Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2537
ก้าวใหม่ ปตท.สผ. ขุดเองเจาะเอง             
 

   
related stories

9 โครงการ-สินทรัพย์สำคัญของ ปตท.สผ.
กรมศุลฯ-ปตท. ความสับสนที่ส่อพิรุธเด่นชัด

   
www resources

ธุรกิจในยุคแห่งความใส่ใจข้อมูล The Attention Economy
โฮมเพจ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)

   
search resources

ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.), บมจ.
วิเศษ จูภิบาล
Oil and gas




ปีหน้า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือ ปตท.สผ. จะมีอายุครบ 10 ปี ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ปตท.สผ. พัฒนาตัวเองจากจุดเริ่มต้นด้วยการเข้าไปถือหุ้นในโครงการสำรวจ-ผลิตน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ค่อยๆ สร้างคนสะสมทุน มาจนถึงการเป็นเจ้าของแหล่งผลิต ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญในธุรกิจสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียม และกำลังจะขยายตัวเป็นกิจการพลังงานในระดับภูมิภาคในอนาคตอันใกล้นี้

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจปิโตรเลียมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนธุรกิจการขนส่งและโรงไฟฟ้า

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง แม้ว่าจะได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2464 โดยในปี 2514 ได้มีการออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อกระตุ้นให้บริษัทน้ำมันต่างชาติที่มีประสบการณ์สูงเข้ามาสำรวจอย่างแท้จริง

โดยทั่วไปวงจรของธุรกิจนี้ เริ่มจากการสำรวจหาแหล่งซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 ปี เมื่อพบแหล่งปิโตรเลียมที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ จึงจะเข้าไปพัฒนาการผลิต ในระยะนี้ผู้ดำเนินการจะต้องมั่นใจในการลงทุนระดับหนึ่ง จึงต้องติดต่อหาผู้ซื้อปิโตรเลียมไว้ล่วงหน้าและจัดทำสัญญาการซื้อขายระยะยาว ซึ่งระยะเวลาการผลิตจะขึ้นกับปริมาณสำรองที่ค้นพบ และปริมาณการผลิตจริงแต่ละปี โดยเฉลี่ยแล้วแหล่งปิโตรเลียมในไทยจะมีระยะเวลาการผลิตประมาณ 20 ปี การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ ปตท.คือผู้รับซื้อปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

ปิโตรเลียมที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดถูกใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการใช้โดยรวม ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

สัมปทานหนึ่งๆ อาจออกให้แก่ผู้รับสัมปทานรายเดียวหรือผู้รับสัมปทานตั้งแต่สองรายขึ้นไปก็ได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ในการร่วมทุนจะมีบริษัทหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ (OPERATOR) แทนผู้อื่น ทั้งนี้ผู้ดำเนินการจะเป็นผู้กำหนดแผนการเงินที่จะเรียกเก็บจากผู้ร่วมทุนอื่นๆ (NON-OPERATOR) เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการ ผู้ร่วมทุนจะมีส่วนตัดสินใจทางเทคนิคและทางการเงินผ่านตัวแทนในคณะกรรมการจัดการ โดยทั่วไปบริษัทน้ำมันหนึ่งๆ เมื่อสะสมประสบการณ์ได้พอสมควรแล้ว มักจะผันตัวเองไปเป็นผู้ดำเนินการเพื่อมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการจัดการและบริหารงาน


การก้าวกระโดดขึ้นทศวรรษใหม่ของ ปตท.สผ.

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้รับการจัดตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2528 ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายก ซึ่งมี รท. ศุลี มหาสันทนะ ผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจน้ำมันมาเป็นเวลายาวนาน รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายนกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในยุคอาณัติ อาภาภิรมเป็นผู้ว่าการโดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกเพียง 4 แสนบาท

มติคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้ง ปตท.สผ. ขึ้นในเวลานั้น มีเป้าหมายเพื่อให้รัฐสามารถเข้าร่วมถือสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ โดยมีหน่วยงานการบริหารอย่างอิสระ มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจแข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างประเทศได้

