Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2532
วีระ กิจจาทร เขาคือ ดอน กีโฮเต้             
โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
 

   
related stories

ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ บุรุษผู้ลืมไปว่า "การบินไทย" ไม่ใช่ของ "ตี๋ใหญ่" คนเดียว
TG ที่ไม่ใช่การบินไทย แต่เป็น Tomorrow Go!

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

   
search resources

การบินไทย, บมจ.
วีระ กิจจาทร
Aviation




"พูดกันอย่างชายชาติทหาร ถ้าเขารู้จักพอกัน แล้วหันหน้ากลับมาทำงานกัน เขาเป็นคนมีประโยชน์มาก และผมต้องการเขา" วีระเปิดใจกับ "ผู้จัดการ"

คำพูดนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าวีระมีทัศนคติอย่างไรต่อผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย นั่นเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจทำอะไรที่เฉียบขาด และออกจะรุนแรงในความรู้สึกของบางคน

ชื่อวีระ กิจจาทร นั้นก่อนนี้คงจะรู้กันเพียงแวดวงกองทัพอากาศในนาม "บิ๊กโย่ง" ชื่อของเขาเริ่มคุ้นหูมากขึ้นเมื่อมาเป็น "บิ๊กบอส" ของการบินไทย การที่เขาเข้ามาล้างบางในการบินไทย ทำให้ผู้คนยิ่งสนใจตัวเขามากยิ่งขึ้นว่าเขาเป็นใครมาจากไหนจึงเหี้ยมหาญนัก

วีระ กิจจาทร เกิดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2476 ปีนี้อายุ 55 ปีแล้ว เป็นคนอยุธยา ที่สำเนียงพูดออกจะเหน่ออยู่บ้าง เรียนโรงเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ.อ. วรนารถ ซึ่งถือเป็นเพื่อนซี้กัน จากนั้นก็เข้ามาศึกษาเพื่อเป็นนักบินของโรงเรียนการบินกองทัพอากาศ เริ่มรับราชการเมื่อปี 2501 เรื่อยมา ด้วยตำแหน่งครูการบินโรงเรียนการบินกองทัพอากาศ ซึ่งขณะนั้นมียศเป็นเรืออากาศตรีเมื่อสมัยสงครามเกาหลีเป็นนักบินประจำหน่วยบิน เคยเป็นนักบินประจำเครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นความภูมิใจในชีวิตเป็นอย่างยิ่งของวีระ

วีระเคยเป็นผู้บัญชาหน่วยบินไทยในสงครามเวียดนาม (หน่วยบิน VICTORY) เป็นผู้บังคับฝูงบิน 61 กองบิน 6 ดอนเมือง เสนาธิการกองบิน 6 ผู้บังคับฐานบินสงขลาและนครพนม ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครอง สมาชิกวุฒิสภา ผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงโตเกียว และผู้ช่วยทูตทหารอากาศประจำกรุงโซล ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ วปอ. รุ่นที่ 27 จากนั้นเลื่อนเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และได้รับพระราชทานยศ พล.อ.ท. เมื่อ 1 ต.ค. 28 เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายการข่าวสมาชิกวุฒิสภา รองเสนาธิการทหารอากาศ

และเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 31 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ติดยศพลอากาศเอก

หลังจากนั้นหนึ่งวันได้ลาออกจากราชการ เพื่อเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย สืบแทนพลอากาศเอกประหยัด ดิษยะศริน ซึ่งเกษียณอายุ

วีระ นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีชีวิตราชการรุ่งโรจน์มากทีเดียว ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพมาแล้วทั้งสิ้น

ว่ากันว่าสมัยที่เป็นนักเรียนนายเรืออากาศปกครองรุ่นน้องๆ นั้น "บิ๊กโย่ง" เฮียบมาก รุ่นน้องทำผิดนิดเดียวถูกทำโทษทันที โดยไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น กิตติศักดิ์ความเฮียบนี้เปรียบเปรยกันว่า ที่นอนใครโยนเหรียญบาทแล้วไม่เด้งดึ๋ง เป็นอันว่าคนนั้นถูกกักบริเวณ อดกลับบ้านไปเยี่ยมแฟน

