จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในช่วงปี 2539 อยู่ในสภาวะชะลอตัว เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพียง 11.1% แม้ว่าความต้องการใช้พลังงานจะชะลอตัวลง
แต่ปริมาณการใช้ปิโตรเลียมกลับยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการขนส่ง โดยมีอัตราการผลิตจากแหล่งภายในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับอัตราการนำเข้า
สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลทำให้การจัดหาและนำเข้าพลังงานจากหลายแหล่งและรูปแบบต่างๆ
กลายเป็นสิ่งจำเป็นและมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) คือความหวังของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย
รวมทั้งยังเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันนานาชาติเพื่อดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง
"ในรอบปีที่ผ่านมาเราได้พัฒนาองค์กรทั้งด้านการลงทุนและการเงิน สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย
มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วคิดเป็น 502 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น
3% มีการเปิดดำเนินงานโครงการบงกชระยะที่ 2 ลงนามในสัญญาขายก๊าซฯ โครงการ
B12/27 และโครงการบงกชเพิ่มเติมกับ ปตท.รวมถึงได้รับสิทธิในแปลงสัมปทาน B13/38
จากรัฐบาล นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับรัฐบาลไทย
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ในอเมริกา"
ดร. ปรัชญา ภิญญาวัธน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
(ปตท.สผ.) กล่าวถึงความสำเร็จในการดำเนินงานปี 2539
จากความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2539 ของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น
6,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.93% เมื่อเทียบกับปี 2538 ที่มีรายได้รวม 4,517.09
ล้านบาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 1,078.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.79% เมื่อเทียบกับปี
2538 ที่มีกำไรสุทธิ 956.44 ล้านบาท โดยมีกำไรต่อหุ้น 3.48 บาท เพิ่มขึ้น
12.62% เทียบกับปี 2538 ที่มีกำไรต่อหุ้น 3.09 บาท
ด้านค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 31.22% จาก 3,043.95 ล้านบาทในปี 2538 เป็น
3,994.46 ล้านบาทในปี 2539 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการสำรวจแหล่งน้ำมัน
ค่าภาคหลวงที่เพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขาย และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
"ปัจจัยที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น คือ ปริมาณการผลิตรวมในส่วนของ ปตท.สผ.
และบริษัทย่อยตลอดปี 2539 เท่ากับ 14 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ สูงขึ้นจากปริมาณการผลิตปี
2538 ประมาณ 31% ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการบงกชจากวันละ
250 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นวันละ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว
รวมทั้งราคาน้ำมันและก๊าซฯ ได้ปรับตัวสูงขึ้น" ดร. ปรัชญากล่าว
ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการบงกช,
S1, E5, UNOCAL3 และ PTTEP1 ซึ่งโครงการบงกชจะเป็นโครงการที่สำคัญที่สุด
เพราะเป็นตัวทำรายได้ให้บริษัทมากที่สุดประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลือรายได้มาจากก๊าซธรรมชาติประมาณ
26%, LPG 11% และคอนเดนเสทประมาณ 3% ซึ่งโครงการเหล่านี้ถือว่าประสบความสำเร็จ
เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมาก อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ผู้บริหารวางไว้
คือ สร้างอัตราการเติบโตให้กับยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยน่าจะทำได้ในระดับ
25% ขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2535-2539 บริษัทมียอดขายขยายตัว 24.68%,
40.74%, 43.55%, 17.77% และ 44.77% ตามลำดับ
ดังนั้น ปตท.สผ. จึงมีแผนการดำเนินงานและการลงทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2544
ได้แก่โครงการบงกช, B12/27, JDA, เมาะตะมะและโครงการอื่น ได้แก่ B5/27, S1,
E5 ซึ่งโครงการเหล่านี้คือความหวังของ ปตท.สผ. สำหรับการสร้างรายได้ในอนาคต
โครงการที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ โครงการบงกช โดยสัดส่วนเงินลงทุนสูงถึง
33.3% หรือประมาณ 11,655 ล้านบาทของเงินลงทุนทั้งหมด โดย ปตท.สผ. ถือหุ้นสัดส่วน
40% เริ่มดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2536
เป็นต้นมา ปัจจุบันมีแผนที่จะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตจากอัตราวันละ
350 ล้านลูกบาศก์ฟุตในปัจจุบันเป็นวันละ 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตในปี 2541 นอกจากนี้
ปตท.สผ. ยังจะรับเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้เองในกลางปี 2541 ด้วย
ด้านโครงการบี 12/27 มีสัดส่วนเงินลงทุน 25% หรือประมาณ 8,750 ล้านบาทของเงินลงทุนทั้งหมด
