|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธปท. เผยแบงก์พาณิชย์บางแห่งต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมตามเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติ แม้ไตรมาสสุดท้ายของปีฐานะทั้งกลุ่มแบงก์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี กดดันดัชนีตลาดหุ้นทรุด จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์ โดยเฉพาะธนาคารทหารไทย ที่ราคาร่วงกว่า 2% หลังเจอข่าวต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มอีกกว่า 3 พันล้านบาท
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ฐานะโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ที่ผ่านมายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมของภาคธนาคารพาณิชย์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงไตรมาสที่ 3 มากนัก
ทั้งนี้ คุณภาพของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งแตกต่างกัน โดยในส่วนที่ ธปท.เข้าไปตรวจสอบคุณภาพสินทรัพย์และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งตามเกณฑ์ใหม่ ที่ตรวจคุณภาพสินทรัพย์และกระแสเงินสด พบว่า มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คุณภาพสินเชื่อของธนาคารในไตรมาสที่ 4 แย่ลงกว่าไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารนั้นๆ ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม เช่นเดียวกับกรณีธนาคารกรุงไทยที่ได้ สั่งให้กันสำรองเพิ่มในไตรมาสที่ 3 แต่การสั่งให้กันสำรองเพิ่มของ ธปท.ไม่กระทบภาพรวมต่อฐานะของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ
"บางธนาคารที่ต้องกันสำรองเพิ่ม ธปท.ได้สั่งไปแล้ว และยังมีบางแห่งที่เพิ่มกันสำรองด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุน แต่บางแห่งอาจจะมียอดการกันสำรองที่ลดลงก็ได้ เพราะหนี้ที่เคยเป็นเอ็นพีแอลกลับมาเป็นหนี้ที่ดี ดังนั้น การกันสำรองจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพหนี้ และความสามารถในการทำกำไรเป็นอย่างไร ซึ่งการดูงบดุลที่จะ ประกาศออกมาต้องดูเรื่องเหล่านี้ด้วย"
จากการเปิดเผยของ ธปท. ที่ระบุว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมนั้น ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และทำให้มีแรงเทขายหุ้นออกมาในช่วงการซื้อขายภาคบ่ายวานนี้ (13 ม.ค.) กดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้า แม้ว่าในช่วงเช้าดัชนีจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับ 693.43 จุด ลดลงจากวันก่อนหน้า 1.20 จุด หรือคิดเป็น 0.17% ขณะที่จุดสูงสุดของวัน อยู่ที่ระดับ 699.73 จุด และจุดต่ำสุดที่ระดับ 691.87 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,891.23 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,099.72 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 711.32 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,388.40 ล้านบาท
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมปิดที่ 247.56 จุด ลดลง 1.29 จุด หรือ 0.52% โดยหุ้นธนาคารทหารไทย หรือ TMB มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดโดยปิดที่ 4.16 บาท ลดลง 0.12 บาท หรือ 2.80% ตามด้วยไทยธนาคาร หรือ BT ปิดที่ 5.75 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 1.71% และธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ปิดที่ 9.75 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ 0.51%
นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า การลงทุนวานนี้ดัชนีฯมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยระหว่างวันดัชนีพยายามที่จะทดสอบแนวต้านที่ระดับ 700 จุด แต่ยังไม่สามารถผ่านได้ ทำให้ดัชนีฯอยู่ในช่วงของการพักฐานเพื่อรอปรับตัวขึ้นอีกครั้ง
"ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนมีการหันมาเล่นเก็งกำไร ในหุ้นกลุ่มเล็กและกลาง แทนหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจในช่วงท้ายปี 47 ดัชนีฯจึงยังไม่สามารถ ทดสอบที่ระดับ 700 จุดได้"
สำหรับประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าดัชนีตลาดหุ้นจะสามารถผ่านและยืนเหนือระดับ 700 จุดหรือไม่นั้น จะต้องรอดูแรงซื้อลงทุนของนักลงทุนที่จะเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ และยังคงรอดูความชัดเจนของผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2547 ที่จะทยอยประกาศในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มดัชนีฯในวันนี้ (14 ม.ค.) คาดว่า ดัชนีฯ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 690-700 จุด ส่วนหนึ่งเป็นช่วงใกล้วันหยุดที่น่าจะทำให้มีการพักฐานต่อ ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติม ถึงสาเหตุที่มีแรงเทขายหุ้นออกมาจนทำให้ราคาปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าว่า เกิดจากมีกระแสข่าวว่าทางการได้สั่งให้ธนาคารทหารไทยตั้งสำรองหนี้ สงสัยจะสูญเพิ่มอีกกว่า 3 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ราคาหุ้นมีการปรับลดลงกว่า 2%
ส่วนความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนวานนี้ (13 ม.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทย เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก เมื่อวันที่ 13 มกราคม (วานนี้) อยู่ที่ระดับ 38.81 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้น 0.82% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
หากเทียบกับค่าเงินยูโรสหภาพยุโรป ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง 0.68% เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ และแข็งค่าขึ้น 0.53% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน จะพบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.53% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนในวันก่อน และอ่อนค่าลง 0.56% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนในเดือนก่อนหน้า
|
|
|
|
|