Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2536
เปิดเสรีตลาดน้ำมันหนุน ปตท.เป็นแชมป์..?             
โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ปตท., บมจ.
เลื่อน กฤษณกรี
Oil and gas




การเปลี่ยนแปรของตลาดน้ำมัน ทั้งจากมิติแห่งปัจจัยภายในและตลาดโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้พลิกโฉมใหม่ของพัฒนาการน้ำมันของไทย ให้ ปตท.ขึ้นมาเป็นแชมป์จากที่ครองที่โหล่มาตลอด เล่นเอาบรรดายักษ์ใหญ่หวั่นใจไปตามๆ กัน ทั้งที่เชื่อกันว่าเมื่อใช้ระบบราคาลอยตัวแล้ว ปตท.มีหวังตายแน่..?

ชายผู้นี้เป็นทั้งผู้ร้ายและพระเอกในสายตาของคนวงการน้ำมันที่โดดเด่นที่สุด และเป็นตัวแทนบอกความเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำมันของบ้านเรา ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะในครึ่งหลังของทศวรรษที่เริ่มมีปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดน้ำมันให้ได้เห็นกัน และระเบิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงท้ายทศวรรษอย่างดุเดือด จนแหล่งข่าวบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่กล่าวว่า "น่ากลัว"

ที่ว่าน่ากลัว คือ "มีฝีมือ ต้องยอมรับว่าถ้าพูดถึงนักการตลาดวงการน้ำมันในตอนนี้แล้วเขาเป็นคนที่เราประมาทไม่ได้"

เขาคนนี้ ก็คือ เลื่อน กฤษณกรี ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)

เพราะที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่วิพากษ์อย่างหวั่นๆ ในปีกลายว่า เผลอๆ ปีนี้ ปตท.มีสิทธิ์ขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในตลาด ก็เป็นจริงขึ้นมาแล้วตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นกว่าเมื่อ 5-10 ปีก่อนหลายเท่า

"เมื่อเราเข้าสู่ระบบราคาน้ำมันลอยตัวก่อนที่จะเข้าไปสู่ระบบธุรกิจน้ำมันเสรีเต็มที่ในอนาคตนั้น ไม่มีใครคิดว่า ปตท.จะแข่งกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่นอย่างเชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ได้ ยังไม่รวมผู้ค้าหน้าใหม่ที่เข้าประชันในตลาดน้ำมันอย่างเข้มข้น" แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ค้าเจ้าเก่ากล่าว "ตรงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าตลาดน้ำมันของไทยในรอบ 10 ปีนี้"

ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งจาก ปตท.เองถึงกับสะท้อนด้วยความแปลกใจว่าไม่คิดว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดมากขนาดนี้ ตอนแรกก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อกัน เพราะตัวเลขส่วนแบ่งครองตลาดสูงถึง 26% มาตลอด เรียกว่าเหนื่อยคุ้มกับการทุ่มเทจากความพยายามในการสลัดคราบรัฐวิสาหกิจทิ้ง แล้วกระโจนเข้าสู่การทำงานที่เป็นเอกชนมากขึ้น

ระบบราคาน้ำมันลอยตัวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้า ปตท.เป็นกลไกที่ทำงานในฐานะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลไม่ได้..!

งานนี้คงต้องยกให้เป็นผลงานยุคนายกอานันท์ ปันยารชุน แม้ว่าจะมีแผนใช้นโยบายราคาน้ำมันลอยตัวมาตั้งแต่ปลายยุคนายกเปรม ติณสูลานนท์ เรื่อยมาจนถึงยุคนายกชาติชาย ชุณหะวัณก็ตาม เพราะกล้าใช้สถานการณ์ที่ปลอดจากแรงกดดันทางการเมือง ตัดสินใจใช้นโยบายใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2534 เมื่อใช้ระบบน้ำมันราคาลอยตัว ก็กลายเป็นจุดหักเหของตลาดน้ำมันทันที..!

จากที่รัฐบาลเคยเป็นผู้คุมราคาน้ำมันขายปลีกและแทบจะไม่มีการแข่งขันกัน ตลาดน้ำมันก็เริ่มเปิดฉากคึกคักขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยอาศัยแรงการันตีจากเลื่อนนี่เอง

เป็นที่รู้กันว่า ก่อนที่ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะใช้ราคาน้ำมันลอยตัวนั้นใช้เวลาตัสินใจอยู่นาน "ที่จริง ท่านก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะถ้าประกาศใช้แล้วราคาน้ำมันไม่ลด แต่ยิ่งแพงแล้วละก็ พังแน่..ประชาชนสวดยับ เครดิตรัฐบาลอานันท์ก็หมดเหมือนกัน" แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนจะใช้ราคาลอยตัว

"ทำไปเถอะ ถ้ามีปัญหา ผมรับผิดชอบเอง" เลื่อน ซึ่งรักษาการผู้ว่า ปตท.แทนอาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าในตอนนั้นที่ไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ย้ำกับไพจิตรว่า "ปตท.ทำได้"

พอประกาศใช้ตูม ราคาหน้าปั๊มก็ลดลง ที่จริงตลาดน้ำมันโลกช่วงนั้นเป็นใจด้วย เพราะราคาถูก "พอเป็นอย่างนี้ ทุกฝ่ายก็ค่อยหน้าบาน ที่ราคาลอยลงไม่ใช่ลอยขึ้น" แหล่งข่าวจาก ปตท.ย้อนอดีตอย่างภาคภูมิ

