาฝิ่น
แล้วมาประมูลทำโรงต้มกลั่นได้ที่พิจิตรกับพิษณุโลก พอหมดสัมปทานเขาก็ประมูลใหม่ทีนี้กวาดสัมปทานแถบภาคเหนือมาได้เกือบหมด
ก็เรียกว่ารวยมาจากเรื่องเหล้านี่แหละ"
ผู้ที่ใกล้ชิดวงการเหล้าพูดถึงความเป็นมาของตระกูลภัทรประสิทธิ์
ปัจจุบัน ฐานธุรกิจของภัทรประสิทธิ์คือบริษัทภัทรธุรกิจ ซื้อถือหุ้นใหญ่ในแบงก์เอเชีย
และยังมีหุ้นอยู่ในแม่โขงและธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่นโรงสี, เซรามิค,
ทรัสต์, ไฟแนนซ์, อาบอบนวด และศูนย์การค้า
ฯลฯ
หนึ่งในหลาย ๆ แห่งนั้นก็คือธุรกิจที่ทำร่วมกับตระกูลอัมพุชนั่นเอง
ช่วงที่เขาย้ายเข้ากรุงเทพอีกครั้งหนึ่งนั้น ศุภชัยมีลูกคนที่ 5 กับบุญเลี้ยงแล้วและเป็นคนสุดท้ายด้วย
บุญเลี้ยงป่วยหนักอยู่ที่ศิริราชถึง 5-6 เดือน ช่วงนั้นศุภชัยเฝ้าไข้ทุกวัน
โดยได้รับความเอาใจใส่ด้วยดีจากหัวหน้าพยาบาลประจำตึกไข้ตึกนั้น ที่มีชื่อว่า
อำนวย
"ตอนนั้นทั้งคุณศุภชัยและคุณอำนวยสนิทกันมาก เพราะคุณศุภชัยไปเฝ้าไข้เขาก็ดูแลให้อย่างดี
พอคุณบุญเลี้ยงเสียชีวิตลงหลังจากป่วยมานาน ทั้ง 2 คนก็คงเห็นใจและเข้าใจกันเขาก็เลยแต่งงานกัน
และอยู่กันมาจนทุกวันนี้โดนที่คุณอำนวยก็มีลูกกับคุณศุภชัย 2 คน เป็นผู้หญิงทั้งคู่"
ป้าประไพ แย้มสะอาดเล่าเหตุการณ์ช่วงนั้น
"แต่ฉันว่าถ้าแม่บุญเลี้ยงยังอยู่มาถึงวันนี้ คุณศุภชัยจะต้องรวยกว่านี้อีก
เพราะแม่บุญเลี้ยงนั้นเป็นคนละเอียดลออรอบคอบมาก" ป้าประไพ กันเขตต์
พูดถึงน้องบุญธรรมที่จากไปกว่า 20 ปีแล้ว
พอเสียบุญเลี้ยงไปแล้ว ศุภชัยก็เริ่มเบนเข็มธุรกิจของตัวเองทันที คราวนี้มาจับมือกับพี่สาวคนโตที่ชื่อประไพ
แย้มสะอาด ลงทุนทำโรงหนังชั้นสองเป็นโรงแรกในปี 2507 ให้ชื่อว่า "เฉลิมรัตน์"
อยู่แถวเชิงสะพานพระโขนงฝั่งตรงข้ามตลาดพระโขนงในขณะนี้ แต่เดี๋ยวนี้เฉลิมรัตน์ก็กลายเป็นโรงน้ำชาและเปลี่ยนเจ้าของไปนานแล้ว
"ตอนนั้นเขาก็หมุนเงินกันเต็มที่เหมือนกัน ทำกับพี่สาว 2 คน ก็ลงทุนกันประมาณ
4-5 ล้านเห็นจะได้ พอทำไปได้โรงหนึ่งทีนี้เขาก็ตะลุยสร้างใหญ่เลย ในช่วง
6-7 ปีนี่เขาสร้างโรงหนังได้ถึง 7 โรง
เพราะเขาบอกว่าถ้าทำแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ แล้วโรงหนังสมัยนั้นมันยังต้องอาศัยบารมีในการมีโรงในเครือข่ายมาก
ๆ ถึงจะได้หนังดี ๆ เข้ามาฉายเพราะที่เขาทำนี่เป็นโรงหนังชั้น 2
ทั้งนั้นยกเว้นโรงหนังบางกอกที่ครั้งแรกทำเป็นชั้นหนึ่ง" คนที่อยู่ในวงการโรงหนังชั้น
2 พูดถึงพี่น้องตระกูลอัมพุชคู่นี้ให้ฟัง
โรงหนังทั้ง 7 นั้นก็มีเฉลิมรัตน์ที่พระโขนง แล้วก็ที่บางนา สำโรง ตรอกจันทน์
ศรีย่าน เจ้าพระยา (พระโขนง) และบางกอก เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อของโรงหนังชั้นสองคนหนึ่งในยุคนั้นทีเดียว
