Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2543
กอล์ฟ ทุนวัฒนธรรม และเศรษฐกิจฟองสบู่ (ตอนที่ 3)             
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
 

   
related stories

กอล์ฟ ทุนวัฒนธรรม และ เศรษฐกิจฟองสบู่ (ตอนที่ 1)
กอล์ฟ ทุนวัฒนธรรม และเศรษฐกิจฟองสบู่ (ตอนที่ 2)

   
search resources

Sports




ในขณะที่การขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษเป็นคลื่นลูกที่หนึ่ง และการก่อตัวของทุนวัฒนธรรมเป็นคลื่นลูกที่สอง ที่กระทบต่อกระบวนการสากลานุวัตร ของกีฬากอล์ฟ เศรษฐกิจฟองสบู่เป็นคลื่นลูกที่สามที่ทำให้สายธารของกระแสสากลานุวัตรไม่ขาดตอน

ในขณะที่คลื่นลูกแรกมีศูนย์อยู่ที่เกาะอังกฤษ คลื่นลูกที่สองอยู่ที่สหรัฐ อเมริกา คลื่นลูกที่สามก่อตัวที่เกาะญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นรู้จักการเล่นกอล์ฟมาเป็นเวลาช้านาน สนามกอล์ฟแห่งแรกสร้างขึ้นในเมืองโกเบในปีค.ศ.1903 สิบปีต่อมามีสนามกอล์ฟอีกแห่งผุดขึ้นในเมืองโตเกียว ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีสนามกอล์ฟเพียง 23 แห่ง ความจำกัดของที่ดินเป็นข้อจำกัดในการสร้างสนามกอล์ฟ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม และตกอยู่ใต้การปกครองของกองทัพอเมริกัน ด้วยเหตุที่ทหารอเมริกันเลือกพักผ่อนด้วยการเล่นกอล์ฟ จึงมีการสร้างสนามกอล์ฟเพิ่มขึ้นในปีค.ศ.1956 ญี่ปุ่น มีสนามกอล์ฟ 72 แห่ง

ญี่ปุ่นเร่งสร้างชาติขนานใหญ่ เพื่อเยียวยาบาดแผลสงครามและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพียงทศวรรษ 1970 ญี่ปุ่นก็สามารถแสดงความเกรียงไกรทางเศรษฐกิจได้ และอีกทศวรรษต่อมา ญี่ปุ่นก็เขยิบขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ Japan as Number One เป็นตราประทับที่นักวิชาการชาวอเมริกันมอบให้ ชาวญี่ปุ่นกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำงานชนิดหามรุ่งหามค่ำ ในทศวรรษ 1980 ชาวญี่ปุ่นทำงานถัวเฉลี่ยคนละ 2,168 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสูงกว่าคนงานในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คนละ 200-500 ชั่วโมงต่อปี คนงานชาวญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลา (overtime) ถัวเฉลี่ยคนละ 190 ชั่วโมงต่อปี และมีคนงานเพียง 20% เท่านั้นที่มีวันหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ตายอย่างเฉียบพลันในขณะทำงาน ส่วนใหญ่เป็นโรคเครียด มีอาการผิดปกติทางประสาท และความดันโลหิตสูง แม้ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกนานาชนิด แต่การขาดที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากที่ดินมีราคาแพง เมืองอยู่กันอย่างแออัด สวนสาธารณะและที่พักผ่อนหย่อนใจมีไม่พอเพียง สำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่น แม้ชีวิตเศรษฐกิจรุ่งโรจน์ แต่ชีวิตสังคมเสื่อมทราม

ผู้นำญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่ประชาชนไม่มีชีวิตทางวัฒนธรรม ดุจเดียวกับประชาชนในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ มีความพยายามที่จะปรับปรุง ชีวิตทางวัฒนธรรมของประชาชนญี่ปุ่นด้วยการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน กระจายประชาชนเพื่อลดความแออัดในเมือง และจัดสรรสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เสียต้นทุนต่ำ โดยที่การส่งเสริมสถานตากอากาศ (resort) เป็นมาตรการหนึ่งในการนี้

ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นได้อธิปไตยกลับคืนมาในปี ค.ศ.1951 ธุรกิจสนามกอล์ฟมีระลอกการเติบใหญ่อยู่ 3 ระลอก ระลอกแรก เมื่อญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ในปี ค.ศ.1964 จำนวนสนามกอล์ฟเพิ่มจาก 195 แห่งในปี ค.ศ.1960 เป็น 424 แห่งในปี ค.ศ.1964 การขยายตัวในระลอกนี้ เป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และชาวญี่ปุ่นนิยมเล่นกอล์ฟมากขึ้น ระลอกที่สอง เกิดขึ้นในยุคนายกรัฐมนตรีกากูเออิ ทานากะ (Kakuei Tanaka) ประมาณปี ค.ศ.1972 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจ (infrastructure) ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการเก็งกำไรซื้อขายที่ดิน ในช่วงนี้ สนามกอล์ฟเพิ่มเป็นประมาณ 1,000 แห่ง ระลอกที่สาม เกิดขึ้นในยุคนายกรัฐมนตรียาซูฮิโร นากาโซเนะ (Yasuhiro Nakasone) เมื่อมีการตรากฎหมาย Resort Region Provision Law หรือเรียกย่อๆ ว่า Resort Law ในปี ค.ศ.1987

กฎหมายสถานตากอากาศ (Resort Law) มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการสร้างสถานพักฟื้นสุขภาพ (Health Resort) ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดย ไม่เพียงแต่จะได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรด้วยการยกเว้น และลดหย่อนภาษีอากรบางประเภทเท่านั้น หากยังได้รับอนุญาตให้นำที่ดินการเกษตรและป่าสงวนมาสร้างสนามกอล์ฟอีกด้วย ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการปฏิรูปที่ดินในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีกฎหมายห้ามนำที่ดินการเกษตรไปประกอบการด้านอื่น นอกจากนี้ หลังจากยุครัฐบาลทานากะที่มีการโค่นป่าเพื่อสร้างสนามกอล์ฟ จำนวนมาก รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเข้มงวดในการอนุญาตให้สร้างสนามกอล์ฟในเขตป่าสงวน แต่กฎหมายสถานตากอากาศทำให้ข้อห้าม และความเข้มงวดเหล่านี้หมดสิ้นไป ยิ่งเมื่อรัฐบาลนายนากาโซแนะนำที่ราชพัสดุรอบๆ นครโตเกียวออกขายด้วยแล้ว ก็เป็นการจุดปะทุให้มีการเก็งกำไรซื้อขายที่ดิน

สิ่งจูงใจที่ปรากฏในกฎหมายสถานตากอากาศได้ดูดดึงธุรกิจจำนวนมากเข้ามาหาผลประโยชน์ ไม่จำเพาะแต่ ธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจสนามกอล์ฟ หากยังครอบคลุมถึงธุรกิจโรงแรม ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจบริษัทการค้า และธุรกิจต่อเรือ ในเวลาไม่ช้าไม่นานนัก สนามกอล์ฟก็ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่สนามกอล์ฟที่ผุดขึ้นมิใช่เพียงด้วยสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจที่กฎหมายตากอากาศเกื้อกูลให้เท่านั้น หากยังเป็นเพราะเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย

เหตุปัจจัยด้านแรก ได้แก่ ความต้องการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจของนักการเมืองและข้าราชการ สนามกอล์ฟเป็นธุรกิจการเมืองประชาชน ชาวญี่ปุ่นต่อต้านการสร้างสนามกอล์ฟด้วยความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการสร้างสนามกอล์ฟไม่เพียงแต่กระทบต่อการประกอบการเกษตร เนื่องจากมีการกว้านซื้อที่ดินการเกษตรไปสร้างสนามกอล์ฟเพิ่มขึ้นเท่านั้น หากยังมีผลในการทำลายป่าอีกด้วย เมื่อป่าไม้ถูกโค่นเพื่อสร้างสนามกอล์ฟ ความแห้งแล้งก็ตามมา เพราะสนามกอล์ฟไม่สามารถอุ้มน้ำได้มากเท่าป่า นอกจากนี้ สนามกอล์ฟยังกินน้ำกินสารเคมี เพราะต้องให้เขียวชอุ่มอยู่เสมอ จึงต้องใช้ปุ๋ยและฉีดยากำจัดศัตรูพืช รวมตลอดจน ฉีดน้ำจำนวนมาก เคมีภัณฑ์เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำลายสุขภาพของพนักงานสนามกอล์ฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานเก็บลูกกอล์ฟเท่านั้น หากยังทำลายสภาพนิเวศ และมีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย ด้วยเหตุดังนี้ จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่แรงต่อต้านการสร้างสนามกอล์ฟหนาแน่น อันเป็นเหตุให้ธุรกิจสนามกอล์ฟต้องพึ่งอำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองและข้าราชการ

เหตุปัจจัยที่สอง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วงปี ค.ศ.1986-1990 กำไรที่ได้จากการเก็งกำไรในตลาด หลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งถูกผันไปสร้างสนามกอล์ฟ ในเวลาต่อมาก็เกิดการเก็งกำไรซื้อขาย สมาชิกภาพสนามกอล์ฟ ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ.1982 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บัตรสมาชิกสโมสรมิใช่หลักทรัพย์ตามนิตินัย แต่การซื้อขายบัตรสมาชิกสโมสร ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมาย ด้วยเหตุดังนี้ การสร้างสนามกอล์ฟจึงไม่ต้องใช้เงินทุน เริ่มต้นมากนัก เพราะสามารถระดมทุนจากผู้สมัครเป็นสมาชิกริเริ่ม เมื่อมีการเก็งกำไรจากการซื้อขายบัตรสมาชิกสโมสรกอล์ฟมากขึ้น การสร้างสนามกอล์ฟก็สามารถระดมทุนได้อย่างง่ายดาย การเก็งกำไรจากการซื้อขาย สมาชิกภาพสนามกอล์ฟ นี้เอง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจสนามกอล์ฟขยายตัว

เหตุปัจจัยที่สาม ได้แก่ ความนิยม เล่นกอล์ฟที่มีมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่มีส่วนสร้างอุปสงค์เทียม (Artificial Demand) เมื่อเศรษฐกิจรุ่งเรือง บริษัทธุรกิจไม่เพียงแต่จะมีกำไรจากการประกอบการเท่านั้น หากยังมีกำไรจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย บริษัทธุรกิจเหล่านี้เริ่มส่งเสริมให้พนักงานเล่นกอล์ฟ โดยบริษัทรับภาระรายจ่ายในการฟื้นฟูสุขภาพ พนักงานที่ไม่เคยเล่นกอล์ฟมาก่อน เริ่มหัดเล่น ส่วนพนักงานที่เล่นกอล์ฟอยู่แล้ว ก็มีโอกาสเล่นมากขึ้น เพราะบริษัทรับภาระรายจ่ายบางส่วน อุปสงค์การเล่นกอล์ฟที่มีมากขึ้น ส่วนสำคัญมาจากสตรี ด้วยการอุปถัมภ์ของบริษัท พนักงานสตรีจำนวนมากเริ่มหัดเล่นกอล์ฟ

ในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งทศวรรษ กฎหมายสถานตากอากาศ ผสมผสานกับเศรษฐกิจฟองสบู่ ได้แปรโฉมหน้ารัฐญี่ปุ่นให้กลายเป็น "รัฐตากอากาศ" (Resort State) และหากกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือ "รัฐกอล์ฟ"(Golf State) ในปี ค.ศ.1990 ก่อนที่เศรษฐกิจ ฟองสบู่จะแตกสลาย ญี่ปุ่นมีสนามกอล์ฟ 1,700 แห่ง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 325 แห่ง และกำลังมีแผนที่จะก่อสร้างอีก 983 แห่ง ทั้งนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การ แตกสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ในปีต่อมามีผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างสนามกอล์ฟเหล่านี้เพียงใด จำนวนสนามกอล์ฟ 2,000-3,000 สนามนี้นับว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีมากกว่า 13,000 สนาม แต่ต้องนับว่ามาก เมื่อคิดถึงความจำกัดของที่ดินในญี่ปุ่น และเมื่อคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ญี่ปุ่นมีพื้นที่ใกล้เคียงกับมลรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น

