|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สนามแข่งธุรกิจค้าหุ้นระอุแดด หลังโบรกเกอร์หน้าใหม่ "กสิกรไทย-KSEC" เตรียมลงสนามเร็วๆ นี้ ได้มือดีอดีตบิ๊ก ก.ล.ต. รพี สุจริตกุล นั่งแท่นซีอีโอ ท่ามกลางศึกแย่งตัวมาร์เกตติ้งยังคาราคาซัง ล่าสุดสมาคมโบรกฯเผย บล.เอเซียพลัสและบล.ซีมิโก้ ยังไม่ยื่นหนังสือตัดสินขับ บล.บีฟิท
ดีกรีการแข่งขันในธุรกิจค้าหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ปีไก่-2548 ทำท่าจะทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อปรากฏกระแสข่าวความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้า ในการเตรียมเปิดดำเนินการของบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ว่า นายรพี สุจริตกุล อดีตผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจาก บล.กสิกรไทยดังกล่าวเป็นโบรกเกอร์ที่มีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เท่ากับว่าจะมีโบรกเกอร์ที่มีแบงก์พาณิชย์เป็นแบ็กอัพเพิ่มขึ้นมาอีกราย
สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย นั้น ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งซื้อมาชื่อเดิม คือ บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซ็ทพลัส จำกัด และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)" "Kasikorn Securities Public Company Limited" ใช้ชื่อย่อว่า "KSEC" เมื่อเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์กล่าวว่า ขณะนี้ บล.กสิกรไทยกำลังเตรียมจะเปิดดำเนินการในเร็วๆ นี้ ซึ่งล่าสุดทราบว่า นายรพีได้ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด เรียบร้อยแล้ว และโบรกเกอร์หมายเลข 11 ในส่วนของผู้บริหารคนอื่นๆ นั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากธนาคารกสิกรไทย โดยเป็นผู้บริหารจากฝ่ายวาณิชธนกิจของธนาคารกสิกรไทยเอง
นายรพี สุจริตกุล ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อกลางปี 2547 โดยการลาออกมีผลบังคับสิ้นปี 2547 ที่ผ่านมา
ในการลาออกของเขาครั้งนั้น นายรพีกล่าวว่า เหตุผลของการลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้ร่วมทำงานกับ ก.ล.ต.ตั้งแต่ก่อตั้ง รวมระยะเวลากว่า 12 ปีแล้ว และเห็นว่าขณะนี้ทีมผู้บริหารปัจจุบันของ ก.ล.ต.สามารถดำเนินงานไปได้ด้วยดี ดังนั้น จึงไม่มีความกังวลแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นถึงแม้นายรพีจะยังไม่เปิดเผยออกมาว่างานใหม่ของเขาคืออะไรที่ไหนชัดเจนก็ตาม แต่เขาก็ยอมรับว่าจะยังคงอยู่ในแวดวง ตลาดเงินตลาดทุน
สำหรับนายรพี สุจริตกุล เริ่มงานที่ ก.ล.ต.ยุคก่อตั้งก.ล.ต.ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2535-30 ก.ย. 2537 รวม 2 ปี 5 เดือน 8 วัน จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาดทุน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2537-29 ก.พ. 2539 รวม 1 ปี 5 เดือน และตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2539 - 31 ม.ค. 2543 รวม 3 ปี 11 เดือน
ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2543 - 12 ธ.ค. 2545 รวม 2 ปี 10 เดือน 12 วัน ก่อนจะดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส รวม 1 ปี 9 เดือนกับ 3 วัน
เอเซียพลัสยังไม่ยื่นขับบีฟิท
จะว่าไปแล้วการแข่งขันของธุรกิจโบรกเกอร์ในปัจจุบันต้องถือว่ามีความรุนแรงอยู่ไม่น้อย หลังจากที่โบรกเกอร์เล็กเปิดเกมรุกแย่งชิงตัวเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) กันแบบยกทีม โดยบล.บีฟิท จำกัด โบรกเกอร์เล็ก กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับมาร์เกตติ้งของบล.เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) จากที่ก่อนหน้านี้บล.บีฟิทได้ดึงเอามาร์เกตติ้งของบล.ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) มาแล้วและเรื่องราวยังคาราคาซังอยู่จนถึงขณะนี้
นายจงรัก ระรวยทรง กรรมการอำนวยการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวถึงกรณีที่ บล.บีฟิท กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับบล.เอเซียพลัส เพื่อดึงตัวมาร์เกตติ้งสาขาสีลมมาทำงานด้วยว่า ทางสมาคมฯก็มีการติดตามเรื่องนี้อยู่ห่างๆ และ บล.เอเซียพลัสยังไม่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนมายังสมาคมฯ กรณีที่มีการถูกแย่งตัวมาร์เกตติ้งมายังสมาคมฯ ตลอดจนกรณีของบล.ซีมิโก้ ก็ยังไม่ได้ยื่นหนังสือมายังสมาคมฯ
อย่างไรก็ตาม ในการขับบล.บีฟิทจากการเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จะทำได้หากคู่กรณียื่นหนังสือมาอย่างเป็นทางการให้สมาคมฯจัดประชุมลงมติโหวตเสียง 3 ใน 4 ทั้งนี้ ในการหมดสมาชิกภาพดังกล่าวจะมีผลต่อการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์หรือการเป็นโบรกเกอร์ด้วย เนื่องจากมีกฎระเบียบเรื่องนี้ออกมาใช้แล้ว โดยระบุว่าผู้ที่จะเป็นโบรกเกอร์ จะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมฯ
นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ ผู้บริหารระดับสูงจากบล.กรุงศรีอยุธยา ไปอยู่บล.สินเอเซีย หลังจากที่มีการออฟเฟอร์ให้เข้าไปเป็นผู้บริหารพร้อมกับให้ถือหุ้น 20% ใน บล. สินเอเซียด้วย
|
|
|
|
|