Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2533
การบินไทยบินหลงเป้า             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

   
related stories

กนก อภิรดี มืออาชีพคนแรกในการบินไทย

   
search resources

การบินไทย, บมจ.
นเรศ หอวัฒนกุล
Aviation




ชั่วเวลาเพียงปีเดียวนับจากเดือนเมษายน 2532 ถึงพฤษภาคม 2533 การบินไทยขอซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง รวมจำนวน 31 ลำเป็นเงินเกือบแสนล้านบาท

ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการบินที่การบินไทยตั้งเป้าเติบโตในอัตราเฉลี่ยปีละ 11.7% ในอีก 5 ปีข้างหน้าและก้าวไปสู่การเป็นสายการบินชั้นแนวหน้าของโลกเมื่อสิ้นสุดปี 2538

ในขณะเดียวกันนักบินที่มีอยู่ทุกวันนี้บินกันอย่างหามรุ่งหามค่ำไม่มีเวลพักผ่อนเพราะการขยายตัวของธุรกิจการบิน

ผู้ใหญ่ในการบินไทยเคยคิดไหมว่าซื้อเครื่องบินกันอย่างบ้าเลือดแบบนี้แล้วจะหานักบินที่ไหนมาบินให้เพียงพอและจะเอาไปบินที่ไหนถึงจะคุ้ม

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤษภาคม 2533 อนุมัติแผนจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทยจำนวน 18 ลำจากที่เสนอ 23 ลำ ในที่ประชุมวันนั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคำถามแบบทีเล่นทีจริงว่า การขยายฝูงบินของการบินไทยจะต้องขยายให้ใหญ่ขนาดไหนถึงจะเจ๊งแบบเดียวกับสายการบินแพนแอมหรือบีโอเอซี

ไม่มีคำตอบจากมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย

แพนแอมของสหรัฐฯ และบีโอเอซีของอังกฤษนั้นเคยเป็นสายการบินยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งมาก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความใหญ่ที่ขยายไปอย่างไม่หยุดยั้งในรูปขององค์กรและขนาดฝูงบินโดยละเลยต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานภายใน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว การบินไทย และกระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนเร่งด่วน จัดซื้อเครื่องบินเฉพาะหน้าจำนวน 16 ลำ แต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ซื้อเพียง 13 ลำ

เหตุผลรองรับในการเสนอซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งคือ แผนการขยายฝูงบินให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจการบินที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

แต่เนื่องจากการซื้อเครื่องบินนั้นต้องสั่งจองล่วงหน้าเป็นเวลานานกว่าจะได้รับมอบ การตัดสินใจซื้อจึงต้องทำตั้งแต่วันนี้

บนพื้นฐานความมั่นใจที่ว่าการเติบโตของตลาดในสี่ถึงห้าปีข้างหน้าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้

ในการประชุมแผนการตลาดประจำปี 2533 ซึ่งมีขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารของการบินไทยได้คาดหมายอัตราการเจริญเติบโตของการบินไทยระหว่างปี 2533-2538 เอาไว้ว่า

จะสูงกว่าการขยายตัวโดยเฉลี่ยของธุรกิจการบินโลกและสายการบินอื่น ๆ ในย่านเอเชียแปซิฟิก

อัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่อปีของการบินไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวคือ 11.7% ในขณะที่สายการบินแถบเอเชีย แปซิฟิกและสายการบินอื่นในโลกจะเติบโตเพียง 11.0% และ 8.0% ตามลำดับ

ในขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมกรุงเทพให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้

ได้รับการขยายความในรูปของการเพิ่มจำนวนเส้นทางการบินและจำนวนเที่ยวบินของการบินไทยในระยะห้าปีข้างหน้า

นเรศ หอวัฒนกุล ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดของการบินไทยแถลงรายละเอียดในเรื่องนี้เอาไว้ว่า สิ้นปี 2538 การบินไทยจะมีเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 385 เที่ยวต่อสัปดาห์จากจำนวน 211

เที่ยวต่อสัปดาห์ในปัจจุบัน ส่วนเที่ยวบินในประเทศจะเพิ่มจาก 296 เที่ยวเป็น 413เที่ยวต่อสัปดาห์

รวมจำนวนเที่ยวบินทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 57%

เพื่อรองรับกิจกรรมการบินที่เพิ่มขึ้นการบินไทยจึงจำเป็นต้องขยายฝูงบินให้ใหญ่ขึ้นถึง 42.5% จำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ในตอนนี้คือ 54 ลำจะเพิ่มขึ้นเป็น 77 ลำในปี 2538

และยังมีตัวเลขอยู่ในใจว่าจะขยายไปให้ถึง 94 ลำในปี 2543

มติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเท่ากับว่าการบินไทยบรรลุก้าวที่สำคัญของแผนห้าปีไปแล้ว แม้จำนวนเครื่องบินที่ได้รับอนุมัติให้ซื้อจะไม่ครบตามที่การบินไทยขอไป

แต่ห้าลำที่ขาดหายไปเป็นเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ จึงไม่กระทบต่อความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นสายการบินชั้นแนวหน้าของโลก

"ดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่อย่าลืมนะว่าใครก็ซื้อเครื่องบินได้ถ้ามีเงิน ซื้อไปแล้วจะบินอย่างไร จะบริหารอย่างไรให้คุ้มกับการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญกว่า"

อดีตผู้บริหารระดับกลางของการบินไทยท่านหนึ่งให้ข้อคิด

ความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อนยากที่คนภายนอกจะเข้าใจถึงความเป็นไปในกลไกต่าง ๆ และการประชาสัมพันธ์ด้านกว้างในเรื่องของภาพพจน์ ความสำเร็จในรูปของรายได้ กำไร

จำนวนผู้โดยสารทำให้ภาพรวมของการบินไทย คือภาพที่สวยสดงดงามในความรับรู้ของสาธารณชน

การซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งมีคำอธิบายในเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ เป็นเหตุผลสนับสนุน ประหนึ่งว่าความก้าวหน้าขององค์กรชี้ขาดกันที่จำนวนของเครื่องบิน

ถ้าไม่อนุมัติให้ซื้อแล้วการบินไทยจะต้องตกต่ำลง

แม้ที่จริงแล้ว ขนาดของฝูงบินเป็นเครื่องวัดอันหนึ่งแต่ไม่ใช่ตัวแทนความมั่นคงแข็งแกร่งของการบินไทยทั้งหมด

การบินไทยในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงผู้กุมอำนาจครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2531 เป็นต้นมา ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพแบบนักธุรกิจมืออาชีพที่แท้จริงว่ามีอยู่หรือไม่

ถ้าไม่มีสิทธิพิเศษที่ไม่ต้องส่งเงินรายได้ให้กระทรวงการคลัง ถ้าปราศจากเงื่อนไขการไร้คู่แข่งในฐานะของสายการบินแห่งชาติเพียงสายการบินเดียวแล้ว การบินไทยจะอยู่ในฐานะเช่นไร??

และถ้ามองกันให้ลึกลงไปถึงเบื้องหลังของภาพพจน์ที่ปรุงแต่งออกมาอย่างสวยงามแล้ว ระบบการบริหารงานภายในมีประสิทธิภาพเพียงไร??

การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางด้านฝูงบินของการบินไทยในวันนี้นอกเหนือจากข้อกังขาในเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนตัดสินใจแล้ว ยังเกิดคำถามใหม่ขึ้นมาว่า ซื้อเครื่องกันมาก ๆ อย่างนี้แล้ว

มีนักบินพอหรือไม่??? แล้วจะเอาไปบินตรงไหน???

