กรณีล้มละลายปลายปีที่แล้วบริษัท เอนรอน (Enron Corp) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าพลังงานสหรัฐ
เคยเป็นบริษัทติดอันดับ 1 ใน 10 ของการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune สร้างความตกตะลึงอย่างมากต่อวงการธุรกิจทั่วโลก
เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน เอนรอนเป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐและของโลก
มูลค่าทรัพย์สินเกือบ 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจเครือข่ายทั่วโลก ราคาหุ้นเอนรอนในตลาดหุ้นนิวยอร์กเคยพุ่งทะยาน
เนื่องจากหุ้นเอนรอนจัดเป็นหุ้นชั้นดีในตลาดฯ
บริษัทเอนรอนยังมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลสหรัฐปัจจุบัน
อีกทั้งผู้บริหารเอนรอนยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีบุช แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
เมื่อเปิดเผยว่า แท้ที่จริง เอนรอนปกปิดฐานะการเงินแท้จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เอนรอนมีหนี้สินหลายพันล้านดอลลาร์ที่ไม่ปรากฏในงบการเงิน ตลอดจนแสดงรายได้เกินจริงเกือบ
600 ล้านดอลลาร์สหรัฐช่วง 5 ปีก่อนล้มละลาย ข้อมูลฐานะการเงินที่แท้จริงเอนรอนถูกสืบค้น
และค่อยๆ ถูกเปิดเผยเป็นลำดับจนทุกวันนี้
การตรวจสอบเบื้องต้น ตอนที่เอนรอนถูกยื่นฟ้องสู่กระบวนการล้มละลายธันวาคมปีที่แล้ว
ทรัพย์สินเอนรอนเหลือเพียง 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดประมาณ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพียง
2 เดือน ยังผลให้ราคาหุ้นเอนรอนลดเหลือเพียง 26 เซนต์ก่อนวันเข้ากระบวนการล้มละลาย
เทียบกับ 85 ดอลลาร์สหรัฐหนึ่งปีก่อนหน้า
การล้มละลายของเอนรอนทำให้ผู้ถือหุ้นเอนรอนสูญเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ติดตามด้วยการที่พนักงานเอนรอนทั่วโลกกว่า 27,000 คนต้องตกงาน ยิ่งกว่านั้น
ยังทำให้เงินออมพนักงานในรูปเงินกองทุนบำนาญที่ลงทุนด้วยการซื้อหุ้นเอนรอน
ต้องอันตรธานด้วย
กรณีเอนรอนสร้างความสั่นสะเทือนทั่ววงการธุรกิจสหรัฐ ส่งสัญญาณทั้งในสหรัฐและทั่วโลก
ถึงหายนะธุรกิจเนื่องจากขาดจรรยาบรรณ ความไม่โปร่งใส กล่าวโดยสรุปขาดหรือละเลยบรรษัทภิบาลที่ดี
(Good Corporate Governance) ในองค์กร
ปัจจุบันในประเทศไทย มีกระแสตื่นตัวบรรษัทภิบาลมากขึ้น ขณะนี้รัฐบาลกำหนดให้บรรษัทภิบาลเป็นวาระแห่งชาติ
ประกาศให้ปี 2545 เป็นปีแห่งการส่งเสริมบรรษัทภิบาล พร้อมกำหนดแนวทางพัฒนาบรรษัทภิบาลแห่งชาติ
ปัญหาและสาเหตุหายนะเอนรอน
ความหายนะเอนรอนทำให้เกิดคำถามตามมามากมายจากวงการธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐสหรัฐ
ว่าอะไรคือสาเหตุปัญหา จะป้องกันแก้ไขอย่างไร เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีก
ปัญหาพื้นฐานเอนรอนเกิดจากการปกปิดและตกแต่งตัวเลขบัญชี ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดฐานะการเงินที่แท้จริงบริษัท
ทั้งตัวเลขรายได้ กำไร และหนี้สินมากมายที่เอนรอนก่อ โยงถึงคำถามประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานระบบบัญชี
จรรยาบรรณผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี ตลอดจนจริยธรรมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารบริษัท
รวมทั้งความบกพร่องกฎเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติ ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข พอสรุปดังนี้
1. หลังจากเกิดกรณีเอนรอน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสหรัฐพยายามวิเคราะห์ปัญหามาตรฐานระบบบัญชี
พบประเด็นใหญ่เกิดจากผู้ปฏิบัติจงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่กำหนด โดยรู้เห็นเป็นใจหลายฝ่าย
ปกปิดตัวเลขบัญชี ทั้งจากสมุห์บัญชีบริษัท ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก และผู้บริหารเอนรอน
การอำพรางฐานะการเงินที่แท้จริงเอนรอน กระทำผ่านนิติบุคคลจัดตั้ง ที่เรียกว่า
