|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลในปีวอก กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้าหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างไม่มีการเคลื่อนไหว และที่ฮือฮาที่สุดดูเหมือนดีลของการควบรวมกิจการของบริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) และบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) (SVH) ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2547
โดยที่กรุงเทพดุสิตเวชการ เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของโรงพยาบาลในเครือด้วยคือ บริษัท สมิติเวช บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด (กรุงเทพหาดใหญ่) และบริษัท โรงพยาบาล กรุงเทพภูเก็ต จำกัด (กรุงเทพภูเก็ต) โดยการแลกหุ้น (สว็อปหุ้น)
ซึ่งกรุงเทพดุสิตเวชการจะชำระราคาค่าหุ้นของสมิติเวช กรุงเทพหาดใหญ่ และกรุงเทพภูเก็ต ที่ตกลงรับซื้อ โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของกรุงเทพดุสิตเวชการเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นของสมิติเวช กรุงเทพหาดใหญ่ และกรุงเทพภูเก็ตที่ตกลงขายหุ้นของตนให้แก่กรุงเทพดุสิตเวชการเป็นการตอบแทน
โดยแลกกันในอัตราส่วนการแลกเปลี่ยนหุ้นคือ 2 หุ้นใหม่ของกรุงเทพดุสิตเวชการต่อ 1 หุ้นของสมิติเวช 1 หุ้นใหม่ของกรุงเทพดุสิตเวชการต่อ 1.66 หุ้นของกรุงเทพหาดใหญ่ 1 หุ้นใหม่ของกรุงเทพดุสิตเวชการต่อ 1.48 หุ้นของกรุงเทพภูเก็ต
จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้นและอื่นๆ เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งของการให้บริการทางการแพทย์ แม้ว่าต่างก็ให้ความสนับสนุนทางธุรกิจ ซึ่งกันและกันตลอดมา แต่การรวมกิจการกันจะทำให้ลดต้นทุนในการบริหารด้วย และเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการออกนอกระบบราชการของโรงพยาบาลรัฐ และการลงทุนในธุรกิจบริการทางการแพทย์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการสอดรับกับนโยบายของภาครัฐบาลในการผลักดัน ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ แห่งเอเชีย Helth Hub
จะเห็นว่าดีลการควบรวมกิจการกันระหว่าง โรงพยาบาลมีให้เห็นเป็นระลอกๆ แล้ว เหมือนเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่า การอยู่อย่างโดดเดี่ยวในธุรกิจนี้จะไม่มีให้เห็นแล้วในอนาคต
ล่าสุดคือ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) (RAM) ประกาศซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัทโรงพยาบาลเสรีรักษ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเพิ่มอีก รวมกับ RAM ที่ถือหุ้นในอีก 2 บริษัทที่ถือหุ้นในเสรีรักษ์คือบริษัท สินแพทย์ จำกัด และบริษัท พัฒนาการเวชกิจ จำกัด ทำให้บริษัทถือหุ้นทางอ้อมถึง 27.18% ทำให้โดยรวมแล้ว RAM ถือหุ้นในเสรีรักษ์ทั้งสิ้น 42.95% การถือหุ้น ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นโครงข่ายที่ต่อเนื่องกัน
BGH สยายปีกในต่างแดน
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรร่วมทุน (พาร์ตเนอร์) เพื่อร่วมทุนก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในย่านเอเชียเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยบริษัทต้องการเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 100 เตียง มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยเงินที่ใช้ลงทุนมาจากเงินทุน หมุนเวียน ซึ่งคาดว่าดีลนี้จะสรุปได้ปีนี้และดำเนินการได้ต้นปี 2548
สำหรับปีนี้ BGH ตั้งเป้าการดำเนินงานไว้ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท และมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจาก 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัททำรายได้เกินกว่าเป้าหมายตามที่ตั้งไว้แล้ว ส่วน ปี 2548 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเทกโอเวอร์กิจการโรงพยาบาลในเครือมาแล้วและรวมกันจะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก
หุ้นน้องใหม่รพ.เกษมราษฎร์
