ธุรกิจแบงก์พาณิชย์ปีระกาแข่งเดือด หลังซ่อมแซมความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปีไก่เดินเครื่องลุยธุรกิจเต็มรูปแบบ จับกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มฐานรายได้ค่าธรรมเนียม ตั้งเป้าสินเชื่อโตเฉลี่ย 5-6% ตามจีดีพี ยักษ์ใหญ่แบงก์กรุงเทพ กินบุญเก่า ชูเครือข่ายเสริมความสัมพันธ์กับลูกค้า กรุงไทยพลิกบทบาทก้าวเป็นธนาคารสะดวกซื้อ กสิกรไทยหวั่นดอกเบี้ยขาขึ้นแบงก์ทำกำไรลำบาก กรุงศรีอยุธยาโชว์ระบบเทคโนโลยีแกร่งพร้อมลุยธุรกิจ นครหลวงไทยดึงพันธมิตรเสริมจุดแข็งไทยพาณิชย์ มั่นใจระบบแบงก์โตได้ 5-6%
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ในปี 2548 มีแนวโน้มการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยมีปัจจัยหลักจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้ภาคการลงทุนมีการชะลอตัว เพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะส่งผลถึงภาพรวมการใช้จ่ายให้ลดลงตามไปด้วย บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ต้องปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการขยายส่วนแบ่งตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 อันดับแรก ที่มีขนาดสินทรัพย์ มากที่สุดประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคาร กสิกรไทย มีสินทรัพย์รวม 1,386,038 ล้านบาท 1,169,189 ล้านบาท และ 840,417 ล้านบาท ตามลำดับ
แบงก์กรุงเทพชูเครือข่ายดึงลูกค้า
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะการแข่งขันธุรกิจภาคธนาคารพาณิชย์ใน ปี 2548 ยังคงมีอยู่สูง โดยเฉพาะจะมีธนาคารพาณิชย์ แห่งใหม่ยกระดับขึ้นมาแข่งขันในกลุ่มของรายย่อย ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันที่จะเกิดขึ้น เช่น ออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า
นอกจากนี้ ธนาคารมั่นใจเครือข่ายสาขาและพนักงานที่มีความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งเชื่อมโยงถึงธุรกิจของลูกค้ากับธนาคารได้อย่างลงตัว ธนาคารได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้ามาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ธุรกิจของลูกค้าบางรายมีการเติบโตพร้อมๆ กับธนาคาร ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในปีหน้ายังมีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ โดยการขยายตัวยังมีทั้งด้านการลงทุนในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และการจ้างงานมากขึ้น
สำหรับเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อนั้น ธนาคารได้ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 6% ตามภาวะการขยายตัวของจีดีพี ซึ่งการปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังคงมุ่งเน้นใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ รายกลาง รายปลีก และลูกค้ารายย่อย โดยจะให้ความสำคัญในระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การบริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งลูกค้าทั้ง 4 กลุ่มถือว่าเป็นฐานรายได้ที่มั่นคงให้แก่ธนาคาร
กรุงไทยพลิกบทบาทเตรียมก้าวเป็น Convenience Bank
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกำลังทบทวนและเร่งหาจุดแข็งของตัวเองทั้งหมด เพื่อให้เกิดความได้เปรียบนั้นมาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การจัดการเงินผ่านระบบ GFMIS ให้แก่ภาครัฐที่ขณะนี้บริหารครึ่งหนึ่ง ของงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งระยะต่อไปจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมารุกสู่ภาคเอกชนต่อไป เพื่อให้คุ้มต้นทุนที่สุด ด้วยการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ธนาคารจะเสนอบริการได้อีกมาก เช่น ระบบรับชำระเงิน บริการรับฝากหลักทรัพย์ หรือคัสโตเดียน
จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของธนาคารกรุงไทย คือ การเป็นธนาคารที่รับจัดการรับชำระและบริหารเงิน นับว่าเป็นธุรกิจหลักของธนาคารในอนาคตในระยะ 3-5 ปีธนาคารเตรียมตัวที่จะก้าวขึ้นเป็น Convenience Bank หรือธนาคารสะดวกซื้อ โดยลูกค้าย่างก้าวเข้ามาจะได้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลับไปครบถ้วน เท่าที่ธนาคารพาณิชย์จะเสนอให้ได้ ไม่แตกต่างจากร้านค้าสะดวกซื้อทั่ว ๆ ไป แนวคิดจะคล้ายกับธนาคารเต็มรูปแบบ แต่แตกต่างกันเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารสะดวกซื้อไม่จำเป็นต้องมาจากธนาคาร หรือบริษัทในเครือเท่านั้น อาจจะมาจากแหล่งอื่นภายนอกก็ได้ ถ้าธนาคารเห็นว่าถูกและดีก็จะนำมาขายให้ลูกค้า
"เราจะเป็น Convenience Bank พนักงานต้องขายของเป็นนำเสนอสินค้าข้ามกลุ่ม ที่เป็นโปรแกรมที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องไปเตรียมคนและพัฒนา และแน่นอนต้องมี incentive เข้ามาเป้าหมายคือ เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2548 โตขึ้น 30% เพื่อเพิ่มสัดส่วนจาก 10% ให้เป็น 20% ของรายได้ ส่วนสินเชื่อจะขยายอีก 70,000 ล้านบาท คิดเป็น 7-8% จากปีที่ผ่านมา สินเชื่อเติบโต 14% หรือเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท" นายอภิศักดิ์กล่าว
กสิกรไทยตั้งเป้าสินเชื่อโต 7%
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ จะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในปีหน้านั้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวจากปีนี้ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ และความผันผวนของ อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
"การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้การปล่อยสินเชื่อทำได้อย่างจำกัด ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อไว้ที่ 7% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่โตประมาณ 6-7% ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 5-6% สำหรับสถาบันการเงินที่จะเกิดขึ้นจากแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Master Plan) จะไม่ส่งผลกระทบในทันทีต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร แต่จะเห็นการแข่งขันอีกประมาณ 2-3 ปี เพราะขนาดของธนาคารยังไม่ใหญ่พอที่จะส่งผลกระทบโดยตรง"
แบงก์ทำกำไรลำบากขึ้น
ด้านผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้น นายประสารกล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีความสามารถทำกำไรได้น้อยลง สืบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้กำไรจากการลงทุนในพันธบัตรลดลง รวมถึงการปล่อยสินเชื่อทำได้ลำบาก ซึ่งจะทำให้ธนาคารหันมาให้ความสำคัญ กับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมากขึ้น โดยในส่วนของธนาคารเองคาดว่าจะมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยประมาณ 30% ของรายได้รวมทั้งหมด
นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างรายได้ ของธนาคารลำบากขึ้น เพราะในปีหน้าเป็นปีแรกและเป็นธนาคารรายแรกที่จะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30% ขณะที่ธนาคารอื่น เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกรุงเทพ จะจ่ายภาษีช้ากว่าของธนาคาร เนื่องจากในปี 2540 ธนาคารตัดสินใจตั้งสำรอง 100% ซึ่งทางการให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีได้ 5 ปี
ไทยพาณิชย์มั่นใจธุรกิจแบงก์โตอีก 5-6%
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2548 จะอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตไม่สูงเท่ากับปีที่ผ่านมา เครื่องจักรที่จะส่งผลต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์หลักๆ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศต้องจับตามองถึงนโยบาย จะมีผลกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศไทยภาวะเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 5-6%
ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐบาล แต่การบริโภคส่วนบุคคลอาจจะลดลงจากปัจจุบัน และปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่บ้าง ซึ่งในระบบธนาคารพาณิชย์มุ่งขยายสินเชื่อจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและของกลุ่มธุรกิจรายย่อย คาดว่าในระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวประมาณ 5-6% ระดับใกล้เคียงกับภาวะเศรษฐกิจ
"ปีนี้ถือว่าเป็นปีแห่งการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งมุ่งแก้ไขปัญหาในอดีต และเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าทุกแห่งต้องลุยธุรกิจอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างรายได้และผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยสังเกตได้จากธนาคารพาณิชย์เริ่มมีกำไรจากงวดปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นทิศทางอย่างนี้ต่อเนื่องอีก" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว
กรุงศรีอยุธยาโชว์ระบบข้อมูลพร้อมลุยธุรกิจ
นายจำลอง อติกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีการลงทุนระบบเทคโนโลยีเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจของธนาคาร ดังนั้น ในปี 2548 นี้ ธนาคารจะเดินหน้าลุยธุรกิจอย่างเต็มที่ เพราะเทคโนโลยีจะช่วยเหลือด้านข้อมูลการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งอาศัยเครือข่ายสาขาพนักงานมาเป็นจุดขายผลิตภัณฑ์ คาดว่าสามารถสร้างรายได้และกำไรให้แก่ธนาคารในอัตราที่ก้าวหน้า ธนาคารจะไม่เน้นที่จะเพิ่มขนาดหรือไต่อันดับ แต่มีเป้าหมายที่เป็นธนาคารเข้มแข็งให้บริการที่ดีกับลูกค้า นำเสนอให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4 ผลิตภัณฑ์ต่อราย ซึ่งเป็นนโยบายของแบงก์เต็ม รูปแบบ
สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเติบโตประมาณ 7% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่โต 3-4% ส่วนลูกค้ารายย่อยโต 10%
แบงก์ชฎาเล็งหาคู่เสริมจุดแข็ง
นายอรุณ จิรชวาลา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารจะเน้นนโยบายการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (Universal Bank) ที่จะสรรหาผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอให้กับลูกค้าได้อย่างครบถ้วน หากยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดที่ธนาคารหรือบริษัทในเครือไม่สามารถทำได้ จะดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุรกิจดังกล่าวด้วย เช่น บริการด้านลิสซิ่ง ไฮเปอร์เชส หรือผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อขยาย รายได้จากค่าธรรมเนียม
"ธนาคารมั่นใจความสามารถในการทำกำไรปี 2548 จะสูงกว่าปีนี้แน่นอน โดยปกติรายได้ที่มาจากส่วนต่างดอกเบี้ยคงจะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ และความสามารถในการขยายสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันส่วนต่างดอกเบี้ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 3% และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 20% จาก 1,600 ล้านบาทในปีนี้ โดยเป้าปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 40,000-50,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 20%"
|