ทำโรงหนังอยู่ 7 ปีก็เริ่มเบื่อและเริ่มเห็นทางตัน เพราะใคร ๆ ก็แห่กันมาทำโรงหนังชั้น
2 กันเต็มไปหมด ศุภชัยก็ประกาศขายโรงหนังไปทีละโรง จนหมด
ช่วงปี 2513-14 นั้น ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ยังเป็นแถบชานเมือง แต่ก็เริ่มมีร้านอาหารและอาบอบนวดเล็ก
ๆ และสถานบันเทิงอยู่บ้างแล้ว ศุภชัยก็เลยหันมาบุกเบิกทำไนท์คลับและห้องอาหารขึ้นมา
2
แห่งในแถบนั้น คือดาราไนท์คลับ กับโซซีห้องอาหารและไนท์คลับ โดยหุ้นกับพี่สาวลูกพี่ลูกน้องคนที่ชื่อ
นงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์
ทำไนท์คลับอยู่ 2 ปี จนเขาสนิทสนมเป็นอันดีกับเสี่ยเม้ง เจ้าพ่ออาบอบนวดย่านเพชรบุรีตัดใหม่ในปัจจุบันคนนั้น
จนกระทั่งเสี่ยเม้งได้เป็นหุ้นส่วนกับเขาในดาราและไซซี
ถึงจุดนี้ความคิดในการทำธุรกิจของเขาก็หยุดไม่อยู่เสียแล้ว เมื่อเขามองเห็นว่าทำเลย่านนี้เหมาะจะทำเป็นสถานบันเทิงให้สมบูรณ์แบบไปเลย
เขาก็ตัดสินใจทำสิ่งที่นักธุรกิจอีกมากไม่กล้าทำ
นั่นคือการตะลุยสร้างอาบอบนวดขนาดใหญ่เป็นรายแรกซึ่งมีห้องเป็นร้อย ๆ ห้องขึ้นไป
พร้อมไนท์คลับและห้องอาหารโดยใช้ชื่อว่าแนนซี่อาบอบนวดและไนท์คลับ
ต่อจากนั้นก็ไปทำที่เมรีอาบอบนวดและไนท์คลับ, แฟลตฉิมพลีซึ่งเป็นโรงแรมม่านรูดชื่อดังย่านพัฒนาการ,
ห้องอาหารซีซ่าพาเลซ, มิวสิค วิลล่า, โมแกมโบ (ที่นี่เริ่มด้วยการเช่าแล้วก็ซื้อซึ่งเป็นการหุ้นกับสุนีย์รัตน์
เตลานด้วย) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไดอิจิและวาเลนติโนในปัจจุบัน ต่อมาก็ฮูหยินและบีวา
เป็นที่สุดท้าย
สำหรับผู้ชายนักเที่ยวด้วยกันแล้ว เมื่อเอ่ยถึงชื่อเหล่านี้ก็ไม่ต้องอธิบายกันมาก
เพราะทั้งหมดนี้อยู่แถบถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จากแยกเอกมัยถึงแยกคลองตันทั้งหมด
(ยกเว้นแฟลตฉิมพลีแต่ก็ไม่ห่างไปมากนัก)
ในรัศมีที่ไม่เกิน 1 กม. ก็สามารถเดินเข้าทุกที่ได้หมด
ต้องเรียกว่า ยุคนั้นเขาก็คือเจ้าพ่ออาบอบนวด นั่นเอง เพราะคงไม่มีใครอีกแล้วที่บ้าระห่ำในการลงทุนได้ขนาดนี้
"ที่เลือกทำเลติดกันอย่างนี้ เป็นความคิดของพ่อคนเดียว พ่อมองว่าคงมีลูกค้าเพียงพอที่จะมาซื้อบริการ
เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน ก็คงต้องเรียกว่าเป็นยุคใหม่ของอาบอบนวดในเมืองไทย
ตอนนี้บางแห่งก็เป็นของคุณพ่อคนเดียว บางแห่งก็หุ้นกับป้านงลักษณ์ อย่างแนนซี่ก็หุ้นกับป้า"
สุรัตน์ อัมพุล ลูกชายคนหัวปีของศุภชัยพูดถึงพ่อของตัวเอง
แต่เดี๋ยวนี้ ศุภชัยรามือจากการบริหารอาบอบนวดทั้งหมดแล้ว คงให้เสี่ยเม้งเพื่อนรักเป็นผู้บริหารแทน