แต่ในครั้งนั้น ปตท.ถือหุ้น 99.99 % ปตท.สผ. จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพิ่งจะเมื่อต้นปี 2531 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บริษัท ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจโดยไม่ต้องนำคำสั่ง กฎ ระเบียบ มติครม. ที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่รวมการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ การลงทุนในโครงการริเริ่มใหม่ที่มีความสำคัญและใช้เงินทุนสูง ปตท.สผ. ยังคงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอยู่ดี

วิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการปตท.สผ. กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึง ภารกิจของบริษัทว่า ปีที่ 10 ของ ปตท.สผ. ที่จะเข้ามาถึงในปีหน้า บทบาทและหน้าที่หลักคือ การผลักดันตัวเองขึ้นเป็น OPERATOR ชั้นนำในภูมิภาคนี้ ซึ่งต้องพร้อมด้วยบุคลากร เทคโนโลยี และเงินทุน

"อาจจะเรียกได้ว่าในช่วง 3-4 ปีแรกเป็นบริษัทกระดาษด้วยซ้ำแต่เราได้ทยอยเพิ่มทุนมาเรื่อยๆ เพื่อนำไปดำเนินโครงการต่างๆ" วิเศษกล่าว

กลางปี 2531 บริษัทเพิ่มทุนอีก 500 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อสิทธิสัมปทานคืนจากบริษัทเท็กซัสแปซิฟิคในแปลงสำรวจ 14-15-16-17 ในอ่าวไทยนอกชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา ครั้งนั้น ปตท.สผ. ต้องจ่ายเงินค่าสิทธิสัมปทานประมาณ 2,231 ล้านบาท

พฤษภาคม 2533 ปตท.สผ. ได้เพิ่มทุนเป็น 2,200,400,000 บาท รองรับโครงการบงกชและการเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการยูโนแคล 3

การขยายตัวอย่างมากของปตท.สผ. เริ่มในช่วงปี 2535-36 ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2533 ได้จัดตั้งบริษัท ปตท.สผ. (พม่า) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับยูโนแคล (พม่า) ยูโนแคล (แคนาดา) และปิโตรแคนาดา (พม่า) ในสัดส่วน 10% เพื่อสำรวจแปลง F ภาคกลางของพม่า เขตเมืองสาลิน และที่สุดต้นปี 2535 ก็สรุปได้ว่าไม่มีศักยภาพพอในเชิงพาณิชย์ ผู้ร่วมทุนทุกฝ่ายจึงยกเลิกสัญญาสำรวจ

ปี 2535 ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเพื่อสามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้ ปีต่อมาเพิ่มทุนโดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 130 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.13 ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้วทั้งหมด ทั้งนี้ได้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนในโครงการสำคัญคือ บงกช บี 12/27 และโครงการอื่นๆ ในเดือนมิถุนายน 2536 ก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงเดียวกันนี้ ปตท.สผ. ได้ซื้อกิจการบริษัทในกลุ่มบริติชปิโตรเลียม (BP) ซึ่งถือสิทธิแปลงสัมปทาน BP 1 และ B 12/27 ใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 44 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,100 ล้านบาท) ปตท.สผ. ได้ยุบบริษัทเคเคดีที่ถือสิทธิสัมปทาน บี 12/27 มาเป็นของ ปตท.สผ. และยุบบริษัททวีเอสเอฟซึ่งถือสิทธิโครงการบีพี 1 100% โอนให้ ปตท.สผ. พม่าซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนลและเพิ่ม่ทุนจาก 10 ล้านเป็น 600 ล้านบาท บริษัทนี้ได้เริ่มงานในฐานะ "ผู้ดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม" (OPERATOR) อย่างสมบูรณ์ในโครงการ PTTEP - 1 ด้วยอัตราการผลิตเฉลี่ยวันละ 1,100 ล้านบาร์เรล

