Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2548
The Lifestyle Setter             
โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
 

   
related stories

Metropolitan Lifestyle Business
Lifestyle ของ Lifestyle Setter
โรงหนังในต่างแดน

   
www resources

โฮมเพจ เมเจอร์ซินีเพล็กซ์

   
search resources

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, บมจ.
วิชา พูลวรลักษณ์
Theatre




จากธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่พัฒนามาสู่การทำธุรกิจ โดยยึดไลฟ์สไตล์ของคนเป็นที่ตั้ง ณ วันนี้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจ
ที่สามารถสร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม สิ่งที่ต้องติดตามในอนาคต คือไลฟ์สไตล์ของคน อาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางธุรกิจของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ หรือไม่ !!!

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ใช้เวลาเพียง 11 ปีเท่านั้นในการก้าวจากผู้ประกอบการ โรงภาพยนตร์รายใหม่มาสู่ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดกว่า 70% ในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ขยายออกไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ฟิตเนส จนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่วันนี้ยังไม่มีใครเลียนแบบได้

"ที่เราต้องขยายออกไปเพราะเราทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์มา เราเห็นเลยว่าเราหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีอินโนเวชั่นตลอด ต้องทำให้แตกต่าง" วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลของการขยายธุรกิจ

เขาเล่าว่าปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคแตกต่างกันออกไปเป็นกลุ่มๆ ตามความสนใจและรูปแบบการใช้ชีวิต เมเจอร์ฯจึงต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคและก้าวนำผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อมองหาสินค้าหรือ บริการใหม่ๆ มานำเสนอ

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับวิชา เพราะตัวเขาเองเป็นคนที่สนใจในเทรนด์และเรื่องราวความเป็นไปของสังคมอยู่ตลอดเวลา โดยที่เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็น ไปเองโดยธรรมชาติ

"เวลาผมอ่านหนังสือพิมพ์ผมก็จะตัดสิ่งที่ผมสนใจเก็บไว้ แล้วก็ให้มาร์เก็ตติ้งผมไปหาข้อมูลมาว่า สินค้าตัวนี้ออกโฆษณานี้มามันเวิร์กมั้ย อย่างงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเวิร์กมั้ย ฟันพาร์คที่เปิดกันมาปีนี้เวิร์กมั้ย คนเข้าวันหนึ่งเท่าไร จะเป็นเทรนด์หรือเปล่า มันเป็นอย่างนี้ตลอด ขึ้นเครื่องบินก็คิด เข้าโรงแรมก็คิด ขึ้นแท็กซี่ก็คิด ผมเป็นคนที่เห็นอะไรเป็นงานไปหมด เพราะเราทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มันหยุดนิ่งไม่ได้"

เขาเชื่อว่าเทรนด์สำคัญในอนาคตที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจนับจากนี้ไปจะสรุปออกมาได้เป็นคำ 3 คำ คือ Wealth Health และ Lifestyle ซึ่งคำหลังนี่เองที่เป็นธุรกิจหลักของเมเจอร์ฯ ในเวลานี้

"คุณทำอะไรก็ตามที่จะสร้าง Wealth ให้กับลูกค้าได้ รับรองคุณประสบความสำเร็จแน่ Health และ Lifestyle ก็เช่นเดียวกัน"

เมเจอร์ฯ เริ่มธุรกิจจากโรงภาพยนตร์และถึงวันนี้แม้จะขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ อีกมาก แต่โรงภาพยนตร์ก็ยังเป็นแกนกลางหลักของธุรกิจ โดยการเกิดขึ้น ของเมเจอร์ฯ นั้นมีแรงกดดันในการแข่งขัน มาตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากในยุคนั้นเป็น ช่วงเศรษฐกิจบูมครั้งใหญ่ ประกอบกับเกิด กระแสโลกาภิวัตน์ มีธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหลายประเภทด้วยกัน และโรงภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์จากต่างประเทศนำระบบมัลติเพล็กซ์เข้ามาเปิดบริการในไทย ด้วยจุดแข็งที่มีทั้งความทันสมัย เทคโนโลยี และเงินทุนที่เหนือกว่า ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้รับความสำเร็จจากประเทศอื่นมาแล้ว ทำให้โรงหนัง มัลติเพล็กซ์สามารถยึดครองทำเลในศูนย์การค้าชั้นนำได้อย่างมากมาย ใช้เวลา เพียงไม่นานก็กลายเป็นผู้ยึดครองส่วนแบ่ง ตลาดไปเกือบหมด ทิ้งให้ผู้ประกอบการไทยที่ยังคงยึดอยู่กับรูปแบบโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน (Stand Alone) และมินิเธียเตอร์กลายเป็นผู้ตามมาห่างๆ

วิชาอยู่ในครอบครัวที่ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์มาตลอดมองสถานการณ์ดังกล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องสู้กับฝรั่งเพื่อฟื้นธุรกิจครอบครัวให้กลับคืนมา โดยในเวลานั้นเขาเพิ่งประสบความสำเร็จจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ Exclusive 39 ย่านรามคำแหง 39 ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับหรู ราคาขายตั้งแต่ 8-12 ล้านบาท ประสบการณ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มมุมมองในการเป็นผู้พัฒนา อสังหาริมทรัพย์เข้ามาเสริมในธุรกิจโรงภาพยนตร์ เกิดเป็นโมเดลซีนีเพล็กซ์ขึ้นในที่สุด ซึ่งโมเดลนี้นอกจากเมเจอร์ฯ จะมีรายได้จากตั๋วภาพยนตร์แล้ว ยังเพิ่มรายได้ค่าเช่าจากผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ในลักษณะเดียวกับศูนย์การค้าอีกด้วย

