เรื่องของ "นุชนันท์ โอสถานนท์" อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเชื้อเพลิงและประกันภัย
ที่ถูกคำสั่งให้ไปประจำสำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน
2531 นั้น ไม่แน่ว่าจะจบลงง่ายๆ
ที่ว่าไม่แน่ว่าจะจบลงง่ายๆ ไม่ได้หมายความถึงว่าหากเธอถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ซึ่ง "บังเอิญ" ไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตาย หาหลักฐานที่แสดงว่าทุจริตได้
แล้วต้อง "ส่ง" เธอกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม
ยังรวมไปถึงเมื่อผลออกมาว่านุชนันท์มีความผิดจริง ตามข้อกล่าวหาที่พอจะสรุปในภายหลังได้เป็นสองสามเรื่องใหญ่
แน่นอน…บางทีนุชนันท์อาจก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมที่เธอทำเอาไว้ หรือไม่ก็ฟ้องร้องให้คืนความยุติธรรมแก่เธอตามกฎหมายก็น่าจะเป็นไปได้
ความจริงตัวละครในเรื่องที่ควรจะเกี่ยวข้องกับนุชนันท์โดยตรง น่าจะมีเพียงการบินไทย
กับบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพฯ หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า B.A.F.S.
(BANGKOK AVIATION FUEL SERVICED CO., LTD.) เท่านั้น
B.A.F.S. ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 ซึ่งแต่เดิมการให้บริการเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินเป็นไปด้วยความยากลำบาก
บ่อยครั้งที่ต้องทำการขนถ่ายจากรถน้ำมันที่ทางบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ อาทิ เชลส์
เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ฯลฯ นำมาจอดเพื่อรอให้บริการไว้
ด้วยความต้องการที่จะมีสถานบริการเชื้อเพลิงการบินที่ดีกว่าที่มีอยู่ การบินไทยนำโดย
พล.อ.อ. บัญชา สุขานุศาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ขณะนั้น ร่วมกับบริษัทน้ำมันที่ให้บริการทุกบริษัท
ตกลงร่วมหุ้นตั้ง B.A.F.S. ขึ้น
ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นอันมีการบินไทย บดท. ท.อ.ท. สำนักงานทรัพย์สินฯ ปตท.
เชลส์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ เอลฟ์ปิโตรเลียม และโมบิลออยล์ไทยแลนด์ มี ม.ร.ว.
ศุภดิศ ดิศกุล เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก
B.A.F.S. ในระยะแรกได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากบริษัทคอลเอลฟ์ ผู้ผลิตน้ำมันยี่ห้อ
"เอลฟ์" จากฝรั่งเศส ที่ได้ทำสัญญาให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค
เป็นผู้ออกแบบระบบโครงการเติมเชื้อเพลิงการบินแบบท่อจ่ายใต้ดินให้
นอกจากนี้ B.A.F.S. ยังต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างคลังเชื้อเพลิงให้กับกองทัพอากาศ
คัดเลือกผู้รับเหมาที่จะมาสร้างคลังเชื้อเพลิงใหม่ และสถานีบริการในลานจอด
พิจารณาแหล่งเงินกู้ วางแผนการดำเนินงาน ซึ่งกว่าจะให้บริการด้วยลำแข้งของตนเองได้จริง
ก็ปาเข้าไปเกือบปลายปี 2529