นิติบุคคลเฉพาะ (Special Purpose Entities : SPE) ดังนั้นตัวเลขการกู้ยืมเงิน
หรือการก่อหนี้มากมาย และผลขาดทุนเอนรอน จะถูกโอนถ่ายออกจากงบการเงินเอนรอนไปยังนิติบุคคลเหล่านี้
ซึ่งเอนรอนตั้งขึ้นลักษณะเฉพาะกิจตามธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมกว่า 3 พันนิติบุคคล
ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ ซึ่งเอนรอนมิได้รวมในงบการเงินบริษัท ดังนั้นงบการเงินเอนรอนปรากฏแต่ทรัพย์สินที่ดี
และผลกำไรที่น่าชื่นชม
ในอดีต ธุรกิจสหรัฐมักตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือโอนย้ายทรัพย์สินและหนี้สินบริษัท
โดยที่นิติบุคคลเหล่านี้ไม่ถูกนับเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทแม่ต้องนำธุรกรรมและงบการเงินรวมด้วย
ปัจจุบันกฎหมายอเมริกันกำหนดให้ต้องนำธุรกรรมดังกล่าวแสดงในงบการเงินรวมบริษัท
ดังนั้นกรณีเอนรอนจึงส่อเจตนาหลบเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับกฎหมายและมาตรฐานบัญชี
ด้วยการรู้เห็นเป็นใจระหว่างผู้บริหารเอนรอน เจ้าหน้าที่บัญชีบริษัท และผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก
ทำให้งบการเงินของเอนรอนที่เสนอสาธารณชนปรากฏแต่ทรัพย์สินดีๆ และผลกำไรที่สูงเกินจริง
ขณะที่ตัวเลขหนี้สินและผลขาดทุนไม่แสดงตามจริง จากงบการเงินที่ตกแต่งให้ดูสวยงาม
รับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงระดับโลก Arthur Andersen ทำให้หุ้นเอนรอนในตลาดฯ
ราคาดีดึงดูดนักลงทุน
กรณีเอนรอนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความบกพร่องบรรษัทภิบาลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายระดับ
ซึ่งรวมถึงจริยธรรมผู้บริหาร และจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี
2. กรณีเอนรอนยังเกิดคำถามตามมา เกี่ยวกับประเด็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์
(Conflict of Interest) ของการควบบทบาทผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระภายนอก และบทบาทการเป็นที่ปรึกษาต่างๆ
ทั้งด้านการเงิน การบัญชี ฯลฯ เวลาเดียวกัน
เพราะบริษัทเอนรอนจ้าง Arthur Andersen เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ขณะเดียวกัน
Arthur Andersen เป็นที่ปรึกษาการเงินภายในให้เอนรอนควบคู่ไปด้วย ตามข้อบังคับกฎหมายสหรัฐไม่ห้าม
อย่างไรก็ตามกรณีเอนรอนนำไปสู่การพิจารณาทบทวนประเด็นบทบาทซ้ำซ้อนเหล่านี้
ขณะนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการธุรกิจผู้ตรวจสอบบัญชี
กำลังสรุปหามาตรการแก้ไข
3. กรณีเอนรอนไม่เพียงสร้างความเสียหายโดยตรงกับองค์กรและผู้ถือหุ้นบริษัท
ตลอดจนพนักงานจำนวนมากที่ต้องตกงาน แต่ยังสร้างความเสียหายต่อเงินออมพนักงานที่สะสมในกองทุนบำนาญพนักงานบริษัท
เอนรอน เนื่องจากกว่า 60% ของเงินกองทุนดังกล่าว ลงทุนหุ้นของเอนรอน
เมื่อบริษัทล้มละลาย พนักงานเหล่านี้พลอยสูญเสียเงินออมส่วนนี้ด้วย กรณีเอนรอนจึงเกิดอีกประเด็นปัญหาตามมา
เกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงการลงทุนตลาดหุ้นของกองทุนบำนาญ เนื่องจากในสหรัฐ
บริษัทอีกมากที่กองทุนบำนาญพนักงานลงทุนหุ้นบริษัทตนเอง ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ
ในสหรัฐ กำลังทบทวน เพื่อวางกฎเกณฑ์หรือแนวทางเหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องนี้
4. ความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเอนรอน นอกจากเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับมาตรฐานบัญชี
และการมี Conflict of Interest ของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีดังกล่าว การขาดความรับผิดชอบ
และถือประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ของผู้บริหารเอนรอน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความหายนะครั้งนี้
ไม่ว่าจะการปั่นหุ้นเอนรอนในตลาดฯ ด้วยการแสดงผลประกอบการบิดเบือน ทำให้ผู้บริหารเอนรอนรับกำไรมหาศาลจากขายหุ้นก่อนที่ความจริงฐานะการเงินบริษัทจะปรากฏเวลาต่อมา