สำหรับน้องใหม่ในกลุ่มนี้คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิตอล จำกัด (มหาชน) (KH) ที่เพิ่งเข้ามาทำการซื้อขายเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2547 และค่อนข้างได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร แม้ว่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก ราคาหุ้นจะเปิดต่ำกว่าราคาจองที่ 3.54 บาท โดยราคาจองซื้ออยู่ที่ 3.80 บาท
ถึงกระนั้น ผู้บริหารยังออกมาชี้แจงว่าตลาดไม่เอื้อต่อการลงทุนเท่าใดนัก เพราะในช่วงนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผันผวนมาก ถือเป็นปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ยังเชื่อมั่นว่านักลงทุนจะหันมาให้ความาสนใจเพราะพื้นฐานดี ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง เพราะจากโรงพยาบาลในเครือที่มีอยู่ในปัจจุบัน 6 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีกำไรสุทธิแล้วทั้งสิ้น แม้ว่ามูลหนี้จะมีอยู่บ้างแต่จะชำระหนี้หมดในปีนี้และคาดว่าจะสามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ในปี 48 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน
KH เองก็มีการซื้อกิจการของโรงพยาบาล ที่เคยขาดทุนมาก่อน นั่นคือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ ที่ก่อนหน้านี้คือ เชียงรายธุรกิจการพทย์เข้ามารวมด้วย ทำให้มีสาขาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งเป็น 6 แห่ง พร้อมกับเล็งที่จะหาพันธมิตรที่พร้อมจะเกื้อหนุนกันในการดำเนินธุรกิจ โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมการแพทย์ครบวงจรของภาคเหนือ
นอกจากการควบรวมกิจการแล้ว KH ยังเล็งที่จะหาพันธมิตรนี้อยู่ในระหว่างการเจรจายังไม่อาจเปิดเผยได้ คาดจะดำเนินการได้ต้นปี 2548 ซึ่งก็คงเหมือนโรงพยาบาลหลายกลุ่มที่ดำเนิน
รพ.วิภาวดีลงทุนร่วมพันธมิตร
ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) (VIBHA) ก็ได้ประกาศขยายการลงทุนกับพันธมิตร มูลค่าการลงทุนกว่า 550 ล้านบาท ตั้งโรงพยาบาลเสรีรัตน์ ซึ่งมีขนาด 200 เตียง โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2549 โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าประกันสังคม
ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) (VIBHA) กล่าวว่า บริษัทได้ขยายการลงทุนในด้าน การแพทย์ โดยร่วมมือกับบริษัท สินแพทย์ จำกัด นายสิงห์น้อย บุณยรักษ์ บริษัท พัฒนาการเวชกิจ และบริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี ในการลงทุนจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ชื่อบริษัทโรงพยาบาล เสรีรักษ์ จำกัด
"ประโยชน์ที่ทางรพ.วิภาวดีจะได้รับคือการขยายฐานลูกค้าไปสู่ประเภทประกันสังคมในขณะที่ ปัจจุบันฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวของรพ.วิภาวดีไม่มี ซึ่งแนวโน้มในปี 2548-2549 รัฐบาลจะเพิ่มค่ารักษา ให้เพิ่มมากขึ้น และในอนาคต ทางรพ.วิภาวดีเองก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประกันสังคม และส่งผลให้มีลูกค้าที่จะเข้ามาทำธุรกรรมกับ โรงพยาบาลมากขึ้น" นายชัยสิทธิ์กล่าว
บริษัท โรงพยาบาลเสรีรักษ์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ 10 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 30 ล้านหุ้น ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท สินแพทย์ จำกัด ถือหุ้น 40% นายสิงห์น้อย บุณยรักษ์ 30% บริษัทพัฒนาการเวชกิจ จำกัด ถือหุ้น 20% และบริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10%
กลุ่มพญาไทประกาศควบกิจการ
สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งมี "วิชัย ทองแตง" ทนายความชื่อดังคดีซุกหุ้น ในฐานะประธานบริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน)(PYT) ผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือพญาไท ได้ประกาศแผนงานและทิศทางการดำเนินงานของโรงพยาบาลในกลุ่มพญาไทว่า ในช่วงปี 2548 บริษัทจะเน้นการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลแห่งอื่น ด้วยการเข้าไปแลกหุ้น (สว็อป) หรือการเข้าไปเป็นพันธมิตรด้วยการ ซื้อหุ้นบางส่วน เพื่อให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน เนื่องจากต้องการสร้างอำนาจการต่อรองในการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการลดต้นทุนในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องมือการแพทย์ หรือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ต่างๆ หากมีการซื้อเป็นจำนวนมากผ่านเครือข่ายเดียวกันจะทำให้อำนาจในการต่อรองสินค้ามีมากขึ้น
