บลจ.แอสเซท พลัส ตั้งเป้าไตรมาสแรกปี 48 คลอดกองทุนใหม่ 4 กอง เน้นProduct ที่นักลงทุนให้ความสนใจ ระบุกองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้นลูกค้าเรียกร้องเข้ามามากแต่ยังอยู่ระหว่างขออนุมัติจากก.ล.ต. ส่วนกองทุนต่างประเทศรอข้อสรุปจากก.ล.ต.เช่นกัน รอจังหวะเหมาะสมหากพร้อมเมื่อไรออกกองทุนใหม่ทันที
นางสาวบุษเรศ หยุ่นนิยม ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) แอสเซทพลัส จำกัด ASP เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 ทางบลจ.แอสเซท พลัส มีแผนที่จะออกกองทุนใหม่ๆ อีกประมาณ 4 กองทุน โดยกองทุนที่มีความน่าสนใจที่จะออกเสนอขายแก่นักลงทุนคือกองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้น (Capital Protection Fund) ซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทั้งนี้ กองทุนประเภทดังกล่าวจะลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 90% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน ส่วนสินทรัพย์ที่เหลืออีก 10% นั้น เสมือนนำไปลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 50 บริษัท (SET50) และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) ของกลุ่ม SET50 ด้วย ซึ่งการลงทุนใน SET50 จะสามารถให้ผลตอบแทนได้สูงสุดถึงประมาณ 75% โดยเป็นกองทุนปิดอายุ 2 ปี และมีความเสี่ยงในการลงทุนค่อนข้างต่ำ
"กองทุนนี้อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติจากก.ล.ต. ซึ่งเป็นกองทุนที่คุ้มครองเงินต้นให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน 95% โดยผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้จะมีโอกาสขาดทุนจากกองทุนนี้ไม่เกิน 5% แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงถึง 75% จากผลตอบแทนของ SET 50 ทั้งนี้ กองทุนนี้ได้รับการสอบถามจากลูกค้าของบริษัทว่าจะเปิดขายเมื่อไร ทั้งลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคล" นางสาวบุษเรศ กล่าว
นางสาวบุษเรศกล่าวว่า แอสเซทพลัสมีความสนใจที่จะจัดตั้งกองทุนประเภทที่นำเม็ดเงินไปลงทุนยังต่างประเทศ (FIF) โดยในขณะนี้ได้รอผลการอนุมัติหลักการจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ส่วนจะออกกองทุนเมื่อไรต้องรอดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการไปลงทุน ทั้งเรื่องภาวะตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนการเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดนั้น ทางบลจ.แอสเซทพลัสต้องดูความเหมาะสมของภาวะตลาดในจังหวะเวลานั้นด้วย โดยอาจจะพิจารณาลงทุนทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจเข้าไปลงทุนทั้งสองรูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ณ ขณะนั้น รวมทั้งจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะถ้าหากได้ผลตอบแทนจากสกุลเงินต่างประเทศมากแต่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็อาจทำให้ผลตอบแทนนั้นลดลงหรือขาดทุนก็ได้
"หากเข้าไปลงทุนในตราสารต่างประเทศ แอสเซทพลัสคงลงทุนในระยะยาว ทั้งนี้เชื่อว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีเสน่ห์และความน่าสนใจอยู่ เป็นสกุลเงินที่นักลงทุนยังให้ความสนใจกันพอสมควร แต่ทั้งนี้ เมื่อมีการเข้าไปลงทุนจริงแอสเซทพลัสคงต้องมีการกระจายความเสี่ยง โดยการเข้าไปลงทุนในสกุลเงินยูโร หรือสกุลเงินเยนด้วย" นางสาวบุษเรศกล่าว
ปัจจุบัน บลจ.แอสเซทพลัส บริหารกองทุนจำนวนทั้งสิ้น 12 กอง ดังนี้ กองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 4 กองทุน คือกองทุนเปิด แอสเซทพลัสตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-FRF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 4,788,827.3 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 9.9875 บาท กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นผสมตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-MRF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 13,367,081.74 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.0195 บาท กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-ERF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 8,888,884.27 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.0131 บาท และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาว (ASP-LTF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 101,769,166.73 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.1495 บาท
กองทุนรวมแห่งตราสารหนี้ 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสบริหารเงิน (ASP-MMF) กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้ (ASP) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 978,576,715.51 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 12.4501 บาท และกองทุนเปิด แอสเซทพลัสตราสารหนี้ปันผล (ASP-DI) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 53,868,421.20 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.0367 บาท กองทุนผสม จำนวน 5 กองทุน คือ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสร้างกำไร (ASP-HGF) กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสร้างกำไรปันผล (ASP-MDF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 397,060,864.8 บาทมูลค่าหน่วยลงทุน 19.9163 บาท กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสถาบันปันผล (ASP-IDF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1,711,122,026.9 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.1348 บาท กองทุนรวม แอสเซทพลัสทวีกำไร 20/20 (ASP-TGF) และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสกำไรปันผล (ASP-GDF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 379,655,979.47 บาท มูลค่าหน่วยลงทุน 9.9341 บาท ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซทพลัส จำกัด ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์ แอสเซทพลัส จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปัจจุบันได้ควบรวมกิจการกับ บริษัทหลักทรัพย์ เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา
โดยการจัดตั้งบริษัทจัดการกองทุนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจจัดการลงทุนให้เต็มรูปแบบ ตลอดจนการให้บริการที่ครบวงจรทั้งการจัดการกองทุนรวมและการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งยังคงยึดมั่นในนโยบายเดิม คือ การตอกย้ำจุดแกร่งที่บริษัทมีความถนัด การดำเนินธุรกิจอย่างอนุรักษนิยมด้วยจรรยาบรรณอย่างสูง การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด และการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าทุกท่านของบริษัทเป็นสำคัญ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ ของ "แอสเซทพลัส" ให้เป็นพรีเมียมแบรนด์ในอุตสาหกรรมการจัดการกองทุนสมกับนโยบายที่ว่า แอสเซทพลัส เป็นบริษัทคนไทย มาตรฐานสากล บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจในเดือนกันยายน 2547 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 100 ล้านบาท เรียกชำระแล้วเต็มจำนวน และมีบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดร้อยละ 100 บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งประเภทจัดการกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลจากกระทรวงการคลัง โดยการกำกับดูแลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นการทำธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล และธุรกิจกองทุนรวม ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการโอนธุรกิจการจัดการกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ แอสเซทพลัส จำกัด (มหาชน) มาอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท โดย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2547ทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลมีมูลค่ารวม ทั้งสิ้นประมาณ 6,645 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีแผนงานในการจัดตั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายหลากหลาย เช่น กองทุนรวมตราสารแห่งทุน กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนเปิดรวมผสม กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพประเภทต่างๆ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและสถาบันซึ่งมีวัตถุประสงค์และความต้องการของการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังที่แตกต่างกันตามแต่ละประเภทของนักลงทุนได้อย่างทั่วถึง
|