กล่าวถึงเรื่องการทำงานวีระเป็นเจ้าระเบียบ เป็นคนละเอียดรอบคอบ และเป็นคนที่เพียบพร้อมด้วยข้อมูลในการบริหารหรือตัดสินใจ กล่าวกันว่าขนาดสมัยเป็นผู้บังคับบัญชาวีระจะรู้หมดว่าแอร์ในฐานบินมีกี่ตัว ลูกน้องจะมาซี้ซั้วแหกตาไม่ได้เด็ดขาด

ความที่วีระเป็นคนที่ก่อนจะทำอะไรเขาต้องศึกษาอย่างถ้วนถี่ก่อน เห็นได้ชัดจากการที่เขาเป็นทหารอากาศเพียงคนเดียวที่ก่อนจะเข้ามาบริหารการบินไทย เข้าอบรมหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจระยะสั้นที่นิด้าในวิชาบริหารบุคคล, บริหารโครงการการตลาด, การบริหารการเงินเป็นต้น

นั่นเป็นเพราะเขาเห็นจุดอ่อนของการที่ชั่วชีวิต 30 กว่าปีที่ผ่านมานั้นเขามาคลุกคลีอยู่แต่ในราชการทหาร แต่ผู้บริหารบางคนของการบินไทยที่ร่วมงานกับเขาในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมา ได้แสดงความคิดเห็นว่าวีระเป็นทหารที่เข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่อาจจะมีลักษณะอนุรักษ์นิยม (CONSERVATIVE) อยู่บ้าง ในลักษณะที่ว่าค่อยๆ เดิน หากไม่พร้อม 100% จะไม่เสี่ยง

ในยุคสมัยของวีระดูจะเน้นงานด้านปฏิบัติการภายใน (OPERATION) มากกว่าการให้ความสำคัญทางด้านการตลาด ซึ่งในความเห็นของวีระนั้นฝ่ายตลาดขยายตัวเร็วเกินไป ซึ่งด้านหนึ่งเป็นเพราะถูกแรงกดดันจากนักการเมือง ที่พอมาเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ก็อยากจะทำให้ประชาชนเห็นงานที่ตนเองได้ไปสัญญากับชาวบ้านไว้ ว่าจะเอาเครื่องบินไปลงที่นั่นที่นี่ ในที่สุดการบินไทยก็ทำไปโดยไม่ได้คำนึงว่าตนเองมีศักยภาพเพียงใด เครื่องบินทุกวันนี้จึงต้องใช้กันอย่างเต็มที่ 100% ทั้งที่เครื่องบินบางเครื่องมันเก่าแล้ว นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดีเลย์อย่างหนัก ที่การบินไทยก็ยังแก้ไม่ตกจนกระทั่งทุกวันนี้

สิ่งที่วีระไม่ชอบในการบริหารระดับสูงของการบินไทยก็คือความไม่เป็นระบบ และความที่ทำงานโดยยึดตัวบุคคลมากเกินไป "ผมไม่ชอบที่มีการพูดอยู่เสมอว่า ถ้าคนๆ หนึ่งที่คุมด้านนี้ไม่อยู่แล้วการบินไทยจะอยู่ไม่ได้ สมัยก่อนเวลาเรียกประชุมวีพีลำบากมาก เพราะมีวีพีหลายคนที่ไม่อยู่เพราะต้องไปบิน ผมว่าถ้าบินด้วยบริหารด้วย ทำให้บริหารงานไม่เต็มที่ การบินนี่มันได้ PER DIEM สูงด้วยถ้าตัดสินใจรับตำแหน่งวีพีก็ควรจะเลิกบิน เสียสละโอกาสที่ได้ค่า PRE DIEM นี่เป็นความเห็นส่วนตัว ผมต้องการจะเห็นการสร้างคนใหม่ขึ้นมาทำงานทดแทนกันได้" วีระแสดงความเห็นกับผู้จัดการ