จึงไม่น่าแปลกที่นักเที่ยวรุ่นใหม่จะรู้กันว่าเสี่ยเม้งคุมอาบอบนวดย่านนั้นโดยหารู้ไม่
เจ้าของและผู้บุกเบิกที่แท้จริงนั้นเป็นใคร?
ศุภชัยสไตล์
ผู้รู้จักฉวยจังหวะและโอกาสในทุกสถานการณ์
เห็นจะสรุปสไตล์การบริหารและการทำงานของศุภชัย อัมพุช ได้อย่างที่จั่วหัวไว้นั่นเอง
ศุภชัยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ คนหนึ่งของเมืองไทยโดยที่ไม่เคยร่ำเรียนวิชาการบริหารมาจากที่ไหน
ทุกครั้งที่ตัดสินใจเป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานมาโดยตลอด
ที่เด่นมาก ๆ ก็คือการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครทำ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังเฉลิมรัตน์
ที่สร้างเป็นแห่งแรกในย่านพระโขนง จนเวลานี้มีโรงหนังย่านนั้นร่วม 10 โรงเข้าไปแล้ว
ทำดาราไนท์คลับก็เป็นไนท์คลับแห่งแรกที่อยู่เพชรบุรีตัดใหม่ ทำแนนซี่ก็เป็นอาบอบนวดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุด
ทำเมรีก็เป็นอาบอบนวดแห่งแรกที่มีทั้งห้องอาหารและไนท์คลับอยู่ด้วยกัน
ทำเดอะมอลล์ราชดำริก็เป็นแห่งแรกที่มีศูนย์การค้าอยู่ด้วย ทำเดอะมอลล์ 2
ที่รามคำแหงก็เป็นรายแรกที่ทำใหญ่โตขนาดนี้ในย่านนั้น
ที่น่าสังเกตก็คือเมื่อเริ่มรู้สึกว่าธุรกิจที่ทำมีคนทำตามจนเริ่มเฟ้อจะขายทิ้งอย่างไม่ใยดีทันที
ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง อาบอบนวด แล้วไปเริ่มทำอย่างอื่นในที่ใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น
ๆ
มาก่อนเลย
"ตัวเสี่ยนี่แกเป็นคนที่ชอบเป็นหัวหน้าครอบครัวแล้วให้ผู้บริหารเป็นผู้ตาม
อันนี้เป็นสไตล์ของแก แกชอบเป็นคนให้กำเนิด แล้วต้องมีคนมาเลี้ยงให้โต แต่ถ้าจะให้แกเลี้ยงเองนี่แกไม่ถนัด
เรื่องการบริหารก็ไม่ถนัด แล้วแกก็ไม่ค่อยอยากยุ่งกับคนมาก ๆ เวลาประชุมฝ่ายบริหารนี่แกไม่เคยเข้าร่วมเลย"
ผู้บริหารคนหนึ่งที่เคยร่วมกับเดอะมอลล์พูดถึงศุภชัย
"ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเจ้าของโครงการ แต่ก็จะใช้วิธีจ้างคนเข้ามาบริหาร
ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับลูก ๆ ของเขาได้ด้วย แต่เมื่อไม่ได้ทำงานร่วมกันโดยตรง
โอกาสที่จะมีข้อขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายบริหารที่จ้างมากับเจ้าของโครงการก็เกิดขึ้นได้
นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยพอสมควร
ผู้บริหารจากที่นี่โยกย้ายไปทำงานอยู่ตามห้างสรรพสินค้าอีกหลายแห่ง เช่นพันธุ์ทิพย์
เมอรี่คิงส์ และนิวเวิลด์ เป็นต้น" ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับกลุ่มนี้อีกคนหนึ่งคอมเมนต์