ผมบินจากกรุงเทพไปโรมใช้เวลาเก้าชั่วโมงพอไปถึงสลบเลย" กัปตันการบินไทยคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งบริหารเป็นผู้อำนวยการใหญ่ในฝ่ายปฏิบัติการบินต่างประเทศกล่าว

สภาพความเหนื่อยล้าอันเนื่องมาจากชั่วโมงการบินที่ยาวนานติดต่อกันกำลังเกิดขึ้นกับนักบินการบินไทย กัปตันอาวุโสหลาย ๆ คนที่มีตำแหน่งทางบริหารหรือเป็นครูฝึกบินยังต้องทำการบินอย่างหามรุ่งหามค่ำ

ถึงแม้จำนวนชั่วโมงการบินยังอยู่ภายในเพดานที่กำหนดโดยข้อบังคับของการบินไทยและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศก็ตาม

แต่ความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยของนักบินนี้เคยมีใครคิดกันบ้างไหมว่ามีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารนับร้อยชีวิตมากเพียงใด

ตามกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นักบินจะทำการบินได้สูงสุดไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือนหรือ 1,200 ชั่วโมงต่อปี

ปัจจุบันชั่วโมงบินของนักบินการบินไทยอยู่ในอัตราเฉลี่ย 75 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน ในขณะที่สายการบินเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์หรือมาเลเซี่ยน แอร์ไลน์นั้นบินกันเพียง 50 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น

"เราพยายามเพิ่มชั่วโมงการบินต่อเดือนขึ้นอีกให้เป็น 84 ชั่วโมงต่อเดือน" กัปตันพยูร เผือกผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบินของการบินไทยเปิดเผย

นอกเหนือจากการเพิ่มชั่วโมงบินแล้ว ข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งที่ฝ่ายบริหารการบินไทยมีต่อนักบินคือ ให้งดหรือลาพักให้น้อยที่สุดจากจำนวนวันหยุดตามสิทธิ 21 วันต่อปี

ปีที่แล้วการบินไทยคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 14% แต่เอาเข้าจริงเพิ่มสูงขึ้นถึง 24%

ซึ่งสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้ปริมาณการเดินทางเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

"แผนการขยายฝูงบินมันเกินกว่าที่เราคาดหมายไว้ทุกครั้ง" อดีตผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายปฏิบัติการบินกล่าว

เป็นเรื่องน่าแปลกว่าฝ่ายบริหารการบินไทยนั้นสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ห้าถึงหกปีว่าจะต้องซื้อเครื่องบินเพิ่มเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น แต่ในเรื่องนักบินซึ่งเห็นกันชัด ๆ

อยู่แล้วว่ามีเครื่องบินเพิ่มก็ต้องมีนักบินมากขึ้นอีก กลับไม่มีการวางแผนในเรื่องนี้

การบินไทยไม่เคยมีแผนการสร้างนักบินสำรองเอาไว้ล่วงหน้าด้วยเหตุผลว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงต่อการสูญเปล่า

"เราไม่ค่อยกล้าจะเผื่อ เกิดไม่มีเครื่องบินให้บิน คนจ้างมาแล้วไม่มีงานทำต้องเสียเงินเดือนฟรี ๆ"

แต่การมีคนแล้วไม่มีเครื่องให้บินกับซื้อเครื่องมาแล้วแต่ไม่มีนักบิน ยังไม่เคยมีใครเปรียบเทียบว่าอย่างไหนจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่ากัน!!

ทางออกหนึ่งของการบินไทยเพื่อแก้ไขปัญหานักบินขาดแคลนนอกเหนือจากเพิ่มจำนวนชั่วโมงบินแล้วคือการใช้นักบินจากสายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ (เอสเอเอส) มาบินแทน

การบินไทยเคยใช้นักบินเอสเอเอสมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2503 ในช่วงที่ธุรกิจการบินยังเป็นของใหม่สำหรับคนไทย หลังจากนั้นเมื่อมีการสร้างนักบินเองรวมทั้งการใช้นักบินจากกองทัพอากาศ

นักบินจากเอสเอเอสก็เริ่มลดจำนวนลงจนเหลือเพียงคนเดียวในปี 2520 ซึ่งเป็นปีที่หมดสัญญาร่วมทุน

ในขณะนี้มีนักบินเอสเอเอสมาบินเครื่องการบินไทยอยู่ 12 คนโดยเป็นกัปตันทั้งหมดและจะทะยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 59 คนในเดือนตุลาคมนี้ ตามข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย

นักบินเอสเอเอสที่มาส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 50-55 ปี บังเอิญเป็นช่วงที่ทางเอสเอเอสเปลี่ยนแบบของเครื่องบิน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักบินที่อายุ 50-55

ทางสายการบินจะไม่พยายามให้เปลี่ยนไปบินเครื่องแบบที่ต่างไปจากเครื่องที่บินอยู่ประจำ

"แต่ในเมื่อเราต้องการจะโต เราก็ยอมรับเพราะว่าเราต้องการนักบิน" กัปตันพยูร อธิบายถึงการใช้นักบินอายุมาก ๆ จากเอสเอเอส

อีกส่วนหนึ่งของนักบินต่างด้าวคือพวกที่อายุครบ 55 ซึ่งเป็นวัยเกษียณของเอสเอเอสแต่ตามกฎขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ นักบินจะบินได้จนถึงอายุ 60 ถ้าผ่านการตรวจโรค

การบินไทยจึงรับนักบินในกลุ่มนี้มาใช้ชั่วคราวไปก่อน

แน่นอนว่า ค่าตอบแทนสำหรับนักบินจากเอสเอเอสจะต้องสูงกว่านักบินของการบินไทยเพราะถ้าจ้างเท่ากันก็คงจะไม่มีใครมา

"เราให้เงินเดือนในอัตราที่มากกว่าเงินเดือนนักบินที่สูงที่สุดของเราไม่มากนัก" กัปตันพยูรเปิดเผยในเรื่องค่าตอบแทนของนักบินเอสเอเอส

เงินเดือนสำหรับกัปตันของการบินไทยที่บินมานานนั้นสูงกว่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไป ในกรณีของนักบินจากเอสเอเอสนั้น ทางการบินไทยยังต้องรับภาระในเรื่องค่าที่พัก ทั้งที่กรุงเทพและค่าบำรุงรักษาบ้าน

เฟอร์นิเจอร์ที่โคเปนเฮเกนระหว่างที่ออกบิน แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตนักบินการบินไทยประเมินค่าใช้จ่ายต่อคนที่การบินไทยต้องจ่ายให้นักบินเอสเอเอสว่าไม่ต่ำกว่าสี่แสนบาท

ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะจ่ายกันที่เดนมาร์กโดยจ่ายเป็นเงินดอลลาร์จากการขายตั๋วในต่างประเทศ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นกรณีสะท้อนถึงความขาดแคลนนักบินในขณะนี้คือ การบินไทยต้องดึงเอานักบินที่มีอายุเกิน 60 ปีไปแล้วกลับมาบินอีก

โดยกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศอีกเช่นกันที่วางข้อบังคับไว้ว่านักบินจะทำการบินได้ถึงวัย 65 ปีเป็นอย่างมาก หากผ่านการตรวจโรค แต่นักบินที่พ้นวัย 60

ปีขึ้นมาแล้วจะทำหน้าที่กัปตันหรือนักบินที่หนึ่งไม่ได้ ต้องเป็นนักบินที่สองหรือ CO PILOT เท่านั้น