อีกประการหนึ่งที่วีระไม่ค่อยจะชอบนัก "การประชุมในการบินไทยมีลักษณะการประชุมที่ไม่แล้ว ประชุมทีไรทุกคนก็บอกว่าเรียบร้อยครับผม แต่เสร็จแล้วก็ไม่แล้ว" วีระซึ่งคุ้นเคยกับการเป็นทหารที่จบแล้วก็ปฏิบัติเลยออกจะหงุดหงิดกับลูกเล่นของเหล่าวีพี

การที่วีระเข้ามาในระยะอันสั้นแล้วสั่งการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายคนนั้นคนนี้ เพราะเขาเตรียมการมาแล้วจากข้อมูลที่เขาได้รับมามากในระดับหนึ่ง

แต่เมื่อเข้ามาจริงๆ ข้อมูลใหม่ที่ได้รับและปฏิกิริยาจากการโยกย้ายหรือทำท่าจะโยกย้ายบางคนนั้น มันหนักหน่วงมากกว่าที่เขาคิดไว้

กระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วองค์กรอยู่ตลอดเวลา สภาวะของการไม่เป็นอันทำการทำงาน เพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะโดนย้ายเข้าสักวัน ผู้ไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงและพยายามจะตอบโต้ทุกวิถีทาง ที่เขาไม่อาจเท่าทันได้ทุกเรื่อง การที่ต้องบริหารงานภายใต้สถานการณ์ที่ยังคุกรุ่น ทำให้ชายชาตรีอย่างเขาหวั่นไหวได้เหมือนกัน

ว่ากันว่าเขาถึงกับกล่าวกับคนใกล้ชิดว่า "ทุกวันนี้เขาไม่ไว้ใจใครเลย และชักไม่แน่ใจว่าใครเป็นใคร"

ภาวะเช่นนี้ความหนักแน่นดังขุนเขาและใช้วิจารณ์อย่างสุขุมเท่านั้นที่จะประคองตัวไปได้

อย่างไรก็ตาม วีระก็เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี อนาคตขององค์กรการบินไทยที่จะเป็นระบบมากขึ้น มีคนขึ้นมาทำงานเพื่อองค์กรอย่างแท้จริง โดยไม่มัวแสดงแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตนและพวกพ้อง ตลอดจนสภาวะการบินทั่วโลกที่บูมอยู่ขณะนี้ จากปัจจัยภายนอกและภายในดังกล่าวจะทำให้การบินไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นั่นคือสิ่งที่วีระปรารถนาจะเห็น

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคของวีระ คือการเพิ่มบทบาทของ คณะกรรมการวางแผนระยะยาว (LONG TERM PLANNING หรือ LTP) ซึ่งแต่เดิมเน้นหนักเฉพาะการวางแผนซื้อเครื่องบิน เป็นการวางแผนการทำงานระยะยาวทุกๆ ด้านของบริษัท โดยมีการเปลี่ยนสัดส่วนของ LTP ใหม่จาก 20 คน เหลือ 11 คน (ดูโครงสร้างของ LTP ใหม่และเก่า) คือลดคนจากการบินไทยที่เดิมวีพีทุกคนถือเป็น LTP ให้เหลือเพียงวีระ และกัปตันปรีชาซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ LTP

ข้อดีของการที่ใช้กรรมการน้อยลง วิจิตร วายุรกุล ผู้ช่วยเลขานุการชี้แจงว่า "ก็ใช้ห้องประชุมเล็กลง การตัดสินใจต่างๆ ก็รวดเร็วมากขึ้น โดยที่กลุ่มทำงานวางแผนระยะยาวก็มาจากฝ่ายวางแผนและวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งทำงานนี้อยู่ประมาณ 10 คน การเน้นการวางแผนทุกด้านมากยิ่งขึ้น จะทำให้การบินไทยมี CORPERATE PLAN อย่างแท้จริง"