เท่ากับเป็นการปรับโครงสร้างระบบราคาน้ำมันใหม่ จากที่รัฐบาลเคยคุมค่าการตลาดอยู่ที่ 50 สตางค์ต่อลิตรนานถึง 5-6 ปี ก็ปล่อยฟรีให้ไปกำหนดและแข่งกันเอง ขณะที่ ปตท.ต้องทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกัน คือเป็นคู่ค้าที่ต้องแข่งกับบริษัทน้ำมันอื่นๆ และเป็นเครื่องมือรัฐในการคานเรื่องราคาด้วย

ที่จริง ระบบราคาน้ำมันลอยตัวและการให้เอกชนมีบทบาทในธุรกิจน้ำมันมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2530-2534) และก่อนที่จะใช้ราคาลอยตัวทั่วประเทศ รัฐบาลกพยายามผลักดันเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2533

โดยทางบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (บางจากฯ) จับมือกับสยามนกไม้ตั้งปั๊ม "นกไม้" พร้อมกับขึ้นโลโก้บางจากเปิดขายน้ำมันใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นัยว่าเป็นการกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ด้วยการขายน้ำมันในขอนแก่นเท่ากับราคาที่กรุงเทพฯ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบพลังงานใช้บางจากฯ เป็นเครื่องมือหาเสียงในท้องถิ่น ขณะที่บางจากฯ เองก็อยากทดลองตลาดด้วยเช่นกัน

ครั้งนั้น บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะ ปตท.โดนด่าเสียงขรมว่าเอาเปรียบ และกีดขวางบางจากฯ รัฐวิสาหกิจที่บริหารด้วยรูปแบบบริษัทจำกัด เพราะกลัวว่าจะแย่งตลาด ปตท.แต่เลื่อนยืนยันความเห็นว่า "ระยะยาวแล้วไปไม่รอดแน่" ถ้าเล่นอาศัยความได้เปรียบของต้นทุนโรงกลั่นเป็นฐาน ขณะที่ยังไม่ต้องลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับปั๊ม

สุดท้าย ปั๊มนกไม้ก็เลิกกิจการไป "พอบางจากฯ ออกแบรนด์ของตัวเอง แล้วไปตัดราคา เราเป็นลูกค้าก็สู้ไม่ไหว" สมหญิง เสรีวงศ์ เจ้าของอดีตปั๊มนกไม้เล่าถึงบาดแผลที่ต้องพับโครงการปั๊มนกไม้ที่ขอนแก่น แล้วหันไปทำปั๊มหลอดและลงทุนในลาวแทน อันเป็นการยืนยันสิ่งที่เลื่อนวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ

"แม้ว่างานครั้งนั้นจะล้มเหลว เพราะบางจากฯ ไม่มีความพร้อม และทำจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ก็ตาม แต่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน หลังจากที่เกิดการปรับตัวในหลายส่วน" แหล่งข่าวระดับสูงจาก ปตท.และบางจากฯ กล่าวอย่างสอดคล้องกัน

นั่นก็คือ ช่วงปี 2530-2532 เป็นช่วงที่กระแสการลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย ขณะที่ทิศทางการแข่งขันเสรีเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ปริมาณการส่งออกของไทยสูงขึ้นเป็นเท่าทวีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่รัฐบาลยังคงคุมราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานของการผลิตอยู่ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ลดราคาน้ำมันเป็นระยะๆ

ที่สำคัญ คือ ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนี้อย่างเด่นชัด บรรดาบริษทน้ำมันข้ามชาติต่างรุกเข้ามาลงทุนเรื่องน้ำมันไทยอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่อย่างบีพี โมบิล คิว 8 นอกเหนือไปจากเจ้าเดิมที่มีอยู่แค่ ปตท.เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ เพราะต่างเล็งเห็นว่าไทยเป็นทำเลทองของการลงทุน โดยเฉพาะมีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันขยายตัวถึงกว่า 10% บางผลิตภัณฑ์เช่นดีเซลสูงถึง 18% ไม่รวมถึงอินโดจีนที่ยังเป็นตลาดที่มีอนาคตอีกไกล

ขณะเดียวกัน ภาวะน้ำมันตลาดโลกที่เคยสูงถึง 40 เหรียญต่อบาร์เรลเริ่มลดลงค่อนข้างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 20 เหรียญกว่าต่อบาร์เรล เนื่องจากกลุ่มโอเปกกลายเป็นเสือกระดาษ ที่ไม่อาจตกลงและคุมกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลเริ่มเน้นแปรรูปรัฐวิสาหกิจและให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจะเห็นได้ชัดจากกรณีที่ ปตท.แยกโรงกลั่นบางจากออกไปจัดตั้งและบริหารในรูปของบริษัทจำกัด เพื่อให้คล่องตัวและปรับตัวต่อตลาดน้ำมันโลกได้อย่างทันการณ์

แต่ด้วยอุบัติเหตุแห่งความขัดแย้งทั้งในเรื่องหลักการและบุคคลระหว่าง ปตท.กับบางจากฯ "ทำให้องค์กรของรัฐทั้ง 2 ฝ่ายนี้ประสานงานกันไม่ได้ดีนัก มิหนำซ้ำมักจะประสานงากันอยู่เนืองๆ ขณะที่ ปตท.เห็นว่าบางจากฯ ควรกลั่นอย่างเดียว แต่บางจากฯ เห็นว่าตนมีสิทธิอันชอบธรรมที่ลงสู่ตลาดค้าปลีก" แหล่งข่าวจากบางจากฯ ย้อนอดีตที่เป็นจุดปะทะของตลาดน้ำมันไทย

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ชาว ปตท.โดยทั่วไปหวั่นวิตกกันนักหนา มีเพียงเลื่อนเท่านั้นที่ย้ำความเห็นอย่างมั่นใจว่า "บางจากฯ จะทำปั๊ม ก็ไม่เห็นจะต้องไปสนใจ เพราะ ปตท.มีเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอีกมากที่สำคัญก็คือการปรับโครงสร้างภายใน

เป็นเพราะเลื่อนมีวิญญาณความเป็นนักการตลาด เขาขับเคี่ยวอยู่กับธุรกิจน้ำมันมากว่า 30 ปี..!