ปัจจุบันนี้การบินไทยมีนักบินที่เกษียณอายุไปแล้วเมื่อปี 2532 แต่ถูกดึงตัวเข้ามาปฏิบัติงานใหม่ราวเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จำนวน 5 คน เป็นนักบินที่สองของเครื่องจัมโบ้ 747 หนึ่งคน

ส่วนอีกสี่คนเป็นนักบินที่สองของสายการบินในประเทศ

การใช้นักบินที่เกษียณอายุไปแล้ว การบินไทยทำถูกขั้นตอน ข้อกำหนดในทางการบินทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติแล้วการใช้นักบินอายุมาก

แม้จะเป็นเพียงนักบินที่สองคือการเพิ่มความเสี่ยงในการเดินทางของผู้โดยสาร

โอกาสที่จะเกิดความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นยากมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการบินไทยจะต้องรับผิดชอบและจะมีผลเสียต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสารต่อการบินไทย

การบินไทยมีนักบินอยู่ในขณะนี้ 501 คน แบ่งออกเป็นนักบินที่หนึ่งหรือกัปตัน 179 คน นักบินที่สองหรือ CO PILOT 185 คนและนักบินที่สามหรือ SYSTEM OPERATOR 125 คน

เป็นนักบินของเที่ยวบินในประเทศ 79 คน 422 คนบินเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งกัปตันจากเอสเอเอส 12 คนด้วย

ตามแผนการของฝ่ายปฏิบัติการบินเพื่อที่จะรองรับการขยายฝูงบินระหว่างปี 2533-2538 การบินไทยจะต้องมีนักบินทุกประเภทรวมกันเพิ่มขึ้นอีก 216 คนหรือเฉลี่ยปีละ 43 คน

การบินไทยรับสมัครนักเรียนการบินปีละสองครั้งรวมกันแล้วได้คนที่จะมาฝึกเป็นนักบินที่สามแค่ปีละ 12-15 คนเท่านั้น

อัตราการผลิตนักบินใหม่ในระดับนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนนักบินในตอนนี้ และหากยังอยู่ในระดับนี้ต่อไปบวกกับแผนการขยายฝูงบินในวันข้างหน้า

อีกนานหลายปีการบินไทยจึงจะมีนักบินเป็นของตัวเองอย่างพอเพียง

ปัญหาการขาดแคลนนักบินเกิดขึ้นกับสายการบินใหญ่ ๆ ทั่วโลกในขณะนี้เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจการบินในช่วงสามปีที่ผ่านมา

แต่ในขณะเดียวกันสายการบินขนาดกลางหรือสายการบินในบางประเทศที่มีการแข่งขันอย่างเสรีบางแห่งกลับประสบกับการขาดทุน บางรายถึงกับต้องเลิกกิจการไป

การจ้างนักบินจากสายการบินที่ขาดทุนหรือเลิกกิจการเป็นวิธีการเฉพาะหน้าในการแก้ปัญหานักบินขาดแคลน

สิงคโปร์แอรไลน์รับนักบินจากออสเตรเลี่ยนแอร์ไลน์ซึ่งมีปัญหาขาดทุนจำนวน 50 คน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการคัดเลือกก่อน

มาเลเซี่ยนแอร์ไลน์ว่าจ้างนักบิน 200 คนจากสายการบินแอนเซทของออสเตรเลียซึ่ง้ลิกกิจการไป

การบินไทยเคยได้รับการทาบทามจากแคนาเดียนแอร์ไลน์ที่จะส่งนักบินที่เกษียณแล้วมาบินเครื่องการบินไทย "เขาขอค่าจ้างสูงกว่าที่เราจ่ายให้เอสเอเอสถึง 47%"

กัปตันพยูรพูดถึงเหตุผลที่การบินไทยไม่สนใจนักบินจากแคนาเดียนแอร์ไลน์

การจ้างนักบินต่างชาติของการบินไทยนั้นจำกัดอยู่เฉพาะนักบินที่มาจากเอสเอเอสเท่านั้น เพราะเอสเอเอสนั้นคือผู้วางรากฐานให้กับการบินไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม มีวิธีการฝึก

การบินที่คล้ายคลึงกันจึงเป็นการง่ายที่จะรับมาบินร่วมกับนักบินของการบินไทยเอง

ระบบการสรรหาและคัดเลือกนักบินของการบินไทยนั้นใช้การคัดเลือก และสร้างนักบินขึ้นมาเอง เป็นที่รู้กันว่ามาตรฐานการคัดเลือกนั้น "โหด" จากจำนวนผู้สมัครราว 3,000 คน

มีผู้ผ่านการคัดเลือกขั้นสุดท้ายเพียง 12-13 คนต่อปีเท่านั้น

มาตรฐานที่สูงเช่นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้การบินไทยผลิตนักบินไม่ทันใช้

กระบวนการคัดเลือกนักบินใหม่ของการบินไทยนั้นเริ่มต้นด้วยการตรวจโรคจากกรมเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ หลังจากนั้นเป็นการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ จากจำนวนผู้สมัคร 3,000

คนในตอนแรกจะมีผู้ผ่านคัดเลือกในขั้นต้นนี้เพียง 50 คนเท่านั้น

การคัดเลือกขั้นสุดท้ายเป็นการทดสอบทางจิตวิทยาและการทดสอบความถนัดโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน เป็นการทดสอบความเหมาะสมในการทำหน้าที่นักบิน

โดยดูจากปฏิกิริยาการโต้ตอบเมื่ออยู่ภายใต้ภาวะความกดดัน ไหวพริบ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล

ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้มือในขณะที่สมองต้องคิดหาคำตอบหรือคำนวณโจทย์ที่ผู้ทดสอบป้อนให้พร้อมกันไปด้วย

การบินไทยใช้การทดสอบแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2508 โดยเอาตัวอย่างตามเอสเอเอสซึ่งใช้วิธีนี้เช่นกัน เป็นการทดสอบที่สูงกว่ามาตรฐานของทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่กำหนดเอาไว้กว้าง ๆ

เพียงว่าผู้ที่จะเป็นนักบินได้ต้องไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยทางจิตมาก่อนเท่านั้น

การบินไทยอ้างว่าการตั้งมาตรฐานไว้สูงเช่นนี้ก็เพื่อให้ได้นักบินที่ดีที่สุด และเป็นเงื่อนไขที่ทางบริษัทประกันภัยจะนำไปพิจารณาคิดค่าเบี้ยประกันด้วย

กัปตันพยูรกล่าวว่าการบินไทยเป็นสายการบินที่เสียเบี้ยประกันต่ำที่สุด

"เขามีเอาไว้เพื่อเป็นไม้กันหมาเท่านั้น" อดีตกัปตันการบินไทยโต้แย้ง "จะเอาอะไรมาวัดว่าใครดีไม่ดีจากการทดสอบเพียงหนึ่งหรือสองชั่วโมง

ทำไมไม่ใช้การสอบประวัติว่าเคยเป็นโรคร้ายแรงหรือเคยเป็นบ้ามาก่อนเหมือนสายการบินอื่น ๆ และกรมธรรม์ประกันภัยนั้นระบุเพียงว่านักบินต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น

ไม่ได้บอกรายละเอียดถึงขั้นว่าต้องผ่านการทดสอบบ้า ๆ แบบนี้"