แต่ผู้ที่มอง LTP ชุดใหม่ในแง่ลบโต้แย้งว่า แท้จริงแล้วการบินไทยถูกบีบจากทางคมนาคม ซึ่งมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน LTP ซึ่งต้องการจะเข้ามามีบทบาทในการบินไทยมากขึ้น ซึ่งจุดอ่อนก็คือพวกนี้ไม่รู้เรื่องธุรกิจการบินอย่างถ่องแท ้จะทำให้แนวทางที่ดีอยู่แล้วของการบินไทยเสียไปก็ได้

ประเด็นนี้ถูกโต้กลับโดยวิจิตรว่า "LTP นั้น คุณดูรายชื่อจะพบว่า LTP แทบทุกคนเป็นบอร์ดหรือเคยเป็น LTP มาแล้วแทบทั้งนั้น มีเพียงพลอากาศโทลิขิต สุวรรณทัต รองเสนาธิการทหารคนเดียวเท่านั้นที่ใหม่ แล้วในทางปฏิบัติการยกร่างแผนก็ทำโดย WORKING GROUP ของการบินไทย และวีพีก็สามารถเข้ามาชี้แจงเหตุผลของการวางแผนแต่ละอย่างได้ ผมว่าเป็นการจ้องจับผิดกันมากกว่า

วีระ กิจจาทร เป็นคนประเภทที่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ และมีความมุมานะในการงานที่ยากลำบาก ซึ่งสำหรับเขา นั่นคือสิ่งท้าทาย ซึ่งเป็นลักษณะของคนราศีเมษ ซึ่ง "ไฟ" เป็นลักษณะประจำราศี

"ราศีจำพวกไฟ มีความหมายถึงความเข้มแข็ง ความเปล่งปลั่งของจิตใจ และมีพฤติกรรมไปในทางที่เชื่อมั่นในตนเอง มีอิสระและรักอิสระ ไม่ขึ้นกับสิ่งใด และไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด กล้าหาญและมีความทะเยอทะยานก่อให้เกิดความมุ่งมาดปรารถนาไม่สิ้นสุด มีความทระนงที่พร้อมจะก้าวออกไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ.." ชิเซโร โหรชื่อดังบอกถึงลักษณะของคนราศีเมษธาตุไฟ

วีระไม่ใช่คนพูดเก่ง แต่เป็นคนที่พร้อมเสมอที่จะพบสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงความคิดของเขา งานภาพพจน์นั้นเขาให้ความสำคัญไม่น้อย ดังจะเห็นว่าข่าวการที่เขาขึ้นมาและมีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ค่อยมีสื่อมวลชนวิพากษ์ในทางลบมากนัก แต่ถูกตีหนักหน่อยตอนที่เครื่องบินดีเลย์มากๆ

ชีวิตส่วนตัวนั้นวีระเป็นคนเรียบง่าย ไม่ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ไม่ชอบออกงานสังคม แต่การแต่งตัวจัดอยู่ในขั้น "เนี้ยบ" มากคนหนึ่ง ภรรยาชื่อสุภาเป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต เมื่อพ่อบ้านเป็นทหารแม่บ้านเป็นครู ครอบครัวของเขา จึงค่อนข้างอยู่ในระเบียบอยู่ในกรอบที่เป็นดำกับขาว สีเทาไม่มี ถ้าสีเทาแล้วก็อาจจะถูกมองเป็นสีดำ

บ้านที่เขาอยู่ทุกวันนี้เลขที่ 999 อยู่ตรงข้ามกองทัพอากาศ เนื้อที่ประมาณไร่เศษ ซื้อไว้ตั้งแต่สมัยที่ดินวาละไม่กี่บาท จึงดูออกจะกว้างขวาง ลักษณะของบ้านไม่วิริศมาหราอะไรสร้างแบบต้องการความแข็งแรงมากกว่า เป็นบ้านของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ไม่มีสระว่ายน้ำแบบที่บรรดาเศรษฐีทั้งหลายนิยมกัน มองไปในบ้านจะเห็นรถเก่าๆ 2 คัน โตโยต้าโคโรลล่ารุ่นเก่าอีกคันเป็นโตโยต้าคราวน์ที่ซื้อตั้งแต่สมัยเป็นเจ้ากรมฯ

