ความสุขของ บุญชัย เบญจรงคกุล ไม่ใช่แค่เป็นเพียงเจ้าของผลงานภาพเขียนชั้นยอด แต่เขายังเป็นเจ้าของศิลปกรรมชิ้นเอกทุกแขนงของศิลปินชั้นครูของไทย
เฉพาะงานศิลปะทั้งหมดที่มีให้ดูอย่างมากมายบริเวณพื้นที่ชั้น 1 และชั้นลอยของตึกยูคอม บนถนนวิภาวดี ก็ตื่นตาตื่นใจมากแล้ว และชาลี ฉวีวรรณ ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงพื้นที่ชั้น 3 และชั้น 4 อีก 1,500 ตารางเมตร สำหรับรองรับงานสะสมส่วนตัวของบุญชัยที่เก็บ ไว้ในสโตร์ข้างบ้าน ในซอยแจ้งวัฒนะ 1 อีกหลายพันชิ้น และเพื่อเตรียม เปิดเป็น "Thai Art Museum" ที่สมบูรณ์แบบ ประมาณกลางปี 2548
เป็นความตั้งใจของบุญชัยที่จะเอาผลงานที่มีค่ามหาศาลที่ตัวเองเก็บสะสมไว้ทั้งที่บ้านและที่ทำงานนานกว่า 20 ปีเหล่านี้มาให้คนรุ่นหลังได้ร่วมชื่นชมด้วย
แกลเลอรี่ในตึกยูคอมนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันที่นี่มีผลงานเฉพาะภาพประมาณ 300 ชิ้น เกินครึ่ง คือผลงานของถวัลย์ ดัชนี นอกจากนั้นยังมีภาพวาดระดับ ศิลปินระดับชาติมากมาย เช่น ช่วง มูลพินิจ, กมล ทัศนาญ ชลี, ปัญญา วิจินธนสาร, ประเทือง เอมเจริญ, ดำรง วงศ์ อุปราช, ประหยัด พรหมดำ ฯลฯ
ในห้อง "เรือพระราชพิธีจำลอง" มีผลงานของ มงคล เหมศรี บรมครูประณีตศิลป์ สาขาแกะสลัก ที่สลักเสลาเกลากลึงในทุกรายละเอียดของเรือพระราชพิธีได้อย่างสวยงามเหมือนจริง
"หัวโขน" ละลานตาถึง 108 หัว ฝีมือ "พ่อครู" วรวินัย หิรัญมาศ มิพักบรรยายถึงหัวใจทุ่มเทฝีมือปลุกปั้นประดับประดาปิดทองลงรัก ละเลงสี ประณีตงามละเอียดลออ
"ตุ๊กตาหุ่นวรรณคดี" ผลงานของวัชราศรินทร์ ชูประดิษฐ์ ผู้หลงใหลในละครเรื่องรามเกียรติ์ จนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นหุ่นปั้นที่โลดแล่นออกมาจากภาพจิตรกรรม ปรากฏการร่ายรำลีลาออกรบที่สมจริงที่สุด
"ตุ๊กตาดินเผา" ก้อนดินมีชีวิตจากผลงาน ของชำนาญ อินล้วน ที่โด่งดังจากงานปั้น "พระภิกษุ"
งานปั้นที่ว่ายากแล้ว ยังต้องอาศัยความชำนาญของความร้อนในเตาเผาช่วยปรุงวิญญาณ ให้โชติช่วงมีชีวิตเหมือนจริงมากขึ้น
ผลงานของสล่าเพชร วิริยะ ศิลปินจากล้านนา ผู้สร้างสรรค์ปลุกชีวิตท่อนไม้ให้เป็นช้าง ภาพ "พลายปิ่นมาศ" สูงราว 3 เมตร ยืนโดดเด่น อยู่บริเวณชั้นล่างของตึกยูคอม ข้างๆ มีลูกช้าง "เบญจพล ผ่องด้าว" และ "แม่ฟ่อนดาว" ที่แกะ จากไม้ขี้เหล็กป่า
วันที่ "ผู้จัดการ" เข้าเยี่ยมชมหอศิลป์ทราบว่าขณะนี้ งานชิ้นใหญ่ที่สล่าเพชรกำลังทำให้บุญชัยคือการแกะช้าง 3 เศียร สูงกว่า 4 เมตร กำหนดเสร็จปลายปี 2547 ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการซื้อผลงานระดับปรมาจารย์ปัจจุบัน บุญชัยยังรับเป็นประธานเปิดงานศิลปินต่างๆ ประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน ทำให้เขาได้เห็นงานของศิลปินใหม่ๆ เช่น งานศิลปินรุ่นเยาว์ หรืองานระดับวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้มีการเลือกซื้อผลงานที่ชื่นชอบจากศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้เช่นกันการทำแกลเลอรี่ที่มีมาตรฐานในการเก็บภาพจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น รวมไปถึงการคำนึงถึงความสะดวกในการเข้าเยี่ยมชมของคนกลุ่มต่างๆ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและแขกของบริษัท
ความชอบในเรื่องศิลปะของคุณบุญชัยได้สะท้อนไปยังนโยบายของบริษัทด้วยการเปิดสอนศิลปะให้กับพนักงาน ทุกวันพุธ ฟรี
แม้เวลาว่างของผู้บริหารคนนี้มีไม่มากนัก แต่บ่อยครั้ง ของวันเสาร์ที่เขาจะแวะเข้ามาเดินดูงานเงียบๆ บางครั้งหาก "ช่างวาดรูป" จากเชียงราย มีภารกิจที่กรุงเทพฯ ก็จะนัด แนะมาออกกำลังกายด้วยกันที่ฟิตเนสของวีไอพี บนชั้น 4 เสร็จแล้วก็ลงมาดูรูปด้วยกันอย่างมีความสุข
|