Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2532
คืนการบินไทยให้ประชาชน             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
 

 
Charts & Figures

สรุปแผนการลงทุนในเครื่องบิน อะไหล่ และสินทรัพย์ถาวร

   
related stories

กนก อภิรดี มืออาชีพคนแรกในการบินไทย

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

   
search resources

การบินไทย, บมจ.
Aviation




กระทรวงการคลังต้องการให้การบินไทยเข้าตลาดหุ้น เพื่อลดภาระของตัวเองในการค้ำประกันเงินกู้ต่างประเทศ แต่ผู้บริหารการบินไทยกลับบอกว่าไม่จำเป็น กู้เองได้โดยคลังไม่ต้องค้ำ ก็แปลกดีที่เจ้าของบริษัทต้องการอย่างนี้แล้ว คนที่เป็นลูกจ้างยังลุกขึ้นมาคัดค้านหัวชนฝาราวกับบริษัทนี้เป็นของตัวเอง หรือกลัวว่าถ้าเข้าตลาดหุ้นแล้วจะต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป?!……. การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 ได้มีการพิจารณาแผนการลงทุนเร่งด่วนของการบินไทยซึ่งเสนอผ่านกระทรวงคมนาคม แผนการลงทุนเร่งด่วนนี้ปรับปรุงขึ้นใหม่จากแผนการลงทุนระยะยาว (2531-2535) ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดเปรม 5 ได้อนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531

ความจำเป็นที่ต้องมีการปรับแผนการลงทุนใหม่ทั้งๆ ที่แผนเดิมเพิ่งเริ่มไปได้ไม่ถึงปี การบินไทยให้เหตุผลโดยอ้างถึงสถานการณ์ด้านการบิน ที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่เริ่มทำแผนเดิมเป็นอันมาก ปริมาณการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเครื่องบินที่มีอยู่ตอนนี้ไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะได้มีแผนการจัดซื้อเพิ่มเติมตามแผนเดิมแล้ว แต่แนวโน้มผู้โดยสารที่มีแต่จะสูงขึ้นๆ ทำให้ไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า

จึงเป็นที่มาของแผนลงทุนเร่งด่วนสำหรับปี 2533-2537

แผนการลงทุนระยะยาว (2531-2535) ได้จัดทำขึ้นและได้รับอนุมัติจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนี้คือ บรรหาร ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทย พอมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีคนใหม่ก็เปลี่ยนเป็นมนตรี พงษ์พานิช จากพรรคกิจสังคม

แผนการลงทุนของการบินไทยนั้นเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องเกี่ยวพันใช้เงินทุนมหาศาล สมควรที่เจ้ากระทรวงผู้มีหน้าที่และฐานะที่ต้องรับผิด รับชอบ รับผลดีและรับผลเสียไม่อาจจะละเลยไปได้ ของเก่าที่ทำไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรเสียคนมาใหม่ก็ต้องหยิบยกขึ้นมาทบทวน หารูรั่วและช่องโหว่แล้วจัดการดัดแปลงแก้ไขให้เกิดประโยชน์มากขึ้นที่สุด ในยุคสมัยที่อำนาจหน้าที่ตกมาอยู่ในมือของตัว

แม้จะเป็นคำอธิบายที่ยังไม่ชัดเจน แต่ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้เหตุผลของการเสนอแผนเร่งด่วนนี้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น!!!

ตามแผนลงทุนเร่งด่วนนี้ การบินไทยเสนอขอซื้อเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้นอีก 16 ลำ เป็นเงินทั้งสิ้น 20,318 ล้านบาท (รวมค่าเครื่องบินจ่ายล่วงหน้าที่จ่ายในปี 2531/32 ด้วย) ซื้ออะไหล่เครื่องบิน 10,209 ล้านบาท ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของกิจการสมทบอื่น 8,357 ล้านบาท และขอขายเครื่องบินเก่า 13 ลำ ตามราคาบัญชี 579 ล้านบาท

รวมกับค่าเครื่องบินที่ได้มีการอนุมัติให้ซื้อไปแล้ว 8 ลำ ซึ่งอยู่ในแผนเดิมและแผนเร่งด่วนได้นำเอามารวมไว้ เงินลงทุนในแผนเร่งด่วนสำหรับปี 2533-2537 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,409 ล้านบาท

การประชุมในวันนั้น ใช้เวลากว่าสองชั่วโมงกับวาระเรื่องการบินไทย และมีมติออกมาจากถ้อยแถลงของสุวิทย์ ยอดมณี โฆษกรัฐบาล สรุปสาระสำคัญได้ว่า ให้การบินไทยซื้อเครื่องบินได้เพียง 13 ลำจากข้อเสนอขอซื้อ 16 ลำ และให้ระงับการขายเครื่องบินแอร์บัสจำนวน 4 ลำไว้ จากข้อเสนอขอขายเครื่องบินประเภทต่างๆ 13 ลำ

ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากการประชุม ประมวลพูดอย่างชัดเจนว่า ครม. ได้อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการนำการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2-3 เดือน และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และการบินไทยหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งภายใน 14 วัน

แต่สิ่งที่ประมวลพูดออกมาในวันนั้น ไม่มีปรากฎอยู่ในถ้อยแถลงของโฆษกรัฐบาลและในเอกสารที่แจกจ่ายให้กับสื้อมวลชนแต่อย่างใด ในข้อที่ 3 ของมติ ครม. ในเรื่องนี้ระบุแต่เพียงว่า ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาแผนการเงินที่จะใช้ในโครงการลงทุนร่วมกัน แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า ในวาระเรื่องการบินไทยในที่ประชุม ครม. วันนั้น ทางสภาพัฒนฯ ได้ท้วงติงในเรื่องจำนวนและประเภทของเครื่องบินที่การบินไทยจะซื้อและต้องการขาย การปรับปรุงแผนการตลาดและการจัดฝูงบิน ซึ่งได้ปรากฎอยู่เป็นมติ ครม. ในข้อ 1

ส่วนกระทรวงการคลังได้พูดถึงการลงทุนขยายงานของการบินไทยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุน จากการกู้เงินมาเป็นการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่ง ครม.ก็ให้ความเห็นชอบกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ด้วย แต่พอถึงขั้นตอนการบันทึกและการแถลงมติ ครม.อย่างเป็นทางการ กลับปรากฎว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ประมวลได้พูดและ ครม. ได้เห็นชอบ กลับกลายเป็นเรื่องว่าจะหาเงินมาซื้อเครื่องบินได้อย่างไร

"เป็นการพูดกัน มองกันคนละขั้นตอน และในวิสัยใกล้ไกลที่ต่างกัน กระทรวงการคลังศึกษาหาคำตอบให้เสร็จสรรพเลยว่าต้องเข้าตลาดหุ้น เพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องบินและรองรับการลงทุนในอนาคต แต่คมนาคมและการบินไทยมองแค่ว่า ครม. อนุมัติให้ซื้อเครื่องบินได้ ส่วนจะหาเงินมาจากไหนนั้นไปคุยกันเองในรายละเอียดก่อน" แหล่งข่าวคนเดิมอธิบาย

