ฝ่ายโภชนาการ (CATERING SERVICES) หรือที่รู้จักกันว่า "ครัวการบินไทย"
ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน เริ่มทำอาหารป้อนให้กับการบินไทยตั้งแต่เปิดบริษัท
ระยะแรกเริ่มผลิตอาหารวันละ 200-300 ที่ ต่อมาก็มีลุฟท์ฮันซ่าและเอสเอเอสมาซื้อบริการด้วย
จนปัจจุบันครัวการบินไทยผลิตอาหารวันละ 18,000 ที่ มีพนักงาน 1 พันคน ผลิตอาหารป้อนให้กับสายการบิน
31 สาย มีรายรับประมาณ 1,150 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 150 ล้านบาท และในปีนี้ก็จะเปิดที่ทำการของครัวแห่งใหม่บริเวณตอนเหนือของดอนเมือง
รายการสร้างครัวการบินไทยแห่งใหม่นี้เคยเป็นประเด็นฮือฮากันอยู่พักหนึ่ง
ทั้งนี้มาจากข้อสังเกตของสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อปี 2529
ประเด็นแรก การบินไทยกำหนดว่าจะขยายตัวอาคารสถานที่เช่าจากการท่าอากาศยาน
โดยกำหนดวงเงินไว้ 388 ล้านบาท ปรากฏว่าดำเนินการไปได้ส่วนหนึ่ง จ่ายเงินค่าก่อสร้างและค่าที่ปรึกษาไปแล้ว
115.85 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 63.61 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 52.24 ล้านบาท)
การบินไทยก็ไปซื้อที่ดินแห่งใหม่ด้านเหนือของดอนเมือง เพื่อสร้างครัวในที่ดินของตนเอง
จึงสั่งระงับโครงการเดิม แล้วมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาและวางแผนกันใหม่
โดยจ่ายค่าที่ปรึกษาในโครงการใหม่นี้อีกเป็นเงิน 52 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ สตง.
ติงว่าการบินไทยมีนโยบายที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโครงการกระทันหัน
ระงับโครงการซึ่งได้ลงทุนไปแล้วถึง 115.58 ล้านบาท
ตรงนี้ พล.อ.อ. จรรยา สุคนธทรัพย์ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ช่วงดังกล่าว กล่าวว่าการเช่าที่ของการท่าฯ
นั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวในอนาคต ที่ปริมาณความต้องการของจำนวนมื้ออาหารจะมากขึ้น
อีกทั้งนโยบายของการท่าฯ ในการใช้ที่ดินก็ไม่แน่นอน ไม่แน่ว่าเมื่อลงทุนไปแล้วการท่าฯ
จะเวนคืนเมื่อใด เผอิญทางธนาคารกรุงไทยมีที่ดินที่จะหลุดจำนองบริเวณด้านเหนือของดอนเมืองมาเสนอ
เนื้อที่ 26 ไร่ ราคาเพียง 8 ล้านบาท การบินไทยจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเพราะการลงทุนจะคุ้มกว่า
ในแง่ที่ดินก็เป็นของตนเองและการเพิ่มปริมาณผลิตก็มากกว่าที่เดิม
ส่วนเงินลงทุนที่ลงไปแล้ว พล.อ.อ. จรรยาย้ำว่าไม่สูญเปล่าเพราะรายงานการศึกษาทั้งหมดไม่ทิ้งไปไหน
เพียงแต่ย้ายที่ดินเท่านั้น และจำนวนเงินที่ลงทุนไป ก็ยืนยันว่าไม่ได้มากมายดังเช่นที่
สตง. คาด
อีกประเด็นที่ สตง. ติงก็คือการทำสัญญากับบริษัทเพอร์ บี. สไลเตอร์ เอเอส
หรือ พีบีเอส แห่งเดนมาร์ก ให้เป็นที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโครงการ
และเมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง พีบีเอสก็ล้มละลายก่อนงานจะเสร็จสิ้น
แม้ว่าการที่ สตง. ติงจะเป็นการติงที่อยู่บนพื้นฐานระเบียบราชการที่รัดกุมเกินไป
แต่ก็มีข้อน่าสนใจบางประการคือ
การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างกระทำไม่รอบคอบ
กล่าวคือดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยมิได้พิจารณาฐานะทางการเงินของคู่สัญญาว่ามีความมั่นคงหรือไม่เพียงใด
อีกทั้งในสัญญาก็ไม่มีข้อกำหนดให้มีหลักประกัน เมื่อบริษัท PBS ล้มละลายและไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญา
จึงไม่มีหลักประกันที่จะเรียกร้องให้บริษัท PBS ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
นอกจากนั้นเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างที่ปรึกษา เมื่อพิจารณาแล้วบริษัทมีข้อเสียเปรียบหลายประการ
ดังนี้
หนึ่ง - การเรียกร้องหรือบังคับคดี กรณีผิดสัญญากำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายของประเทศเดนมาร์ก
ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบริษัท PBS ดังนั้น หากมีกรณีต้องฟ้องร้องหรือดำเนินคดีทางศาล
ต้องกระทำในต่างประเทศ บริษัทย่อมตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ต้องว่าจ้างทนายความในต่างประเทศให้ดำเนินคดีให้
ซึ่งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงมาก
สอง - ไม่ได้กำหนดค่าปรับไว้สำหรับกรณีที่ผู้รับจ้างผิดสัญญา หรือไม่สามารถปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา
สาม - เงื่อนไขการจ่ายเงินตามสัญญาจ้าง ไม่ได้พิจารณาถึงความสำเร็จของงานเป็นหลัก
แต่กำหนดให้จ่ายเงินค่าจ้างเป็นรายเดือน ทั้งยังกำหนดให้บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ
16 หากไม่ชำระเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นรายเดือน
ในช่วงที่พีบีเอสมีข่าวไม่ค่อยดี การบินไทยจึงระงับการจ่ายเงินส่วนที่เหลืออีก
10.62 ล้านบาท หลังจากพีบีเอสรับเงินภายใต้โครงการใหม่ไปแล้ว 40.75 ล้านบาท
งานนี้คนการบินไทยหลายคนยืนยันว่า พีบีเอสเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกในเรื่องการก่อสร้างครัวของสายการบิน
แต่เรื่องล้มละลายนี่เป็นเรื่องสุดวิสัยจริงๆ ส่วนเรื่องสัญญาก็คงเป็นเรื่องที่วีพีจะต้องพิจารณาเอาเอง
ครัวการบินไทยแห่งใหม่กำหนดจะเปิดใช้ไม่เกินกลางปีนี้ สวย เด่น และยิ่งใหญ่
ผลิตได้วันละ 28,000 ที่ ส่วนเรื่องที่ผ่านมาก็ขอเก็บไว้ใต้พรมก็แล้วกัน!