"..การที่เลื่อนเสนออะไรในช่วงแรก คนมักจะไม่ค่อยจะเห็นด้วย เนื่องจากต่างพื้นฐานความรู้ ขณะที่เลื่อนมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะต่อไป จนเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว ผู้คนจึงถึงบางอ้อ และเห็นด้วยว่าสิ่งที่เขาคิดนั้น มิใช่เพราะเดาสุ่มหรือคาดคะเน แต่อาศัยความช่ำชองที่มีชั่วโมงบินสูง จนมองเห็นตลาดน้ำมันได้ทะลุปรุโปร่งตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น..!"

หลายคนในวงการสะท้อนความคิดของเลื่อนที่ว่า เป็นตัวละครที่ชี้กระแสของตลาดน้ำมันได้อย่างดี ขณะที่ยักษ์น้ำมันรายใหม่เริ่มเข้ามาเบียดตลาดน้ำมันในประเทศ จนส่อแววการแข่งขันขึ้นกว่าเดิมทั้งเรื่องคุณภาพ ราคาและการให้บริการ ทำให้เจ้าเก่ายิ่งต้องโหมรุกตลาดเพิ่มขึ้น..!

เริ่มตั้งแต่ที่เชลล์พลาดท่าต้องถอน "ฟอร์มูล่าเชลล์ สูตรสปาร์ค เอดเดอร์" เบนซินพิเศษน้ำมันที่ตนครองแชมป์มาตลอดออกไป หลังจากที่แถลงข่าวข้ามโลกได้ประมาณ 4 เดือนเศษ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของเชลล์บริษัทแม่ที่ถอนกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีรถประมาณ 0.002% ของ 20 กว่าล้านคันในโลกที่มีข้อสงสัยว่าทำให้เกิดวาล์วค้าง

แล้ววันรุ่งขึ้นฟ้าก็ผ่าลงมากลางตลาดน้ำมันเล่นเอาสะท้านกันไปทั่ววงการ..! เมื่อเลื่อน ซึ่งเป็นรองผู้ว่าด้านตลาดของ ปตท.ในเวลานั้น ออก "พีทีที-ไฮ-ออคเทน ผสมเอ็นทีบีอี" แหวกลงไปในตลาดน้ำมัน

"นี่ละ..ที่บอกว่าร้าย เพราะเป็นการแสดงศักยภาพของ ปตท.ที่คนมองว่าจะไปสู้บริษัทน้ำมันต่างชาติได้ยังไง ขณะที่เลื่อน รู้จักช่วงชิงโอกาสในการปูฐานการเป็นผู้นำด้านคุณภาพในอนาคตที่เชลล์พยายามทำอยู่" แหล่งข่าวจากยักษ์น้ำมันรายหนึ่งกล่าว

เพราะการเอาเอ็มทีบีเอมาผสมนั้น เป็นการเพิ่มค่าออคเทนแทนสารตะกั่ว ซึ่งตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้กันว่าเป็นมลพิษสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ทำให้ช่วยลดสารตะกั่วไปได้ราว 7-8% ทำให้คาร์บอนมอนนอกไซค์ในอากาศลดลง และเพิ่มค่าออคเทนจาก 95 เป็น 97 อันเป็นความหมายที่ชี้ถึงการให้ความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ตอนนั้นประชาชนยังไม่ตื่นตัวกันเท่าใดนัก

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ปตท.เปิดเผยว่า "ที่จริงเราต้องการชูเรื่องลดสารตะกั่ว แต่เพราะกลัวไม่ได้ผลทางการค้า จึงชูประเด็นเรื่องออคเทน"

ด้วยความที่เลื่อนคลุกอยู่กับตลาดน้ำมันจากเอสโซ่มาก่อนประมาณ 20 ปี เมื่อมาอยู่ ปตท.ก็ทำให้รู้เขารู้เรา อันเป็นจุดได้เปรียบใช้ในการตัดสินใจบุกตลาดแต่ละครั้ง

ปรากฏการณ์ครั้งนี้เริ่มบอกความเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำมันไทย ทำให้เชลล์ซึ่งเป็นแชมป์ตลาดน้ำมันเบนซินพิเศษมาตลอดนั้น เริ่มสูญเสียส่วนครองตลาดจาก 35.6% ในปี 2530 เหลือเพียง 34.15% ในปี 2531 แม้ว่าจะแก้เกมด้วยการออก "SAP 9404" มาแทนในช่วงเดือนถัดมาก็ตาม

ขณะที่ ปตท.เริ่มได้ตลาดเบนซินพิเศษเพิ่มขึ้นจาก 19.4% ในปี 2530 มาเป็น 20.8% ในปี 2531

"นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยเวลา แม้แต่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเองเช่นกัน คงจำกันได้ตอนนั้น เลื่อนถูกโจมตีทุกวัน กว่าสื่อมวลชนจะเข้าใจก็ต้องทำความเข้าใจกันอยู่นาน" แหล่งข่าวที่รู้เรื่อง ปตท.และบางจากฯ ดีสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในอดีต

"เพราะตอนนั้น ปตท.กับบางจากฯ ขัดแย้งกันสูง เป็นช่วงที่ ปตท.ถูกโจมตีหนักว่าเป็นรัฐวิสาหกิจเลยอุ้ยอ้าย เช้าชามเย็นชาม ขณะที่บางจากฯ กลับเป็นภาพตัวอย่างของบริษัทน้ำมันที่ดีอันสอดคล้องกับแผน 6 ที่พยายามให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจน้ำมันมากขึ้น และเป็นดุจเนื้อหอมที่ราชการชื่นชมอย่างถ้วนหน้า"

จากนั้น ปตท.ก็ออก "โลว์ สโมค ไฮ-สปีด ทูที" ในปลายปี 2533 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยลดควันขาวในรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะที่เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ขณะที่รัฐบาลยังไม่อาจกำหนดให้ใช้เฉพาะรถ 4 จังหวะที่เผาไหม้ได้สมบูรณ์

เลื่อนเดินหน้าลูกเดียว "เพราะความที่อยู่บริษัทน้ำมันต่างชาตินับ 20 ปี เมื่อมาอยู่ ปตท.คิดค้นอะไรได้ก็คงอยากจะทำ เพราะถ้ามีการเริ่มต้น คู่แข่งรายอื่นก็ต้องเคลื่อนไหวด้านตลาดในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย" แหล่งข่าวจากบริษัทน้ำมันเจ้าเก่าเล่าถึงความไฟแรงของเลื่อน

ขณะที่เลื่อนเคยพูดว่า "น้ำมันที่เราใช้อยู่ในเมืองไทย เมืองอื่นเขาไม่ใช้กันหรอก" เขาหมายถึง น้ำมันเบนซินที่เต็มไปด้วยสารตะกั่วและดีเซลที่มากไปด้วยกำมะถัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น

อันที่จริง เลื่อนย้ำมาหลายปีว่า ปตท.เป็นผู้นำด้านคุณภาพและบริการ แต่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นจริง ด้วยภาพของความเป็นรัฐวิสาหกิจที่มักจะถูกมองว่าด้อยประสิทธิภาพนั่นเอง

แต่เลื่อนก็คิดแบบนักการตลาดว่า ไม่มีใครได้หรือเสีย 100% บนความเสียเปรียบก็มีความได้เปรียบ..!

บริษัทน้ำมันต่างชาติอาจจะดูอินเตอร์ น่าเชื่อถือตามค่านิยมที่มีมาแต่เดิม แต่ขบวนการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับบริษัทแม่มาก ขณะที่รัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.ติดระเบียบหยุมหยิม แต่มีข้อยกเว้นให้ผู้บริหารตัดสินใจได้เองอย่างรวดเร็ว

จะว่าเชลล์พยายามปลุกกระแส และเปิดให้พนักงานทดลองใช้น้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว (ยูแอลจี) ตามแนวโน้มนโยบายของรัฐ ที่เน้นการลดสารตะกั่วในเบนซินเพื่อรักษาและแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นนั้น เชลล์จะเป็นผู้นำน้ำมันมีคุณภาพโดยเฉพาะยูแอลจีเป็นรายแรก

เลื่อนไม่สนใจว่าเชลล์จะเริ่มก่อนไปกี่เดือนแต่ ปตท.ชิงขายก่อนและรับภาระราคายูแอลจีที่แพงกว่าเบนซินพิเศษปกติประมาณ 80 สตางค์ต่อลิตร ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้ลดภาษีนำเข้ายูแอลจี ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีและส่งผลให้ ปตท.เก็บคะแนนนำไปก่อน

นี่ละที่เลื่อน รักษาการผู้ว่า ปตท.ขณะนั้นย้ำกับบรรดาชาวปั๊ม ปตท.ที่ภูเก็ตซึ่งเป็นภูมิภาคแห่งแรกที่เปิดขายยูแอลจีว่า "เราเป็นคนขายยูแอลจีแห่งแรก นั่นหมายถึงเราทุกคนเป็นผู้นำในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน"

"เป็นการตีกลับเชลล์ที่มัวลองตลาดอยู่นาน แต่กำหนดเวลาขายที่แน่นอนไม่ได้สักที" แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งกล่าวถึงการยุทธ์ของค่ายเชลล์และ ปตท."จนคนในเชลล์และเอสโซ่ต้องคอยจับตาว่าเลื่อนจะมีลูกเล่นอะไรออกมาอีก"

แม้ ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดูจะเสียเปรียบ แต่เลื่อนยันว่า "ปตท.จะต้องแข่งกับยักษ์น้ำมันต่างชาติได้อย่างไม่น้อยหน้า" เพราะไม่มีอะไรที่นักการตลาดจะทำไม่ได้

ภาพของการช่วงชิงความเป็นหนึ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นแรงผลักจากระบบการค้าเสรีของตลาดโลกและทุนที่หลั่งไหลสู่ไทยมากขึ้น เมื่อมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา นั่นหมายถึงเจ้าเก่าบางรายจะต้องเสียส่วนครองตลาดไปให้รายใหม่ในไม่ช้า

เมื่อเกิดการแข่งขัน ผู้บริโภคย่อมได้ประโยชน์..!