จะเป็นความผิดพลาดโดยไม่เจตนาหรือเป็นความจงใจของใครบางคน ที่ต้องการจะดึงเรื่องการบินไทยเข้าตลาดหุ้นให้ล่าช้าเอาไว้ก็ตามแต่ ปัญหาเทคนิคที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นข้ออ้างที่กระทรวงคมนาคมและผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ซึ่งคัดค้านการเข้าตลาดหุ้น หยิบยกขึ้นมาตอบโต้กระทรวงการคลังว่า ครม.ไม่เคยมีมติให้การบินไทยเข้าตลาดหุ้นแต่อย่างใด นอกเหนือจากเหตุผลด้านการเงิน ซึ่งการบินไทยอ้างอยู่เสมอว่าไม่มีความจำเป็นต้องเข้าตลาดหุ้น

จนการพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อหาข้อสรุป กระทรวงการคลังต้องถอนวาระนี้ออกไปก่อน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพรรคชาติไทยซึ่งคุมคลัง กับพรรคกิจสังคมที่ดูแลกระทรวงคมนาคมอยู่

เรื่องที่ทำท่าว่าจะเป็นเรื่องที่ตกลงทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆ ในหลักการ จึงต้องยืดเยื้อออกไปอย่างไม่รู้ว่าเมื่อไรจะจบ และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย คือกระทรวงการคลัง กับกระทรวงคมนาคมและกองทัพอากาศ

ใครๆ ก็คิดว่าการบินไทยนั้นเป็นสมบัติของกระทรวงคมนาคมกับกองทัพอากาศ และข่าวคราวที่เกี่ยวกับการบินไทยที่ปรากฏออกมาก็มักจะเป็นเช่นนั้น ที่บทบาทมักจะตกอยู่กับคนจากกองทัพอากาศที่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของการบินไทย หรือไม่ก็คนจากกระทรวงคมนาคมที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องทิศทางนโยบาย

ทั้งๆ ที่กองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคมไม่มีหุ้นอยู่ในการบินไทยเลยแม้แต่น้อย แต่กลับเสียงดังกว่ากระทรวงการคลังที่ถือหุ้นอยู่ถึง 99% ที่นั่งในคณะกรรมการบริษัทการบินไทยเป็นของทหารอากาศถึง 4 ที่นั่ง เป็นของคนจากคมนาคมเสีย 2 ที่นั่ง มีคนจากกระทรวงการคลังเข้าไปนั่งเป็นกรรมการการบินไทยเพียงคนเดียว ร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกแห่งละหนึ่งคน

กระทรวงการคลังนั้นเข้าไปถือหุ้นในฐานะตัวแทนของรัฐบาลผู้เป็นเจ้าของเงิน ส่วนกระทรวงคมนาคมอยู่ในฐานะที่มีภาระหน้าที่ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับกิจกรรมของการบินไทย อันได้แก่การขนส่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 128 กำหนดให้กระทรวงการคลังโอนอำนาจในการดูแลควบคุมรัฐวิสาหกิจ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น

โดยนัยนี้ กระทรวงคมนาคมจึงอยู่ในฐานะผู้ดูแล ควบคุมนโยบายของการบินไทยโดยตรง ในขณะที่กองทัพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องก็ด้วยความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคก่อตั้งการบินไทย ที่จำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกของกองทัพอากาศ สืบทอดกันจนกลายมาเป็นนโยบายในทางปฏิบัติ ว่าอำนาจในการบริหารการบินไทยต้องอยู่ในมือของกองทัพอากาศ

กระทรวงการคลังจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ในหน้าที่ของคนที่ต้องหาเงินมาให้การบินไทยใช้เท่านั้น!

การบินไทยก็เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ในเมืองไทย ที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นของสถานการณ์เฉพาะหน้าในช่วงระยะเวลาที่แน่นอนระยะหนึ่ง ดังเช่นการเกิดขึ้นของการรถไฟที่เกิดจากความจำเป็นของการขยายการขนส่งทางรถไฟ การเกิดขึ้นของการท่าเรือเพื่อบริหารกิจการขนส่งทางน้ำ และการเกิดขึ้นของรัฐวิสาหกิจทุกๆ แห่งที่อยู่บนความจำเป็นเฉพาะหน้า มีแต่รัฐเท่านั้นที่พร้อมที่สุดในการจัดตั้งองค์กรขึ้นรองรับสถานการณ์เหล่านั้น

เฉกเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของการบินไทยที่มีที่มาจากความจำเป็น และความต้องการที่ประเทศไทยจะมีสายการบินแห่งชาติขึ้นมาสักสายหนึ่งเมื่อ 29 ปีที่แล้ว

การบินไทยและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับโลกและระดับภายในประเทศที่สืบเนื่องต่อกันเรื่อยๆ มา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่งบประมาณรายได้มีอยู่จำกัดและขยายตัวในอัตราที่ไม่ทันกันกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย

และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน บทบาทของภาคเอกชนได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพ เหนือชั้นกว่ารัฐวิสาหกิจของรัฐที่อยู่ในกิจการประเภทเดียวดันเป็นอันมาก รวมไปถึงความสามารถในการระดมทุนเพื่อการลงทุนและดำเนินกิจการด้วย

จึงเกิดแนวความคิดใหม่ในการบริหารทุนของรัฐ ที่จะลดบทบาท หน้าที่และภาระลงในกิจกรรมที่มิใช่หน้าที่โดยตรงของรัฐ โดยกระจายบทบาทเหล่านั้นไปให้กับภาคเอกชนมากขึ้น รัฐวิสาหกิจที่มีอยู่รวมๆ กันเกือบ 60 แห่งคือเป้าหมายของแนวความคิดการบริหารทุนของรัฐแบบใหม่นี้!!

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2526 กำหนดให้กระทรวงต่างๆ ที่มีรัฐวิสาหกิจในสังกัดยึดถือนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจภายใต้หลัก 5 ประการคือ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร วิธีการบริหาร การตลาด การให้เอกชนร่วมหุ้นและให้เอกชนบริหาร โดยให้รัฐบาลถือหุ้นแต่เพียงส่วนน้อยและการขายกิจการ

หลัก 5 ประการนี้คือข้อเสนอของ อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ที่เสนอใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรีเห็นดีด้วยที่จะให้กระทรวงอื่นๆ ยึดถือเป็นนโยบายต่อรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความดูแล

การบินไทยนั้นมีความแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่คือ เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรเลี้ยงตัวเองได้ทุกๆ ปี ไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่การบินไทยก็เป็นกิจการที่ต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในวงเงินที่สูง โดยเฉพาะการซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม

แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่คือ เงินกู้ต่างประเทศโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งนับเป็นภาระอันหนักหน่วงของกระทรวงการคลัง ที่จะต้องรับภาระความเสี่ยงหากการบินไทยมีปัญหา

และการกู้เงินจากต่างประเทศยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายในแง่ที่ว่า ในแต่ละปีรัฐบาลจะก่อหนี้ต่างประเทศได้ไม่เกิน 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าสามารถลดจำนวนโครงการการลงทุนที่ต้องใช้เงินกู้ต่างประเทศลงไปได้ ในบางโครงการที่หาแหล่งเงินทุนภายในประเทศได้ รัฐบาลก็สามารถกระจายเงิน 1,200 ล้านเหรียญนี้ไปให้โครงการอื่นๆ ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

ในแง่นี้การบินไทยจึงยังคงอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพาการค้ำประกันเงินกู้จากรัฐ และอยู่ในฐานะที่รัฐยังคงต้องเฉลี่ยจำนวนเงินกู้ต่างประเทศ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละปีให้สำหรับการลงทุนขยายงาน

การบินไทยจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในลักษณะการแปรสภาพการเป็นเจ้าของหรือฐานะการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยให้เอกชนเข้ามาร่วมหุ้นด้วย

ดังนั้นเมื่อกระทรวงคมนาคมเสนอโครงการแผนการลงทุนระยะยาว 2528/2529-2532/2533 ของบริษัทการบินไทย จำกัดให้สภาพัฒนฯ พิจารณา สาระสำคัญของโครงการลงทุนดังกล่าวคือ การขยายฝูงบิน กิจการสมทบ อะไหล่เครื่องบินและอุปกรณ์ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งเงินทุนสำคัญๆ คือการกู้เงินระยะยาวจากต่างประเทศ โดยขอให้รัฐบาลค้ำประกันและการลงทุนจากรายได้บริษัท

การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2529 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529 วาระที่ ..?.. เรื่องโครงการแผนการลงทุนระยะยาว 2528/2529-2532/2533 ของบริษัทการบินไทย จำกัด มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอและอนุมัติวงเงินลงทุนของการบินไทย และยังมีมติให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัทการบินไทย จำกัด ไปพิจารณาวิธีการและความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มทุนให้แก่บริษัทในอนาคต และให้บริษัทการบินไทย จำกัด นำรายได้มาลงทุนให้มากขึ้นแทนการใช้เงินกู้ทั้งหมด รวมทั้งพิจารณาให้การจำหน่ายหุ้นของบริษัทการบินไทย จำกัด บางส่วนให้กับภาคเอกชนต่อไปด้วย

"ตอนนั้นมันเพียงแต่เป็นไอเดียของคุณสุธี สิงเสน่ห์ ยังไม่มีใครเอาจริงเอาจัง ตอนนั้นถ้านายกเปรมเอาด้วยก็จบตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังผู้หนึ่งพูดถึงสาเหตุที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามมติ ครม. ในครั้งนั้น

จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่จะต้องสานต่อดันการบินไทยให้นำหุ้นบางส่วนขายให้กับเอกชน ประมวล สภาวสุ ได้พูดออกมาอย่างชัดเจนหลายครั้งว่า ในฐานะรัฐมนตรีคลัง สิ่งที่เขาต้องทำให้ลุล่วงไปให้ได้คือ การนำการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์

ว่ากันว่า แท้ที่จริงแล้ว เรื่องนี้คือนโยบายของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยผลักดันผ่านประมวล

ในระดับผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มข้าราชการรุ่นใหม่ของกระทรวงการคลังก็มีความเห็นด้วยในเรื่องนี้ และสอดคล้องต้องกันกับความคิดเห็นของพนักงานระดับกลางในแบงก์ชาติ ในหลักการลดภาระและกิจกรรมของรัฐบาล ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินลงให้มากที่สุด เป็นหลักการที่อยู่ในความคิดของทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

เมื่อทั้งระดับบนระดับล่างไปด้วยกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ แผนการที่จะนำการบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังในส่วนของกระทรวงการคลัง

"ผมเชื่อว่า คุณประมวลคงมีผลการศึกษาที่จ้างที่ปรึกษาฝรั่งมาทำอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว รอให้ตกลงกันได้ แกเซ็นแกร้กเดียวก็เรียบร้อย" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังเปิดเผยและเชื่อกันว่า ที่ปรึกษาฝรั่งนั้นคือ บริษัทโกลด์แมน แซกจากประเทศอังกฤษ เป็นผู้ศึกษารูปแบบการเอาการบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อประมวลเรียบร้อยไปแล้ว

รอเพียงจังหวะและเวลาที่จะเสนอเรื่องนี้ต่อ ครม. เท่านั้น!!

"เราต้องการแก้ไขปัญหาวิธีการบริหารการเงิน มากกว่าที่จะมองไปถึงเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้ว่าการเข้าตลาดหุ้นจะเป็นขั้นตอนหนึ่งของการแปรรูป" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังย้ำถึงจุดมุ่งหมายของกระทรวงการคลัง

จังหวะนั้นมาถึงเมื่อการบินไทยเสนอแผนการลงทุนเร่งด่วนให้ ครม.อนุมัติ กระทรวงการคลังถึงแม้จะไม่มีสิทธิมีเสียงในการบังคับบัญชา ควบคุมการบริหารงาน แต่ก็อยู่ในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบการหาเงินมาใช้ตามแผนลงทุนนี้ กระทรวงการคลังจึงใช้โอกาสนี้เสนอแนวความคิดในการปรับรูปแบบการลงทุนของการบินไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้วิเคราะห์ฐานะทางการเงินของการบินไทย ในเงื่อนไขที่มีการลงทุนตามแผนเร่งด่วน ปรากฏว่าการลงทุนดังกล่าวจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ย (IRR) เท่ากับ 10.60 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานที่ควร

ในด้านความสามารถในการทำกำไร ปรากฏว่า PROFIT MARGIN ลดลงจากร้อยละ 11.29 ในปี 2530-2531 เป็นร้อยละ 5.88 ในปีสุดท้ายของแผน หรือมีอัตราเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.75 ในช่วงแผนการลงทุน

สัดส่วนหนี้สินต่อเงินทุน (TOTAL DEBT/SHARE CAPITAL) เพิ่มขึ้นจาก 16.06 ในปี 2530-2531 เป็น 19.25 ในปี 2536-2537 โดยมีอัตราเฉลี่ยในช่วงการลงทุน 21.44 และหากนำผลการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่รอตัดบัญชีมาคำนวณด้วย อัตรานี้จะเพิ่มขึ้นมาก

อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (CURRENT RATIO) และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้จะดีขึ้น กล่าวคือ จาก 1.07 ในปี 2530-2531 เป็น 1.63 ในปี 2536-2537 และจาก 2.58 ในปี 2530-2531 ลดลงเป็น 2.18 ในปี 2536-2537 แต่เป็นเพราะข้อสมมติฐานที่ใช้ประมาณการ กำหนดให้มีระยะปลอดชำระหนี้ต้นเงินกู้ยาวถึง 4 ปี ซึ่งโดยทั่วไประยะปลอดชำระต้นเงินกู้จะอยู่ในระยะไม่เกิน 2 ปี

และข้อสมมติฐานอีกข้อหนึ่งคือ การบินไทยจะคงไว้ซึ่งกำไรสะสม โดยไม่มีการจ่ายเงินปันผลคืนกระทรวงการคลังตลอดระยะเวลาการลงทุนเลย

ในด้านภาระหนี้สิน ณ วันสิ้นปี 2530-2531 การบินไทยมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 36,147 ล้านบาท เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 13,843 ล้านบาท และเป็นเงินกู้ในรูปเช่าซื้อที่ใช้เครื่องบินเป็นประกันที่กระทรวงการคลังจัดหา โดยมีเงื่อนไขต้องถือหุ้นบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จำนวน 22,304 ล้านบาท

ตามแผนการลงทุนใหม่ การบินไทยจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นอีก 29,915 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 ของยอดหนี้เดิม ทำให้ฐานะของบริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

ในด้านค่าใช้จ่ายต่อหน่วย ผลการลงทุนดังกล่าวเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายแก่บริษัทในอัตราที่สูง กล่าวคือ อัตราค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหน่วย (COST / ATK) เพิ่มขึ้นจาก 9.29 บาท ต่อ ATK ในปี 2530-2531 เป็น 12.20 บาทต่อ ATK ในปี 2536-2537