"อนาคตเมื่อเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลในประเทศไม่เข้มแข็งมีสิทธิถูกต่างชาติกลืนได้ เราจึงเน้นการสร้างระบบเครือข่ายขึ้นมาเป็นเหมือนใยแมงมุม ซึ่งรูปแบบในการสร้างเครือข่ายจะมี 3 รูปแบบคือ 1.เทกโอเวอร์โรงพยาบาลให้มากขึ้น ภายในโฮลดิ้ง แต่วิธีนี้ จะใช้เงินมาก 2.การควบกิจการในลักษณะของการแลกหุ้น (สว็อป) ซึ่งในส่วนนี้ใช้เงินไม่มาก และ 3.การเข้าไปถือหุ้นไขว้ในสัดส่วน 10-20% โดยกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทจะเลือกในรูปแบบที่ 2 และ 3"
บำรุงราษฎร์ลงทุนในจีน
ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)(BH) อยู่ในระหว่างเจรจากับเซี่ยงไฮ้ บังกลาเทศ และ พม่า เพื่อร่วมลงทุนในการทำธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งบริษัทจะเข้าไปร่วมทุนถือหุ้นด้วยเพียงเล็กน้อย แต่จะขอเข้าไปบริหาร เพราะต้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร
สำหรับการลงทุนในเซี่ยงไฮ้ ที่ประเทศจีนนั้น จะเข้าไปร่วมลงทุนในลักษณะของการร่วมทุน โดยจะสร้างโรงพยาบาลใหม่ ขนาด 200 เตียง ด้วยงบลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท ซึ่ง BH จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 20% คาดว่าดีลการเจรจาในการร่วมทุนนี้จะสรุปได้ในปีนี้ และดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลได้ปี 2548 ถือเป็นการชิมลาง ในการลงทุนที่เมืองจีน
โดยล่าสุด BH ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทเอเชียน ฮอสพิทอล อิงค์ ภายในเดือนธันวาคม 2547 โดยบริษัทจะลงทุนใน เอเชียน ฮอสพิทอล อิงค์ (Asian Hosptal, Inc.หรือ AHI) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชน ขนาด 258 เตียง ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในสัดส่วนการลงทุนขั้นต้น 41.90% ของทุนจดทะเบียน
จับตาปี 48 ราคาหุ้นขยับ
แหล่งข่าววงการโบรกเกอร์กล่าวว่า แนวโน้ม หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลในปี 2548 คาดว่ากระแสข่าวการควบกิจการ และการปรับกลยุทธ์ใน การดำเนินธุรกิจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันราคาหุ้นในกลุ่มทโรงพยาบาลให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งได้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออนาคตการแข่งขัน และการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล
ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวงกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่อเนื่องจะทำให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น และที่สำคัญการเริ่มมาให้ความสำคัญกับสุขภาพที่กำลังมาแรง จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่ม เนื่องจากมีความชำนาญเฉพาะทาง
นอกจากนี้ สถานประกอบการโรงพยาบาลของไทยที่ปัจจุบันถือว่ามีประสิทธิภาพในการ แข่งขันกับต่างประเทศจะเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติหันมาใช้บริการเพิ่ม เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาพยาบาลในสิงคโปร์หรือฮ่องกง
ไปีไก่" น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปีทองสำหรับหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล หลังจากที่หลายแห่งได้ประกาศจุดยืนในการทำตลาดทั้งในประเทศเอง หรือการสยายปีกในต่างแดน หรือการประกาศควบรวมกิจการ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการ ซื้อสินค้าในต้นทุนที่ต่ำกว่า จุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงพยาบาลที่จะก้าว ต่อไปพร้อมกับความมั่นคงในอนาคต
|
|
|
|
|