จากนั้น B.A.F.S. ก็ให้บริการกับทั้งเครื่องบินของการบินไทย บดท. และสายการบินต่างชาติอื่นที่ต้องการใช้บริการด้านนี้
ซึ่งกรรมการบริษัทที่เป็นตัวแทนมาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ
ตามวาระจนมาเป็นนุชนันท์ โอสถานนท์ ผู้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนกประกันและปิโตรเลียมของการบินไทย
ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทในปี 2528 จากการผลักดันของนีลส์ ลุมโฮลท์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายอุตสาหกิจการบิน
ที่มาของเรื่องนุชนันท์ที่อันที่จริงแล้วเกิดจากการที่นุชนันท์ สวมหมวกสองใบ
ใบแรกในฐานะที่เธอเป็นกรรมการคนหนึ่งของ B.A.F.S. ส่วนอีกใบหนึ่งก็เป็น "ผู้อำนวยการฝ่ายเชื้อเพลิงและประกันภัย"
ของการบินไทย
เริ่มแรกนุชนันท์ทำจดหมายขึ้นมาถึงฝ่ายบริหารว่า การบินไทยถึงแม้จะเป็นหุ้นส่วนกับ
B.A.F.S. ด้วยคนหนึ่ง แต่เท่าที่ผ่านมา สำหรับการบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในลานจอด
การบินไทยเก็บค่าบริการในลานจอด (HANDLING FEE) สูงเกินไป ทำให้สายการบินอื่นที่ใช้บริการอยู่ค่อนข้างไม่พอใจ
เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุน เพิ่มค่าใช้จ่าย
"เราก็ลองไปเทียบดู ก็พบว่าไม่สูงกว่าสิงคโปร์ ไม่สูงกว่าเพื่อนบ้านเลย
แต่ก็จำเป็นต้องมี แล้วค่าใช้จ่ายที่ว่าก็ไม่ได้ทำให้ค่าน้ำมันสูงขึ้นเท่าไหร่เลย"
ผู้บริหารระดับ วี.พี. ของการบินไทยเล่า
เมื่อเห็นว่าฝ่ายบริหารคงจะไม่ดำเนินการอะไร นุชนันท์ก็ยังคงเดินเรื่องต่อ
ฝ่ายบริหารก็เรียกนุชนันท์เข้าพบ
"เราก็พูดกับเธอว่า เธอทำอย่างนี้ไม่ถูก ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ
B.A.F.S. ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว นุชนันท์อธิบายว่า ส่วนหนึ่งมันก็เป็นผลดีที่การบินไทยเองจะได้รับ
จากการลดค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกัน เราก็ไม่ว่าอะไร เพราะเธอก็เป็นพนักงานการบินไทยคนหนึ่ง"
วี.พี. คนเดิมกล่าว
แต่เรื่องมายืดเยื้อ ลามปามเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็เมื่อนุชนันท์ชักชวนสมาชิกกลุ่ม
INTERNATIONAL AIR TRANSPORT ASSOCIATION (IATA), สมาชิก ORIENT AIRLINES
ASSOCIATION (OAA.) และ TGF. มาทำหนังสือร้องเรียนในปัญหาเสียค่าธรรมเนียมในการบริการสูงนี้
กับกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ตอนนี้แหละที่ฝ่ายบริหารการบินไทยรู้สึกว่านุชนันท์ชักจะหนักข้อขึ้นทุกที
กอปรกับเป็นช่วงผลัดแผ่นดิน ที่ พล.อ.อ. วีระ เพิ่งเริ่มเข้ามาปรับเปลี่ยนสายการบริหารเดิมที่มีอยู่เดิมในการบินไทย
นุชนันท์เลยเป็น "ไก่" ตัวแรกที่ถูกเชือดให้ลิงดู อย่างที่รู้ๆ
กัน
นุชนันท์ โอสถานนท์ เรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทำงานในหน้าที่นี้เป็นปีที่ห้า
เท่าที่ผ่านมาคนใกล้ชิดและรู้จักกับนุชนันท์ดีในระดับผู้อำนวยการฝ่าย และวี.พี.