สันติ ทิพยจันทร์ อยู่ที่ครัวการบินไทยเป็นปีที่ 6 ขณะนี้เขาขึ้นมาเป็นผู้จัดการของครัวตลอดเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่งนี้
เรื่องที่เขาต้องพูดเคลียร์กับคนบ่อยที่สุดคือเรื่องการประมูลวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร
ซึ่งจะต้องมีทุก 6 เดือนมีรายการประมูล 21 หมวด ซัพพลายเออร์ 30-40 เจ้า
เรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์กล่าวหาจึงเป็นเรื่องที่สันติได้รับจนชาชิน
"ปัญหาการประมูลเป็นเรื่องธรรมดา ทุกครั้งที่มีการประมูล ผมเลยใช้วิธีเรียกประชุมซัพพลายเออร์
แล้วอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจน และย้ำไปว่าอย่าไปเชื่อคนนอกเด็ดขาดว่ามีจิ้มก้องแล้วจะได้
แต่มันก็มีการโวยวายทุกครั้ง เวลามีเรื่อง ผมต้องเชิญแผนกกฎหมายมาประกบทุกครั้ง"
สันติกล่าว
อีกเรื่องคือการที่พวกเครื่องใช้ เครื่องมือที่มีตรา "การบินไทย"
ติดหราอยู่หลุดไปขายตามสะพานควาย วัดมหาธาตุ
เครื่องใช้เหล่านี้มีตั้งแต่ ช้อน ส้อม ถ้วยกาแฟ ผ้าห่ม กระเป๋า เครื่องชูชีพ
สารพัดของที่ที่มีอยู่บนเครื่องนั่นแหละ
ของพวกนี้หลุดไปได้หลายวิธี เช่น หายไปตอนเคลียร์เครื่อง ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานทำความสะอาดบ้าง
แอร์ สจ๊วตหยิบไปบ้าง หรือหายไปในช่วงการล้างทำความสะอาดบ้าง หรือพนักงานในครัวขโมยไป
"ของมันหายประมาณเดือนละ 3 พันชิ้น คุณเห็นแล้วอาจจะรู้สึกมหึมา แต่เราล้างวันละ
4 แสนชิ้นต่อวัน…ต่อวันนะครับ แล้วแค่เดือนละ 3 พันชิ้นต่อเดือนในแง่ธุรกิจมันน้อยมาก"
"ของพวกนี้เราถือเป็นของ GIVE AWAY ของสิ้นเปลืองซึ่งเป็นทุกแอร์ไลน์มันต้องหาย
เราจะตัดยอดสูญเสียราว 20%
สันติกล่าวถึงการป้องกันว่า "เรามีการตรวจสอบประจำ แต่มันก็ต้องสูญหายเป็นธรรมดา
ทุกคนมาถามผมว่า คุณคุมยังไง ผมก็บอก โธ่ วันหนึ่งเป็นแสนๆ ชิ้นมันก็หลุดไปบ้าง
เขาไม่ได้เอาไปจากเราจุดเดียว มันตั้งแต่ลงมาจากเครื่อง หรืออาจจะรั่วไหลจากที่ผู้โดยสารเอาเป็นของที่ระลึก
คนขโมย เราก็พยายามตรวจจับทุกวัน ตรวจคนที่นี่ ก็จับได้เสมอ แล้วไล่ออกไปเยอะ
เราก็พยายามป้องกันให้มันหลุดออกไปน้อยที่สุดแหละ"
หลังจากของเหล่านี้หลุดไปจากครัวการบินไทยแล้ว ทุกวัน บ่ายสองโมงจะมีรถขนขยะของกองทัพอากาศมาขนไป
"เขาก็เอาไปเลี้ยงหมูเลี้ยงสัตว์ เรื่องของเขา ไม่ต้องไปยุ่ง เดี๋ยวต้องมีการประมูลให้มันยุ่งยากอีก"
สันติเล่า
ของจะกระจายไปขายแบกะดินตามสยามสแควร์, สะพานควาย, และจุดใหญ่คือร้านป้าดำ
วัดมหาธาตุ
"ถ้าซื้อแล้วอยากได้อีก สั่งเพิ่มได้ แต่พวกนี้จะระแวงมาอีกทีอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้"
คนช็อปปิ้งเล่า
"ผู้จัดการ" ก็ซื้อมาเยอะเหมือนกัน ราคาไม่แพงนัก แต่ตอนนี้ไม่แน่
เพราะการบินไทยเองก็กำลังถูกรุมทึ้งอยู่ สินค้ามีสิทธิ์ขึ้นราคา!