เมื่อเกิดวิกฤติอ่าวเปอร์เซียเมื่อสิงหาคม 2533 แม้ยังไม่ใช้ราคาลอยตัว แต่มีผู้ค้าน้ำมันมากรายขึ้น "แต่ละบริษัทก็ต้องตะเกียกตะกายหาน้ำมันมาขาย ตอนนั้นขืนใครตัดน้ำมัน ไม่นำเข้ามาขาย ก็ถูกแย่งตลาดแน่ ตอนนั้นเราจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำมันขาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัด และ ปตท.ก็ได้กระจายแหล่งซื้อน้ำมันได้มากขึ้น"

"ปตท.เริ่มมีอิทธิพลในตลาด โดยมีกลไกตลาดเป็นตัวควบคุม เพราะถ้าน้ำมันขาด ปตท.ก็ดั๊มรายอื่นต้องนำเข้า ขณะที่ทุกรายก็ต้องพยายามขายให้ได้มากเข้าไว้ อยู่ที่ว่าใครจะช่วงชิงโอกาสได้มากกว่ากัน นี่เป็นผลเริ่มต้นที่มีการแข่งขัน" แหล่งข่าววิเคราะห์ถึงผลดีที่เกิดขึ้น

ขณะที่เลื่อนเห็นช่องว่างตลาดตรงนี้ชัดเจน ผนึกกับค่านิยมที่ว่า เมื่อก่อนคนจะไม่ค่อยเติมน้ำมัน ปตท.เพราะฉะนั้น "เราต้องพิสูจน์คุณภาพก่อน แต่ก่อนที่คนไม่ใช้เพราะของไทยไม่พยายามทำให้ดี ถ้าดีแล้ว เชื่อว่าคนต้องใช้ของไทยแน่"

"เขาได้ใช้เอาความคิดนี้แปรสภาพไปสู่การปฏิบัติเป็นฉากๆ เหมือนนักการตลาดที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริง มันเหมือนกับการสะสมภาพพจน์ดีๆ อย่างเงียบๆ โดยอาศัยความกล้าตัดสินใจที่จะทำให้ ปตท.ทัดเทียมคู่แข่งและเป็นเครื่องมือของรัฐพร้อมกันไป" แหล่งข่าวอธิบายถึงความพยายามที่เลื่อนจะผลักดันให้ ปตท.ทำงานแบบเอกชนได้มากขึ้นด้วย

แล้วก็มาถึงคราวที่ ปตท.ประกาศพร้อมเป็นกลไกในการใช้ระบบน้ำมันราคาลอยตัวเมื่อพฤษภาคม 2534 ปตท.ตีตื้นได้ภาพพจน์ที่ดีขึ้นอย่างมาก..!

จากจุดเปลี่ยนนี้ ทุกค่ายพร้อมที่จะใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อรักษาส่วนครองตลาดเดิมไว้ให้ได้ ซึ่งต่างก็ยอมรับว่าเป็นงานที่ยากขึ้น ยังมีผู้ค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาอีกไม่น้อย เพราะเป็นบรรยากาศที่สนับสนุนให้แข่งกันเองเต็มที่ ไม่ถูกจำกัดค่าการตลาดอย่างเก่า คนก็สนใจลงทุนธุรกิจปั๊มน้ำมันยิ่งกว่าเดิม

ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจะเปลี่ยนไปตามราคาหน้าโรงกลั่นที่อิงราคาตลาดโลกทุกสัปดาห์ แทนที่จะรอรัฐบาลประกาศให้เปลี่ยนเมื่อต้องการให้ขึ้นหรือลงตามแรงกดดันทางการเมือง ทำให้ราคาน้ำมันเป็นไปโดยกลไกตลาด และปลอดจากการแทรกแซงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากปัจจัยภายนอกที่หนุนให้มีการค้าเสรีและแข่งขันกันแล้ว นโยบายของรัฐบาลที่พยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่าง ปตท.ที่ใช้เวลานานถึง 4 ปีในยุคที่อาณัติ อาภาภิรมเป็นผู้ว่าอยู่ เพื่อจัดโครงสร้างเป็นหน่วยธุรกิจ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจแต่ละประเภท คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และหน่วยบริการกลางนั้นก็เริ่มเป็นจริงในยุคของอานันท์ 1

โดยให้ลูกหม้อเก่าแก่อย่างเลื่อน ขึ้นมาเป็นผู้ว่าและอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนให้ทัดเทียมกับคู่แข่งได้เอง เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจแก่พนักงานและส่งเสริมให้อยู่ในฐานะที่จะแข่งได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งแต่ละหน่วยธุรกิจจะมีอำนาจรับผิดชอบการบริหารในหน่วยนั้นๆ ได้เอง เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจน้ำมันนั้นจะเป็นงานที่หนักที่สุด เพราะแข่งขันรุนแรง

ทุกค่ายจึงเตรียมตัวและได้ปรับขบวนกันถ้วนหน้า..!

เมื่อรู้ว่าหลังใช้ราคาลอยตัวช่วงกลางปี 2534 ตลาดน้ำมันดุเดือดแน่ เลื่อนไม่รอช้าที่จะดึงประเสริฐ บุญสัมพันธ์ จากฝ่ายจัดหาน้ำมันขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าด้านการตลาด และเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจน้ำมันด้านตลาด เมื่อปรับโครงสร้างเป็นหน่วยธุรกิจ รองจากพละ สุขเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ว่าที่ผู้ว่า ปตท.ในอนาคต

เลื่อนเชื่อว่า จากพื้นฐานด้านวิศวะและประสบการณ์การจัดหาน้ำมันที่ประเสริฐมีอยู่ ผนวกกับเป็นคนมีโลกทัศน์กว้าง และเมื่อได้รับการขับเคี่ยวอย่างใกล้ชิดจากเลื่อนแล้ว เขาจะเป็นแกนสำคัญคนหนึ่งของทีม ปตท.