และหากฐานะภาระการชำระคืนต้นเงินกู้ใหม่ตามมาตรฐานที่ควรเป็นแล้ว ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยจะต้องสูงกว่านี้อีก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคาดการณ์อัตราส่วนทางการเงินออกมาในรูปนี้คือ การใช้เงินกู้ต่างประเทศถึงร้อยละ 80 ในการลงทุนครั้งนี้ ซึ่งมีต้นทุนทางด้านดอกเบี้ย และยังมีระยะเวลาที่แน่นอนในการใช้คืนเช่นกัน

"อัตราสัดส่วนการทำกำไรแค่ 5.88 มีผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณร้อยละ 10.58 ถึงจะคุ้มอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องเสียเฉลี่ยร้อยละ 10 ก็ตาม แต่อย่าลืมนะครับว่ากิจการด้านการบินเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หากรายได้ที่ประมาณการไว้ลดลงเพียงร้อยละ 1 และค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เพียงเล็กน้อย การบินไทยขาดทุนทันทีครับ" แหล่งข่าวย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของการลงทุนโดยใช้เงินกู้

จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวิธีการลงทุนใหม่ เพื่อลดต้นทุนและภาระความเสี่ยงจากการกู้เงิน "เท่าที่คุยกันที่กระทรวงการคลัง บอกว่าควรจะใช้วิธีเพิ่มทุน ซึ่งเป็นวิธีการหาเงินที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและไม่ต้องใช้คืนเงินต้น"

นอกจากนั้นยังเป็นการลดภาระของรัฐในการลงทุนหรือค้ำประกันการลงทุนดังกล่าวด้วย

"การบินไทยคงไม่หยุดกู้เงินเพียงแค่นี้ จะหยุดแค่นี้หรือเปล่า จะหยุดซื้อเครื่องบินกันหรือ และการก่อหนี้ต่างประเทศก็ไม่ได้มีแต่การบินไทยเพียงแห่งเดียว ยังมีรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ อีก" ประมวล เคยพูเอาไว้อย่างนี้เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในเอกสารประกอบการประชุมวาระเรื่องแผนลงทุนเร่งด่วนของการบินไทยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 นอกเหนือจากความเห็นต่อแผนการลงทุนโดยตรงแล้ว กระทรวงการคลังยังได้เสนอการปรับโครงสร้างการระดมทุนของการบินไทยต่อคณะรัฐมนตรี สรุปเป็นสาระสำคัญได้ดังนี้คือ

1. กำหนดเป็นนโยบายให้การบินไทยแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในนามของรัฐแต่ฝ่ายเดียว เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่และมีผู้ร่วมทุนจากภาคเอกชนเป็นส่วนน้อย หรือแปลงสภาพเป็นวิสาหกิจเอกชนที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย แต่มีอำนาจการบริหารและสิทธิออกเสียง…เดียว และมีอำนาจยับยั้งการดำเนินการใดๆ ที่ขัดกับประโยชน์ หรือนโยบายของรัฐ

2. ให้กระทรวงการคลังและบริษัทการบินไทยจัดทำแผนเพิ่มทุน หรือระดมทุนจากภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ แทนการกู้เงินจากต่างประเทศ สำหรับวงเงินลงทุนที่จะต้องใช้ในการจัดซื้อเครื่องบินและกิจการสมทบ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว

3. ให้กระทรวงการคลังและบริษัทการบินไทยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษา วิเคราะห์โครงสร้าง ระบบ วิธีการ และขั้นตอนที่จำเป็นในการจำหน่ายหุ้นหรือระบบวิธีการอื่นที่เหมาะสม และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ ให้การบินไทยเป็นผู้รับภาระ

ถึงแม้จะไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ ว่าจะระดมทุนด้วยวิธีใด แต่เป็นที่รู้กันว่าแหล่งเงินทุนในประทศที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"เราช่วยตัวเองได้ เราไม่ต้องรบกวนให้รัฐบาลค้ำประกัน เราไม่ต้องรบกวนให้กระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้ให้เรา" คือเหตุผลที่พลอากาศเอก วีระ กิจจา …กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย อ้างขึ้นเป็นข้อคัดค้านต่อข้อเสนอนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้น

แน่นอนว่าย่อมเป็นเสียงสะท้อนความคิดเห็นของพลอากาศเอกวรนาถ อภิจารี ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทยด้วย

และเป็นเสียงเดียวกันกับ มนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ยืนยันว่าการบินไทยสามารถพึ่งตัวเองได้ในเรื่องการเงิน

โดยระเบียบการก่อหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ จะต้องได้รับความเห็นชอบและให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน เพราะการก่อหนี้ต่างประเทศนั้นจะมีผลกระทบต่อการเงินของประเทศ และมีเพดานการก่อหนี้ต่างประเทศในภาครัฐบาลได้สูงสุดไม่เกินปีละ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

การบินไทยเคยเสนอขอยกเว้นเงินกู้ต่างประเทศของตนจากเพดานเงินกู้ต่างประเทศ แต่ถูกตีกลับด้วยความเห็นจากกระทรวงการคลังว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อบริษัทการบินไทย แปลงสภาพเป็นวิสาหกิจเอกชนที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

ข้อเสนอการบินไทยเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การบินไทยเองก็คงจะตระหนักในข้อจำกัดการกู้เงินต่างประเทศอยู่เหมือนกัน!?

ส่วนข้อยืนยันที่ว่าการบินไทยไม่จำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้นั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏการกู้เงินของการบินไทยทุกครั้ง กระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ค้ำประกันให้ แม้ว่าในระยะหลังจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนซื้อเครื่องบิน ไปใช้วิธีเช่าซื้อแล้วเอาเครื่องบินค้ำประกัน แต่เงื่อนไขที่ผู้ให้สินเชื่อในการเช่าซื้อกำหนดมาก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องถือหุ้นในการบินไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

"ถึงจะไม่ได้ค้ำประกันเงินกู้โดยตรง แต่ข้อผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า คนที่ให้เงินนั้นเขาเชื่อเครดิตของใคร" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนในข้ออ้างของการบินไทย

นอกจากนั้นแล้ว มติ ครม.เมื่อปี 2529 ยังให้รวมเงินที่ต้องจ่ายตามสัญญาเช่าซื้อเข้าไว้ในเพดานเงินกู้ต่างประเทศด้วย

และถ้าการบินไทยจะกู้เงินเองโดยเอาทรัพย์สินอื่นๆ และชื่อเสียงของบริษัทมาค้ำประกันโดยไม่ต้องพึ่งพากระทรวงการคลังแล้ว เชื่อแน่ว่า คงจะมีผู้ยินยอมให้กู้เป็นจำนวนมาก แต่ "คุณอย่าลืมนะว่า การบินไทยเป็นของใคร เป็นของกองทัพอากาศหรือเปล่า ไม่ใช่เป็นของกระทรวงการคลังทั้งหมด คุณมีสิทธิอะไรที่จะเอาทรัพย์สินของคนอื่นไปค้ำประกันโดยที่เจ้าของเขาไม่เห็นชอบด้วย และถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมา ใครล่ะที่ต้องรับผิดชอบ" แหล่งข่าวที่ยืนข้างกระทรวงการคลังอย่างเต็มตัวผู้หนึ่งให้ข้อคิดเห็น แหล่งข่าวคนนี้ไม่ใช่ใครแต่กลับเป็นคนในการบินไทยนั่นเอง