แต่เรื่องความสมถะนั้นเห็นจะเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเสี่ยศุภชัยเลยทีเดียว
เรื่องการแต่งตัวปอน ๆ สวมรองเท้าแตะเดินคุมงานนั้นเป็นเรื่องปกติที่พนักงานส่วนใหญ่รู้กันดีอยู่แล้ว
แต่บางครั้งก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็นไม่น้อยทีเดียว
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พนักงานขายวัสดุก่อสร้างรายหนึ่งไปขอพบกฤษณา อัมพุชซึ่งเป็นลูกสาวของศุภชัย
ซึ่งคุมงานด้านการจัดซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างอยู่ ปรากฏว่าไม่พบกฤษณาเพราะไปรับประทานข้าวกลางวัน
แต่เจอแป๊ะแก่ ๆ คนหนึ่งนั่งอยู่หน้าห้อง สวมเสื้อยืดคอกลม ที่หน้าอกโฆษณาสียี่ห้อหนึ่ง
กางเกงขาสั้น สวมรองเท้าแตะ
พนักงานขายรายนี้โชคดีมากที่มีสัมมาคารวะอยู่แล้ว จึงเข้าไปถามแป๊ะแก่คนนั้นอย่างสุภาพถึงกฤษณา
พอรู้ความว่าทำอะไร เขาก็พูดว่า "พูดกับผมก็ได้ ผมศุภชัย อัมพุช พ่อของกฤษณาเขา"
และบางวันหน้าเดอะมอลล์ 3 ที่กำลังก่อสร้างอยู่เวลานี้ ศุภชัย อัมพุชก็จะนั่งกินข้าวเหนียว
ไก่ย่างที่แม่ค้าหาบเร่หาบมาขายอย่างหน้าตาเฉย
พูดถึงการคุมงานก่อสร้างแล้ว ก็มีเรื่องน่าทึ่งเหมือนกัน เมื่อ "ผู้จัดการ"
รู้มาว่าศุภชัยเป็นผู้คุมงานก่อสร้างเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่สร้างโรงหนังแห่งแรกมาแล้ว
ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านช่างเลย
แต่ก็อาศัยประสบการณ์มาตลอด เดอะมอลล์ทุกแห่งที่สร้างนั้นใช้วิธีจ้างคนงานและหัวหน้าช่างมาเท่านั้น
ไม่มีการประมูลให้ผู้รับเหมารายไหนได้ไป และผู้ที่คุมงานอย่างใกล้ชิดก็คือ
ศุภชัย อัมพุชนี่เอง
"เขาชอบคุมก่อสร้างเองทุกขั้นตอน ยังพูดกันเลยว่าแม้แต่สถาปนิกยังอาย
เขาไม่พอใจแบบตรงไหน ก็แก้มันตรงนั้นเลย โดนกรมโยธาบ้าง เทศบาลบ้างปรับไปแล้วไม่รู้เท่าไรเพราะแก้แบบโดยไม่ได้ขออนุญาต"
ผู้ที่ใกล้ชิดศุภชัยคนหนึ่งบอก
ปกติแล้วถึงแม้เขาจะเคยทำด้านธุรกิจบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็ไม่กินเหล้า
บุหรี่สูบบ้าง และมักจะสูบมากในช่วงที่ใช้ความคิดในการบุกเบิกงานส่วนเรื่องผู้หญิงแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเป็นที่ค่อนข้าง
"เรียบร้อย" คนหนึ่ง
"ก็มีบ้าง อย่างตอนที่ทำไนท์คลับก็ไปชอบนักร้องอะไรอย่างนี้ แต่ก็ชั่วครั้งชั่วคราว
เพราะจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนที่รักลูกรักเมียเอามาก ๆ ไม่เคยเห็นใครรักลูกรักเมียขนาดนี้เลย"
ป้าประไพ แย้มสะอาด พี่สาวแท้ ๆ
ของศุภชัยเล่าให้ฟัง
ความรักเมียของเขานั้น พอจะเห็นได้จากการที่เขาไปสร้างหอระฆังเอาไว้ที่วัดใต้ในซอยอ่อนนุช