ไม้กันหมาที่อดีตกัปตันคนนี้พูดหมายถึงการใช้ผลทดสอบทางจิตวิทยานี้เป็นข้ออ้างในการเลือกรับนักบินเพื่อกันข้อครหาว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวก

โดยอ้างว่าความเห็นของคณะผู้ทดสอบเป็นข้อยุติว่าจะให้ใครผ่านหรือไม่ผ่าน

"ผมเคยถามฝรั่งที่มาสอบว่า FINAL DECISION อยู่ที่คุณใช่ไหม เขาบอกว่าเขาไม่ใช่ คนของการบินไทย มีหลายคนที่ไม่สมควรคือช้า แต่เขาก็รับ

การตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการซึ่งเป็นกัปตันในสายปฏิบัติการทางการบิน" อดีตกัปตันกล่าว

ด้วยความหินของการทดสอบแบบนี้ ในการคัดเลือกแต่ละครั้งจะมีผู้ผ่านการทดสอบเพียง 12-13 คนเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ผ่านมาจากโรงเรียนนายเรืออากาศ

ส่วนคนที่จบจากมหาวิทยาลัยจะผ่านน้อยมาก บางปีคนที่ได้ก็บังเอิญเป็นลูกของผู้บริหารระดับสูงในการบินไทยด้วย

"ทางด้านนายเรืออากาศเขาเรียนมาโดยเฉพาะ มีการเตรียมตัวที่ดีจึงสอบได้มาก" ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยอธิบาย ส่วนการที่ลูกหลานของผู้ใหญ่ในการบินไทยเองก็สอบผ่านด้วยนั้น

มีคำอธิบายว่าเป็นเรื่องของความสามารถจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องของเส้นสายเพราะลูกชายของคนที่นั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ของการบินไทยก็เคยสอบไม่ผ่านมาแล้ว

แต่ "ผู้จัดการ" สืบทราบมาว่าลูกชายของผู้ใหญ่คนนั้นสอบตกตั้งแต่รอบการตรวจโรคแล้วเพราะตาบอดสี!!

ความขาดแคลนนักบินทำให้การบินไทยต้องเร่งผลิตนักบินมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยประกาศรับสมัครนักเรียนการบินปีละสองครั้งในขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นสี่ครั้ง

แต่อุปสรรคในขั้นตอนต่อไปยังมีอยู่คือทางศูนย์ฝึกการบินพลเรือนจะรองรับนักเรียนการบินที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่

ปัญหาการผลิตนักบินไม่เพียงพอนอกจากการตั้งมาตรฐานการคัดเลือกที่สูงแล้ว ยังมีข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรที่จะทำการสอนในเบื้องต้นด้วย

ผู้ที่ผ่านการสอบเข้าเป็นนักเรียนการบินไทยจะต้องเรียนหลักสูตรการบินเบื้องต้นที่ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนหัวหินเป็นเวลาหนึ่งปี

หลังจากนั้นกลับมาฝึกอบรมกับทางศูนย์ฝึกอบรมของการบินไทยเองเป็นเวลาห้าเดือน จึงจะรับหน้าที่เป็นนักบินที่สามได้

ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนปัจจุบันมีครูฝึกการบินอยู่สี่คน กัปตันพยูรเปิดเผยว่าจากประสบการณ์การเป็นครูฝึกของตนเอง ครูหนึ่งคนจะสามารถสอนนักเรียนได้มากที่สุดเพียงสี่คนเท่านั้น

จำนวนครูฝึกที่มีอยู่ตอนนี้จึงไม่พอ

แต่แหล่งข่าวจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนยืนยันว่าสามารถฝึกนักเรียนจากการบินไทยได้ถึงรุ่นละ 20 คน แต่ทางการบินไทยส่งไปไม่ครบเอง

การบินไทยเคยมีความคิดที่จะตั้งหน่วยงานขึ้นฝึกนักบินของตนเองเป็นการเฉพาะ

เพราะทางศูนย์ฝึกการบินพลเรือนนั้นมีข้อจำกัดทางงบประมาณและความล่าช้าของขั้นตอนทางราชการแต่ถูกคัดค้านจากศูนย์ฝึกฯ มาตลอดด้วยข้ออ้างว่าเป็นการซ้ำซ้อนกัน

กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการยกฐานะศูนย์ฝึกการบินพลเรือนขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจร่วมทุนระหว่างศูนย์ฝึกฯ การบินไทย

บริษัทวิทยุการบินและการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยในชื่อว่าสถาบันพัฒนานักบินและอวกาศเพื่อสร้างนักบินและบุคลากรทางการบินด้านอื่น ๆ ให้เพียงพอ

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อร่างเป็นกฎหมายเสนอเข้ารัฐสภา ซึ่งกว่าจะก่อตั้งเป็นสถาบันได้ย่อมไม่ทันต่อความต้องการนักบินในขณะนี้แน่นอน

มาตรการที่การบินไทยนำมาใช้ขณะนี้คือการใช้ช่างเทคนิคจากฝ่ายช่างให้ทำหน้าที่ SYSTEM OPERATOR แทนนักบินที่สาม แล้วใช้นักบินที่สามทำหน้าที่นักบินที่สองให้มากขึ้น

การเลื่อนขั้นจากนักบินที่สามขึ้นไปเป็นนักบินที่สอง และนักบินที่หนึ่งนั้นต้องใช้เวลาระหว่าง 10-15 ปี เครื่องบินที่ใช้ชุดนักบินสามคน นักบินที่สามจะทำหน้าที่ SYSTEM OPERATOR

โดยไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับเครื่องบินเลย การใช้ช่างเทคนิคมาทำหน้าที่ SYSTEM OPERATOR เป็นการดันให้จำนวนนักบินที่สามขึ้นไปเป็นนักบินที่สองได้มากขึ้น

เป็นการเร่งช่วงการผลิตนักบินที่สามให้เป็นกัปตันให้สั้นลง

แต่ก็เป็นมาตรการที่ทำได้อย่างจำกัด เพราะการเลื่อนขั้นของนักบินนั้นถูกจำกัดไว้ด้วยจำนวนชั่วโมงและลักษณะการบินที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

การบินไทยยังมีแหล่งที่มาของนักบินอีกทางหนึ่งคือ ใช้นักบินจากกองทัพอากาศ ซึ่งทำมาตั้งแต่ต้นในลักษณะของการยืมตัวแล้วมาฝึกบินเครื่องบินพาณิชย์ก่อนระยะหนึ่ง นักบินจากกองทัพอากาศหลาย ๆ

คนที่เป็นกัปตันการบินไทยในตอนนี้ แม้จะหลุดออกจากกองทัพอากาศมานับสิบปีแล้วยังอยู่ในสถานะถูกยืมตัวจากการบินไทยอยู่

พอถึงสิ้นเดือนยังต้องแต่งเครื่องแบบทหารอากาศไปรับเงินเดือนในฐานะทหารอีกทางหนึ่งด้วย!