ความเชื่อมั่นข้อหนึ่งของพลอากาศเอกวีระ และมนตรีคือ การบินไทยมีความสามารถเพียงพอที่จะชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดเวลา เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมดทั้งที่เป็นทุนจดทะเบียนและกำไรสะสมจะเพิ่มขึ้นโดยตลอด จากผลกำไรในระดับที่สูงและต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก จนทำให้มั่นใจได้ว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน สามารถกู้เงินต่างประเทศมาใช้ได้โดยไม่มีปัญหา

ข้อเสนอของกระทรวงการคลังในเรื่องนี้มีอยู่สั้นๆ ว่า กำไรสะสมของการบินไทยที่สูงถึง 9,683 ล้านบาท ในปี 2531 นั้น เกิดจากการนำเงินรายได้ของกระทรวงการคลังไปใช้ในการลงทุนโดยไม่เคยปันผลเลย และได้รับประโยชน์จากการค้ำประกันของกระทรวงการคลังแต่เดิมถึง 13,843 ล้านบาท

"ซึ่งหากกระทรวงการคลังกำหนดให้มีการปันผลคืน บริษัทก็จะไม่มีความสามารถที่จะไปทำกำไร หรือไปกู้เงินจากต่างประเทศ โดยที่กระทรวงการคลังมิได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือในฐานะผู้ค้ำประกัน และหากจะดำเนินการก็จะได้รับเงื่อนไขเงินกู้ที่ด้อยกว่าเงื่อนไขที่ได้รับอยู่ และจะเป็นผลเสียต่อบริษัทการบินไทย จำกัดเองต่อไปในอนาคต" ข้อสรุปของกระทรวงการคลังว่าเอาไว้อย่างนี้

ส่วนการคาดการณ์ว่า การบินไทยอาจจะสามารถทำกำไรได้สูงและต่อเนื่องได้ในอนาคต ออกจะเป็นการมองอย่างหยุดนิ่งและเป็นเพียงการมองด้านเดียวโดยเชื่อว่า กิจการการบินไทยจะดีเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ตลอดไป

วงจรเศรษฐกิจของโลกนั้นเป็นที่รู้กันว่า มีขึ้นมีลง มีทั้งภาวะที่เศรษฐกิจดีและเศรษฐกิจซบเซาเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดอยู่ ความเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวและการโดยสารทางอากาศจะดีอย่างนี้ตลอดไป คือการละเลยประสบการณ์ในอดีต และการมองอนาคตอย่างไม่รอบด้าน

"ตอนนี้คุณมีเงินก็คุยได้ เวลาที่เศรษฐกิจโลกซบเซา ซื้อเครื่องบินมาแล้วไม่มีคนนั่ง คุณไม่มีเงินผ่อนเขา ถึงเวลานั้นก็ต้องเดือดร้อนเรื่องเงิน" คนของการบินไทยเองก็มีความเชื่อเช่นนี้!

ย้อนหลังไปช่วงวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สองราวปี 2524 การบินไทยเคยประสบปัญหารายได้ตกต่ำ กระทั่งเงินเดือนที่จะมาจ่ายพนักงานก็ยังต้องวิ่งกู้เอาเฉพาะหน้า

การนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมเงินในประเทศมาลงทุน มองกันในระยะยาวแล้วก็คือ การเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของธุรกิจการบินที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ถึงเวลานั้นแล้ว แม้เครื่องบินที่ซื้อมาจะไม่มีคนนั่ง การบินไทยก็สามารถลดภาระเรื่องการหาเงินมาชำระเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าผ่อนส่งเครื่องบินได้

คำยืนยันถึงสถานะทางการเงินที่มั่นคงของการบินไทยและกระทรวงคมนาคม จึงเป็นเพียงเหตุผลเพื่อตอบโต้กับข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นการเฉพาะหน้าเท่านั้น การบินไทยสนใจแต่เพียงสถานะทางการเงินของตัวเอง ในขณะที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องคำนึงถึงภาวะการเงินโดยรวมของชาติ การบินไทยพิจารณาทางออก เพียงแค่ขอบเขตของแผนลงทุนในระยะห้าปีข้างหน้าเท่านั้น ในขณะที่กระทรวงการคลังมองไกลออกไปถึง การพึ่งตัวเองทางการเงินในระยะยาวของการบินไทย

ข้อคัดค้านของการบินไทยและกระทรวงคมนาคมอีกข้อหนึ่งคือ การนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้นเป็นโอกาสให้ต่างชาติเข้ามามีสิทธิมีเสียง ควบคุมการบริหารสายการบินแห่งชาตินี้ได้ โดยเฉพาะสายการบินที่เป็นคู่แข่งที่จะเข้ามาถือหุ้นของการบินไทยซึ่งอาจล่วงรู้ความลับในการบริหารได้

การนำหุ้นของสายการบินเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่สายการบินต่างประเทศทำกันมานานแล้ว ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

สายการบินบริติช แอร์เวย์นั้น รัฐบาลอังกฤษต้องการให้เลี้ยงตัวเองได้ และเป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ โดยรัฐบาลยังคงถือหุ้นส่วนหนึ่งไว้และนำหุ้นบางส่วนจำหน่ายแก่มหาชน โดยผ่านกลไกของตลาดหลักทรัพย์

สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ถึงแม้จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ก็เป็นสายการบินที่บริษัท JOHN SWIRE & SONS แห่งอังกฤษเป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมด กำหนดการคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนของอังกฤษในปี 1997 ทำให้คาเธ่ย์ แปซิฟิคต้องกำหนดกลยุทธ์ใหม่เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโดย JOHN SWIRE & SONS ยอมลดสัดส่วนหุ้นของตนเองจาก 100% เหลือเพียง 54.25% ส่วนที่เหลือขายให้กับสถาบันการเงิน บริษัทท้องถิ่นในฮ่องกงและผ่านตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง

เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงของคาเธ่ย์แปซิฟิคในครั้งนี้คือ ฐานทางการเงินที่มั่นคง และอำนาจต่อรองสิทธิการบินกับรัฐบาลจีนหลังจากปี 1997 โดยกระจายหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งให้กับคนฮ่องกง

สิงคโปร์แอร์ไลน์นั้นมีความจำเป็นต้องใช้เงิน 3.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์เพื่อซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 เป็นจำนวน 20 ลำ บริษัทฯ ต้องรับมอบเครื่องบินในปี 1989-1993 ภาระทางการเงินทำให้สิงคโปร์แอร์ไลน์ ต้องนำหุ้นบางส่วนออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนมาซื้อเครื่องบิน

ทั้งสิงคโปร์แอร์ไลน์และคาเธ่ย์ แปซิฟิค คือคู่แข่งสำคัญของการบินไทยในภูมิภาคนี้ นอกจากจะนำหุ้นออกจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศของตัวแล้ว สายการบินทั้งสองยังนำหุ้นไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ลอนดอน โดยไม่เกรงกลัวว่าจะถูกคู่แข่งหรือต่างชาติเข้ามาควบคุมการบริหาร

เปรียบเทียบผลการดำเนินงานในทุกๆ ด้านแล้ว สายการบินทั้งสองอยู่ในอันดับไม่ด้อยไปกว่าสายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยเลย!!