โดยเฉพาะคนๆ เดียวมีความเข้าใจเรื่องจัดหาและตลาดน้ำมันพร้อมกัน ย่อมจะช่วยให้มองตลาดได้รอบด้าน และเห็นถึงแหล่งที่มาที่ไปของน้ำมันได้ดีว่าควรจะเป็นอย่างไร

ด้านเชลล์ซึ่งครบ 100 ปีเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้แต่งตั้งให้ศิริทัศน์ มนูประเสริฐ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ นับเป็นคนไทยคนที่สองถัดจาก ม.ร.ว.สฤษดิคุณ กิติยากรที่ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของเชลล์

ทั้งยังให้ธำรง ตยางคนนท์ ที่เคยดูแลด้านการตลาด ก็ให้รับผิดชอบด้านการจัดหาควบคู่กันไป ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้เชลล์คล่องตัวในการจัดหาผลิตภัณฑ์คุณภาพ เพื่อสนองตลาดน้ำมันได้ดีและแข่งขันได้ดีกว่า เพราะคิดว่า "ไม่มีใครรู้ใจคนไทยเท่าคนไทย"

ปีที่แล้วจึงเป็นเหมือนการอุ่นเครื่อง เพราะทุกค่ายกำลังปรับตัว แต่แค่การปรับตัวก็พลิกโฉมตลาดน้ำมันไทยไปไม่น้อย เจ้าเก่าที่เฉือนกันดุเดือดกลายเป็นเชลล์กับ ปตท.มิใช่ระหว่างเชลล์กับเอสโซ่อย่างแต่ก่อน..!

ปีก่อนทุกค่ายโหมโฆษณาอย่างเผ็ดมัน ลดแจกแถมกันถึงพริกถึงขิง เชลล์ซึ่งเน้นขายยูแอลจีและนิยามกลุ่มลูกค้าของตนว่า สินค้าดีต้องมีราคาแพง บางช่วงราคาน้ำมันจึงสูงกว่าปั๊มเจ้าอื่น ดังที่ศิริทัศน์กล่าวว่า

"เรื่องราคาจำเป็นในบางพื้นที่ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ" เชลล์เน้นลูกค้าระดับเอบวกถึงบีบวก

ขณะที่ ปตท.ตอกย้ำว่า สินค้าดีไม่จำเป็นต้องแพง ดังนั้น ปตท.จะขายของดีราคาถูก ส่วนเอสโซ่นั้นมองว่าแม้ยอดขายจะลดลงบ้างก็ไม่เป็นไร เมื่อผลตอบแทนดี

เชลล์ยังเป็นแชมป์ด้วยสัดส่วน 25.8% ตามด้วย ปตท.25.1% และเอสโซ่เป็นที่ 3 ด้วยระดับ 24.9%

ส่วนคาลเท็กซ์เสียงเชิงไปตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ "เพราะผู้บริหารวางแผนผิดพลาดและมัวแต่เล่นการเมือง" แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งวิพากษ์สุขวิช รังสิตพล อดีตผู้จัดการใหญ่ของคาลเท็กซ์ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทแม่ต้องส่ง ANTON WATKIN มาคุมเชิงจนขึ้นมาแทนที่เมื่อสุขวิชไปนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

นั่นก็คือ คาลเท็กซ์ ซึ่งเคยครองตลาดเป็นที่ 3 โดยมี ปตท.รั้งท้าย ก็โดน ปตท.แซงหน้าขึ้นมา เมื่อตามมาเป็นที่ 4 ส่วนแบ่งตลาดที่เคยอยู่ระดับ 15% กว่าได้ลดลงเหลือเพียง 11.3% ในปีที่ผ่านมา

ปีนี้ ปตท.พุ่งขึ้นมาครองที่ 1 ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ประมาณ 26% ต่อเดือน มีเดือนกรกฎาคมที่สูงถึง 27.4% ทิ้งห่างเชลล์และเอสโซ่ที่อยู่ในระดับ 22-23% จน ปตท.ถูกรายอื่นวิจารณ์ว่าที่ขายได้มากและขึ้นมาเป็นแชมป์เพราะความได้เปรียบที่เป็นองค์กรของรัฐ

นี่ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นของคนไทยก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุด "ต้องยอมรับว่าน้ำมันที่เราขายมีคุณภาพชั้นนำ คนซื้อเพราะคุณภาพ" เลื่อนย้ำถึงจุดขายเมื่อผนวกกับราคาที่ถูกกว่ารายอื่น ประมาณ 3-17 สตางค์ต่อลิตรแล้วแต่ผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งช่วยเสริมการขายเพิ่มขึ้น

"จะเห็นว่า เมื่อก่อนเราขายได้น้อย แต่เพราะเราพัฒนาคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ส่วนครองตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี (โดยไม่รวมน้ำมันเตา)" แหล่งข่าวจาก ปตท.อีกรายหนึ่งกล่าว

ภาพลักษณ์ ปตท.ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเสียเปรียบผู้ค้ารายอื่นอย่างมากในอดีต เมื่อเปิดเสรีตลาดน้ำมันค้าปลีกแล้ว ได้กลับมาเป็นข้อได้เปรียบที่เลื่อนเคยวิเคราะห์ไว้ อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลื่อนมั่นใจว่า ปตท.จะเป็นกลไกที่นำเรื่องราคาลอยตัวได้

ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทุกค่ายจะมุ่งตลาดกรุงเทพฯ และรอบปริมณฑลเป็นหลัก ตลาดน้ำมันกรุงเทพฯ และภาคกลางคิดเป็น 40% และตลาดต่างจังหวัดคิดเป็น 60% ของทั่วประเทศ