หลายคนบอก "ผู้จัดการ" ว่า นุชนันท์เป็นคนขยันขันแข็ง แทบจะไม่มีใครในการบินไทยรู้เรื่องน้ำมันและการประกันได้ดีกว่านุชนันท์
แต่สิ่งที่นุชนันท์ "เสีย" มากๆ ในสายตาของคนทั่วไปก็คือ นุชนันท์เป็นคนประเภท
AGGRESSIVE โผงผางคล้ายผู้ชาย ประเภทคิดจะพูดก็พูด คิดจะทำก็ทำ
แต่การกระทำของนุชนันท์ในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่ากับองค์กรใดไม่ควรถึงกับต้องย้ายตำแหน่ง
เปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างที่นุชนันท์ได้รับ
สาเหตุที่นุชนันท์ถูก "แขวน" มีอยู่สองประการ หนึ่ง-นุชนันท์อยู่ในอำนาจหน้าที่นี้มานาน
พอดีไปตรงกับนโยบายใหม่ของกรรมการผู้อำนวยใหญ่คนใหม่ ที่ต้องการให้ผู้บริหารระดับสูงได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
แต่นี่เป็นเหตุผลในทาง "ทฤษฎี" ที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้
สาเหตุประการที่สอง คือ นุชนันท์ถูกกล่าวหาว่าในระหว่างที่เธอทำงานในหน้าที่นี้
ประมวลตามสายตาบุคคลภายนอกที่ "เฝ้าดู" การทำงานของเธอมาโดยตลอดนั้น
"ส่อเค้า" ไปในทางที่อาจมีการทุจริต
นุชนันท์ซื้อน้ำมันและจะเลือกซื้อจากบริษัทเดียว ไม่มีการประมูลครั้งละ
3 รายตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ
บ่อยครั้งที่ฝ่ายการเงินมีปัญหากับใบอินวอยซ์ที่บริษัทน้ำมันส่งมา เนื่องจากการทำสัญญาซื้อน้ำมันไม่มีลายลักษณ์อักษร
วันนี้กำหนดว่าจะซื้อขายกันในราคา 54 เซ็นต์ แต่พออีกสามเดือนกลายเป็นราคาเกือบ
60 เซนต์บ้าง
นุชนันท์ทำงานคนเดียว ไม่เคยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบว่าเธอไปทำอะไรที่ไหน?
เมื่อไหร่? และอย่างไร?
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนุชนันท์นั้น ไม่อาจบอกได้อย่างชัดแจ้งว่านุชนันท์
"ผิด" ตามข้อกล่าวหาที่ผ่านมาหรือไม่?
เพราะเรื่องราวที่พูดมาทั้งหมด ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ
ซึ่งถูกระบายสีสันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับความประพฤติของเธอ ไม่ว่าใครก็ต้องคิดว่านุชนันท์งานนี้เสร็จแน่ๆ
ลองมาดูกันว่า ใครพูดอะไรถึงนุชนันท์อย่างไรบ้าง
นุชนันท์เป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่งของการบินไทย ที่มีความสนิทสนมเป็นอย่างมากกับนีลส์
ลุมโฮลท์ ช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา เธอเบิกเบี้ยเลี้ยงจากการเดินทางไปต่างประเทศเป็นจำนวนสูงถึงนับล้านบาท
เนื่องจากคิดว่า นุชนันท์สนิทกับ "นาย" ในการบินไทยมากทำให้นุชนันท์ถูกเพ่งเล็งด้วยความอิจฉาตาร้อนอยู่ทุกวี่วัน
"นุชนันท์เป็นคนจำคน ใครทำอะไรกับเธอไว้ก็ต้องมีการติดตามกันให้ถึงที่สุด
มีคนไม่ชอบเธอทั้งภายในและภายนอก บางคนตายทั้งเป็นกับหน้าที่การงานที่ทำอยู่
ต้องลาออกไป หมดอนาคตเพราะเส้นสายที่หนุนเธออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง" เป็นคำกล่าวของ
"แหล่งข่าว" กับผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง เมื่อเรื่องของนุชนันท์ถูกเปิดโปงขึ้นมาในระดับหนึ่ง