วิเศษ ซึ่งเป็นลูกหม้อเก่าของ ปตท.ที่ลุกจากตำแหน่งล่าสุดของตนที่นั่นคือ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการมานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทใหม่ที่อยู่ตึกเดียวกัน เรียกความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นก้าวกระโดด "คือการเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งน้ำมันบนบกด้วยการซื้อสัมปทานบีพีเพื่อมาพัฒนาตนเอง ในขณะเดียวกันการเป็นบริษัทมหาชนก็เพื่อระดมทุน ทุกอย่างเป็นการเตรียมการสำหรับปี 2538 ที่จะรับผิดชอบโครงการใหญ่และการลงทุนเพิ่มเติมที่จะตามมา"

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ ปตท.สผ. อยากจะบรรลุในการเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำในภูมิภาคนี้ ที่มีขีดความสามารถในการดำเนินการให้มีประสิทธิผลและกำไร อย่างตระหนักถึงความปลอดภัยและการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของบริษัทนานาชาติ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเลียมทั้งในไทยและภูมิภาค ปตท.สผ. ได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นผู้ร่วมทุนที่ถือสิทธิส่วนน้อยในช่วงต้นๆ ของการดำเนินงาน เป็นผู้ดำเนินโครงการในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การสำรวจและประเมินผล ขั้นการผลิต มาจนถึงเป็นผู้ถือสิทธิหลักและดำเนินโครงการพัฒนาปิโตรเลียม ทั้งในและต่างประเทศหลายโครงการ

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีทุนจดทะเบียน 3,100 ล้านบาท สัดส่วนหนี้สินต่อทุน 6 : 1 นอกจากการเพิ่มทุนแล้ว ปตท.สผ. ยังกู้เงินมาทำโครงการใหม่ๆ ที่ผ่านมาการกู้เงินแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นโปรเจ็คไฟแนนซ์มูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอินดัสเตรียลแบงก์ออฟเจแปน (IBJ) เพื่อมาทำโครงการบงกชเป็นเงินกู้ประเภท NON-RECOURSE และอัตราดอกเบี้ย LIBOR+.5

ครั้งที่สองเป็นการกู้เงินระยะสั้น 3 ปี ไม่ต้องมีค้ำประกัน จากซันวาแบงก์และไอบีเจ เป็นเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"ทั้งสองกรณีไม่มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะกู้เป็นดอลลาร์หมดสัมพันธ์กับราคาขายก๊าซซึ่งได้เป็นบาท นอกจากนี้ยังจะมีรายได้จากบงกชและบี 12/27 ที่จะเข้ามามกราคมปีหน้า ส่วน JDA นั้นคงจะมีรายได้เข้ามาหลัง 2543" วิเศษ ผู้ว่า ปตท.สผ. คนที่สองกล่าว

"JDA" (JOINT DEVELOPMENT AREA) ที่เขาพูดถึงคือ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียในทะเล

ธุรกิจของ ปตท.สผ. เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้นบุคลากรต้องมีคุณภาพ ปัจจุบันขนาดพนักงาน 240 คน จำนวนระดับเทคนิเชียนมีไม่มากนัก มีจำนวนเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น วิเศษกล่าวว่าเขาต้องการทำอย่างมืออาชีพ ในแง่ของบริษัท แม้จะมีชื่อและรูปร่างหน้าตาคล้ายรัฐวิสาหกิจอยู่

วิเศษ กล่าวว่า ในด้านการวิจัยและพัฒนา บริษัทได้ทำการวิจัยและพัฒนา ในรูปแบบข้อมูลและศักยภาพทางธรณีวิทยาในแต่ละแหล่งผลิตที่เห็นว่าน่าสนใจ โดยรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจเข้าลงทุนในแต่ละแหล่ง ซึ่งในการวิเคราะห์วิจัยและพัฒนาข้อมูลดังกล่าว บริษัทต้องลงทุนค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ค่อนข้างสูง ในช่วงปี 2534-36 บริษัทได้ลงทุนในรูปของอุปกรณ์และบุคลากร คิดเป็นเงินประมาณ 88.5 ล้านบาท