โดยเฉพาะเชลล์มีปั๊มในกรุงเทพฯ มากที่สุด ขณะที่ ปตท.มีปั๊มในกรุงเทพฯ น้อยที่สุด แต่จะมีปั๊มทั่วประเทศมากที่สุดประมาณ 1,200 แห่ง ส่วนใหญ่กระจายอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งเดิมขยายตัวน้อยทำให้ปั๊ม ปตท.เกิดจุดอ่อนในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ต้องการให้ ปตท.ลงทุน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้ ปตท.ลงทุนปั๊มน้ำมันเองได้มากขึ้น พร้อมกับปรับโฉมหน้าปั๊มทั่วประเทศไล่แข่งค่ายอื่นได้อย่างถึงพริกถึงขิง

ขณะเดียวกัน เลื่อนมองว่าฐานตลาดน้ำมันต่างจังหวัดยังเล็ก มีโอกาสโตมาก เมื่อเปิดเสรีเรื่องราคา ทำให้ ปตท.กลายเป็นแชมป์ตลาดน้ำมันทั่วประเทศ แม้ว่าจะแพ้ในตลาดกรุงเทพฯ ก็ตาม

นอกจากนี้ตลาดน้ำมันที่ทวีการแข่งขันสูงขึ้น ยังทำให้เกิดพันธมิตรทางการค้าขึ้นด้วย จากเดิมที่มีเชลล์ ปตท.เอสโซ่และคาลเท็กซ์ ซึ่งต่างคนต่างขายภายใต้นโยบายควบคุมราคาของรัฐบาล แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง..!

ไม่ว่าจะเป็นบางจากฯ ซึ่งลงตลาดค้าปลีกก็เป็นพันธมิตรในการขายส่งน้ำมันให้บีพี คิว 8 นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดน้ำมันไทย หรือรับจ้างเอสโซ่กลั่นน้ำมัน

พร้อมกันนั้น ก็ยังมีการโยกบุคลากรข้ามข่ายกันอย่างเด่นชัด จากเดิมที่ 3 ค่ายบริษัทน้ำมัน เชลล์ เอสโซ่และคาลเท็กซ์ มีข้อตกลงกันกลายๆ ว่าจะไม่แย่งตัวซึ่งกันและกัน หมายความว่าใครที่ออกจากบริษัทหนึ่งใน 3 ค่ายนี้ก็เป็นอันหลุดโคจรตรงนี้ไปเลย

ต่างกับปัจจุบัน เมื่อตลาดน้ำมันโตวันโตคืน ความต้องการกำลังคนมากขึ้น มีการโยกบริษัทเจ้าเก่าไปอยู่บริษัทน้ำมันใหม่ๆ ใครที่เกษียณก็จะได้รับการทาบทามไปอยู่บริษัทใหม่ เช่น ประยูร คงคาทอง ผู้จัดการฝ่ายตลาดของเอสโซ่ เมื่อเกษียณก็ไปช่วยบริหารที่สยามสหบริการก่อนที่จะลาออกไป เป็นต้น

"ทำให้แต่ละบริษัทพยายามปรับโครงสร้างและสวัสดิการอะไรต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและรักษาคนเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าคนของตนไปอยู่บริษัทอื่น นั่นหมายถึงข้อมูลและการยุทธ์ที่จะรั่วไหลออกไปด้วย" หลายฝ่ายในวงการตั้งข้อสังเกต

เพราะถ้าใครเพลี่ยงพล้ำต้องเสียกำลังสำคัญไป ย่อมหมายถึงอนาคตของผู้ค้าแต่ละรายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดไทยเท่านั้น แต่หมายถึงตลาดต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอินโดจีนหรือจีน แนวโน้มตลาดน้ำมันใหม่ของกลุ่มผู้ค้าต่างๆ ทำให้เกิดพันธมิตรในตลาดนอกด้วยพร้อมกันไป

สัญญาณเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวบอกแนวโน้มใหม่ของตลาดน้ำมันที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ค่อนข้างชัดเจน..!

จุดเน้นเรื่องคุณภาพน้ำมันเพื่อสิ่งแวดล้อมยังคงจะเป็นจุดขายที่สำคัญต่อไป รวมถึงการให้บริการที่จะเป็นศูนย์บริการเสร็จสรรพในรูปของมินิมาร์ท หรือคอนวีเนียนสโตร์ที่แต่ละค่ายกำลังทำอยู่ รวมถึงปั๊มน้ำมันที่ให้บริการตัวเองหรือการสร้างความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกับกลุ่มผู้ค้าอื่น เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น พีทีทีมินิมาร์ท เป็นต้น

"ต่อไปคุณภาพจะแข่งขันหนักและมีจุดเพิ่มความสำคัญคือเรื่องราคา และการบริการ ดังนั้นแต่ละรายคงต้องหาทางลดต้นทุนเพื่อขายน้ำมันคุณภาพดีราคาถูก" เลื่อนชี้ถึงภาพตลาดน้ำมันที่จะเกิดขึ้น

ถ้าแยกมองตลาดกรุงเทพฯ เชื่อกันว่า ต่อไปเรื่องแบรนด์จะมีความหมายน้อยลงเรื่อยๆ เพราะปัญหาจราจรที่ติดขัดมากขึ้น และเมื่อแต่ละค่ายมุ่งผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพสูง ผู้ใช้อาจเลือกเติมจากปั๊มใดปั๊มหนึ่งก็ได้ที่สะดวก และมีแนวโน้มว่าปั๊มน้ำมันจะย้ายทำเลจากริมถนนใหญ่เหมือนทุกวันนี้ ไปบริการตามซอยตามหมู่บ้าน ส่วนตลาดต่างจังหวัด ความภักดีต่อยี่ห้อนั้นๆ จะยังสูงในช่วง 10 ปีข้างหน้า