ทุกเช้าก่อนไปทำงานเขาจะออกไปตีเทนนิสกับทหารอากาศหนึ่งชั่วโมง เพื่อเป็นการคลายความตึงเครียด

ชีวิตเขาหลังจากมาเป็นดีดีที่การบินไทย เขาต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เสร็จจากงานประจำยังต้องไปตามงานเลี้ยงที่มักจะเชิญมาในฐานะดีดี ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้วเขาชอบกลับไปทานข้าวที่บ้านพร้อมหน้ากับลูกเมียอย่างเงียบๆ มากกว่า

ระยะหลังเมื่อมีปัญหาเครื่องบินดีเลย์ ผู้คนพากันด่าทั้งเมือง วีระในฐานะผู้อำนวยการใหญ่ย่อมต้องรับผิดชอบมากที่สุด เขาถูกต่อว่าตั้งแต่ไปถึงงานเลี้ยงยันงานเลิก กลับมาบ้านถูกโทรศัพท์ตามมาต่อว่าอีกอย่างไม่หยุดหย่อน

ภาวะเช่นนี้เขากลายเป็นคนที่น่าสงสารที่สุดคนหนึ่ง

ภารกิจของเขาช่างมากมายเสียนี่กระไร เขาคิดถูกหรือไม่ที่ตัดสินใจมาที่นี่ หากเขาทำสำเร็จเสียงสรรเสริญจะเป็นรางวัลตอบแทน แต่ถ้าล้มเหลวมันหมายถึงสิ่งที่เขาสั่งสมมาชั่วชีวิตจะพังทลายไปด้วย!!!

ยิ่งวีระมาที่นี่แบบจะล้างมาเฟีย มีจินตภาพคล้ายนายพลทหารอากาศหลายคนที่คิดว่าที่นี่มีบางสิ่งที่เลวร้าย มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยที่แท้จริงแล้วการบินไทยเป็นกิจการของรัฐ มิใช่ธุรกิจส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง ความรู้สึกเหล่านี้เป็นกระแสธารที่สืบต่อมาจนถึงยุคสมัยของวีระ

วีระนั้นเปรียบไปก็คล้าย "ดอน กีโฮเต้" ตัวละครโดดเด่นของมิเกลเด เซรบานเตส บทละครที่โด่งดังข้ามศตวรรษ "ดอน กีโฮเต้" เป็นเพียงชายแก่คนหนึ่งที่คิดว่าตนเองมองเห็นสิ่งเลวร้าย แล้วคิดว่าตนเองเป็นอัศวินผู้มีความใฝ่ฝันยิ่งใหญ่ว่าตนจะต้องปราบเหล่าอธรรมทั้งมวล เขาต่อสู้กับจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งตายไป

ความจริงแล้วบทละครเรื่องนี้ถูกตีความไปหลายแนวทาง ผู้ที่ชื่นชอบละครเรื่องนี้จะตีความว่าดอน กีโฮเต้เป็นตัวแทนทางอุดมคติของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อสภาพรอบตัวที่เลวร้าย เป็นจิตใจที่ยิ่งใหญ่ที่น่าชื่นชม

ขณะที่คนที่ไม่ชอบจะกล่าวถากถางว่า "ดอน กีโฮเต้" เป็นคนบ้าผู้คิดไปเองว่ามีสิ่งเลวร้าย มองเห็น "กังหัน" เป็น "มังกรยักษ์" ฟาดฟันกับสิ่งที่ตนจินตนาการเอาเองว่ามีทั้งๆ ที่คนอื่นไม่ได้มองเห็นเช่นนั้น

การกระทำของวีระ กิจจาทร ที่เข้าไปล้างบางมาเฟียการบินไทยก็คล้ายกันตรงที่มีทั้งผู้ที่ชื่นชม และผู้ที่เห็นว่าวีระมองเห็นภาพที่เลวร้ายเกินจริง