ขณะที่ประชาชนมากมายที่ซื้อหุ้นเอนรอน ต้องขาดทุน สูญเสียหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อหุ้นเอนรอนดิ่งจนแทบไม่มีราคา
นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์วิกฤตเอนรอนไม่นาน ผู้บริหารเอนรอนยังอนุมัติจ่ายโบนัสมหาศาลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเอนรอนด้วยกันเองเพียงไม่กี่คน
มูลค่าสูงถึง 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงไม่กี่วันก่อนเกิดกรณีอื้อฉาว
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริหารเอนรอนละเลยการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม
มองข้ามความสำคัญบรรษัทภิบาล เป็นเพราะความชะล่าใจ หรือความประมาท เนื่องจากบริษัท
เอนรอนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดพรรคการเมืองในสหรัฐ และยังเป็นฐานสนับสนุนการเงินพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา
อีกทั้งผู้บริหารเอนรอนมีสายสัมพันธ์กับทำเนียบขาว อาจทำให้ผู้บริหารเอนรอนประเมินสถานการณ์ผิดพลาด
ว่าโอกาสที่การกระทำอันไม่ถูกต้อง จะถูกเปิดเผยนั้น แทบเป็นไปไม่ได้
บทเรียนและแนวทางแก้ไขในสหรัฐ
กรณีเอนรอนนำสู่ประเด็นคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ
มาตรฐานการบัญชี และความโปร่งใส รวมถึงข้อสงสัยฐานะการเงินที่ปรากฏในงบการเงินบริษัทต่างๆ
ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทำบัญชีดีที่สุดในโลก
แท้จริงเชื่อถือได้เพียงใด
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้นำสู่การเรียกร้องให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับปรุงกฎระเบียบทำบัญชีบริษัทจดทะเบียนให้เข้มงวดขึ้น
รวมทั้งให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ดูแลการซื้อขายหุ้นใกล้ชิดมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีและการเงิน กำลังพิจารณาแนวทางป้องกันมิให้เกิดการบิดเบือนปกปิดฐานะการเงินบริษัท
โดยโอนย้ายทรัพย์สิน/หนี้สินผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักเบื้องหลังหายนะเอนรอน
ตลอดจนหามาตรการป้องกันมิให้ผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระภายนอก ทำหน้าที่ที่ปรึกษา
ด้านการเงิน บัญชี ฯลฯ บริษัทเวลาเดียวกัน เพื่อมิให้เกิด Conflict of Interest
แบบกรณีเอนรอน อีกทั้งมีข้อเสนอให้หมุนเวียนสับเปลี่ยน (Rotation) ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกบริษัท
ไมใช่ให้รายเดียวตรวจสอบตลอด
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังทบทวนข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลบริษัท
และการดูแลเงินบำนาญพนักงานบริษัท ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีเอนรอน การกระจายความเสี่ยงการลงทุนโดยกองทุนบำนาญพนักงาน
กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะไม่ใช่เฉพาะกรณีเอนรอนเท่านั้น
ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทในสหรัฐที่นำเงินออมพนักงานที่เก็บสะสมไว้ใช้ยามเกษียณรูปกองทุนบำนาญ
ลงทุนหุ้นบริษัทที่พนักงานทำงานอยู่สัดส่วนสูง
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทบทวนกฎเกณฑ์ เพื่อวางแนวทางให้เหมาะสมขึ้น
นอกจากนั้น ยังเสนอให้ทางการอเมริกันกำหนดกฎเกณฑ์ที่ธุรกิจจะสนับสนุนการเงินพรรคการเมืองให้เหมาะสมด้วย
เพื่อควบคุมดูแลการเอื้อประโยชน์เกื้อกูลกัน ระหว่างธุรกิจและการเมืองในทางที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อจริยธรรมธุรกิจ
ปี 45…จุดประกายบรรษัทภิบาลแห่งชาติไทย
สำหรับไทย ความตระหนักความสำคัญบรรษัทภิบาลเพิ่มตามลำดับช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
โดยเหตุการณ์กรณีเอนรอนช่วยกระตุ้นกระแสบรรษัทภิบาลในไทยยิ่งขึ้นอีก ปี 2545
รัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการส่งเสริมบรรษัทภิบาลไทย เมื่อเร็วๆ นี้ กำหนดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายประสาร
ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ นายชวลิต ธนชานันต์
นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมนักบัญชี
และสมาคมผู้ตรวจสอบบัญชี ร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย รัฐบาลมอบหมายให้สำนักงาน
ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ยกร่างกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อเสริมสร้างบรรษัทภิบาลภาคธุรกิจไทย
บรรษัทภิบาล หรือธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ ซึ่ง ก.ล.ต.เรียกว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี
ความหมายคือ การมีจรรยาบรรณ จริยธรรม และความโปร่งใสประกอบธุรกิจกรรมการบริษัท
ตลอดจนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบองค์กร นำไปสู่ความยุติธรรม ความชอบธรรมต่อผู้ถือหุ้น
ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ องค์กรนั้น
ที่จริง บรรษัทภิบาลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างตระหนักความสำคัญบรรษัทภิบาล
ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง หากจะให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาและเติบโตยั่งยืน
จึงพยายามร่วมกันสร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
โดยผลักดันบริษัทเหล่านี้พัฒนาบรรษัทภิบาลตั้งแต่ปี 2538 หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี
2540 ความตระหนักความสำคัญบรรษัทภิบาลเพิ่มขึ้น ล่าสุดกระแสความตื่นตัวบรรษัทภิบาลพุ่งขึ้นอีก
หลังเหตุการณ์ล้มละลายบริษัท เอนรอน ทำให้ทั่วโลกรวมทั้งไทย ให้ความสำคัญการมีธรรมาภิบาลองค์กรธุรกิจมากขึ้น
การเสริมสร้างบรรษัทภิบาลในไทย เร่งดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และการสนับสนุนจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี
2540 เรื่องหลักๆ อาทิ ผลักดันให้ทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ
(Audit Committee) เสริมสร้างระบบตรวจสอบบัญชีภายใน และพัฒนาบรรษัทภิบาล
คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วย บุคคลอิสระที่ไม่ได้เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท
หน้าที่พิจารณาความถูกต้องงบการเงิน ความเหมาะสมระบบควบคุมและตรวจสอบภายใน
ตลอดจนปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการ โดยต้องประสานงานกับกรรมการ และผู้บริหารบริษัท
รวมทั้งผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว
นอกจากนี้ประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนกองทุนบำนาญ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน
ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในสหรัฐ ทำให้ขณะนี้หน่วยงานสหรัฐต้องทบทวนกฎเกณฑ์ สำหรับไทย
ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต.ออกกฎเกณฑ์กำหนดสัดส่วนการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในหุ้นหรือหลักทรัพย์
ที่บริษัทนายจ้างเป็นผู้ออก ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนฯ
เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน
จากเอนรอนสู่แคลเปอร์ส….ปลุกกระแสบรรษัทภิบาลไทย
ในไทย นอกจากกรณีเอนรอนที่ปลุกกระแสความตื่นตัวบรรษัทภิบาล กรณีที่ได้รับความสนใจกว้างขวางเมื่อเร็วๆ
นี้ คือการปรับเกณฑ์ใช้พิจารณาลงทุนของแคลเปอร์ส (CalPERS : California Public
Employees’ Retirement System) ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญข้าราชการรัฐแคลิฟอร์เนีย
และเป็นกองทุนบำนาญขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ มูลค่ากองทุนกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
แคลเปอร์สปรับเกณฑ์พิจารณาการลงทุน โดยนำปัจจัยใหม่ๆ ประกอบการพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติม
ได้แก่ ปัจจัยด้านความโปร่งใสองค์กร ปัจจัยการปฏิบัติต่อแรงงาน นอกจากปัจจัยเดิมๆ
ที่เคยใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ ปัจจัยด้านธุรกิจการตลาด ปัจจัยระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมาย
ตลอดจนปัจจัยการเมือง เป็นต้น
การปรับเกณฑ์การลงทุนของแคลเปอร์สได้รับความสนใจในไทยมาก เนื่องจากตามเกณฑ์ใหม่
ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่กลุ่มประเทศที่ยังด้อยหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใส
และบรรษัทภิบาล ซึ่งครอบคลุมมาตรฐานบัญชี และการเปิดเผยข้อมูล การปรับเกณฑ์แคลเปอร์ส
ยิ่งชี้ให้เห็นความสำคัญบรรษัทภิบาล ที่ต่อไปนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งตัดสินใจของนักลงทุน
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ปัจจุบันแนวโน้มความสนใจบรรษัทภิบาลในไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากปัจจัยหลายด้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปดังนี้
ประการแรก รัฐบาลเน้นความสำคัญบรรษัทภิบาล กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติดังกล่าว
นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน ก.ล.ต.
และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดแนวทาง รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปฏิบัติ
จะนำไปสู่การพัฒนาบรรษัทภิบาลในองค์กร
ประการที่สอง ปัจจุบันประเด็นบรรษัทภิบาลกลายเป็นหนึ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังทวีความสำคัญ
ในไม่ช้าบรรษัทภิบาลจะกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจไทยปฏิเสธไม่ได้
หากยังต้องการขายสินค้าและบริการต่างประเทศ หรือหากยังต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ
กรณีแคลเปอร์สที่ปรับเกณฑ์พิจารณาลงทุน โดยนำประเด็นบรรษัทภิบาลเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ
เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ยิ่งกว่านั้น ในอนาคตเป็นไปได้สูงว่าประเด็นบรรษัทภิบาลอาจใช้เป็นข้ออ้างกีดกันการค้าระหว่างประเทศ
หากไทยไม่เร่งพัฒนาบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง จะไม่สามารถรับมือปัญหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญบรรษัทภิบาลภาครัฐ เห็นว่ากระบวนการพัฒนาบรรษัทภิบาลในไทย
ต้องดำเนินการหลายองค์ประกอบพร้อมๆ กัน ไม่ว่าด้านการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์
และมาตรฐานต่างๆ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้มีบรรษัทภิบาล ต้องอาศัยความร่วมมือประสานงานองค์กรต่างๆ
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พอสรุปได้ดังนี้
1. สนับสนุนให้ออก พ.ร.บ.วิชาชีพนักบัญชีโดยเร็ว สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยดำเนินการเพื่อให้ออกกฎหมายนี้นานแล้ว
ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสริมสร้างกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ช่วยให้การกำกับดูแลทำได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเสนอให้เร่งปรับปรุงทบทวนมาตรฐานบัญชี ตลอดจนจรรยาบรรณนักบัญชี
และผู้สอบบัญชี ให้เป็นสากลมากขึ้น เนื่องจากการยกระดับมาตรฐานบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลไม่เกิดผลเลย
หากจรรยาบรรณผู้ปฏิบัติไม่ปรับปรุงให้สอดคล้องกัน
กรณีบริษัท เอนรอนและผู้ตรวจสอบบัญชีสหรัฐ เป็นตัวอย่างเห็นชัดเจน ทั้งยังให้ตั้งสภานักบัญชี
เพื่อควบคุมจรรยาบรรณนักบัญชี และดูแลแนวทางการปฏิบัติงานบัญชีด้วย รวมทั้งเสนอให้แบ่งแยกงานตรวจสอบบัญชี
และงานที่ปรึกษาออกจากกัน เพื่อป้องกันการเกิด Conflict of Interest แบบกรณีเอนรอน
ควรกำหนดห้ามไม่ให้บริษัทเดียวกัน ทำทั้ง 2 หน้าที่ให้ลูกค้าเวลาเดียวกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเห็นว่าการเสริมสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี ควรดำเนินการอย่างจริงจัง
ตั้งแต่ระดับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ที่สอนวิชาการบัญชี เพราะการปลูกจิตสำนึกเรื่องนี้ต้องใช้เวลา