"ทุกวันนี้ธุรกิจการบินไม่มีความลับ" เจ้าหน้าที่บริหารระดับกลางของการบินไทยผู้หนึ่งอธิบายกับ "ผู้จัดการ" ว่า เรื่องราคาตั๋วเครื่องบินนั้นเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ราคาของสายการบินเป็นอย่างไร การแข่งขันกันทุกวันนี้แข่งกันที่การบริการ และจุดที่บินไปลงว่าเป็นจุดที่จะเชื่อมต่อกับจุดหมายปลายทางอื่นๆ ได้สะดวกเพียงใด

การบินไทยยังสามารถสร้างหลักประกัน เพื่อป้องกันการเข้ามามีสิทธิมีเสียงครอบงำการบริหารของต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของกระทรวงการคลังเหมือนกัน วิธีการคือการกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 25 และการที่รัฐบาลยังคงถือหุ้นไว้อย่างน้อย 70% รวมทั้งการกำหนดให้หุ้นที่นำออกขายในตลาดเป็นหุ้นประเภทที่ไม่มีสิทธิออกเสียง คือเกราะคุ้มกันอำนาจการบริหารของการบินไทยได้เป็นอย่างดี

หลักประกันขั้นสุดท้ายคือ สิทธิการบินซึ่งอยู่ในมือกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ที่รัฐบาลมีสิทธิยกเลิกได้ทุกเมื่อ หากสายการบินใดทำในสิ่งที่เป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ

กรณีตัวอย่างจากสายการบินคู่แข่งและการสร้างหลักประดันด้วยข้อกำหนดต่างๆ ข้างต้น น่าจะทำให้พลอากาศเอกวีระ และมนตรีวางใจได้ว่าการบินไทยจะยังคงความเป็นสายการบินแห่งชาติเหมือนเดิมทุกประการ

ข้อคัดค้านประการสุดท้าย คือเหตุผลทางด้านความมั่นคง ในกรณีที่เกิดสงคราม กองทัพมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินของการบินไทยในการสงคราม หากปล่อยให้เอกชนเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของแล้ว อาจจะทำให้มีปัญหาไม่ยินยอมให้นำเครื่องบินไปใช้

"ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนรวมทั้งผู้ที่จะเป็นผู้ถือหุ้นของการบินไทยในอนาคต มีความรักชาติไม่น้อยไปกว่าผู้บัญชาการทหารอากาศหรอกครับ ถ้ามีสงครามแล้วต้องการใช้เครื่องบินเมื่อไร ไม่มีใครหรอกที่จะไม่ให้ความร่วมมือ เราเป็นเจ้าของประเทศพอๆ กับกองทัพอากาศ" คำพูดเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่การบินไทยคนเดิม ทำให้เหตุผลเรื่องความมั่นคงกลายเป็นข้ออ้างครอบจักรวาลที่ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยไปในทันที

ด้วยเหตุและผลที่ชัดเจนอย่างนี้แล้ว จนแล้วจนรอดเรื่องการนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้นก็ยังไม่มีข้อยุติว่าจะเอาอย่างไรกัน คนในการบินไทยเองที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง จากการสอบถามของ "ผู้จัดการ" ไม่มีใครคัดค้านในเรื่องนี้แม้แต่น้อย

"คุณฉัตรชัย ถ้าไปถามตอนนี้ แกเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่พูดออกมาเท่านั้น" ผู้ใกล้ชิดอดีตผู้ยิ่งใหญ่แห่งการบินไทยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ถ้าหากการบินไทยยอมเข้าตลาดหุ้นจริง ประโยชน์ที่พนักงานการบินไทยจะได้รับก็คือ ได้สิทธิซื้อหุ้นในราคาพิเศษ ต่ำกว่าราคาที่นำออกจำหน่าย ตรงนี้เป็นผลประโยชน์ที่คงจะเป็นเหตุที่ทำให้พนักงานการบินไทยไม่คัดค้านในครั้งนี้ แม้กระทั่งสหภาพแรงงานก็นิ่งเฉยไม่แสดงท่าทีอะไรออกมาแม้แต่น้อย

"เพราะเขาไม่มีผลประโยชน์ที่จะได้เสียกับเรื่องนี้ พนักงานการบินไทยพวกที่กินเงินเดือนปกติอย่างพวกผมนี่ไม่มีใครโวย เพราะไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด" คนของการบินไทยคนหนึ่งอธิบายว่า ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์จากการได้ซื้อหุ้นในราคาพิเศษหรอก ที่ทำให้พวกเขาไม่คัดค้านการนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้น

เช่นนั้นแล้วจะหมายความว่ากลุ่มที่คัดค้านในครั้งนี้ คือพวกที่จะสูญเสียผลประโยชน์หากต้องนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้นกระนั้นหรือ????

การนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้น มองในแง่ของการระดมทุนแล้วคือการแสวงหาเงินลงทุนเพิ่ม ด้วยวิธีการเพิ่มทุนจากการขายหุ้นในตลาด ซึ่งเป็นเงินทุนที่ไม่มีต้นทุนทางด้านดอกเบี้ย และไม่มีภาระที่จะต้องใช้คืนนอกจากการจ่ายเงินปันผล ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการในแต่ละปี และไม่มีความเสี่ยงในเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนเหมือนกรณีการใช้เงินกู้ต่างประเทศ

สิ่งนี้คือเจตนาของกระทรวงการคลัง!!

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังที่การบินไทยเข้าตลาดหุ้นแล้วเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีความหมายมากกว่าการมีแหล่งเงินทุนในประเทศเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ไม่ใช่ความตั้งใจของใครที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องมาจากกฎเกณฑ์และกลไกการทำงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของการบินไทยได้ส่วนหนึ่ง จากเดิมที่การบินไทยเป็นของประชาชนในนามของเจ้าของประเทศ กลายมาเป็นสายการบินของประชาชนโดยตรง ประชาชนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีสิทธิที่จะตรวจสอบ ซักถามการบริหารงานของผู้บริหารการบินไทยได้โดยตรง ในฐานะเจ้าของเงินทุนส่วนหนึ่ง

การประชุมผู้ถือหุ้นการบินไทยก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผู้บัญชาการทหารอากาศในฐานะประธานคณะกรรมการแถลงผลการดำเนินงาน กำไรที่ได้ในปีนั้นแล้วจบลงด้วยเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาสำหรับการประชุมประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น มาเป็นการประชุมที่คณะกรรมการจะต้องมีการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานอย่างรอบด้านต่อผู้ถือหุ้น

คนอย่างนายพลจากกองทัพอากาศและข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ที่เคยชินกับการเคารพนอบน้อมของบริวารคนใกล้ชิด จะต้องลุกขึ้นตอบคำถามของประชาชนที่บังเอิญอยู่ในฐานะเจ้าของเงินเดือนและโบนัสที่ตนได้รับ

คนที่เคยมีแต่คนให้ความเคารพยำเกรงแสดงความพินอบพิเทา คงจะต้องปรับตัวอย่างมากต่อการต้องมาถูกคนธรรมดาๆ อย่างนายสมศักดิ์และนางสมศรีซักถามข้อข้องใจ

