ไทยธนาคาร พลิกขาดทุนเกือบ 4 พันล้านบาท เป็นกำไรสุทธิในปี 2547 กว่า 546 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 113% ด้านบล.เคจีไอ เผยกลุ่มแบงก์กำไรต่ำกว่าคาดการณ์ เหตุต้องตั้งสำรองเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติ
นางสาวเพ็ญศรี ปภาพจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT กล่าวถึงผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 546.72 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.44 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 3,935.98 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 3.22 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 113.86%
ทั้งนี้ กำไรสุทธิจำนวน 546 ล้านบาท เป็นกำไรจากการดำเนินงานในปี 2547 เมื่อเทียบกับกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 414 ล้านบาท ในปี 2546 เพิ่มขึ้น 32% อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนสุทธิในปี 2546 จำนวน 3,936 ล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองเกณฑ์คุณภาพ
ส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลลดลง 1,532 ล้านบาท เกิดจากรายได้จากการชดเชยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพลดลง เพราะต้นทุนเงินฝากและฐานในการคำนวณรายได้จากการชดเชยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพลดลง ด้านค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ลดลง 2,057 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนเงินฝากลดลง 1,231 ล้านบาท และดอกเบี้ย จ่ายตั๋วเงินจ่ายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดลง 773 ล้านบาท ด้านฐานะความแข็งแกร่งของธนาคารนั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 ธนาคารมีหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 6,891.87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.10% ของสินเชื่อรวมก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ ได้วิเคราะห์ฐานะการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) และธนาคารทหารไทย (TMB) โดยทั้ง 7 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 1.24 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% และลดลงจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา 37% รวมทั้งต่ำกว่าที่บล.เคจีไอ ประมาณการไว้ที่ระดับ 2.3 หมื่นล้านบาท ถึง 47% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่าย สำรองหนี้สูญและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะ BBL และ KBANK
สำหรับธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรก่อนการตั้งสำรองค่อนข้างสูง คือ KBANK มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 112% และ BBL นอกจากทั้ง 2 ธนาคารจะมีส่วนต่างดอกเบี้ยที่ดีขึ้นมากในไตรมาสนี้แล้ว ยังจะมีกำไรจากเงินลงทุนเข้ามามากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากดูกำไรก่อนสำรองของ SCB ถือว่าน่าพอใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของส่วนต่างดอกเบี้ย การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม และกำไรจากเงินลงทุน
ส่วนเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น BBL เป็นธนาคารที่มีเอ็นพีแอลลดลงมากที่สุด แม้ผลสอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ชัดเจนในไตรมาสนี้ แต่หลายธนาคารได้ประเมินผลไว้แล้วและได้รวมเข้า มาในผลประกอบการไตรมาสนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วน KTB ยืนยันว่าเอ็นพีแอลของธนาคารประมาณ 1.6 พันล้านบาท หรือร้อยละ 3.5 ของ 4.6 หมื่นล้านบาท ที่เป็นเอ็นพีแอล ในไตรมาส 3 จะกลับมาเป็นลูกหนี้ชั้นปกติได้เร็วๆ นี้ ขณะที่ SCB นั้น น่าจะรู้ผลในไตรมาส 1 นี้
"ตัวเลขเอ็นพีแอลไตรมาส 4 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบลดลง โดย BBL เป็นธนาคารที่มีการลดลงของเอ็นพีแอลมากสุด ส่วน BAY แม้จะลดลงมากแต่ก็ส่วนมากโอนไปที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ดังนั้น ตัวเลขรวมของกลุ่มจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก"
|