เพื่อประโยชน์ของทางวัดและบรรจุกระดูกของเมียคนแรก "บุญเลี้ยง"
ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปกว่า 20 ปีมาแล้ว
หอระฆังแห่งนี้หมดเงินไป 6 แสนบาทเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไปเอาแบบจากกรมศิลปากรมาทำกันทีเดียว
โดยมีลูกสาว ศุภลักษณ์ เป็นผู้คุมการก่อสร้าง
ส่วนเรื่องความรักลูกนั้นก็คงเห็นได้จากการส่งลูก ๆ ทุกคนให้เรียนในระดับสูงสุดเท่าที่แต่ละคนจะเรียนได้
และเมื่อจบในประเทศแล้วก็ส่งต่อเมืองนอกทุกคน "เขาพูดเสมอว่าตัวเขาโง่
เพราะเรียนมาน้อย
ต้องให้ลูก ๆ ฉลาด ด้วยการส่งเรียนให้มาก ๆ" เขามักจะพูดว่าเป้าหมายการทำงานแต่ละชิ้นนั้นก็เพื่อลูก
ๆ ต้องการสร้างธุรกิจที่เป็นปึกแผ่นไว้ให้ลูก ๆ นั่นเอง
"แล้วลูกแกก็แบ่งเบาได้เยอะ ก็เริ่มเป็นงานกันแล้ว และมีความสามารถกันตามอัตภาพ
ข้อสำคัญคือมีความรับผิดชอบและทำงานเป็น เก่งไม่เก่งนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง
แต่มันก็เริ่มดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากแล้ว"
คนที่เคยใกล้ชิดกับศุภชัยกล่าว
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของศุภชัยก็คือการเริ่มทำงานมาด้วยตัวคนเดียว จึงทำให้ไม่ค่อยไว้วางใจคนภายนอกในการร่วมลงทุนอะไร
มักจะทำกับพี่น้องเป็นหลัก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทำโรงหนังเฉลิมรัตน์ ร่วมทุนกันถึง
7
คน แต่ก็ปรากฏว่าทะเลาะกันไปตามระเบียบ ตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยร่วมทุนกับใครอีกเลยนอกจากพี่น้อง
จากการที่ทำงานคนเดียวเป็นหลัก และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงประกอบกับไม่ชอบสังคมกับใคร
ทำให้ศุภชัย อัมพุชในวันนี้มีคนรู้จักเขาน้อยเต็มที นอกจากคนในวงการที่เคยทำงานร่วมกับเขามาเท่านั้น
แม้แต่การออกไปตีกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่เขาเพิ่งเริ่มเล่นเอาในวัยร่วม 60
แล้วก็ยังออกไปตีกับภรรยา คนที่ชื่ออำนวยเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วนการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นั้นก็ปิดตายเช่นกัน
คงให้แต่ลูกสาวลูกชายออกหน้ามาตลอด
แต่ถ้าหากเป็นงานกุศลหรืองานบุญ หรืองานศพของคนเก่าแก่ที่เคยรู้จักกันมา
ศุภชัยไม่เคยขัด อย่างครอบครัวของผู้การสวัสดิ์ - ประไพ
กันเขตต์เจ้าของร้านประไพสวัสดิ์ที่ศุภชัยเคยคุมขายเหล้าอยู่ในวัยหนุ่มนั้นก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอเมื่อมีวาระสำคัญ
ๆ
"ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เท่าที่คบเขาไม่ชอบคนดังเพราะลงไป (หนังสือพิมพ์)
