แหล่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาตินั้นคือ สินทรัพย์ที่สำคัญของธุรกิจสำรวจและผลิตอย่าง
ปตท.สผ. ความเติบโตของบริษัทขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของสินทรัพย์ตัวนี้ในปัจจุบัน
แหล่งผลิตที่มีการขุดเจาะนำน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์
และที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของ ปตท.สผ. มีอยู่ด้วยกัน 9 โครงการคือ
โครงการเอส 1
นับเป็นโครงการแรกของ ปตท.สผ. โดยร่วมทุนกับไทยเชลล์เอ็กซพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น
เมื่อปลายปี 2528 ในสัดส่วน 25% บริเวณพื้นที่ 5 จังหวัดภาคกลางตอนบน ซึ่งมีแหล่งสำคัญคือลานกระบือ
ในการร่วมทุนนั้น ปตท.สผ. ไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ไทยเชลล์ได้จ่ายไปก่อนหน้าแล้ว
ปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันดิบอัตราเฉลี่ยวันละ 22,070 บาร์เรล ก๊าซธรรมชาติอัตราเฉลี่ย
51 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจาะสำรวจเพิ่มเติมเพื่อหาแหล่งปิโตรเลียมต่อไป
โครงการอี 5
ปตท.สผ. เป็นตัวแทนรัฐบาลในการร่วมลงทุน 20% กับบริษัทเอสโซ่เอ็กซพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น
โครราชอิงค์ บริเวณพื้นที่ อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น เมื่อปี 2533 ปัจจุบันระดับการผลิตประมาณ
60-65 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คาดว่าในปี 2538 จะมีการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม
เพื่อรักษาระดับการผลิตเดิม
โครงการยูโนแคล 3
อยู่บริเวณอ่าวไทยนอกชายฝั่งทะเล จ. สุราษฎร์ธานี ปตท.สผ. ต้องจ่ายเงินค่าได้สิทธิสัมปทาน
5% ให้กับยูโนแคลไทยแลนด์และมิตซุยออยล์เอ็กซพลอเรชั่นเบื้องต้นประมาณ 384
ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการร่วมทุนจากการเจรจาปกติทางการค้า มิใช่ตามสิทธิพิเศษเหมือนกับ
2 โครงการแรก
ปัจจุบันเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีก 22 หลุมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอัตราเฉลี่ย
195 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และคอนเดนเสท 9,000 บาร์เรล/วัน
โครงการบงกช
ปตท.สผ. ร่วมทุนกับบริษัทโทเทลเอ็กซพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น บริษัทบีจีไทยแลนด์
บริษัทสแต็ทออยล์ (ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนทั้ง 3 รายนี้ต้องจ่ายเงินในการเข้าถือสิทธิสัมปทานในสัดส่วน
60% แก่ ปตท.สผ. เป็นเงิน 1,554 ล้านบาท ในระยะแรกโทเทลจะเป็นผู้ดำเนินการเอง
หลังจากนั้น ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในปี 2541
สัมปทานแหล่งนี้เคยเป็นของบริษัทเท็กซัสแปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด รัฐบาลไทยได้ให้
ปตท.สผ. ขอซื้อกลับมาเมื่อ 12 กรกฎาคม 2531
แหล่งนี้เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทเมื่อกลางปีที่แล้วนี้เอง ทาง
ปตท.สผ. มีแผนจะเพิ่มระดับการผลิตที่ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในต้นปี 2539
ภายหลังจากที่ได้ลงทุนในส่วนขยายของโครงการแล้ว เนื่องจากพบว่าที่แหล่งนี้มีอัตราไหลของก๊าซธรรมชาติสูงกว่าที่คาดไว้
และมีค่า HEATING VALUE สูงกว่าที่ประมาณไว้
โครงการพีทีทีอีพี 1
เป็นโครงการแรกที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการเอง (OPERATOR) โดยเริ่มดำเนินการเมื่อกลางปีที่ผ่านมาเช่นกัน
แปลงนี้ ปตท.สผ. ซื้อกิจการมาจากบีพีเอ็กซพลอเรชั่นโอเปอเรติ้ง (ประเทศไทย)
ซึ่งค้นพบน้ำมันดิบที่ จ. สุพรรณบุรีและนครปฐม น้ำมันดิบที่ผลิตได้มีจำนวนไม่มากนัก
เฉลี่ยไม่เกิน 1,000 บาร์เรล/วัน
โครงการบี 12/27
อยู่ห่างจากชายฝั่ง จ. นครศรีธรรมราช 200 กม. ปตท.สผ. ซื้อสิทธิสัมปทานจากบีพี
(45%) เมื่อกลางปีที่แล้วอีกเช่นกัน และได้ให้ยูโนแคลเป็นผู้ดำเนินการ เท่าที่ผ่านมาสำรวจไปแล้ว
11 หลุม พบน้ำมันดิบ 2 หลุม ก๊าซธรรมชาติ 7 หลุม
โครงการบี 5/27
เป็นแหล่งน้ำมันดิบขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทย จ. ประจวบคีรีขันธ์ ที่ ปตท.สผ.
ถือหุ้นครึ่งหนึ่งร่วมกับบีจีไทยแลนด์ (บริติชก๊าซ) เมื่อปลายปี 2533 ในระยะต้นได้มอบหมายให้บริติชก๊าซเป็นผู้ดำเนินการ
จากนั้น ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการเองในภายหลังเมื่อมีการผลิตแล้ว
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา หุ้นส่วนทั้งสองได้รับข้อมูลธรณีวิทยา และธรณีฟิสิกส์
ตลอดจนวิศวกรรมปิโตรเลียมเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการขยายเวลาขั้นตอนการสำรวจเพื่อวางแผนต่อไป
โครงการลำปาง-แพร่
เป็นพื้นที่ของกรมการพลังงานทหาร ซึ่ง ปตท.สผ. ได้เข้าสำรวจเมื่อปี 2536
โดยลงทุนเองทั้งหมด หากค้นพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์และกำหนดพื้นที่ผลิตแล้ว
กระทรวงกลาโหมทีสิทธิจะร่วมทุน 20%
โครงการ JDA
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจก่อตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงผลประโยชน์ในพื้นที่
JDA นี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 และเมื่อปี 2534 รัฐบาลทั้งสองได้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
(MTJA) ซึ่งมี ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นประธาน และจารุอุดม เรืองสุวรรณ
อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
พื้นที่ JDA มีศักยภาพทางปิโตรเลียมค่อนข้างสูง บริษัทเท็กซัสแปซิฟิคเจ้าของสัมปทานเก่าเคยขุดหลุมสำรวจในแปลง
บี-17 1 หลุมและพบก๊าซธรรมชาติแล้ว นอกจากนี้พื้นที่ทางเหนือยังเชื่อมติดกับแหล่งบงกช
ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทย
บริษัทร่วมทุนของบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนลและบริษัทปิโตรนาสคาริกาลี
ซึ่งถือหุ้นฝ่ายละ 50% จะเป็นผู้ดำเนินการในแปลงสัมปทาน A-18 ขนาดพื้นที่
3,000 ตร. กม. บริษัทไตรตันออยล์แห่งประเทศไทยกับบริษัทปิโตรนาสคาริกาลี
(ถือหุ้นบริษัทละ 50%) เป็นผู้มีสิทธิสัมปทาน
ผลตอบแทนจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะออกมาในรูปสัญญาแบ่งผลผลิต (PRODUCTION
SHARING CONTRACT) ซึ่งบริษัททั้งสองฝ่ายลงนามกับ MTJA เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ครั้งที่นายกฯ ชวนเดินทางไปเยือนมาเลเซีย