"เรื่องคนนั้นเราเน้นมาก เราได้โอนย้ายคนเข้าไปช่วยประมาณ 20 กว่าคนในโทเทลมาปีกว่าแล้ว นอกจากนี้ยังมี ON THE JOB TRAINING ในบริษัทร่วมทุนอื่นๆ อีก เช่น เชลล์ เอสโซ่ รวมทั้งบริษัทรับเหมาที่เข้ามาทำการขุดเจาะ รวมไปถึงการอบรมภายในองค์กร สิ่งที่เราทำควบคู่กันไปคือการไปรับสมัครนักศึกษาที่ใกล้จบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันอัตราการลาออกของพนักงานยังนับว่าไม่มากนัก คือประมาณ 2-2.5% ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีอายุงาน 1-2 ปี และขอลาไปศึกษาต่อมากกว่าจะย้ายงาน" วิเศษกล่าว

การพัฒนาธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากรดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมบริษัท สำหรับการรับมอบการดำเนินงานโครงการบงกชต่อจากโทเทลในปี 2541 ซึ่งจะเป็นการดำเนินโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลโครงการแรกของ ปตท.สผ. ที่มีความซับซ้อนมากกว่าโครงการอื่นๆ การก้าวไปสู่การเป็นผู้ดำเนินโครงการบงกช จะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีถึงความเป็นบริษัทมืออาชีพ ที่มีความสามารถทัดเทียมกับบริษัทสำรวจและผลิตนานาชาติของ ปตท.สผ. ความสามารถในการแข่งขัน : ฐานสินทรัพย์ที่แน่นหนา

นอกจากความพร้อมที่ ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทของรัฐได้พัฒนาจนมีศักยภาพอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ปตท.สผ. ยังมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอื่นๆ อีกด้วยโดยเฉพาะเรื่องสินทรัพย์ที่แม้จะเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ไปได้ดี

"เราค่อนข้างได้เปรียบในภูมิภาคนี้ เพราะมีพันธมิตรที่ดี เราใกล้ชิดกับบริษัทมาเลย์และเวียดนามในแง่ปฏิบัติการและนโยบาย นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ใครหาแหล่งน้ำมันได้จะเป็นสินทรัพย์สำคัญ เป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว ซึ่งขณะนี้ ปตท.สผ. มีแล้ว คือแหล่งเมาะตะมะและ JDA"

และถ้าพิจารณาจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมหลังจากตัวเลขกลางปีนี้ผ่านไป (เปรียบเทียบกับตาราง) ปตท.สผ. แม้จะยังอยู่ในอันดับ 2 แต่มีสัดส่วนที่มากขึ้น คือเป็น 23% เช่นเดียวกับโทเทลที่ขยับจากอันดับ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3

ขณะเดียวกัน แหล่งบงกชสามารถเร่งรัดการผลิตและนำก๊าซมาใช้ประโยชน์เป็น 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันภายในปลายปี 2538 ซึ่งเร็วขึ้น 3 ปี จากสัญญาเดิมที่เคยกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม 2541

"ช่วงปี 2000 เราจะเน้นโตในภูมิภาค ส่วนจะมองไปยังภูมิภาคอื่นหรือไม่เราไม่เกี่ยง แต่ขณะนี้เป้าอยู่ที่นี่ ความคุ้มค่าในการลงทุนที่นี่มีมากกว่าและเรามีจุดแข็งด้านการตลาด คือ ความต้องการมีสูงและไทยเป็นคนรับซื้อรายใหญ่เองด้วย ในแง่การร่วมทุนเราก็เป็นที่สนใจของบริษัทน้ำมันต่างชาติ" กรรมการผู้จัดการ ปตท.สผ. กล่าวอย่างมั่นใจในอนาคตของบริษัท

ปตท.สผ. มีกองทุนสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพื่อที่จะแสวงหาสินทรัพย์ใหม่ๆ เพราะแม้จะมีแหล่งพลังงานที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้ได้เพียงพอ แต่วิเศษกล่าวว่านั่นเป็นเพียงสำหรับทศวรรษกว่าๆ เท่านั้น