2. สนับสนุนให้ปรับปรุง พ.ร.บ. บริษัทมหาชน ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. กำลังผลักดันให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว
เพื่อให้สอดคล้องนโยบายส่งเสริมบรรษัทภิบาลของไทย มีหลายประเด็นที่เสนอให้ปรับปรุง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปกป้องสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย การเปิดเผยข้อมูล
และความรับผิดชอบผู้บริหารบริษัท พอสรุปได้ดังนี้
- กำกับดูแลการใช้อำนาจบริหารเจ้าของกิจการ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อมิให้ใช้
อำนาจบริหารทางที่ผิด
- กำหนดหน้าที่ และความรับผิดชอบ คณะกรรมการชัดเจนยิ่งขึ้น ให้กรรมการ
บริษัทมหาชนมีทัศนคติ และความเข้าใจบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างถูกต้อง
- คุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยมากขึ้น เช่น ขอใช้สิทธิเรียกประชุมผู้ถือหุ้นให้ทำ
ง่ายขึ้น
- ให้ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาก
ขึ้น
3. สนับสนุนสร้างระบบจูงใจบรรษัทภิบาล นอกจากปรับปรุงกฎหมายและ ระเบียบกฎเกณฑ์ที่จะสนับสนุนให้มีบรรษัทภิบาล ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า
ควรสร้างระบบจูงใจ เพื่อส่งเสริมบรรษัทภิบาลอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันสำนักงาน
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังผลักดันให้จัดอันดับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ตามระดับการมีบรรษัทภิบาลบริษัทนั้นๆ โดยมอบหมายบริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส
จำกัด (ทริส) จัดอันดับ ในหลักการจะให้คะแนนตามหลักเกณฑ์สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างและบทบาทคณะกรรมการ
การรักษาสิทธิ์ผู้ถือหุ้น เปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส และการมีวัฒนธรรมกำกับดูแลกิจการที่ดี
การจัดอันดับบรรษัทภิบาล นอกจากเป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่ช่วยตัดสินใจนักลงทุน
ยังสร้างแรงจูงใจให้มีบรรษัทภิบาล เนื่องจากบริษัทที่จัดอันดับได้คะแนนสูงๆ
จะได้รับรางวัลตอบแทนต่างๆ เพื่อจูงใจด้วย ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกำลังพิจารณาสิ่งจูงใจต่างๆ
อาทิ
- เผยแพร่ชื่อและเกียรติคุณบริษัทให้สาธารณชน ทั้งในและต่างประเทศ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ จะดำเนินการผ่านสื่อต่างๆ ต่อเนื่อง
- ลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปีบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ 50% 2 ปี ติดต่อกัน สำหรับบริษัทที่จัดอันดับบรรษัทภิบาล ตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์จะกำหนด
- สำนักงาน ก.ล.ต.จะลดหย่อนค่าธรรมเนียมเสนอขายหลักทรัพย์ และให้สิทธิที่
จะได้รับความสะดวกรวดเร็วเป็นพิเศษ กรณีบริษัทดังกล่าวต้องการระดมทุน
- สิทธิประโยชน์รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ จากกรมสรรพากรรวดเร็ว
เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาโครงการมอบบัตรทองให้บริษัทที่
เข้าเกณฑ์จัดอันดับบรรษัทภิบาล ซึ่งจะกำหนดสิทธิประโยชน์บัตรทอง ทำนองเดียวกัน
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย กำลังพิจารณาโครงการออกใบรับรอง
เรียกว่า Q-Mark เพื่อประทับตราให้สินค้าและบริการบริษัทที่จัดอันดับบรรษัทภิบาลที่ดี
รับรองคุณภาพองค์กรด้านจรรยาบรรณ การดำเนินงานที่โปร่งใส และมีจริยธรรม ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการไทยแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทย หวังว่าการพัฒนาบรรษัทภิบาลจะไม่จำกัด หรือเน้นเฉพาะบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจส่งออกอีกมาก ที่ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งยังต้องปรับปรุงบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะแนวโน้มที่ประเด็นบรรษัทภิบาลอาจถูกหยิบยกเป็นเหตุผล
หรือข้ออ้าง กีดกันการค้าระหว่างประเทศ