คลังจับ ปตท.- กบข.-ออมสิน เซ็น MOU ร่วมลงทุนทีพีไอแล้ว วางสัดส่วนหุ้นเบื้องต้นให้ปตท.30% กลุ่มกบข. 20% คลังบวกพันธมิตรอื่น 10% ผู้ถือหุ้นเดิมรวม 25% และผู้ร่วมลงทุนอื่น เช่น เจ้าหนี้ 15% พร้อมขีดเส้นลงนามซื้อขาย 20 มิ.ย.48 นี้ ด้าน ปตท.ตั้งเป้าหมายผลตอบแทน 15% และตั้งเงื่อนไขต้องมีบทบาทในการบริหารทีพีไอและบริษัทย่อยได้ ขณะที่ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ย้ำถ้าคลังเสนอขายหุ้นทีพีไอในราคาถูกจะทำให้ทีพีไอ เสียหายไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ใช่เจ้าหนี้จะเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ซื้อใหม่จะได้กำไรแบบไม่ต้องเหนื่อย 1.22 แสนล้านบาท
วานนี้ (17 ม.ค.) นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะทำงานจัดหาผู้ร่วมลงทุนและการจัดสรรส่วนทุนและการขายหุ้นเพิ่มทุน ของบริษัททีพีไอโพลีนจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอพีแอล ตามแผนฟื้นฟูของบริษัท ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)ประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจในการร่วมลงทุน ระหว่างกระทรวงการคลัง บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากที่ทำการลงนามกันในครั้งนี้ จะดำเนินการตรวจสอบฐานะทางบัญชีได้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 และจะมีการกำหนดราคาซื้อขาย และจะดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายต่อไป
ทั้งนี้ ได้กำหนดระยะเวลาในเบื้องต้นว่าจะสามารถได้ข้อสรุปเรื่องราคาที่เหมาะสม ภายในวันที่ 29 เมษายน 2548 วันที่ 30 พฤษภาคม 2548 จะลงนามสัญญาในเรื่องต่างๆ และในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 จะลงนามในสัญญาการซื้อขายได้
สำหรับสัดส่วนการร่วมลงทุนในเบื้องต้นจะมี ปตท.เป็นผู้ร่วมลงทุนหลัก เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะได้รับพิจารณาจัดสรรหุ้นประมาณ 30% ของทุนของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน กบข. กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และกองทุนอื่นๆ รวมกันประมาณ 20% กระทรวงการคลัง และพันธมิตรอื่นๆ รวมถึงธนาคารออมสินประมาณ 10% ผู้ถือหุ้นเดิม 15% และผู้ถือหุ้นอื่นๆ เช่น เจ้าหนี้ 15% โดยกระทรวงการคลังจะจัดสรรตามที่เห็นสมควรต่อไป
"หุ้นที่กระทรวงการคลังจัดสรรในครั้งนี้ มี 90% ของหุ้นทั้งหมด ส่วนอีก 10% นั้นเป็นของผู้ถือหุ้นเดิม โดยในส่วน 90% นั้น ได้แบ่งให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 15% ซึ่งหากรวมกับ 10% ที่มีอยู่ก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีหุ้นรวมกันทั้งหมดประมาณ 25% ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอต่อการจัดสรรให้อย่างเป็นธรรม ซึ่งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะได้สิทธิ์ในส่วนนี้ ส่วนจะเท่าใดนั้นเบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นไปตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม" นายศุภรัตน์ กล่าว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทุกฝ่ายทำงานกันอย่างดีที่สุดเพื่อความเป็นธรรมมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้คิดว่าอนาคตของทีพีไอจะต้องดีมาก โดยสัดส่วนการถือหุ้นนั้นโดยประมาณ พันธมิตรร่วมกับกระทรวงการคลังจะมีหุ้นไม่ต่ำกว่า 60% ส่วนอีก 30% ที่เหลือนั้น ประมาณ 15% จะให้ผู้ถือหุ้นเดิม ส่วนอีก 15% ที่เหลือคาดว่าจะให้กับเจ้าหนี้ ส่วนในการดำเนินการทั้งหมดนั้น ตนอยากที่จะให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งอยากให้จบภายในกลางปี 2548 หรือเร็วกว่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับระยะเวลาในการลงนามซื้อขายในเดือนมิถุนายนนี้