"ความจริง" กับ "ความเชื่อ" นั้นแตกต่างกัน ความจริงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นกันได้ ส่วนความเชื่อเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ไม่สิ้นสุด เรื่องราวที่เกิดขึ้นในการบินไทย มีทั้งสองส่วนปะปนกันอยู่ ข่าวสารที่ออกสู่สาธารณชน หรือแม้แต่คนการบินไทยเองมีสิ่งที่ไม่ตรงกันอยู่มากมาย อย่างยากที่จะตัดสินใจได้

ในที่สุดวีระ กิจจาทร ก็จะเหมือน "ดอน กีโฮเต้" ตรงที่มีทั้งคนชื่นชอบ และคนเกลียดชัง

รายชื่อคณะกรรมการวางแผนระยะยาว
บริษัทการบินไทย จำกัด ประจำปี 2531

(คณะกรรมการรุ่นเก่า)

1. นายศรีภูมิ ศุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคม
ประธานกรรมการ

2. พล.อ.อ. พะเนียง กานตรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
กระทรวงกลาโหม
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

3. พล.อ.อ. กมล เดชะตุงคะ
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

4. นายพนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลัง
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

5. พล.อ.อ. อรุณ พร้อมเทพ
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

6. พล.อ.อ. กันต์ พิมานทิพย์ เสนาธิการทหารอากาศ
กองทัพอากาศ
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

7. นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรรมการ

8. นายไพจิตร โรจนวานิช อธิบดีกรมธนารักษ์
กรมธนารักษ์
กรรมการ

9. พล.อ.ท. ณรงค์ ดิถีเพ็ง กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด
กรรมการ

10. นายศรีสุข จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคม
กรรมการ

11. พล.อ.ต. ประชา มุ่งธัญญา เจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ
กองทัพอากาศ
กรรมการ

12. พล.อ.อ. ประหยัด ดิษยะศริน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

13. นายนีลส์ ลุมโฮล์ท ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายอุตสาหกิจการบิน
รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผนและวิเทศสัมพันธ์
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

14. นายธรรมนูญ หวั่งหลี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงิน
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

15. นายโยธิน ภมรมนตรี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

16. ร.ต.อ. อุดม กฤษณัมพก ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้น
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

17. เรือโท ชูศักดิ์ พาชัยยุทธ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

18. ร.ต.ท. ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
รักษาการ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการและเลขานุการ

19. นายคำรพ วรชาติ ผู้อำนวยการกองวางแผน
กระทรวงคมนาคม
ผู้ช่วยเลขานุการ

20. นายวิจิตร วายุรกุล รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผนและวิเทศสัมพันธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
บริษัท การบินไทย จำกัด
ผู้ช่วยเลขานุการ

(คณะกรรมการชุดใหม่)

1. นายศรีภูมิ ศุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคม
ประธานกรรมการ

2. พล.อ.อ. อรุณ พร้อมเทพ
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

3. พล.อ.อ. พิศิษฐ์ ศรีกาฬสินธุ์ เสนาธิการทหารอากาศ
กองทัพอากาศ
กรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

4. นายพนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลัง
กรรมการ

5. นายพิสิฏฐ ภัคเกษม รองเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรรมการ

6. นายมหิดล จันทรางกูร รองปลัดกระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคม
กรรมการ

7. พลอากาศโท ลิขิต สุวรรณทัต รองเสนาธิการทหารอากาศ
กองทัพอากาศ
กรรมการ

8. พลอากาศเอก วีระ กิจจาทร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการ

9. เรืออากาศเอก ปรีชา ถาวรประดิษฐ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด
กรรมการและเลขานุการ

10. นายคำรพ วรชาติ ผู้อำนวยการกองวางแผน
กระทรวงคมนาคม
ผู้ช่วยเลขานุการ

11. นายวิจิตร วายุรกุล ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผนและวิเทศสัมพันธ์
บริษัท การบินไทย จำกัด
ผู้ช่วยเลขานุการ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us