แต่ในระยะหลังเมื่อกองทัพอากาศมีฝูงบิน F16 เข้าประจำการ ทำให้ส่งนักบินให้กับการบินไทยได้น้อยลง

ในขณะที่สายการบินอื่น ๆ ใช้วิธีสรรหานักบินจากนักบินทั่วไปที่มีใบอนุญาตแล้ว การบินไทยดูเหมือนจะพอใจกับการสร้างนักบินของตนเองมาตั้งแต่แรกเริ่มมากกว่า

ด้วยเหตุผลว่าเพื่อต้องการความมั่นใจในฝีมือและมาตรฐานการบิน

ดังนั้นนักบินที่มีใบอนุญาตการบินแล้วจะมาสมัครเป็นนักบินการบินไทยจะต้องมาผ่านระบบการคัดเลือกใหม่หมด แล้วเริ่มต้นกระบวนการไต่เต้าขึ้นเป็นกัปตันจากศูนย์เหมือนนักบินใหม่

นโยบายเช่นนี้มีผลดีในแง่ของการควบคุมรักษามาตรฐานการบิน แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นวิธีการที่ไม่ยืดหยุ่นและเป็นข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหานักบินขาดแคลน

"เรายอมขาดกัปตันดีกว่าที่จะมีกัปตันที่คนขึ้นไปนั่งแล้วนอนไม่หลับ" กัปตันพยูรยืนยันว่าระบบการสรรหาคัดเลือกนักบินของการบินไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

มาตรฐานการคัดเลือกนักบินของการบินไทยนั้นถูกตั้งคำถามว่าคือสิ่งเดียวกับหลักประกันในเรื่องคุณภาพในเวลาบินจริง ๆ ของนักบินได้หรือไม่??

"สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ระบบการควบคุมตรวจสอบ การประเมินผลงานของนักบินอย่างตรงไปตรงมาในขณะที่เป็นนักบินแล้ว มาตรฐานการคัดเลือกคือเครื่องมือในการกลั่นกรองชั้นต้นเท่านั้น"

อดีตกัปตันของการบินไทยท่านหนึ่งให้ความเห็นไว้อย่างนี้

กรณีเครื่องบินหลงฟ้าเมื่อเดือนธันวาคม 2532 นั้นน่าจะสะท้อนความเห็นนี้ได้ไม่มากก็น้อย

เครื่องบินของการบินไทยเที่ยวบินทีจี 741 บินจากซีแอตเติ้ลมากรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532 มี กัปตันสะอาด ศบศาตราศร เป็นนักบินที่หนึ่งและทำหน้าที่ซุปเปอร์ไวเซอร์ด้วย กัปตันตรุตี

อมฤตเป็นนักบินที่สองและมีนักบินที่สามอีกสองคนร่วมไปด้วย

เที่ยวบินเที่ยวนี้มีผู้โดยสารคนสำคัญคือภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นั่งมาด้วย บินขึ้นมาได้ไม่เท่าไรเครื่องก็หายไปจากจอเรดาร์ของหอควบคุมการบินที่ซีแอตเติ้ล หอควบคุมพยายามติดต่อแต่ไม่สำเร็จ

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนของหอควบคุมการบินคิดในขณะนั้นคือต้องเกิดอุบัติเหตุแน่นอน

เมื่อติดต่อโดยตรงกับเครื่องการบินไทยไม่ได้ ทางหอควบคุมการบินจึงติดต่อไปยังเครื่องบินลำอื่น ๆ ที่บินอยู่ในบริเวณให้ช่วยค้นหาโดยใช้ข่ายสัญญาณวิทยุฉุกเฉิน

อีกประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมาเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์จึงค้นพบ ปรากฏว่าเครื่องการบินไทยหลงทางไปอยู่แถวอลาสก้าโดยที่นักบินเองก็ไม่รู้ตัว

และต้องอาศัยการนำร่องจากเครื่องสิงคโปร์แอร์ไลน์ไปลงที่สนามบินในอลาสก้า

"โชคยังดีที่ไม่หลงเข้าไปในน่านฟ้ารัสเซีย ไม่เช่นนั้นแล้วคงเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่แบบเดียวกับโคเรียนแอร์ไลน์" แหล่งข่าวในการบินไทยกล่าว

ผลการสอบสวนในขั้นต้นปรากฏว่าเครื่องบินหลงทางเพราะเครื่องนำร่องเกิดขัดข้อง และได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนผู้รับผิดชอบ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ หน่วยงานด้านการบินพลเรือนของสหรัฐอเมริกา (FAA) ส่งจดหมายมายังผู้บริหารการบินไทยขอคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินลำนั้น

สิ่งที่การบินไทยตอบกลับไปคือคำขอบคุณโดยไม่ได้มีรายละเอียดข้อมูลที่ทางสหรัฐฯ ต้องการรู้เลย

แหล่งข่าวในการบินไทยเปิดเผยว่า เครื่องนำร่องนั้นไม่ได้เสีย การหลงทางนั้นเกิดจากความประมาท และความไม่มีวินัยของนักบินเอง

หลังจากที่เครื่องบินขึ้นไปได้ระดับแล้ว นักบินได้ใช้คอมพิวเตอร์ทำการบินแทน ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็คือ นักบินป้อนข้อมูลเส้นทางการบินให้คอมพิวเตอร์ผิดพลาด

โดยที่หลังจากป้อนข้อมูลไปแล้วไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องในระหว่างนักบินด้วยกันซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องทำตามคู่มือการบิน โดยคิดเอาเองว่าไม่มีปัญหาแน่

นักบินทุกคนมารู้ตัวเอาก็ต่อเมื่อหลงทางไปแล้วหนึ่งชั่วโมงเมื่อได้รับการติดต่อจากเครื่องบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์ว่าทางซีแอตเติ้ลคิดว่าเครื่องการบินไทยตกทะเลไปแล้ว

ในขั้นตอนการสอบสวนหลังจากนั้น นักบินที่สามคนหนึ่งถูกบีบให้เปลี่ยนคำให้การใหม่หลังจากที่ให้การตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จนกระทั่งนักบินผู้นั้นต้องลาออกไปเพราะไม่ยอมเปลี่ยนคำให้การ

จนบัดนี้ครึ่งปีเข้าไปแล้ว ผลการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ปรากฏออกมา!!

ว่ากันว่ามีการต่อรองกันระหว่างผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการสอบสวนกับผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบเที่ยวบินนี้ว่า "ช่วยแล้วมึงจะให้อะไรกู"!!

ในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของการบินไทยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น มีใบปลิวมืดออกมาโจมตีการบริหารงานของผู้บริหารการบินไทย

ในใบปลิวนั้นมีการอ้างอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินการบินไทยเช่น การนำเครื่องลงรันเวย์ผิดพลาดจนเครื่องบินกระแทกพื้นรันเวย์ท้องทะลุ หรือแท็กซี่เครื่องไปเฉี่ยวเครื่องบินลำอื่น

รวมถึงความไม่มีคุณภาพที่จะขึ้นมาเป็นกัปตันของนักบินบางคน

กัปตันที่ถูกระบุชื่อในใบปลิวฉบับนั้นล้วนแต่เป็นนักบินที่มาจากกองทัพอากาศทั้งสิ้น

"เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างบุคคลที่ไม่ถูกกัน ต้องดูเป็นกรณี ๆไปว่ามีรายละเอียดอย่างไร" ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของการบินไทยพูดถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลในใบปลิวฉบับนั้น

ถึงแม้คนการบินไทยหลายคนยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า ข้อความในใบปลิวเป็นความจริง 100 เปอร์เซ็นต์

แต่การนำเสนอในรูปแบบของบัตรสนเท่ห์แบบนี้ยากที่จะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงคุณภาพของกัปตันที่ถูกกล่าวนามมาได้

สิ่งที่สะท้อนออกมาจากใบปลิวเถื่อนฉบับนี้ กลับเป็นร่องรอยของการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันในหมู่นักบินการบินไทยระหว่างฝ่ายที่มาจากกองทัพอากาศกับฝ่ายพลเรือน

