ผลการประกอบการในรอบสิบปีของการบินไทย 2520-2530 (โปรดดู TEN-YEAR REVIEW)
จะพบว่าการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่เติบโตขึ้นในทุกด้านสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
มีเพียงช่วงปี 2523-2525 กำไรลดลงเหลือ 106.7, 39.1, 26.3 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลหลักที่ใช้ในการอธิบายก็เป็นเรื่องของภาวะการบินตกต่ำทั่วโลก
เหตุเพราะปัญหาจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งหลายสายการบินถึงกับต้องประสบกับการขาดทุน
แต่การบินไทยยังสามารถประคองตัวเองมาได้ดีพอสมควร
การบินไทยเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2527-2530 กล่าวคือ สามารถทำกำไรได้ถึง
2,126.7 และ 1,001.1 และ 1,496.7 และ 2,192.5 ล้านบาท ตามลำดับ
กระทั่งล่าสุดในปี 28 ธันวาคม 2531 พล.อ.อ. วรนาถ อภิจารี ประธานกรรมการบริษัท
ได้ออกมาแถลงผลการดำเนินงานปี 2531ว่าสามารถทำกำไรได้ 6,522.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรก่อนหักภาษีที่สูงสุดแต่ก่อตั้งบริษัทมา
เป็นผลกำไรที่เพิ่มจากปี 2530 ถึง 197.5% ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ตัวเลขที่มากขึ้นนี้นอกจากปีที่ผ่านมามีการเดินทางกันอย่างมากมาย
แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการรวมการบินไทยกับ บดท. เข้าด้วยกันแล้วขายเครื่องบินดีซี
10-30 จำนวน 2 เครื่อง เป็นเงิน 1,261.2 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับรัฐวิสาหกิจด้วยกัน การบินไทยนับว่ามีความสามารถในการทำกำไรที่จัดอยู่ในระดับต้นๆ
ทีเดียว
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินทั่วโลก โดยที่ดูจากสายการบินที่จัดอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
ความสามารถโดยเปรียบเทียบกันแล้วเป็นเช่นไร นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้รับข้อมูลจากการบินไทย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์จะพูดอยู่ตลอดเวลาว่าการบินไทยของเราจัดอยู่ในอันดับนำของโลก
และทำกำไรได้ดีมาก
"ผู้จัดการ" มีความสงสัยเช่นกันว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นแล้ว
การบินไทยอยู่ในฐานะเช่นไร
แต่เนื่องจากเราไม่อาจจะหาข้อมูลของสายการบินเด่นๆ ที่ล่าสุดได้ เราได้พบรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่ง
ที่ทำการเปรียบเทียบผลผลิตของ 11 สายการบินที่อยู่ในระดับเดียวกัน (โปรดดู
CHART 1-3)
วิธีวิเคราะห์นั้น อาศัยรายได้ในปี 2529 และ RPK (REVENUE PASSENGER KILOMETRES)
มาตั้งเป็นตัวหลัก แล้วหารจำนวนเจ้าหน้าที่ของแต่ละสายการบิน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า
รายได้ถัวเฉลี่ยของการบินไทย ติดอันดับที่ 10 ในจำนวน 11 สาย คือมีผลผลิตต่อพนักงานหนึ่งคนเท่ากับ
80,300 เหรียญสหรัฐเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอันดับ 1 คือ JAPAN AIRLINES
ซึ่งมีรายได้ต่อพนักงานหนึ่งคนสูงถึง 219,200 เหรียญสหรัฐ
เมื่อวัด RPK ต่อหัวในจำนวน 11 สายการบินแล้ว การบินไทยตกอยู่อันดับที่
7 กล่าวคือ 0.953 ล้าน RPK เมื่อเปรียบเทียบกับอันดับหนึ่งคือ SINGAPORE
AIRLINES มีผลผลิตถึง 2.169 ล้าน RPK
นั่นชี้อย่างชัดเจนว่าประสิทธิภาพในการบริหาร ตกอยู่ที่ระดับ 7-10 ในจำนวน
11 รายที่ได้ทำการศึกษา
แม้ว่ารายงานการศึกษาชิ้นนี้ออกจะเก่าไปหน่อยคือใช้ข้อมูลปี 2529 แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราเห็นสถานภาพที่แท้จริงของการบินไทยปี
2529
"ผมว่าปีที่ผ่านมา (2531) เป็นยุคทองของสายการบินทั่วโลก แทบทุกสายการบินมีกำไรมากเป็นประวัติการณ์
จึงไม่แปลกที่การบินไทยพลอยได้รับผลนี้ไปด้วย จริงๆ แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่น
เขาอาจจะมีความสามารถทำกำไรน้อยกว่าก็เป็นได้" ผู้อาวุโสในวงการบินกล่าวตั้งข้อสังเกตกับ
"ผู้จัดการ"
ถ้าการบินไทยสามารถทำการศึกษาเปรียบเทียบออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้ นั่นจะเป็นการให้ความจริงรอบด้านยิ่งขึ้น
และทำให้ผู้คนเข้าใจสถานะแท้จริงของสายการบินแห่งชาติของเขา