เศรษฐกิจฟองสบู่มิได้มีผลกระทบต่อธุรกิจสนามกอล์ฟภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบสู่ดินแดนโพ้นทะเลอีกด้วย ทุนญี่ปุ่นเริ่มออกไปเกื้อหนุนธุรกิจสนามกอล์ฟในประเทศต่างๆ ที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ขอบสมุทรแปซิฟิก ความจำกัดของที่ดิน และแรงต่อต้านการสร้างสนามกอล์ฟภายในประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มหันไปส่งเสริมธุรกิจสนามกอล์ฟในต่างประเทศ ในประการสำคัญ แม้สนามกอล์ฟในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ค่าสมาชิกและค่าธรรมเนียมในการเล่นกอล์ฟยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่ราคาที่ดิน ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้วยการส่งสัญญาณความต้องการสนามกอล์ฟในดินแดนโพ้นทะเล ประกอบกับการเกื้อหนุนของทุนญี่ปุ่น สนามกอล์ฟจำนวนมากจึงผุดขึ้นในประเทศขอบสมุทรแปซิฟิก ไล่ตั้งแต่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐ Queensland, Western Australia และ New South Wales) และฮาวาย

ภาพนักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางไปตีกอล์ฟในไต้หวันในวันสุดสัปดาห์ปรากฏอย่างแพร่หลาย แม้จะต้องเสียค่าเดินทางและค่าโรงแรม แต่เมื่อรวมกันแล้วยังถูกกว่าการเล่นกอล์ฟภายในประเทศญี่ปุ่น กองทัพนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเริ่มขับเคลื่อนสู่ประเทศขอบสมุทรแปซิฟิก ด้วยพลังขับดันของเศรษฐกิจฟองสบู่ ส่วนหนึ่งเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ตากอากาศ และฟื้นฟูสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งเพื่อเล่นกอล์ฟ เศรษฐกิจฟองสบู่ในญี่ปุ่นจึงก่อให้เกิดความเฟื่องฟูในธุรกิจสนามกอล์ฟในประเทศเหล่านี้

เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกสลาย ญี่ปุ่นก็คืนสู่สภาวะตามธรรมชาติ จำนวน ผู้เล่นกอล์ฟลดลงสู่ระดับเดียวกับเมื่อยังไม่เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ นักเล่นกอล์ฟสตรีหายไปจากสนาม นักกอล์ฟที่ยังเล่น อยู่ก็ต้องหาทางลดรายจ่าย เพราะบัดนี้บริษัทธุรกิจเลิกให้เงินอุดหนุนการเล่นกอล์ฟ จำนวนแคดดีลดน้อยลง เพราะนักกอล์ฟหันไปใช้รถลากถุงกอล์ฟ (Golf Cart) เอง ความตกต่ำของอุปสงค์ ทำให้ค่าธรรมเนียมการเล่นกอล์ฟลดลง สนามกอล์ฟแข่งกันแย่งลูกค้าด้วยการลดราคา หรือมิฉะนั้นก็แถมอาหารและเครื่องดื่ม

การแตกสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ในญี่ปุ่น มีผลกระทบต่อธุรกิจสนามกอล์ฟในประเทศขอบสมุทรแปซิฟิกด้วย เพราะธุรกิจสนามกอล์ฟในประเทศเหล่า นี้ขยายตัวเพื่อรองรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกสลาย อันนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อยาวนาน นับแต่ปี ค.ศ.1991 เป็นต้นมา อำนาจซื้อของประชาชนชาวญี่ปุ่นย่อมลดน้อยถอยลง ภาพนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นแบกถุงกอล์ฟ สู่ดินแดนโพ้นทะเลหดหายตามไปด้วย ในขณะที่นักธุรกิจญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเล่นกอล์ฟได้มากเท่าในยามที่ธุรกิจรุ่งเรือง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us