ราวๆ ปี 2529 ขณะนั้น ตามที่ทราบกันว่า B.A.F.S. ยังไม่ได้ให้บริการกับการบินไทยและสายการบินอื่นๆ
ได้อย่างสมบูรณ์เหมือนปัจจุบัน ตอนนั้นเชลส์ คาลเท็กซ์ และเอสโซ่ สามบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไทย
ไม่มีน้ำมันซัพพลายให้การบินไทยเหมือนอย่างที่เคย นุชนันท์นี่แหละที่เป็นคนหาน้ำมันจากที่อื่นมาเติมให้
"ตอนนั้นแกวิ่งวุ่นเลย ไปที่โน่นไปที่นี่ พอดีตอนนั้นมีน้ำมันจากเรือบรรทุกอินโดนีเซียมาจอดที่ไทย
แกก็ต่อรองขอให้มาจนได้" กัปตันโยธิน ภมรมนตรี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้น
ผู้ถูกโยกย้ายจากฝ่ายปฏิบัติการบิน ซึ่งต้องดีลกับนุชนันท์เรื่องน้ำมันที่จะเติมให้กับเครื่องบินอยู่บ่อยๆ
บอกกับ "ผู้จัดการ"
นอกจากนั้น กรณีที่กล่าวว่านุชนันท์อาจจะชักเปอร์เซนต์ จากการติดต่อซื้อขายกับบริษัทน้ำมันต่างๆ
นั้น ดูจะไม่สมเหตุสมผลเลยในเมื่อนุชนันท์เองเป็นคนที่ต่อรองราคาน้ำมัน เสนอความคิดในการขนส่งน้ำมันให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง
นำมาลดราคาน้ำมันที่ขายให้กับการบินไทย
"บริษัทที่ว่าเขาต้องการขายและขนส่งน้ำมันจากไทยไปจีน และจากญี่ปุ่นไปมิดเดิลอีสท์
นุชนันท์ก็เลยบอกว่าทำไมยูไม่ขนจากมิดเดิลอีสท์มาไทย แล้วขนจากจีนไปญี่ปุ่นล่ะ
เส้นทางมันใกล้กว่ากัน ค่าขนส่งมันก็ถูกกว่ากันเยอะ แล้วเอาเงินที่ยูต้องเสียมาลดราคาให้กับการบินไทย"
ผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอีกคนเล่า
เช่นเดียวกับการประกันชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมทั้งตัวเครื่องบินของการบินไทย
ก็เพราะความสามารถของนุชนันท์ ที่ทำให้การบินไทยเดิมที่เคยเสียเบี้ยประกัน
50 เซ็นต์/มูลค่าเครื่องบินทุกๆ 100 เหรียญ มาเป็น 9 เซ็นต์/100 เหรียญ ในปัจจุบัน
เท่ากับประหยัดเงินของการบินไทยเฉพาะค่าเบี้ยประกันนี้ปีละไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท
ยังไม่รวมถึงค่าน้ำมันซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด สำหรับต้นทุนในการดำเนินกิจการการบินพาณิชย์
ที่มีอัตราส่วนถึง 16.8% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ
การทำงานของนุชนันท์ที่ผ่านมา ถ้าเธอจะโกงกิน ต่อรองราคาน้ำมันให้สูงขึ้นจนทำให้การบินไทยเสียหาย
มันก็น่าที่จะทำได้
ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนุชนันท์มีสองประเด็นด้วยกัน
หนึ่ง - อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ในขอบเขตที่นุชนันท์ได้รับอยู่มีมากน้อยเพียงใด?
เมื่อบวกกับสภาพปกติของธุรกิจน้ำมัน ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาด
ทำให้ผู้บริหารที่เข้ามารับผิดชอบหน้าที่นี้ต้องมีอิสระในการตัดสินใจที่จะทำสิ่งใดลงไปทันที
โดยไม่เป็นผลเสียถึงบริษัทอย่างเต็มที่
เพราะฉะนั้น คำอธิบายก็คือ "เป็นไปได้" ที่นุชนันท์อาจกินหัวคิว
ได้เปอร์เซ็นต์จากการติดต่อซื้อขายน้ำมันกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างๆ เพราะเธอเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียว
ที่จะตัดสินว่าการบินไทยจะซื้อน้ำมันจากใคร?