มีการคาดการณ์กันว่าในอีก 3 ทศวรรษหน้าความต้องการใช้พำลังงานของประเทศจะมีมากกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า โดยได้คาดการณ์กันว่าประเทศไทยต้องมีการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ในช่วงปี 2533-2542 62% ช่วงปี 2543-2552 80% และช่วงปี 2553-2562 90% ของปริมาณความต้องการใช้ปิโตรเลียมทั้งหมด ดังนั้นอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจึงทวีความสำคัญมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณความต้องการดังกล่าวและสามารถทดแทนการนำเข้าได้บางส่วน

โครงการอนาคตที่มีศักยภาพใกล้เป็นจริง ได้แก่

โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซเมาะตะมะ ที่พม่าเชิญชวน ปตท.สผ. ส่งข้อเสนอในการพัฒนาแปลงสำรวจ M-5 และ M-6 เพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ทาง ปตท.สผ. ได้วางแผนจะวางท่อก๊าซมาใช้เป็นเชื่อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าในไทย จึงได้ยื่นข้อเสนอเป็นแกนนำลงทุนเมื่อเดือนธันวาคม 2533 และเจรจาของสิทธิร่วมทุนในโครงการไม่เกิน 30% โดยให้ ปตท.สผ. อินเตอร์ฯ เป็นผู้ร่วมทุน

2 ปีต่อมา พม่าเลือกบริษัทโทเทลเป็นผู้เข้ารับสัมปทานและเป็นผู้ดำเนินโครงการ (ถือ 52.5%) และต่อมาได้ยูโนแคลเป็นผู้ร่วมทุนเพิ่มในโครงการ (ถือหุ้น 47.5%)

โทเทลได้เจาะหลุมประเมินผล 4 หลุม ปัจจุบัน ปตท.กำลังเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซและ ปตท.สผ. เจรจา สัญญาซื้อขายก๊าซและ ปตท.สผ. เจรจาสัญญาร่วมทุนของโครงการ คาดว่าจะทำการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2541

ปตท.สผ. จะดำเนินการสร้างแท่นขุดเจาะ วางท่อจากแท่นผลิตมายังชายแดนไทยฝ่าย ปตท.จะลงทุนส่วนที่อยู่ในไทย ซึ่งขณะนี้ประเมินว่ามีปริมาณก๊าซสำรอง 5.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากเทียบกับยูโนแคลที่ผลิตมา 13 ปี รวมกัน 3 สัญญามีปริมาณสำรองที่ 2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น

วิเศษยังได้กล่าวยืนยันว่าเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่านั้นไม่น่ามีปัญหามาก เพราะระยะทางที่จะวางท่อผ่านบ้องตี้ เหมืองปิล็อกเพียง 60-80 กม. "โครงการนี้จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลพม่ามหาศาลเพราะจะก่อให้เกิด ECONOMIC TAKE-OFF จากเงินตราต่างประเทศที่ได้ ดังนั้นรัฐบาลเขาจึงรับประกันความปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ อีกอย่างเส้นทางวางท่อไม่ค่อยผ่านย่านอยู่อาศัยแต่เป็นช่องเขามากกว่า"

พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-เวียดนาม ขนาดพื้นที่ 6,405 ตร.กม. มีศักยภาพของก๊าซธรรมชาติสูงเนื่องจากอยู่ติดกับแหล่งบงกช ทางรัฐบาลทั้งสองประเทศเพิ่งจะกำหนดไหล่ทวีป ในระหว่างที่รอแนวทางจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงอุตสาหกรรม ปตท.สผ. และปิโตรเวียดนามได้ร่วมกันจัดตั้ง JOINT TECHNICAL COMMITTEE ศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมในทะเลในบริเวณที่จะร่วมกันพัฒนาในอนาคต บริษัทน้ำมันต่างชาติหลายรายก็สนใจที่จะร่วมลงทุนสำรวจและพัฒนา

"ถ้าพัฒนาได้ เราอาจจะต่อท่อเข้ามาขายยังไทย เพราะเวียดนามต้องการเงินตราต่างประเทศมากกว่าที่จะนำไปใช้เอง ซึ่งราคาปากบ่อจะขายได้สูงกว่า"