ก็มีแต่เสียหาย อย่างภาษีนี่ถึงแม้จะเสียให้ครบ เขาก็จะเรียกเก็บอีก อย่างผมนี่เพิ่งโดนเรียกย้อนหลังมาเมื่อไม่นานนี้เอง
เขาบอกว่าคุณเปิดมา 5 ปีแล้วไม่เสียภาษี ผมบอกเพิ่งเปิดไม่นานนี้ แค่นั้นแหละเขาเอาหนังสือพิมพ์เมื่อ
5 ปีที่แล้วมาให้ดูเลย บอกแล้วทำไมหนังสือถ่ายรูปคุณเปิดร้านมาลงได้ล่ะ แค่นี้ก็เสร็จเขาแล้ว
ถ้าคุณสังเกตคุณจะเห็นว่าทุกแห่งที่เขาทำอยู่จะไม่ใช้ชื่อเขาเลย ทั้งที่เขามีการค้ามากมาย
แต่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าเขาเลย" เจ้าพ่อสถานบันเทิงกลางคืนคนหนึ่งระบายกับ
"ผู้จัดการ"
ก็เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่ศุภชัยเก็บตัวนั้นเพราะอะไรกันแน่
เมื่อเสี่ยศุภชัยของเราเบื่อธุรกิจบันเทิงเสียแล้วนั้น ความเป็นคนไม่หยุดนิ่งทำให้เขาเริ่มสอดส่ายสายตา
หาธุรกิจใหม่ ๆ ทำ ก็พอดีไปเห็นที่ดินผืนงามในย่านจตุรัสทองคำที่ราชประสงค์เข้า
เป็นที่ของแนบ
พหลโยธิน ซึ่งเคยเป็นอดีตลูกหม้อแบงก์ชาติ เท่านั้นเองสมองของเสี่ยศุภชัยก็ดีดลูกคิดรางแก้วทันที
มองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าถ้าทำห้างสรรพสินค้าพร้อมส่วนของศูนย์การค้าขึ้นที่นี่แล้วก็คงมีแต่กำไรกับกำไร
เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน
วันที่ 18 กันยายน 2522 ศุภชัยก็จับมือกับนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ลงขันกันคนละครึ่งวางเงิน
5 ล้านบาทตั้งบริษัทราชประสงค์ ช้อปปิ้งมอลล์ ขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีทั้งเดอะมอลล์สรรพสินค้า
และส่วนของศูนย์การค้าทันสมัย พรั่งพร้อมด้วยสินค้านานาชนิด ประจัญหน้าประกบกับห้างไดมารูเจ้าถิ่นเดิมและห้างเซ็นทรัลชิดลม
ที่มายึดหัวหาดย่านนี้มาก่อนหน้านานแล้ว
2 ฝ่ายตกลงกันว่า ทางตระกูลอัมพุชจะเป็นคนบริหารงานศูนย์การค้าเอง ส่วนของนงลักษณ์นั้นจะต้องเป็นผู้จัดหาด้านไฟแนนซ์
ซึ่งก็ได้ธนาคารทหารไทยเทคแคร์เป็นอย่างดี เพราะทั้งภัทรประสิทธิ์และประยูร
จินดาประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์ทหารไทยนั้นก็สนิทสนมกันเป็นอันดีมานานแล้ว
นี่คือเหตุผลที่ทำไมกลุ่มของเดอะมอลล์ไม่ใช้บริการของแบงก์เอเชีย ซึ่งวิศาล
ภัทรประสิทธิ์และนงลักษณ์เองต่างก็เป็นรองประธานกรรมการและกรรมการอยู่ในแบงก์พร้อมทั้งถือหุ้นใหญ่อันดับ
2
เบ้อเร้อเบ้อร่าทีเดียว
ความสัมพันธ์ของแบงก์ทหารไทยกับกลุ่มเดอะมอลล์นั้น คงจะดูได้จากการที่แบงก์ทหารไทย
สาขาคลองจั่นต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยนับเงินและเคลียร์เงินเข้าบัญชีในทุกเย็นที่เดอะมอลล์
รามคำแหง