สำหรับน้ำมันเบนซิน ตัวยูแอลจีจะเป็นตลาดที่สอดคล้องกับการขยายตัวของรถยนต์ และกฎใหม่ที่กำหนดให้ตั้งเครื่องกรองไอเสียสำหรับรถใหม่มากยิ่งขึ้น

"แต่เรื่องค่าออคเทนจะเริ่มอิ่มตัว ที่รัฐกำหนดไว้แค่ 95 ตอนนี้เล่นกันไปถึง 97-98 ช่องทางที่จะเล่นกันมากสำหรับเบนซินน่าจะเป็นการเติมสารแอดดิทีฟ เช่น สารเพิ่มออกซิเจน สารชะล้างลดคราบเขม่า เป็นต้น" แหล่งข่าวจากยักษ์น้ำมันเจ้าเก่าอธิบายถึงจุดขายของเบนซินพิเศษในอนาคต

ส่วนดีเซล ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคขนส่งกว่า 50% นั้น ต่อไปจะเห็นการแปรโฉมด้านสเปกและคุณภาพที่ป้องกันมลพิษมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเจาะตลาดด้วยวิธีขายตรงบริการถึงที่

เช่น เชลล์ได้จีบค่ายโค้กและเป๊ปซี่ให้เป็นลูกค้าประจำ โดยติดตั้งและจ่ายน้ำมันให้ถึงอู่ ต่อไปคงจะเป็นการเจาะกลุ่มรถเมล์และรถโดยสารต่างจังหวัด

ตลาดน้ำมันของแต่ละค่ายจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ แต่จะหมายถึงภูมิภาคนี้ที่แต่ละฝ่ายเริ่มรุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว..!

ปตท.ดูจะรุกหนักในการก้าวไปสู่อินเตอร์ตามโลโก้ใหม่ว่า "พีทีที" แทนคำว่า ปตท.อย่างเก่าเข้าไปยังตลาดลาว เวียดนามกัมพูชา กำลังเตรียมแผนเปิดตลาดค้าปลีกกับไซโนเปค ซีพีเพื่อเปิดขายน้ำมันยี่ห้อใหม่ การร่วมทุนตั้งโรงกลั่นในจีน เป็นต้น

ขณะที่จีนและอินโดนีเซีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ในเอเชียจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียมากกว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ในภูมิภาคนี้ แหล่งสำรองในเอเชียสนองดีมานด์ภูมิภาคนี้ได้ประมาณ 44% ที่เหลือยังนำเข้าจากตะวันออกกลาง และช่วงสิ้นทศวรรษนี้ การใช้น้ำมันแถบนี้ในปัจจุบันจาก 13.8 ล้านบาร์เรลต่อวันจะเพิ่มเป็นประมาณ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน

โดยเฉพาะการที่ยักษ์น้ำมันเชลล์ โมบิล เอสโซ่ มีแผนลงทุนในสิงคโปร์ หรือแม้แต่บีพีที่ขาดทุนอยู่ก็กำลังทุ่มสร้างโรงกลั่นที่สิงคโปร์ ขณะที่แนวโน้มธุรกิจน้ำมันในซีกโลกตะวันตกกำลังลดลงและชะงักงัน นับเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงการย้ายฐานธุรกิจน้ำมันมาสู่เอเชียอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

ยิ่งเมื่อรัฐบาลจะเปิดใช้นโยบายโรงกลั่นเสรีในปี 2543 เชื่อแน่ว่าจะยิ่งทำให้ตลาดน้ำมันเข้มข้นเป็นเท่าทวี และภายใน 10 ปีนี้จำนวนปั๊มที่มีอยู่ร่วม 4,000 แห่งจะเพิ่มเป็นหมื่นแห่งทั่วประเทศ

"คงเฉือนกันมันหยด ถึงตอนนั้นก็จะพิสูจน์เองว่าใครแน่จริงก็อยู่ได้ ส่วนใครที่ไม่แน่จริงก็ต้องพับไป กลไกตลาดจะเป็นตัวจัดความสมดุลให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันโดยปริยาย" แหล่งข่าวจาก ปตท.และบริษัทรายอื่นกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน

"ประการสำคัญ นักการเมืองที่ขึ้นมาบริหารประเทศ ไม่ควรย้อนคิดกลับไปใช้นโยบายคุมราคาอย่างเก่าดังที่เป็นข่าว ความจริงไม่ต้องกลัวว่าบริษัทน้ำมันจะขาดทุน เพราะกลไกตลาดจะเป็นตัววัดประสิทธิภาพขององค์กรนั้นเองว่าเป็นอย่างไร ปตท.เองก็ยังต้องแตกตัวออกไปในรูปของบริษัทเพื่อความคล่องตัวยิ่งขึ้น และเชื่อว่าถ้าพัฒนาไปในทิศทางนี้แล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แล้ว บทบาท ปตท.ก็จะคอยลดลงด้วย" แหล่งข่าวระดับสูงซึ่งรู้จักปตท.และบางจากฯ ดีกล่าวถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ณ วันนี้ ความฝันของเลื่อนเริ่มเป็นจริงเมื่อ ปตท.ขึ้นมาเป็นที่หนึ่ง แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่าการเป็นแชมป์..!

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ปตท.จะมีกลยุทธ์รักษาแชมป์ไว้ได้นานเท่าใด…?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us