งานวันเปิดตัวบริการใหม่อย่าง "mPAY" ของเอไอเอส นอกจากผู้บริหารสูงสุดอย่าง สมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ และผู้บริหารในระดับต่างๆ เดินทางมาร่วมงานแทบจะครบทีมแล้ว ทางฝั่งผู้บริหารจากพันธมิตรก็ล้วนแล้วแต่อยู่ระดับสูงสุดขององค์กรทั้งสิ้น
ทำให้งานวันนั้นไม่เพียงแต่จะยิ่งใหญ่ในแง่ของการเป็นบริการใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังยิ่งใหญ่ในแง่ของความร่วมมือระหว่างกันของพันธมิตรเหล่านี้ด้วย ดังนั้นหากจะกล่าวว่าบริการ mPAY เป็นสะพานเชื่อมให้กับเอไอเอส ให้เติบโตยิ่งขึ้นในใจของพันธมิตรก็ดูจะไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก
mPAY ถือเป็นบริการที่เอไอเอสจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในบริการที่ภาคภูมิใจมากอย่างหนึ่ง หลังจากรอคอยเทคโนโลยีให้พร้อมมานานหลายปี
หัวใจสำคัญของบริการใหม่ตัวนี้อยู่ที่การผูกติดกระเป๋าเงินของลูกค้าเอาไว้กับมือถือที่ใช้ โดยรับผูกเงินสดเอาไว้ในจำนวนสูงสุดที่ 1,500 บาท โดยผู้ใช้สามารถผูกเงินสดนี้ได้โดยใช้ตู้เอทีเอ็มของธนาคารพันธมิตรทั้ง 4 แห่งของเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์ และเอเชีย หรือ ผูกหมายเลขบัญชีจากธนาคาร และผูกบัตรเครดิตเอาไว้ในระบบ กลางของเอไอเอส เพื่อให้ทุกครั้งที่ลูกค้าต้องการใช้จ่ายในร้านที่มีสัญญาณ mPAY ก็สามารถใช้มือถือของเอไอเอสทำตามขั้นตอน ในการจ่ายเงินได้ทันที
สมประสงค์เองให้คำจำกัดความของการให้บริการนี้อย่าง ชัดเจนว่า ด้วยข้อแม้ที่ว่า "เงิน" ยังเป็นสื่อที่สำคัญ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเงินจะยังอยู่คู่มนุษย์ต่อไปได้อีกนาน ดังนั้นหากช่วยให้เกิดการใช้จ่าย เงินได้สะดวกยิ่งขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ และเจตนารมณ์ของการ ให้บริการใหม่นี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีจำนวนร้านที่รองรับ การให้บริการจับจ่ายใช้สอยหลากหลาย ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบได้ และเมื่อมีข้อสงสัยก็ต้อง สามารถตรวจสอบได้
ด้วยเงื่อนไขที่ถูกตั้งไว้อย่างนี้ ทำให้ล่าสุดมีร้านที่รองรับการจ่ายค่าบริการและสินค้าด้วยมือถือของเอไอเอสแล้วกว่า 300 ร้านค้าและเพิ่มขึ้นอีกจากฐานของร้านค้าที่มีอยู่แล้วจากบริการเดิม อย่างฟรีดอม ไลฟ์ ซึ่งเดิมมีอยู่แล้วกว่า 7,000 ร้านค้า กระจายกัน ทั้งร้านอาหาร, ร้านหนังสือ และโรงภาพยนตร์
งานนี้เอไอเอสต้องยอมควักกระเป๋ากว่า 200 ล้านบาทในการลงทุนพัฒนาระบบ และแบกรับภาระบางส่วนที่เกิดจากส่งข้อความรหัสสินค้าของลูกค้า ซึ่งได้จากทางร้านค้า เพื่อเข้าสู่ระบบกลาง เพื่อยืนยันการจ่ายชำระค่าบริการและค่าสินค้า และจากการที่ระบบส่งข้อความกลับมาให้ลูกค้าเพื่อยืนยันว่าลูกค้าจ่ายเงินแล้ว พร้อมกับแจ้งยอดเงินคงเหลือในกรณีของการผูกเงินสดเอาไว้ นี่ยังไม่รวมถึงการให้มือถือกับร้านค้าทุกแห่ง เพื่อใช้ในการขอรหัสสินค้านั้นๆ ก่อนส่งต่อให้กับลูกค้า
แม้จะหวังรายได้ในปีแรกที่ให้บริการเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้บริหารก็ให้ความเห็นว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของฐานลูกค้า 15 ล้าน ราย ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนไปตั้ง 200 ล้านแล้ว และเมื่อเวลา ผ่านไป ลูกค้ายอมรับความปลอดภัย ปากต่อปากของลูกค้าย่อม สร้างโอกาสให้ได้มากกว่าปีแรกอย่างแน่นอน
|