เปิดแผน 5 ปี บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทุ่มงบลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท หวังเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ และตั้งเป้าปี 48 เพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยประมาณวันละ 143,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ จากเดิมที่คาดว่าจะมีปริมาณการขาย เฉลี่ยที่ประมาณวันละ 134,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ
นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดทำประมาณการเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายของบริษัท และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2548-2552 รวม 5 ปี เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 133,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานล่าสุด โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการทั้งสิ้น 24 โครงการประกอบด้วย 1)โครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการผลิตและเริ่มการผลิตในปี 2548 ได้แก่ โครงการบงกช โครงการไพลิน โครงการ ยาดานา โครงการเยตากุน โครงการ S1 โครงการนางนวล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของประมาณการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด
2)โครงการที่คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตในอนาคต อันได้แก่ โครงการอาทิตย์ โครงการพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของประมาณ
การเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด และ 3)โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ ได้แก่ โครงการโอมาน 44 โครงการพม่าM7 & M9 โครงการเวียดนาม 9-2 และเวียดนาม 16-1 และโครงการอัลจีเรีย 433a & 416b เป็นต้น
สำหรับประมาณการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือในช่วงปี 2548 ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 25,300 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 26,100 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 13,200 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 11,100 ล้านบาท และปี 2552 จำนวน 9,100 ล้านบาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในปี 2548 อยู่ที่ 11,200 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 8,700 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 8,900 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 10,200 ล้านบาท และปี 2552 จำนวน 10,000 ล้านบาท
นายมารุตกล่าวว่า ประมาณการเงินลงทุนของ ปตท.สผ.ในปี 2548 จะใช้ไปในโครงการที่บริษัทมีอยู่ประกอบด้วยโครงการหลักที่อยู่ระหว่างการผลิตคือ โครงการบงกช พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ประมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่าก่อสร้างอุปกรณ์การผลิต ค่าก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเพิ่ม 3 แท่น และค่าเจาะหลุมผลิตจำนวน 6 หลุม
โครงการไพลินปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 358 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแผนที่จะสร้างแท่นหลุมผลิต 3 แท่น และเจาะหลุมผลิตจำนวน 44 หลุม
โครงการยาดานาประมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 648 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่าก่อสร้างแท่นอุปกรณ์เพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติ 1 แท่น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งก๊าซเซน ได้แก่ ค่าก่อสร้างแท่นผลิต 1 แท่น และค่าเจาะหลุมผลิตจำนวน 2 หลุม
โครงการเยตากุนประมาณการขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่าสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ และค่าเจาะหลุม ประเมินผลจำนวน 3 หลุม
โครงการ S1 ประมาณการขายน้ำมันดิบเฉลี่ยเพิ่มเป็น 20,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเงินลงทุนจะใช้ในการเจาะหลุมผลิตจำนวน 30 หลุม
สำหรับโครงการที่คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตในอนาคต ประกอบด้วยโครงการอาทิตย์ โดยปัจจุบันโครงการอาทิตย์มีแผนที่จะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในครึ่งปี แรกของปี 2550 ที่กำลังการผลิตเฉลี่ยประมาณ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเงินลงทุนประกอบด้วย ค่าก่อสร้างแท่นผลิตจำนวน 1 แท่น และแท่นหลุมผลิตจำนวน 6 แท่น และค่าเจาะหลุมพัฒนาจำนวน 20 หลุม
ส่วนโครงการพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย มีแผนที่จะลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในครึ่งปีหลังของปี 2551 ที่กำลังการผลิต เฉลี่ยประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในปี 2548 นี้ จะมีเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่าออกแบบทางด้านวิศวกรรม
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ อันได้แก่ โครงการโอมาน 44 โครงการพม่า M7 & M9 โครงการเวียดนาม 9-2 และ เวียดนาม 16-1 และโครงการอัลจีเรีย 433a & 416b ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ จะมีเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่าเจาะหลุมสำรวจและค่าสำรวจคลื่นไหวสะเทือน
สำหรับปี 2548 ปตท.สผ. มีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมเป็นเฉลี่ยประมาณวันละ 143,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากเดิมที่คาดว่าจะมีปริมาณการขายเฉลี่ยที่ประมาณวันละ 134,000 บาร์เรลเทียบ เท่าน้ำมัน
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังแจ้งว่า ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ให้เข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 20% ในแปลงสำรวจอียู-1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจก๊าซธรรมชาติ "ภูฮ่อม" ซึ่งการสำรวจขั้นต้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
โครงการภูฮ่อมในปัจจุบัน ประกอบด้วย แปลงสำรวจอี-5 นอร์ท (Block E5 North) และแปลงสำรวจ อียู-1 (Block EU-1) รวมพื้นที่ 231.6 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมบริเวณจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดขอนแก่น หรืออยู่ทางตอนเหนือของแหล่งก๊าซน้ำพอง ประมาณ 45 กิโลเมตร จากผลการเจาะหลุมประเมินผลเพิ่มเติมจำนวน 3 หลุม ด้วยเทคโนโลยีการเจาะแบบใหม่ในหลุมภูฮ่อม-3 ภูฮ่อม-4 และภูฮ่อม-5 พบก๊าซธรรมชาติที่มีอัตราการไหลสูง และมีปริมาณสำรองเพียงพอในเชิงพาณิชย์
นายมารุต กล่าวว่า ปตท.สผ. มีความยินดีที่ได้ร่วมทุนกับอเมราดา เฮส และผู้ร่วมทุนอื่นๆ ในโครงการภูฮ่อมอีกโครงการหนึ่ง เพื่อจะได้ร่วมกันสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ให้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะโครงการภูฮ่อม ซึ่งจากผลการเจาะสำรวจขั้นต้น สามารถประเมินปริมาณสำรอง เบื้องต้นอยู่ในช่วง 300-700 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้คาดการณ์ได้ว่าโครงการภูฮ่อมจะเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่สำคัญของไทยแหล่งต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินงานในโครงการภูฮ่อม ปตท.สผ. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนร่วมทุนใน ช่วง 2 ปีแรก ประมาณ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตก๊าซฯ ในอัตรา 85-100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ในปี 2549 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท.
|