ซึ่งนักบินที่มาจากกองทัพอากาศมักจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นกัปตันอยู่เสมอ ในขณะที่นักบินจากสายพลเรือนจะถูกดองเอาไว้เป็นนักบินที่สามหรือนักบินที่สอง หาโอกาสที่จะเลื่อนไปเป็นนักบินที่หนึ่งยาก

เป็นปัญหาแบบฉบับของการเล่นสีเล่นพวกในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่กลายเป็นเรื่องน้ำเน่าไปแล้ว

แต่สำหรับความรับผิดชอบกับความเป็นความตายของผู้โดยสารนับร้อยชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องคิดให้มากไปกว่าเรื่องใครมาจากไหน มีสีอะไรและยอมลงให้ผู้ใหญ่หรือไม่

ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจการบินในสายเอเชียแปซิฟิกและยุโรปอยู่ในภาวะที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้ใช้บริการเนื่องจากดีมานด์ในการเดินทางสูงกว่าอุปทาน อุบัติการการขาดแคลนเครื่องบิน นักบิน

ที่เกิดขึ้นกับสายการบินทุกสายที่มีเส้นทางบินหลักในเอเชียแปซิฟิกและยุโรปเป็นตัวอย่างที่ยืนยันความข้อนี้ได้ดี

องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศหรืออีเคา (ICAO) ได้ศึกษาแนวโน้มตลาดการบินพบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเส้นทางเอเชียแปซิฟิกจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 17.6% ในปี 1986 เป็น 22.3% ในปี 2000

ขณะที่เส้นทางยุโรปจะลดลงนิดหน่อย จาก 24.2 เหลือ 23.3% ซึ่งเทียบกับเส้นทางอเมริกาเหนือที่ลดลงมาจาก 47.1 เหลือ 43.8%

จากแนวโน้มนี้แสดงว่าเส้นทางเอเชียแปซิฟิกจะมีบทบาทต่อธุรกิจการบินของโลกมากขึ้นซึ่งนั่น หมายถึงการบินไทยต้องเผชิญหน้าคู่แข่งขันจากสายการบินที่แข็งแรงกว่าทั่วโลกที่พยายามหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดนี้

ธรรมนูญ หวั่งหลี ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินการบินไทยได้แถลงในที่ประชุมการตลาด (MAP)

ว่าการบินไทยจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่มีลักษณะการตัดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดแต่จะใช้วิธีเพิ่มคุณภาพในบริการ

ความหมายของคุณภาพในบริการก็คือว่า หนึ่ง-ต้องมีปริมาณเที่ยวบินที่เพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งนัยนี้จะสัมพันธ์กับปริมาณเครื่องบินที่ใช้และการจัดระบบเที่ยวบินที่สัมพันธ์กับตลาด สอง-

ความปลอดภัยของเที่ยวบิน สาม-การอำนวยความสะดวกในภาคพื้นดินและการบิน

พูดให้ชัดก็คือการปฏิบัติการบินคือหัวใจที่สำคัญที่สุดในการสร้างคุณภาพบริการซึ่งผ่านออกมาจากการปฏิบัติที่เป็นจริงของนักบิน แอร์และสจ๊วตและการจัดระบบเที่ยวบิน

แต่จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พบว่าผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยมองประเด็นนี้ไปที่การสร้างระบบที่มีการจัดรูปองค์กรที่แน่นอน ดังจะเห็นจากการกล่าวของ กัปตันอุดม กฤษณัมพก (ดี.บี.)

รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการการบินที่บอกว่าการบินไทยมีหน่วยงานหลายหน่วยที่ต่างก็มีการวางแผนงานในเชิงปฏิบัติในลักษณะการประสานงาน

จึงขาดกลไกที่จะมานั่งดูในภาพรวมที่กว้างออกไปในลักษณะระยะยาวที่เรียกว่า "คณะกรรมการวางแผนงานระยะยาว" (LONG-TERM PLANNING COMMITTEE) หรือแอลทีพีซี

กัปตันอุดมได้เสนอว่าแอลทีพีซีจะประกอบด้วยคนที่ผ่านจากการแต่งตั้งของบอร์ดการบินไทยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาวางแผนงานระยะยาว 5 ปี "แอลทีพีซีมี 13 คนมาจากคนนอกการบินไทย 8 คน คือจากคมนาคม

การคลัง สภาพัฒน์และกองทัพอากาศแห่งละ 2 คนที่เหลืออีก 5 คนเป็นคนระดับสูงด้านการบริหารของการบินไทยโดยมีศรีภูมิ ศุขเนตรเป็นประธานและพลอากาศเอกอนันต์ กลินทะ

จากกองทัพอากาศเป็นรองประธาน ในภาคปฏิบัติการวางแผนจริง ๆ อยู่ที่คนจากการบินไทยโดยเสนอแผนนั้นต่อแอลทีพีซีอีกต่อหนึ่ง"

แอลทีพีซีได้เสนอแผนระยะยาว 5 ปีข้างหน้าโดยเน้นไปที่การลงทุนในการขยายเครื่องบิน การเพิ่มปริมาณนักบิน การเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ การวางเป้าหมายทำกำไร

มองในหลักการบริหารการวางแผนเป็นการกำหนดทิศทางที่การบินไทยจะก้าวเดินออกไปอย่างรู้เป้าหมาย

ซึ่งในบรรทัดฐานนี้แสดงว่าการบินไทยมีระบบที่ดี

แต่ภาพของความเป็นจริงในแผนปฏิบัติการที่หน่วยงานแต่ละส่วนดำเนินอยู่มันไม่ใช่เรื่องของระบบหากแต่มันเป็นเรื่องของตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายต่าง ๆ

อดีตผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การบินไทยมีระบบที่ดีแต่การบินไทยขาดผู้บริหารที่มีทัศนภาพ (VISIONฮ

ที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจการบินโดยเฉพาะการวางแผนระยะยาวเปิดเส้นทางการบินและการเตรียมพร้อมนักบิน

"เวลาเตรียมแผนเราไม่ได้เตรียมเส้นทางบินเอาไว้ล่วงหน้า เราเตรียมแค่ปีต่อปีว่าจะเอาเครื่องอะไรไปบินและบินตรงไหน" กัปตันปรีชา ถาวรประดิษฐ์พูดถึงแง่มุมหนึ่งในบทบาทของผู้บริหารการบินไทย

ความข้อนี้ได้รับการยอมรับจากผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย กัปตันพยูร เผือกผ่อง

ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการการบินว่าเป็นความจริงด้วยเหตุผลว่าการตลาดไม่มีการวางแผนระยะยาวทำให้การวางแผนปฏิบัติการบินไม่สามารถกระทำได้โดยลำพัง

การขาดการวางแผนระยะยาวผลก็คือเส้นทางบินหลายเส้นทางที่เปิดการบินจึงสร้างผลการขาดทุนให้การบินไทยอาทิเช่นเส้นทางไปพนมเปญ เดนปาซาร์ คูเวต บาร์เรน นูเมีย กวางตุ้ง ไคโร และไคร้เชิร์ช

ทุกวันนี้จึงมีแต่เพียงการกำหนดเส้นทางการบินที่กระทำกันปีต่อปีปีละ 2 ครั้งคือ ช่วงฤดูหนาวและใบไม้ผลิเท่านั้น

ในเอกสาร 30 ปีการบินไทยได้เปิดเผยว่าปัจจุบันการบินไทยมีเส้นทางบินทั่วโลกที่เชื่อมเมืองต่าง ๆ 64 เมืองซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในย่านเอเชียแปซิฟิกและยุโรป