โดย ปตท.สผ. ถือหุ้นสัดส่วน 45% บริษัทมีเป้าหมายจะเริ่มการผลิตให้สามารถส่งก๊าซฯ
ได้ในปี 2542
โครงการเมาะตะมะมีสัดส่วนเงินลงทุน 13.4% หรือประมาณ 4,690 ล้านบาทของเงินลงทุนทั้งหมด
โดย ปตท.สผ. ถือหุ้นสัดส่วน 25.50% มีเป้าหมายจะพัฒนาแหล่งยานาดาและวางท่อก๊าซฯ
จากอ่าวเมาะตะมะมายังชายแดนไทยให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อสามารถเริ่มผลิตก๊าซฯ
ในระดับ 325 ล้านลูกบาศก์ฟุตในปลายปี 2541 และเพิ่มเป็น 525 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในกลางปี
2542
ส่วนโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA หลังจากได้ดำเนินการขุดหลุมสำรวจหลุมแรกในปี
2538 ล่าสุดแผนเร่งพิสูจน์ปริมาณสำรองก๊าซฯ โดยในปี 2540 จะดำเนินการเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมิน
พร้อมทั้งดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท.และปิโตรนาส หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ
โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ปี 2543 ปริมาณวันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต
โดยโครงการนี้ ปตท.สผ. ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 8,295 ล้านบาทของเงินลงทุนทั้งหมด
หรือ 23.7% โดย ปตท.สผ. ถือหุ้นสัดส่วน 50%
และยังมีโครงการอื่นๆ อีก เช่น บี 5/27 ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจและพิจารณาหาผู้ร่วมทุน
โครงการ S1 มีเป้าหมายดำเนินการที่จะรักษาระดับการผลิตที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน
ใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท โครงการ UNOCAL3 ใช้เงินลงทุนประมาณ 630
ล้านบาทและโครงการอี 5 มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 90 ล้านลูกบาศก์ฟุต
นอกจากนี้ ปตท.สผ. มีความสนใจลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติมทั้งในและนอกประเทศ
โดยมีโครงการที่สำคัญในประเทศได้แก่ พื้นที่คาบเกี่ยวไทย-เวียดนาม ซึ่ง ปตท.สผ.
เตรียมเข้าดำเนินการเมื่อมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย และยังมีข้อเสนอให้บริษัทเข้าร่วมทุนจากผู้ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในประเทศ
เช่น ในอ่าวไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในต่างประเทศจะเข้าลงทุนในโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ
เยตากุน ในพม่า และโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ นาทูนาในอินโดนีเซีย รวมทั้งโครงการลงทุนอื่นๆ
ในภูมิภาคใกล้เคียง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย จีน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
สาเหตุที่ ปตท.สผ. ต้องผุดโครงการต่างๆ มากมายและต่อเนื่องนั้น เรื่อง ดร.
ปรัชญา เล่าว่า เพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอและไม่สามารถจะหยุดอยู่กับที่ได้ต้องขยายไปเรื่อยๆ
ซึ่งบริษัทจะใช้จุดแข็งตรงที่ไทยเป็นตลาดก๊าซฯ ในการขยายธุรกิจของ ปตท.สผ.
และนับว่าเป็นความโชคดีอย่างมากเพราะขณะที่ไทยต้องการใช้ก๊าซฯ มาก แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการใช้น้อย
จึงมองว่าโอกาสที่ ปตท.สผ. จะเข้าไปลงทุนจึงมีสูง
"ช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่เราลงทุนสูงมากและรายได้อาจจะเข้ามายังไม่มาก
แต่จะเห็นรายได้เข้ามาปี 2541 และจะเริ่มเด่นชัดในช่วงปี 2542-2543 แต่เมื่อเราต้องการให้บริษัทโตอย่างต่อเนื่องเราจึงเริ่มโครงการใหม่ๆ
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเวลานี้เรามีโครงการที่ดำเนินอยู่และโครงการต่อเนื่องไปจนถึงปี
2544 เพราะถ้าไม่มีโครงการอะไรแล้วต่อไปเราจะแย่" ดร. ปรัชญา กล่าว
แผนการดำเนินการโครงการต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 35,000
ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะเป็นการกู้จากต่างประเทศ ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน
ปี 2539 ปตท.สผ. ได้ระดมทุนโดยออกหุ้นกู้จำหน่ายในอเมริกา หรือ Yankee Bond
จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท นับว่าเป็นรัฐวิสาหกิจไทยรายแรกที่ระดมทุนด้วยการจำหน่ายหุ้นกู้ในอเมริกา
"เงินจำนวนนี้เราจะมาใช้ในโครงการ B12/27 ส่วนเงินล็อตที่ 2 ที่จะนำมาใช้ในโครงการอื่นๆ
คาดว่าจะเข้ามาประมาณไตรมาส 2-3 นี้ ซึ่งคงต้องดูหลายๆ ปัจจัยว่าจะกู้เข้ามาได้เท่าไหร่
เพราะขณะนี้เงินสดยังเหลืออยู่ ส่วนการออกหุ้นกู้นั้นเราพิจารณาตลาดทุนต่างๆ
เช่น ตลาด Yankee ในอเมริกา, ตลาด Euro ในยุโรปและตลาด Samurai Bond ในญี่ปุ่น"
ดร. ปรัชญา เล่า
แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนมาก แต่ ดร. ปรัชญา
ยังมั่นใจว่าไม่กระทบต่อ ปตท.สผ. เพราะโครงการของบริษัทเป็นโครงการที่ดีมีความแน่นอน
ทำให้ผู้กู้สบายใจและเนื่องจากว่ารายได้เป็นรายได้ในรูปเงินดอลลาร์ จึงมีความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเรากู้เงินเป็นดอลลาร์
"เราอยากเห็นการขยายตัวไปเรื่อยๆ" ดร. ปรัชญา กล่าวตบท้าย