แต่การที่จะไปชี้ชัดว่าเธอซื้อนำมันราคาแพงนั้นออกจะไม่ถูกต้องสักหน่อย
ซึ่งหากจะเปรียบเทียบงานของนุชนันท์ คงไม่ได้แตกต่างจากผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ตามธนาคารใหญ่ๆ ต่างๆ เลยแม้สักน้อยนิด
เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน
อีกทั้งเมื่อคิดถึงจำนวนที่การบินไทยจะต้องสั่งซื้อ การแข่งขันที่มีอยู่ในตลาดอย่างสูง
จึงไม่น่าแปลกใจที่นุชนันท์ต้องตัดสินใจคนเดียว และเดินทางไปที่โน่นที่นี่บ่อยครั้งมากกว่าคนอื่น
ซึ่งก็เพื่อหาแหล่งวัตถุดิบที่ดี ที่สุด ราคาถูกที่สุด คุณภาพดีที่สุดให้กับการบินไทย
สอง-ในด้านสายการบังคับบัญชานั้น สำหรับ "ผู้จัดการ" แล้ว ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก
ในการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่าเรื่องที่นุชนันท์จะซื้อน้ำมันอย่างไร?
ซื้อคนเดียวหรือไม่ เบิกค่าเดินทางมากน้อยเท่าไรเสียอีก?
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือ การกระทำของนุชนันท์ในหน้าที่ที่เธอรับผิดชอบอยู่นั้น
ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารตลอดมา
เหนือจากนุชนันท์ขึ้นไปต้องมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการฯ หรือ วี.พี.
ผู้ควบคุมดูแลการทำงานของเธออยู่ ระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาที่นุชนันท์อยู่ในตำแหน่งนี้
แสดงให้เห็นว่าเรื่องต่างๆ ที่เธอทำผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมาแล้ว
เพราะไม่ว่าอย่างไรสัญญาที่นุชนันท์ทำ เท่ากับเป็นสัญญาที่บริษัทการบินไทยทำกับคู่สัญญา
นั่นคือ เท่าที่ผ่านมานุชนันท์ทำถูกต้องแล้ว!!!
แต่คราวนี้ที่ผิดไม่ใช่เพราะเธอทำผิดขั้นตอน ไม่ใช่เพราะเธอทำข้ามหน้าข้ามตาผู้ใหญ่
ไม่ใช่เพราะนุชนันท์ซื้อน้ำมันราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น
เป็นเพียงเพราะการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงเดิมเป็นชุดใหม่ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจสูงสุด
สิ่งที่เคยถูกก็เลยกลายเป็นผิด?!?
ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากระทบนุชนันท์ ขณะที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นนั้น
"ผู้จัดการ" ไม่อาจปฏิเสธว่า ในความเป็นจริงแล้วมันเกิดขึ้นได้
เพราะตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของนุชนันท์ ที่ต้องทำการเจรจาต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างๆ
ความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บวกกับปริมาณการซื้อขายจำนวนมหาศาล
แต่การตกลงต่างๆ ต้องเป็นความลับ เพื่อประโยชน์ของบริษัทการบินไทยเองนั้น
ไม่น่าแปลกใจเลยว่านุชนันท์จะถูกมองว่าเธอโกง เธอกิน รับหัวคิว ฯลฯ แต่นั่นก็ควรจะมีการพิสูจน์หาความจริง
มิใช่ข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย
ในทางตรงกันข้าม หลักการบริหาร หลักการบริหารองค์กรที่ต้องปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
ที่จะสร้างความมั่นคงให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกันแก่ทุกคนในองค์กร ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน
ความจริงเรื่องของนุชนันท์น่าจะจบลงเพียงการร้องเรียนค่าธรรมเนียมบริการเติมเชื้อเพลิง
ถ้าจะมีเรื่องราวกันต่อไปก็น่าจะเป็นเรื่อง "ภายใน" ของการบินไทยเองที่จะจัดการกับพนักงานของตนมากกว่า
เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาเล่า เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลใด?
เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เปลี่ยนอำนาจการบริหาร นอกจากจะเปลี่ยนขุนทัพผู้กล้าแกร่ง
ยังต้องมีการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" อยู่เสมออย่างนั้นหรือ???
บรรดาผู้เสียประโยชน์ หรือผู้ที่ "ปากอยู่ไม่สุข" วิตกว่าแผ่นดินจะไม่วุ่นวาย
ถือโอกาสที่ยากจะมีนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนสับสน เพียงเพราะต้องการเห็นอนาคตของตัวเองรุ่งเรืองเฟื่องฟูกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้นหรือ???