เส้นทางการบินเหล่านี้บางเส้นทางที่ขาดทุนแต่การบินไทยก็ยังคงเปิดเส้นทางบินต่อไปเช่นกรุงเทพ-ดาร์ราน กรุงเทพ-กาฏมาณฑุ

เส้นทางการบินเหล่านี้ทางผู้บริหารการบินไทยมองเป็นเรื่องการเมืองด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องรักษากันแม้จะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเหตุผลทางธุรกิจก็ตาม

เหตุผลทางธุรกิจก็คือในสถานการณ์ที่การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินจำกัด นักบินขาดแคลนจนทำให้ต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานบินจาก 75 ชั่วโมงต่อเดือนเป็น 84 ชั่วโมงต่อเดือนหรือเพิ่มขึ้น 14%

เพื่อรองรับกับความต้องการนั้นการบริหารเส้นทางการบินที่มีประสิทธิภาพสามารถทำกำไรได้ดีเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด" เครื่องบินจัมโบ้เดี๋ยวนี้มีต้นทุนการบินนาทีละ 10,000 บาท" นักบินการบินไทยคนหนึ่งกล่าว

กัปตันพยูรกล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาพยายามใช้เครื่องและนักบินที่มีอยู่อย่างเต็มที่ตามมาตรฐานอีเคา "ผมอยากจะบอกว่าเราใช้เครื่องทุกลำอย่างคุ้มค่าไม่มีเครื่องไหนจอดทิ้งไว้เฉย ๆ"

การบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้บินอยู่ทั้งสิ้น 54 ลำ 8 ลำเป็นการเช่าที่เหลืออีก 46 ลำเป็นการซื้อและในจำนวน 46 ลำเกือบครึ่งเป็นแอร์บัส 300 และในอีก 5 ปีข้างหน้าตามเป้าหมายจะมีเครื่องบินเป็น 77 ลำ

คำถามก็คือเครื่องบินที่จะเพิ่มเข้ามาการบินไทยจะเอาไปใช้บินเส้นทางไหน

ตรงนี้ยังไม่มีคำตอบเพราะการบินไทยก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปบินที่ไหนเหมือนกัน ประจักษ์พยานนี้พิจารณาได้จากคำพูดของ นเรศ หอวัฒนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดที่กล่าวไว้ในเอกสาร 30

ปีของการบินไทยที่บอกว่าเขาแค่มีความคิดว่าอนาคตการเปิดเส้นทางการบินใหม่น่าจะมีมากขึ้น "ยกตัวอย่าง ในเอเชียน่าจะเปิดที่เมดานของอินโดนีเซีย โกตาคินาบาลูในซาบาร์ เกาซูงในไต้หวัน

ฟูกูโอกะในญี่ปุ่น คุณมิงในจีน และมัดราจในอินเดีย ในทวีปอเมริกาจะเปิดไปลอสแองเจลิสและนิวยอร์ก ในออสเตรเลียจะเปิดที่อเดลเลดและดาร์วิน

ส่วนในยุโรปจะเปิดเส้นทางไปที่เมืองเฮลซิงกิของฟินแลนด์และมิวนิกของเยอรมนีเพื่อเป็นประตูนำเข้าสู่เมืองต่าง ๆ ในยุโรปอีก 14 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางที่จะเปิดไปเจนีวา แมนเชสเตอร์

และบรัสเซลส์

สำหรับในยุโรปตะวันออก เส้นทางไปบูดาเปสต์ ปรากและเบอร์ลินตะวันออกก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ"

การเปิดเส้นทางการบินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการศึกษาทางการตลาดว่ามีความคุ้มต่อการลงทุนแค่ไหน และใช้เวลานานเท่าไรหนทางที่นำไปสู่ความเป็นไปได้ทางการลงทุนที่มีประสิทธิภาพควรจะเป็นแบบใด

จะเอาเครื่องบินชนิดใดใช้ในการบินและใช้เจ้าหน้าที่การบินตั้งแต่นักบินและลูกเรือเท่าไร

คำถามพื้นฐานเหล่านี้จะมีคำตอบอยู่ที่การวางแผนระยะยาวที่ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยที่นั่งเป็นกรรมการในแอลทีพีซีต้องเป็นคนที่ร่างแผนการนี้ออกมา

"กรรมการที่นั่งในแอลทีพีซีสนใจจะซื้อเครื่องบินลูกเดียว คุณจะสังเกตได้แผนงานระยะยาวส่วนใหญ่จะมีทรรศนะมุ่งไปที่การลงทุนขยายฝูงบิน

กรรมการเหล่านี้เขาเชื่อว่าการต่อสู้แข่งขันธุรกิจการบิน ต้องฟาดฟันกันที่ความใหญ่จากขนาดฝูงบิน" อดีตผู้บริหารระดับสูงในการบินไทยให้ข้อสังเกตบทบาทของแอลทีพีซี

อดีตที่ผ่านมาของการบินไทยมักจะตกเป็นจำเลยเสมอในเรื่องการซื้อเครื่องบินในแง่ที่ผู้บริหารระดับสูงมักมีผลประโยชน์ (ค่านายหน้า) ร่วมกับพ่อค้าในการจัดซื้อเครื่องบินแต่ละครั้ง

และเพราะสาเหตุการจัดซื้อเครื่องบินนี้เองที่นำไปสู่การขัดแย้งชิงชังกันในหมู่ผู้บริหารระดับสูงจนมีการโยกย้ายกัน กรณีกัปตันปรีชา ถาวรประดิษฐ์ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบินยุคกัปตันโยธิน

ภมรมนตรี เป็นผู้อำนวยการฯ ปัจจุบันกัปตันปรีชาถูกย้ายมาเป็นผู้ตรวจการ

"กัปตันปรีชาพยายามไปขวางผู้ใหญ่เรื่องการเช่าเครื่องบีเออีขณะที่ตนเองก็พยายามชักจูงให้เช่าเครื่องเอทีอาร์" อดีตนักบินการบินไทยยกตัวอย่าง

แต่ตรงประเด็นนี้กัปตันอุดมได้แถลงอย่างเปิดเผยในที่ประชุมการตลาดว่าต่อไปการจัดซื้อเครื่องบินจะอยู่ที่การตัดสินใจของบอร์ดการบินไทยไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

เขาชี้กระบวนการจัดซื้อเครื่องบินจะมาจากจุดเริ่มต้นที่เสนอโดยคณะทำงานแอลทีพีซีและคณะจัดการของแอลทีพีซี หลังจากนั้นจึงเสนอไปยังคณะกรรมการแอลทีพีซีที่มีศรีภูมิ สุขเนตรเป็นประธานฯ

และบอร์ดการบินไทยที่มี พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิลเป็นประธานคือผู้ตัดสินใจ สุดท้ายก่อนเสนอความเห็นชอบไปยัง รมต. คมนาคม (มนตรี พงษ์พานิช) เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

พิจารณาจากหลักการบริหารนับว่ากระบวนการนี้มีการกลั่นกรองที่ดี แต่ข้อน่าสังเกตคือในจำนวนคณะกรรมการแอลทีพีซี 13 คนนั้น ซึ่งประกอบด้วยศรีภูมิ ศุขเนตร, พล.อ.อ. กันต์ พิมานทิพย์, พนัส สิมะเสถียร,

พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ, เกษม ทวีวัฒน์, สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม, มณีมัย วุฒิธรเนติรักษ์, พิสิฏฐ ภัคเกษมและมีคนของการบินไทยอีก 5 คนซึ่งประกอบไปด้วย พล.อ.อ. วีระ กิจจาทร (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่)