ด้านพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ กล่าวว่า ผลประกอบการของทีพีไอนั้น ในส่วนของกำไรก่อนหักภาษีดอกเบี้ย และค่าเสื่อม(EBITDA) ณ สิ้นปี 2547 อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งผลประกอบการ เริ่มต้นจะอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเดือน เท่านั้น โดยจะเห็นได้ชัดว่าผลประกอบการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากแผนที่ได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางทีพีไอมีหนี้ประมาณ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำการชำระหนี้ประมาณ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะทำการยืดหนี้เป็นระยะเวลา 10 ปี และเจ้าหนี้จะทำการตัดหนี้ให้ประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ด้วยการกระจายหุ้นของทีพีไอพีแอล
นายศิริ จิรพงษ์พันธ์ คณะทำงานของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ กล่าวว่า ก่อนวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 จะต้องทำการชำระเงินในการซื้อขายหุ้นทีพีไอ ซึ่งคาดว่าบริษัททีพีไอจะออกจากแผนฟื้นฟูตั้งแต่ปลายมิถุนายน-ต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 สำหรับสัดส่วนในการถือหุ้นจะยังคงรักษาสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมให้อยู่ที่ 25% โดยจากเดิมถืออยู่ 2,000 ล้านหุ้น เป็น 5,000 ล้านหุ้น ซึ่งในส่วนของเจ้าหนี้จะเพิ่มเป็น 15,000 ล้านหุ้น ทั้งนี้สัดส่วนที่เพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นเดิมนั้น จะคิดเป็น 1 หุ้นเดิมเป็น 1.5 หุ้น
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เพื่อให้ ปตท.สามารถเข้า ตรวจสอบสถานะและประเมินมูลค่าทรัพย์สินหนี้สิน (Due Diligence) ของ ทีพีไอ และบริษัทย่อยได้อย่างละเอียดครบถ้วนสำหรับใช้ประเมินราคาหุ้น ที่เหมาะสมต่อไป
โดยหลักการในการพิจารณาเรื่องราคาหุ้นนั้น จะนำหลายวิธีมาประกอบการพิจารณา เช่น ผลประกอบการกำไร การจ่ายเงินปันผล แนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคตระยะยาว ความสามารถในการชำระหนี้ ฯลฯ เป็นต้น
"เราต้องพิจารณาเรื่องผลประกอบการ เช่น จะมีกำไรขาดทุนอย่างไร มีการจ่ายเงินปันผลอย่างไร ซึ่งต้องเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นที่ใกล้เคียงกันด้วย นอกจากนี้ก็ต้องดูแนวโน้มอุตสาหกรรมว่ามีวงจรขาขึ้นขาลงอย่างไร อย่างวงจรของปิโตรเคมี ที่มองกัน คือ อีกปีเศษๆ จะเข้าสู่ขาลง ดังนั้นจะพิจารณาเป็นช่วงๆ ไม่ได้ ต้องประเมินระยะยาว 10 ปี จึงจะวิเคราะห์ราคาที่เหมาะสมได้เพราะเราจะเข้าเป็นพันธมิตรร่วมทุนหลักที่ต้องถือหุ้นยาว"
สำหรับ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเข้าร่วมลงทุนนั้น ปตท.จะต้องศึกษาทิศทาง กลยุทธ์ แผนงานทางธุรกิจ รวมถึงผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งโดยปกติแล้ว ปตท.มีเป้าหมายผลตอบแทนในการลงทุนในระดับ 15% ดังนั้น ผลตอบแทนที่มองไว้ใน กรณีนี้จึงอยู่ในระดับดังกล่าวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย
นอกจากนี้ ปตท.จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการ บริหารจัดการธุรกิจของ ทีพีไอ รวมทั้งบริษัทย่อยด้วย และที่สำคัญ คือ ปตท.ต้องมีการประเมินและบริหาร ความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่สามารถรับได้เพื่อให้การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของ ปตท. ผู้ถือหุ้นของ ปตท. ทีพีไอ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบเป็นที่ยอมรับ ราคามีความเหมาะสม และเงื่อนไขต่างๆ เป็นไปตามที่ ปตท.กำหนดแล้ว ปตท.จึงจะตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ปตท.