วิเศษปรารถนาที่จะเห็นการดำเนินโครงการพื้นที่นี้ตามรอบ JDA เป็นอย่างยิ่ง เพราะโครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นโครงการใหญ่ที่ดำเนินการระดับรัฐบาลร่วมกับรัฐบาล แต่ยังนับเป็นเรือธงของ ปตท.สผ. ที่ขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาค มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเองยังถึงกับกล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นกรณีแรกในโลกก็ว่าได้ ที่ประเทศคู่กรณีสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่คาบเกี่ยวได้

โครงการ B 6/27 อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับไทยเชลล์ในแหล่งน้ำมันดิบนางนวลนอกชายฝั่ง จ.ชุมพร โครงการนี้ ปตท.สผ. ถือหุ้น 25%

สัมปทานในประทศรายใหม่ (THAILAND III) รัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้โดย พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฉบับที่ 4 2532 ได้จูงใจบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันโดยการลดการเสี่ยงของการลงทุน ด้วยการกำหนดอัตราค่าภาคหลวงเป็นขั้นบันได 5-15% ซึ่งลดลงจากเดิมอัตราคงที่ 12.5% นอกจากนี้ทางกรมทรัพยากรธรณียังได้ประกาศเขตสัมปทานปิโตรเลียม เปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นมาอีก 104 แปลง เป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 438,000 ตร. กม. และเมื่อปี 2534 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกสัมปทานให้แก่บริษัทน้ำมันเอกชนจำนวน 12 สัมปทาน รวม 21 แปลงสำรวจทั้งบนบกและในทะเล ในจำนวนสัมปทานข้างต้น ปตท.สผ. ได้รับสิทธิเข้าร่วมทุนโดยตรง 15-20% จาก 4 สัมปทาน รวม 8 แปลง ปัจจุบันสัมปทานดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างโครงการสำรวจช่วงปีสุดท้าย

ส่วนแหล่งในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ที่กัมพูชามีแปลงสัมปทานในทะเล 7 แปลง ส่วนใหญ่ผู้ถือสิทธิเป็นญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย วิเศษกล่าวว่ามีแปลงว่างๆ อยู่แต่ไม่ดีนักจึงยังไม่รีบร้อนให้ความสนใจนัก

แหล่งทางด้านลาวนั้นมีฮันท์ออยล์และเอ็นเตอร์ไพรซ์ตลอดจนยูโนแคล โทเทล เชลล์เข้าไปสำรวจอยู่ แต่เนื่องจากเป็นลุ่มแอ่งโคราชด้วยกัน เมื่อทางไทยไม่พบมากนัก บริษัทต่างๆ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีศักยภาพทางลาวมากนักเช่นกัน

อินโดนีเซียเป็นอีกจุดที่น่าสนใจเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ แต่ทางไทยยังไม่ค่อยได้เข้าไปสัมพันธ์ด้วยเท่าไหร่ ที่นั่นมีคาลเท็กซ์เข้าไปทำก๊าซธรรมชาติเหลว และมีโทเทลเข้าไปแล้ว แหล่งส่วนใหญ่อยู่ทางสุมาตรา ซึ่งวิเศษบอกว่าอาจจะร่วมกับทางเพอร์ทามิน่า ซึ่งเป็นองค์กรด้านปิโตรเลียมของรัฐบาลอินโดนีเซียในการสำรวจและผลิต