ฉัตรชัย บุญยะอนันต์, อุดม กฤษณัมพก, ชูศักดิ์ พาชัยยุทธและปรีชา ถาวรประดิษฐ์ ซึ่งบุคคลของการบินไทยเหล่านี้มีบทบาทในคณะจัดการและคณะทำงานแอลทีพีซีด้วย

บุคคลนอกเหนือจากที่ระบุมาแล้วยังประกอบด้วยคนของการบินไทยส่วนใหญ่เช่น กัปตันโยธิน ภมรมนตรี, อัทยา วัฒนพงศ์, พยูร ผ่องเผือก, ประสาธน์ สุคนธพันธ์, วิจิตร วายุกุล, สำราญ พึ่งสุข, นเรศ

หอวัฒนกุล, พิศิฐ กุศลาไสยานนท์ และงามนิตย์ สมบัติพิบูลย์

แม้การจัดซื้อเครื่องบินจะอยู่ในรูปคณะกรรมการฯ มิใช่อยู่ในดุลยพินิจของคนใดคนหนึ่งก็ตาม

แต่เนื่องจากโครงสร้างอำนาจบริหารและวัฒนธรรมองค์กรของการบินไทยอยู่ภายใต้การควบคุมแบบทหารอากาศที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่แรกเริ่ม การมีกรรมการร่วมถึง 22 คน

ในกระบวนการวางแผนจึงเป็นแต่รูปแบบเท่านั้น คนที่มีอำนาจและอิทธิพลจริงๆ ในการวางแผนมีอยู่ 3 คนเท่านั้น คือ ศรีภูมิ ศุขเนตร, วีระ กิจจาทร และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล

ศรีภูมิ ศุขเนตรเป็นประธานคณะกรรมการวางแผนระยะยาว ขณะที่ วีระ กิจจาทร เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยและเป็นกกรมการวางแผนระยะยาว ส่วนพล.อ.อ. เกษตร

โรจนนิลเป็นประธานบอร์ดการบินไทยโดยตำแหน่งในฐานะ ผบ. กองทัพอากาศ

ผลงานแรกของคณะกรรมการวางแผนระยะยาวที่อื้อฉาวเป็นเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพียง 18 ลำ (เป็นเครื่องแอร์บัส 300-600 ขนาด 300 ที่นั่งจำนวน 8 ลำ แอร์บัส 300 ขนาด 250

ที่นั่งจำนวน 5 ลำและเครื่อง 747-400 อีก 5 ลำ) เมื่อเดือนพฤษภาคม ส่วนอีก 5 ลำที่เหลือเป็นเครื่องบีเออี 146-300 ขนาด 108

ที่นั่งที่ต้องการมาใช้บินในประเทศไม่อนุมัติเนื่องจากสนามบินในประเทศบางแห่งขณะนี้ไม่สามารถรองรับเครื่องได้เนื่องจากความยาวสนามบินมีไม่ถึง 2,000 เมตร และน้ำหนักบรรทุกได้ไม่เกิน 40 ตัน

"เครื่องบีเออี 146-300 ปัจจุบันการบินไทยเช่ามาจากบริษัทบริทิชแอโรสเปซ 5 ลำเวลา 2 ปี เสียค่าเช่าเดือนละ 220,000 เหรียญ" แหล่งข่าวจากกรมการบินพาณิชย์กล่าว

เครื่อง 146 จึงไม่สามารถบรรทุกคนและสัมภาระได้เต็มตามความสามารถในการบรรจุที่มีน้ำหนักถึง 44 ตันได้เพราะถ้าบรรจุเต็มจะทำให้น้ำหนักบรรทุกมากเกินกว่าที่สนามบินจะรองรับได้

และตรงจุดนี้เองที่ผู้ใหญ่ในการบินไทย เช่น วีระ กิจจาทร ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้เช่าเครื่องบีเออี 146 บอกว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขาดทุนปีละ 120 ล้านบาท

"ทางกรมการบินพาณิชย์กำหนดให้บรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 90 คนและน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกิน 75% ซึ่งความเป็นจริงที่บินอยู่เครื่องบีเออี 146 มีผู้โดยสารเฉลี่ยเที่ยวละ 50 คนเท่านั้น" นักบินการบินไทยกล่าว

ทั้งที่เช่ามาแล้วขาดทุนแต่วีระ, ศรีภูมิและ พล.อ.อ. เกษตรก็พยายามเสนอให้ ครม. อนุมัติจัดซื้อ เดชะบุญที่ถูกปฏิเสธ

มองไปข้างหน้า 5 ปี การบินไทยได้วางเป้าหมายการเติบโตในเส้นทางการบินทั่วโลก (RPK) ในอัตราเฉลี่ยปีละ 11.7%

สูงกว่าการเติบโตของระบบในเส้นทางเอเชียแปซิฟิกและทุกเส้นทางในโลกที่การบินไทยคาดว่าจะโตประมาณเฉลี่ยปีละ 11 และ 8% ตามลำดับ

"อัตราการเติบโตนี้จะสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยการส่งเสริมของรัฐบาล ในการสร้างให้กรุงเทพเป็นศูนย์การบิน และท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้และเพิ่มสนามบินในจังหวัดต่าง ๆ ให้มากขึ้น" กัปตันอุดม กฤษณัมพก

แถลงในที่ประชุมการตลาดถึงเงื่อนไขบางประการที่จะช่วยให้การบินไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตตามแผน

มองจากปัจจุบัน การเติบโตในอัตราเฉลี่ย 11% ไม่เป็นที่สงสัยเพราะจากข้อเท็จจริงที่การเดินทางในเส้นทางการบินของภูมิภาคนี้ที่โตถึง 24%

ย่อมเป็นภาวะที่ตลาดเปิดให้การบินไทยสามารถบรรลุเป้าหมายได้อยู่แล้ว

ผู้นำในการบินไทยต่างหากที่มีประเด็นคำถามว่ามีศักยภาพความพร้อมมากน้อยเพียงไร ที่จะสามารถนำการบินไทยเข้าไปสู่เวทีการแข่งขันกับคู่แข่งขันดั้งเดิม เช่นสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) และมาเลเซียนแอร์ไลน์

(MAS) ในทศวรรษที่ 90

การที่ผู้นำในการบินไทยหมกมุ่นอยู่กับประเด็นการจัดซื้อเครื่องบินเพื่อการขยายฝูงบินให้ใหญ่โต การสร้างฐานอำนาจปกป้องนักบินและลูกเรือที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม

การขาดการเสริมสร้างทัศนภาพที่มองการบริหารธุรกิจการบิน สิ่งเหล่านี้ย่อมทำลายศักยภาพการบินไทยสู่ความฝันที่จะเป็นสายการบินที่มีคุณภาพบริการดีที่สุดในภูมิภาคนี้

"อนาคตคือวันนี้" นี่คือแก่นของการประชุมการตลาดทั่วโลกของการบินไทยประจำปีนี้ที่ผู้นำบริหารระดับสูงการบินไทยบอกกล่าวกับทุกคน

แต่ปัญหาพื้นฐานในการบริหารธุรกิจการบินของผู้นำระดับสูงในการบินไทยที่อาการต่าง ๆ กำลังฟ้องออกมาจากมุมห้องนักบินคือการตอกย้ำที่จะบอกว่า "อนาคตคือวันนี้นั้นเป็นอนาคตของใคร?"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us