และแบงก์ทหารไทยสาขาราชประสงค์ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ เดอะมอลล์ราชดำริ
ก็เงินสด ๆ ทั้งนั่นแหละ วันละกี่ล้านก็ลองคำนวณดูเอาเองก็แล้วกัน
งานนี้ แบงก์อื่นไม่มีสิทธิ์แหยมว่างั้นเถอะ
ด้วยเหตุผลที่เดอะมอลล์ราชดำริประสบความสำเร็จเกินคาดในการขาย (เซ้ง) พื้นที่ศูนย์การค้า
100 ยูนิตได้หมดภายในเวลาแค่ 3 วัน หลังกำหนดเปิดให้จอง
ทำให้เงินลงทุนที่ลงไปในเดอะมอลล์ราชดำริในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้าเกือบจะได้มาฟรี
เหตุนี้เองที่ทำให้เครดิตของกลุ่มเดอะมอลล์ดีมาตลอดในสายตาของแบงก์ที่ให้สินเชื่อ
เมื่อการแข่งขันในราชดำริเริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีโครงการศูนย์การค้าเกิดขึ้นมายิ่งกว่าดอกเห็ด
ตั้งแต่โรบินสันราชดำริ บิกเบลล์ อัมรินทร์พลาซ่า เพนนินซูล่าพลาซ่า มาบุญครองเซ็นเตอร์
พันธ์ทิพย์พลาซ่า ซิตี้พลาซ่า เมื่อรวมกับเจ้าเก่าอย่างเซ็นทรัลชิดลม ไดมารูราชดำริ
เดอะมอลล์ สยามสแควร์ เมโทร พาต้า เพลินจิตอาเขต พื้นที่ที่ใครคิดว่าเป็นทำเลทองก็กลายเป็นทำเลหิน
ที่ต่อให้แน่ขนาดไหนก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ อย่างมากแค่ให้อยู่รอดได้ก็เก่งมากแล้ว
ศุภชัย อัมพุชเองก็ออกหาทำเลใหม่ทันทีด้วยสัญชาตญาณของคนทำมาหากินแล้วก็มาเห็นทำเลย่านรามคำแหง
แค่เห็นทำเลเสี่ยศุภชัยก็ตัดสินใจสร้างเดอะมอลล์ 2 ขึ้นที่นี่ทันที
ท่ามกลางสายตาที่ดูถูกดูแคลนของนักการตลาดห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย ที่ไม่เชื่อว่าทำเลนี้จะไปรอด
เพราะอยู่ชานเมืองและไม่มีศูนย์การค้าในย่านนี้มาก่อนเลย
"พ่อมองเห็นว่า โพเทนเชียลที่นี่ดีมาก เพระไม่เคยมีศูนย์การค้าที่นี่มาก่อน
แล้วคนแถวนี้ก็มีกำลังซื้อสูง ที่เคยทำกันมานั้นก็ทำกันเล็ก ๆ มันก็เลยไม่ดึงดูดคน
เราก็เลยทำใหญ่ซะเลย ให้มีทุกอย่าง คนก็จะมาที่เรา
เพราะเขาไม่อยากเข้าไปเสียเวลาในเมือง" ศุภลักษณ์ อัมพุช ลูกสาวคนโตของเสี่ยศุภชัยพูดถึงพ่อ
และในที่สุดเดอะมอลล์ 2 ที่รามคำแหง ก็เป็นผู้เปิดประตูศูนย์การค้าในย่านรามคำแหงให้เกิดตามมาอีกมากรายนับตั้งแต่
บางกะปิสรรพสินค้าที่กำลังเปลี่ยนเป็นอิมพีเรียลสาขาบางกะปิ เวลโก้, ลัคกี้แฟมิลี่
สโตร์,
รามสรรพสินค้า จนกระทั่งมาถึงเซ็นทรัล สาขารามคำแหงที่เปิดตัวไปไม่นานมานี้
ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกมาก่อน เมื่อเดอะมอลล์ 2 ประสบความสำเร็จเกินคาดเสี่ยศุภชัยก็ไม่รอช้า
มองหาทำเลเพิ่มเติมในย่านเดียวกันเพื่อสร้างอาณาจักรเดอะมอลล์ให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในย่านนี้
จนไปได้เดอะมอลล์ 3
ซึ่งอยู่ตรงข้ามเดอะมอลล์ 2 และเดอะมอลล์ 4 ที่อยู่ถัดเดอะมอลล์ 3 ไปอีกประมาณ