เปรียบมวยเสมอชั้น

คู่เปรียบเทียบที่น่าจะเห็นภาพชัดน่าจะได้แก่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซีย แม้ว่าในฐานะหนึ่งแล้วต้องจับมือกันเป็น CONSORTIUM พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาคนี้ร่วมกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ แต่ในอีกสถานะหนึ่งต่างก็ต้องแข่งขันกันหาสินทรัพย์ด้วยเช่นกัน ศักยภาพของ ปตท.สผ. เมื่อเทียบกับบริษัทเพื่อนบ้านแล้วยังด้อยกว่า เพราะบริษัทแม่คือ ปิโตรนาสนั้นเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรนั้นๆ ไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใดอีก ผิดกับ ปตท.สผ. ที่ต้องขออนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีในกรณีพื้นที่บนบกในประเทศ หรือต้องขออนุมัติรัฐบาลในโครงการสัมปทานใหญ่ๆ นอกจากนี้แหล่งน้ำมันและแก๊สซึ่งถือเป็นสินทรัพย์สำคัญสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตนั้น ปตท.สผ. ไม่ได้เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว แต่เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างชาติ เพราะเพิ่งจะพัฒนาศักยภาพด้านทุนและเทคโนโลยีขึ้นมาไม่นานมานี้ ขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีศักยภาพพอจะเป็นแหล่งสินทรัพย์ ก็ยังต้องรอการเจรจาระดับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก อาทิเช่น แหล่งคาบเกี่ยวเวียดนาม และแหล่งสัมปทานในกัมพูชา ซึ่งมีบริษัทต่างชาติเข้าไปสำรวจและพัฒนาอยู่บ้าง ขณะที่ปิโตรนาสนั้นมีความคืบหน้าและศักยภาพ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลและกฎหมาย จึงสามารถบุกเข้าไปลุยในประเทศอินโดจีนได้

ล่าสุด ปิโตรนาสคาริกาลีขุดเจาะบ่อน้ำมันในทะเลที่ชื่อ RUBY PROSPECT อยู่ห่างจากหวุงเต่าทางตอนใต้ของเวียดนาม 155 กม. แหล่งนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งบัคโฮหรือเสือขาวที่มีศักยภาพสูงสุดในตอนนี้ ทางผู้บริหารปิโตรนาสเองก็เชื่อว่าแหล่งนี้จะสามารถผลิตน้ำมันได้ใกล้เคียงกับที่บริษัทร่วมทุน ญี่ปุ่น-เวียดนามที่เข้ามาขุดเจาะวันละ 10,000-15,000 บาร์เรล

ศักยภาพทางตอนใต้ของเวียดนามนั้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสำหรับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากที่สุด การค้นพบของมิตซูบิชิและปิโตรนาสในบริเวณบัคโฮและรง (มังกร) แสดงว่าบริเวณแถบนี้เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากปิโตรนาสซึ่งมีสถานะและศักดิ์ศรีเทียบได้กับ ปตท.(และออกจะเหนือชั้นกว่า ปตท.) จะมีบริษัทลูกที่ทำหน้าที่ในการสำรวจและผลิตก่อนของไทยแล้ว ยังมีบริษัทลูกที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านการตลาดและจัดจำหน่ายอีกด้วยคือบริษัท PETRONAS DAGANGAN ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นมาเลย์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัทแม่ปิโตรนาสถือหุ้นอยู่เพียง 8% ส่วนปิโตรนาสคาริกาลีซึ่งทำหน้าที่สำรวจและผลิตนั้น ตั้งมาก่อนหน้า ปตท.สผ. ถึง 7-8 ปี

อย่างไรก็ตามในด้านการตลาดนั้น ปตท.สผ. ไม่มีปัญหา เพราะความต้องการใช้ในประเทศมากเมื่อเทียบกับความสามารถที่จะผลิตได้ ก๊าซธรรมชาตินำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมีอัตราความต้องการเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี และเป็นการตกลงซื้อขายระยะยาว ซึ่งจะกำหนดวิธีการกำหนดสูตรราคาซื้อขายที่แน่นอนและปริมาณก๊าซที่ส่งมอบด้วย ทำให้ ปตท.สผ. สามารถควบคุมปริมาณการจำหน่ายได้ และเพราะ ปตท.ซึ่งเป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศแต่เพียงผู้เดียว ได้ลงทุนวางท่อเป็นเงินจำนวนมาก จึงมีบทบาทสูงในการกำหนดปริมาณการรับซื้อ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ก๊าซและความสามารถในการขนส่งก๊าซผ่านท่อ ณ ระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเสมอ ปตท.สผ. เมื่อเป็น "ลูกในไส้" ของ ปตท.จึงได้เปรียบกว่าในการต่อรองเรื่องปริมาณการซื้อขายก๊าซที่จะต้องส่งผ่านท่อได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้มีความเสี่ยงสูง ในแง่ ปตท.สผ. จึงได้หาทางลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดด้วยหลักการดังนี้

1. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยการเลือกเข้าร่วมทุนในหลายโครงการ โครงการใดให้ผลตอบแทนมากและมีความเสี่ยงน้อย จะถือหุ้นมากเป็นต้น

2. ร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลก เช่น ไทยเชลล์ เอสโซ่ ยูโนแคล และโทเทล เพื่อลดความเสี่ยงในปัญหาทางเทคนิคและปัญหาด้านการเงินของบริษัทร่วมทุนเป็นสำคัญ "อย่างในปี 2541 ที่เราจะเข้าดำเนินโครงการบงกช ก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงของโครงการมากไปกว่าเดิม เพราะผู้ถือหุ้นโทเทลยังคงความช่วยเหลือทางเทคนิคที่ ปตท.สผ. ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอเช่น R&D และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เป็นต้น" วิเศษกล่าว

3. โครงการร่วมทุนในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นโครงการในประเทศ และการที่ ปตท.สผ. เป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมจึงมีความมั่นคง และมีข้อได้เปรียบในด้านการติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หลายครั้งที่ผ่านมา รัฐก็ให้ข้อเสนอ ปตท.สผ. ในการร่วมลงทุนได้เมื่อสำรวจพบปิโตรเลียมแล้ว

ในเรื่องของสิทธิการเข้าร่วมทุนในโครงการใหม่ๆ ที่รัฐเปิดให้สัมปทานนั้น ในอนาคต ยังมีปัญหาอยู่ว่า รัฐมิได้ระบุสิทธิในการร่วมทุนดังกล่าวเฉพาะกับ ปตท.สผ. ซึ่งหมายความว่าอาจมีการจัดตั้งวิสาหกิจแห่งใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกรัฐในการเข้าร่วมทุนสำรวจและผลิตเช่นเดียวกับ ปตท.สผ. ย่อมได้

ในเรื่องของการกู้เงินจากต่างประเทศ แม้ว่า ปตท.สผ. จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้มีการบริหารงานในรูปแบบเอกชนทั่วไป แต่การที่จะใช้เงินทุนจากต่างประเทศนั้น ยังต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการจัดหาแหล่งทุนเพื่อใช้ในกิจการได้

แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่ง เท่ากับการกู้เงินจากต่างประเทศของ ปตท.สผ. เปรียบเสมือนการกู้จากรัฐบาล คือ มักได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าการกู้เงินโดยเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าหรือกำหนดระยะเวลาการใช้คืนที่ยาวนานกว่า นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับการยกเว้นภาษี ดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินกู้ต่างประเทศ

ข้อจำกัดประการหนึ่งของ ปตท.สผ. คือ การถือครองแปลงสัมปทานตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมได้ไม่เกิน 5 แปลง ซึ่งปัจจุบันมีครบแล้ว บอร์ด ปตท.สผ. ก็ได้ช่วยแก้ปัญหา โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาได้ในกรณีที่ต้องการยื่นขอสัมปทานใหม่ ซึ่งบริษัทย่อยนี้จะมีสิทธิถือสัมปทานได้อีก 5 แปลง ปัจจุบัน ปตท.สผ. อินเตอร์ฯ ถือสัมปทานแล้ว 2 แปลง (PTTEP 1 และ B-14)

นี่คือโฉมหน้าของบริษัทสองร่างที่อยู่ใต้การสนับสนุนของรัฐ แต่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเอกชนได้ ในทศวรรษใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าของ ปตท.สผ. โชคและการรอคอยการสนับสนุนจากรัฐเพียงอย่างเดียว คงไม่ได้ช่วยให้สถานภาพของการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาคนี้ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่ผู้บริหาร ปตท.สผ. กล่าวอ้างนั้นต่างหาก ที่จะพิสูจน์ว่าบริษัทมีประสิทธิภาพที่จะยืนบนขาของตัวเอง เป็นบริษัทชั้นนำได้จริงแท้แค่ไหน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us