ขยายตัวไปสู่ธุรกิจ ปิโตรเคมีแบบครบวงจรได้ บนพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนเม็ดเงินนั้น จะนำมาจากผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีเงินสดอยู่พอสมควรแต่จะเพียงพอสำหรับซื้อหุ้น 30% ของหุ้นที่จะได้รับจัดสรร ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5,000 หุ้นหรือไม่นั้นต้อง ขึ้นอยู่กับราคาที่ตกลง อย่างไรก็ตาม ปตท.จะมีการชำระเงินค่าหุ้น ต่อเมื่อ ทีพีไอ และบริษัทย่อยออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว และเงื่อนไขต่างๆ มีผลสมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งตามกำหนดในแผนฟื้นฟูคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2548 นี้
นายประเสริฐ กล่าวยืนยันว่า การลงนามความ เข้าใจในครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นของ ปตท.เพราะเป็นการสร้างความชัดเจนให้มากขึ้นว่า หลังจากการลงนามในครั้งนี้จะเป็นการนำไปสู่การตรวจสอบข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ ปตท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด และ บริษัท Citigroup Global Markets Limited โดยมีบริษัทลิ้งค์เลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท KBC Advanced Technology Pte Ltd. เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค และบริษัท Pricewater-house Coopers FAS Ltd. เป็นที่ปรึกษาด้านบัญชี
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้ กล่าวถึงการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอให้ผู้ถือหุ้นเดิม 15% ว่า ไม่เป็นการยุติธรรมที่คลังจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 15% เพราะตามหลักการเพิ่มทุนของบริษัท(มหาชน)แล้วควรให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อน ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 9 หุ้นใหม่ แต่การให้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเพียงแค่ 15% ให้ผู้ถือหุ้น เดิมนั้น ทำให้แถบไม่เหลืออะไร ซึ่งเท่ากับเป็นการปล้นกัน
ซึ่งราคาหุ้นทีพีไอที่ได้ประเมินด้วยวิธีส่วนลดกระแสเงินสด (CDF) พบราคาอยู่ที่ 23 บาท/หุ้น ถ้า มีการเพิ่มทุนอีก 11,500 ล้านหุ้น แล้วนำหุ้นที่เจ้าหนี้ ได้ไป 5,800 ล้านหุ้น โดยแปลงดอกเบี้ยเป็นทุนมารวม กับหุ้นเพิ่มทุนแล้วจะมีจำนวน 17,500 ล้านหุ้น หรือ 90% ของหุ้นทั้งหมดของทีพีไอ
หากคลังเสนอขายหุ้นทีพีไอในราคาเพียง 3 บาท จะทำให้ทีพีไอเสียหายถึง 20 บาทต่อหุ้น หรือ 2.3 แสนล้านบาท และผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ใช่เจ้าหนี้จะเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้ยอมตัดดอกเบี้ย ค้างชำระคิดเป็นเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ซื้อใหม่จะได้กำไร จากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนนี้ประมาณ 1.22 แสนล้านบาท แทนที่จะตกอยู่กับผู้ถือหุ้นเดิม
ดังนั้น นายประชัย จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้ผู้บริหารลูกหนี้ หรือนิติบุคคล ที่ผู้บริหารลูกหนี้จัดหามามีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอในส่วนหุ้นใหม่และส่วนทุนเดิมทั้งหมดก่อนผู้ร่วมทุนรายอื่น โดยเสนอซื้อ 900 ล้านเหรียญสหรัฐตามแผนฟื้นฟูกิจการฯที่ต้องชำระให้กับเจ้าหนี้ตามแผนฯ โดยศาลฯได้นัดพิจารณาคดีในวันที่ 25 มกราคม 2548
พร้อมทั้งย้ำว่า หากกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอในราคาที่ต่ำเกินจริง ก็ควรจะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมซื้อก่อน เพราะนายประชัยยังมีภาระค้ำประกันหนี้ของทีพีไออยู่ จึงไม่เหมาะสมหากเสนอขายในราคาถูกกว่าราคาหุ้นที่ประเมินด้วยวิธี CDF
|