80 เมตร
เดอะมอลล์ 3 หรือเดอะมอลล์ช้อปปิ้งเซนเตอร์มูลค่า 600 ล้านบาทนี้นอกจากจะทำให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในย่านรามคำแหงแล้ว
ยังเพิ่มความแปลกใหม่ด้วยการจัดพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร
ชั้นใต้ถุนปรับเป็นตลาดสดติดแอร์ที่ใหญ่ที่สุดพร้อมด้วยระบบการจัดการตลาดแบบญี่ปุ่น
ที่สุรัตน์ อัมพุช ผู้รับผิดชอบส่วนนี้บอกว่า "รับรองว่าไม่มีใครเหมือนแน่"
ส่วนเดอะมอลล์ 4 หรือ เดอะมอลล์ฟู้ดสตรีท แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์
ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น ก็ตั้งใจจะให้เป็นศูนย์เอนเตอร์เทนที่มีทั้ง
ไอซ์สเก็ตขนาดมาตรฐานโอลิมปิค ในพื้นที่ 3,500
ตารางเมตร พร้อมกิจกรรมต่อเนื่องครบครัน
ส่วนดิสโกเธคที่ดึงมาร่วมนั้นก็เป็นเครือข่ายของชัยรัตน์ เศวตจินดา เจ้าพ่อดิสโกเธคคนหนึ่งที่ทำดิสโกเธคมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจนเดี๋ยวนี้ก็ยังทำอยู่ที่คอลเลจดิสโกเธค
บางกอกบาร์ซา
มีโรงภาพยนตร์ชั้น 1 ที่ผูกขาดกันมาตั้งแต่เอ็มจีเอ็ม 1 และ 2 ส่วนโบวลิ่งนั้นก็เป็นขนาด
30 เลน โดยดึงเอา 35 โบว์มาลงทุน ก็เห็นคุยว่าเป็นลานโบว์ลิ่งระบบคอมพิวเตอร์คอนโทรลซะด้วย
มีสถานบริการร่างกายของเวิล์ดคลับมาอยู่ด้วย
ที่เหลือก็เป็นคอกเทลเลานจ์ คอฟฟี่ช้อป ฟาสต์ฟู้ด พร้อมทั้งร้านอาหารดัง
ๆ อีกหลายรายเฉพาะโครงการ 4 นี่ก็ลงไปอีก 100 ล้านบาท
ส่วนเดอะมอลล์ 2 ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญนั้นก็มีการขยายพื้นที่ด้านขวาออกไปอีก
6,000 ตารางเมตร เพื่อรับกับการเติบโตของทั้งกลุ่ม
ศุภชัย อัมพุชตั้งใจจะให้ที่นี่เป็นอาณาจักรเดอะมอลล์ที่แท้จริง และเป็นเจ้ายุทธจักรในย่านนี้อย่างสมบูรณ์แบบ
เป็นการดักคนเข้าเมืองอย่างที่เซ็นทรัลพลาซ่าทำได้ผลมาแล้วที่ลาดพร้าว
เป็นการดักเซ็นทรัลสาขารามคำแหงได้อย่างเจ็บปวดที่สุด และเป็นการวางเครือข่ายที่ยากจะหาใครมาแข่งได้ในย่านหรือทำเลเดียวกันนี้
และเมื่ออาณาจักรแห่งนี้เสร็จเรียบร้อยลง เสี่ยศุภชัยก็ลอยตัวอีกเช่นเคย
เพราะพื้นที่แทบทั้งหมดได้ขายไปแล้ว เงินที่ลงไปก็ได้คืนหมดแล้ว ต่อจากนี้ไป
เสี่ยศุภชัย ก็คงจะต้องตระเวนหาแหล่งทำมาหากินต่อไป
เมื่อได้ที่ดินผืนงาม ๆ ที่ไหนก็ค่อยมาพิจารณาอีกทีว่าควรจะทำอะไรถึงจะเหมาะ
เมื่อสร้างเสร็จก็จะเป็นการบุกเบิกธุรกิจลักษณะนี้ในย่านนั้นอีกครั้งหนึ่ง
คงต้องคอยดูกันว่าในปีหน้านี้ เสี่ยศุภชัยจะคิดทำธุรกิจอะไรอีก เพื่อให้คนอื่นแห่ตามอย่างจนเริ่มเบื่อ
แล้วก็ไปจับทำอย่างอื่นต่อไป
นี่แหละคือวิถีของคนชื่อ "ศุภชัย อัมพุช"