การดำเนินงานและการตัดสินใจทางการบริหารจะต้องรอบคอบ และรับผิดชอบต่อเงินของผู้ถือหุ้นมากขึ้น เพราะต้องเปิดเผยข้อมูลและถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้บริหารของการบินไทยไม่มีสิทธิที่จะปกปิดหรือหลีกเลี่ยง เหมือนตอนที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐอย่างเต็มตัวได้เลย

และผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่บรรดากรรมการและผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเคยได้รับ จะต้องถูกตรวจสอบเช่นกันว่ามีเงื่อนงำและสมเหตุสมผลหรือไม่

เรื่องการจัดซื้อเครื่องบินมูลค่ามหาศาลในแต่ละครั้ง ที่เคยมีข่าวลับลมคมนัยมาโดยตลอด จะจริงเท็จประการใดก็แล้วแต่ จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องให้ความสนใจอย่างแน่นอน

ผลประโยชน์อย่างอื่นที่พอจะเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะในระดับกรรมการก็คือเรื่องตั๋วฟรี ที่มีสิทธิใช้กันอย่างไม่อั้น และไม่จำกัดว่าจะใช้ไปในการใดได้บ้าง

"พวกกรรมการนี่นะ เวลาไปเมืองนอก นอกจากจะได้บินฟรีแล้ว ก่อนไปทางนี้จะโทรศัพท์ โทรเลขไปให้คนมารอรับ จองโรงแรมให้ พอลงจากรถมีคนมาดูแล พาไปเที่ยวทุกอย่างฟรีหมด" แหล่งข่าวในการบินไทยยกตัวอย่างผลประโยชน์พิเศษของกรรมการให้ฟัง

รวมไปถึงเรื่องการฝากลูกฝากหลานจากกองทัพอากาศ เข้ามานั่งทำงานในการบินไทยได้อย่างไม่มีโควตา เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของผลประโยชน์ ที่อาจจะต้องมีการทบทวนเงื่อนไขและลักษณะในการใช้ผลประโยชน์เหล่านี้เสียใหม่ หากเข้าตลาดหุ้นแล้ว

ยังไม่รวมถึงผลประโยชน์จากการจัดซื้ออีกมากมายมหาศาล ที่คงต้องทำกันอย่างรัดกุมมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเสียงของผู้ถือหุ้นนั้น ถึงแม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่าหุ้นที่เป็นของรัฐบาล และถึงแม้อาจจะถูกจำกัดไม่ให้มีสิทธิออกเสียง แต่ถ้านับกันเป็นจำนวนคนแล้ว เสียงเหล่านี้ก็คือ มติมหาชน ที่ไม่อาจจะวางเฉยไม่ให้ความสนใจได้

การบินไทยนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียว ที่พอจะเป็นศักดิ์ศรีและหน้าตาของกองทัพอากาศ และกองทัพอากาศก็มีสิทธิเต็มที่ในการควบคุมอำนาจการบริหารมาโดยตลอด โดยการส่งคนมาเป็นประธานและผู้อำนวยการใหญ่

จนกลายเป็นที่รับรู้และหลงเข้าใจกันว่า การบินไทยคือสมบัติของกองทัพอากาศ????

เมื่อสมบัติที่อยู่ในความครอบครองมาช้านาน ต้องมาถูกแบ่งสันปันส่วนให้คนข้างนอกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในความรู้สึก

คนอย่างพลเอกวรนาถและพลเอกวีระนั้นได้ชื่อว่ามือสะอาด มีวัตรปฏิบัติตรงเป็นไม้บรรทัด คงจะไม่ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์นอกแบบของการบินไทยเป็นแน่ แต่กับผลประโยชน์นามธรรมที่ชื่อว่า "อำนาจ" นั้น ถ้าต้องถูกลดทอนลงไปบ้าง แม้จะเพียงน้อยนิด อย่างเช่น การแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการ การบินไทยที่เคยอยู่ในอำนาจของตนแต่เพียงผู้เดียว หากจะต้องมาขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเสียก่อน ก็เท่ากับเป็นการสูญเสียอำนาจของตัว

ถึงจะเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และอาจจะไม่มีโอกาสเป็นอย่างนั้นเลย หากหุ้นที่นำออกขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นหุ้นประเภทที่ไม่มีสิทธิออกเสียง แต่เพียงแต่คิดเท่านั้นลูกทัพฟ้าก็รู้สึกหวั่นไหวเสียแล้ว

เสียงคัดค้านที่ดังที่สุดจึงออกมาจากกองทัพอากาศ!!

สำหรับกระทรวงคมนาคม เสียงคัดค้านจากมนตรี พงษ์พานิช เจ้ากระทรวงประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเสียงจากกองทัพอากาศ เมื่อเจ้ากระทรวงไม่เห็นด้วย ผู้สนองนโยบายอย่างศรีภูมิ ศุขเนตร ปลัดกระทรวงก็จำต้องพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกัน

"เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องหลักการ" แหล่งข่าวในสำนักปลัดกระทรวงคมนาคมคนหนึ่งพูดสั้นๆ ถึงเบื้องหลังการคัดค้านของมนตรี

การเมืองที่ว่านี้คือ การเมืองระหว่างพรรคกิจสังคมที่มนตรีสังกัดอยู่ กับพรรคชาติไทยที่คุมกระทรวงการคลังโดยประมวล เป็นที่รู้กันว่าทั้งสองพรรคนี้ ถึงแม้จะร่วมรัฐบาลเดียวกันก็มีความขัดแย้งปีนเกลียวกันตลอด ในเมื่อข้อเสนอจากกระทรวงที่พรรคชาติไทยคุมอยู่ คือการเอารัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงที่เป็นของพรรคกิจสังคมเข้าตลาดหุ้น จะถูกผิดตามหลักการนโยบายอย่างไร ก็ต้องค้านไว้ก่อน

"อย่างน้อย ถ้าการบินไทยต้องเข้าตลาดหุ้น คนก็จะพูดได้ว่าในสมัยที่พรรคกิจสังคมคุมกระทรวงนี้อยู่ ต้องสูญเสียรัฐวิสาหกิจที่ดีที่สุดในสังกัดไป" เป็นข้อวิเคราะห์ตบท้ายจากแหล่งข่าวรายเดิม

การผลักดันการบินไทยเข้าตลาดหุ้น หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นโครงการตัวอย่าง หรือหัวหอกที่จะนำไปสู่การนำรัฐวิสาหกิจแหล่งอื่นๆ เข้าตลาดหุ้นในระยะต่อไปด้วย ซึ่งเท่ากับนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่กำหนดกันมาช้านาน แต่ยังไม่เคยมีการทำให้เป็นจริงเป็นจัง จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในขั้นต้น

"ที่เอาการบินไทยเข้าไปก่อนเพราะมีผลประกอบการดี เป็นแรงจูงใจให้คนมาซื้อหุ้น และถ้าเข้าไปแล้วไม่มีปัญหาในเรื่องอำนาจบริหาร เรื่องพนักงาน ก็เป็นตัวอย่างให้รัฐวิสาหกิจอื่นเห็นว่าควรจะเข้าตลาดหุ้น" นี่เป็นข้อสังเกตของแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง

และรัฐวิสาหกิจที่น่าจะตกเป็นเป้าหมายต่อไป ก็อาจจะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม อย่างเช่น องค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่มีโครงการลงทุนเป็นมูลค่าสูงๆ และส่วนใหญ่ใช้เงินกู้ต่างประเทศ

ความกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจ ผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรค คือคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด ว่าทำไมการผลักดันการบินไทยเข้าตลาดหุ้นจึงต้องยืดเยื้อ และทำท่าว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

หลังจากที่กระทรวงการคลังยอมถอนวาระเรื่องการบินไทยเข้าตลาดหุ้น ออกจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็มีการตอบโต้ยืนยันเหตุผลทั้งจากฝ่ายกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมร่วมกับกองทัพอากาศ จนกระทั่งพลเอกชาติชาย ต้องออกมาพูดให้ทั้งสองฝ่ายเงียบเอาไว้ก่อน

ทั้งประมวล มนตรี และพลอากาศเอกวีระ ต่างโยนเรื่องนี้ให้เป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี โดยนัยนี้ เข้าใจกันได้ว่าเรื่องการบินไทยเข้าตลาดหุ้นเดินมาถึงทางตันแล้วในยกที่หนึ่ง

การบินไทยเสนอทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าตลาดหุ้น โดยการตั้งบริษัทขึ้นใหม่ เพื่อซื้อเครื่องบินให้การบินไทยเช่า โดยที่รัฐบาลและการบินไทยถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทใหม่นี้ และนำหุ้นส่วนที่เหลือขายในตลาดหุ้น

อีกรูปแบบหนึ่งคือตั้งบริษัทโฮลดิ้ง คัมปะนี ขึ้นมาเพื่อซื้อหุ้นการบินไทย 30% และนำหุ้นของโฮลดิ้งไปขายในตลาดหุ้นอีกทีหนึ่ง

ทั้งสองรูปแบบนี้เป็นวิธีที่กระทรวงการคลังก็เสนอเป็นทางเลือกเหมือนกัน ในกรณีที่ไม่สามารถนำตัวบริษัทการบินไทยเข้าตลาดได้

แต่ทั้งการตั้งบริษัทลิซซิ่ง หรือโฮลดิ้ง คัมปะนีนั้นก็คือ การตั้งรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ที่รัฐจะต้องหาเงินมาลงทุนและอาจจะเป็นภาระต่อไปอีก และการตั้งลิซซิ่ง คัมปะนี แล้วเอาหุ้นส่วนที่เหลือขายในตลาดหุ้นก็จะไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะกิจการของลิซซิ่ง คัมปะนีนั้นคือ ซื้อเครื่องบินมาให้การบินไทยเช่า มีรายจ่าย รายรับที่มองเห็นกันได้ชัด เป็นหุ้นที่ไม่หวือหวา

ในขณะที่การตั้งโฮลดิ้ง คัมปะนี ก็คือ การที่รัฐบาลเอาเงินมาตั้งรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่เพื่อไปซื้อหุ้นของรัฐบาลเองในการบินไทย

"ถ้าคลังเขาไม่จนใจ ก็คงจะไม่มีทางที่จะใช้วิธีการสองแบบนี้แน่" เป็นความเห็นสั้นๆ จากผู้สันทัดกรณี

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมของการบินไทยคือ พลเอกวรนาถผู้บัญชาการทหารอากาศและประธานกรรมการการบินไทย เสนอให้ว่าจ้างสถาบันที่เป็นกลางอย่างนิด้า เข้ามาทำการศึกษาผลดีผลเสียและขั้นตอนการนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้น

"เป็นการซื้อเวลาและหวังจะเอาผลการศึกษามายันกับข้อมูลจากกระทรวงการคลัง" ผู้สันทัดกรณีเผยไต๋ของการบินไทย

ผู้สันทัดกรณีอธิบายต่อไปว่า ถึงอย่างไรพลเอกชาติชายก็ต้องดันการบินไทยให้เข้าตลาดหุ้นให้ได้ เพื่อลดภาระทางการเงินของรัฐบาล และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเอารัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ เข้าตลาดตามในระยะต่อไป

ยุทธศาสตร์นั้นได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว เหลืออยู่แต่ยุทธวิธีที่ต้องปรับกระบวนแถวกันใหม่!!!

ผู้สันทัดกรณีให้อรรถาธิบายถึงความล้มเหลวในชั้นแรกนี้ว่า ความผิดพลาดประการแรกคือ ความตั้งใจในการเสนอเรื่องนี้ในวาระเดียวกับเรื่องซื้อเครื่องบินตามแผนเร่งด่วนเมื่อวันที่ 18 เมษายน โดยหวังว่าจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับคมนาคมและการบินไทย

แต่ทั้งสองหน่วยงานนี้พอใจที่ได้ซื้อเครื่องบินแต่อิดออดที่จะให้การบินไทยเข้าตลาดหุ้น

ความผิดพลาดประการต่อมาคือ ไม่ได้บันทึกให้ชัดเจนว่า มีมติให้เข้าตลาดหุ้น แต่กลับบันทึกว่าให้กระทรวงการคลัง คมนาคม และการบินไทยไปศึกษาพิจารณารูปแบบที่จะหาเงินมาซื้อเครื่องบิน 13 ลำ ที่อนุมัติให้ซื้อในวันนั้น

และมติที่ให้สามหน่วยงานไปศึกษาวิธีการซื้อเครื่องบินคือความผิดพลาดประการสุดท้าย เพราะเมื่อกระทรวงคมนาคมและการบินไทยมีจุดยืนเดียวกันเสียแล้ว ข้อเสนอเรื่องวิธีการหาเงินโดยเพิ่มทุนจากตลาดหุ้นจึงกลายเป็นเสียงส่วนน้อยไปโดยปริยาย

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า เวลาและวิธีการคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้ลุล่วงไปได้ ช่วงเวลาที่เหมาะวมที่สุดคือหลังจากเดือนกรกฎาคมไปแล้วซึ่งเป็นช่วงปิดประชุมสภา เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในทันทีทันใด

ส่วนวิธีการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดนั้นคือ การตั้งคณะกรรมการพิจารณาขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาข้อดี ข้อเสียของการนำการบินไทยเข้าตลาดหุ้นและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตัดสินใจชี้ขาด โดยที่คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วยตัวแทนจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีตัวแทนจากสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ กระทรวงคมนาคม การบินไทย รัฐมนตรีที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และตัวแทนจากอีกบางหน่วยงานเป็นกรรมการ

"เพื่อกดดันและทำให้เสียงคัดค้านของคมนาคมกับการบินไทยเป็นเสียงส่วนน้อยให้ได้" ผู้สันทัดกรณีเปิดเผยถึงภารกิจด้านปิดของคณะกรรมการชุดนี้

เรื่องที่ต้องทำพร้อมๆ กันไปคือ การ "คุยนอกรอบ" ระหว่างพลเอกชาติชายและพลเอกวรนาถ ผู้บัญชาการทหารอากาศซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญในเรื่องนี้

"ยังไงๆ ก็ให้ท่านมั่นใจได้ว่าตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทยจะต้องมาจาก ผบ. ทอ. และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต้องเป็นคนของ ทอ. แน่" ผู้สันทัดกรณีตอกย้ำในท้ายสุด

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ได้คือ การบินไทยนั้นเป็นสมบัติของชาติ ของประชาชน การบินไทยอยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐมาเป็นเวลาช้านาน จนเติบใหญ่มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นความดีที่ใครๆ ก็มองเห็นและยอมรับกันอยู่ แต่ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะเข้าไปเป็นเจ้าของการบินไทยโดยตรงบ้าง!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us