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เกิดขึ้นครั้งแรกในทำเลปิ่นเกล้า ในพื้นที่เดิมของห้างสรรพสินค้า เวลโก้ ปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นของจำเริญ พูลวรลักษณ์ ผู้เป็นบิดาของวิชา ความที่โมเดลโรงภาพยนตร์แบบซีนีเพล็กซ์ยังเป็นของใหม่ในเวลานั้น ทำให้การเจรจาหาผู้เช่าพื้นที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ในวันเปิดฉายภาพยนตร์วันแรกมีผู้เช่าพื้นที่ไม่ถึง 50%

"ทุกคนบอกว่า แมคโดนัลด์มาอยู่กับโรงหนังอย่างเดียวจะอยู่ได้หรือ ต้องอยู่กับศูนย์การค้าใหญ่ๆ สิ สมัยนั้น globalization บอกว่าต้องเป็นศูนย์ใหญ่ๆ one stop shopping จะมาอยู่กับเมเจอร์ฯ ทำไม เราก็พยายามให้ภาพว่า อยู่กับเราเวลายาวกว่าศูนย์โรงหนังดีรอบกลางคืน เวลาของเขาก็ยาวขึ้น กลุ่มลูกค้าเราจะเป็นกลุ่มคนดูหนัง คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ เราเชื่อว่าของเราดีกว่า แต่ว่ายังไม่ได้ปรู๊ฟ แต่พอเปิดแล้ว มันเหมือนที่เราพูดทุกอย่าง ภายใน 3 เดือนยอดร้านค้าขึ้นไป 70-80% เลย"

เมื่อมั่นใจในโมเดลธุรกิจ วิชาประกาศขยายสาขาพร้อมกันทีเดียว 2 แห่ง คือ เอกมัย และรัชโยธิน แต่ในระหว่างก่อสร้างประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พอดี รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อยกู้ ทำให้ต้องชะลอโครงการที่รัชโยธินและไปทุ่มที่เอกมัยเพียงแห่งเดียว วิชาได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรหลายราย จนกระทั่งสามารถก่อสร้างโครงการจนสำเร็จ และที่สาขาเอกมัยนี่เองที่เมเจอร์ฯเริ่มขยายธุรกิจไปทำโบว์ลิ่ง

แนวความคิดเบื้องหลังของการเพิ่ม โบว์ลิ่งเข้ามาที่สาขาเอกมัยก็ยังคงเป็นเรื่องของความพยายามสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ โดยอาศัยฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่มีอยู่เดิมแล้วต่อยอดออกไปสู่ธุรกิจอื่น

"ตอนนั้นบรันสวิคยังไม่เข้ามา ผมก็บินไปดูที่ญี่ปุ่นไปดูโบว์ลิ่งทุกวัน เขาพาเราไปทัวร์ ไปดูทุกที่ โบว์ลิ่งใต้ดิน บนดิน แบบไหนทำกันยังไง ก็ไปดูตามศูนย์การค้าว่า วางเลย์เอาต์กันยังไง ผมไม่ได้เล่นโบว์ลิ่งนะ คนนึกว่าผมเล่นโบว์ลิ่งเลยเอาโบว์ลิ่งเข้ามา เพียงแต่ผมคิดว่าผมสามารถสร้างความแตกต่างให้โบว์ลิ่งจากเดิมๆ ให้มันตื่นเต้นได้ เอ็นเตอร์เทนได้"

เมื่อเปิดให้บริการโบว์ลิ่งของเมเจอร์ฯ กลายเป็นที่พูดถึงกันชนิดปากต่อปากในหมู่วัยรุ่น ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย สีสันสดใส เปิดไฟสว่าง เปิดเพลงฮิตตลอดเวลา พร้อมด้วย พนักงานในวัยหนุ่มสาว เกิดเป็นกระแสฮิตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้โบว์ลิ่งของเมเจอร์ฯ ติดตลาดแทบจะในทันที จากนั้นมาการขยายสาขาของเมเจอร์ฯ ก็มีโบว์ลิ่งติดไปด้วยแทบจะทุกที่ ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นที่โดดเข้ามาชิงตลาดนี้ด้วยเช่นกัน

หลังจากสาขาเอกมัย เมเจอร์ฯ มาสานต่อโครงการที่รัชโยธิน วิชามองหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมอีก คราวนี้เขาตั้งโจทย์ให้เป็นธุรกิจสำหรับที่ลูกค้าสามารถมาใช้บริการ ได้ทั้งครอบครัว หลังจากเดินทางไปดูที่ญี่ปุ่น เขาตกลงใจทดลองนำคาราโอเกะมาเปิดให้บริการ ทั้งที่ในครั้งนั้นคนไทย ยังไม่มีประสบการณ์กับคาราโอเกะมาก่อน แต่หลังจากเปิดให้บริการที่สาขารัชโยธินแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เมเจอร์ฯ จึงขยายธุรกิจคาราโอเกะไปยังสาขาอื่นๆ ด้วย

ความสำเร็จจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง และคาราโอเกะ ทำให้วิชามองว่า ธุรกิจของเมเจอร์ฯ เวลานี้ไม่ได้เป็นเพียงเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เท่านั้น แต่ได้ขยายกลายเป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ไปแล้ว เพียงแต่ไลฟ์สไตล์นี้จะมีแกนกลางอยู่ที่โรงภาพยนตร์แล้วธุรกิจอื่นจะถูกต่อยอดจากโรงภาพยนตร์ออกมาอีกที โดยหน้าที่ของเมเจอร์ฯ ก็คือ การมองหาธุรกิจที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและน่าจะเป็นที่นิยม แล้วหยิบมาปรุงแต่งเสียใหม่ให้เข้ากับจริตของกลุ่มลูกค้า ไม่ต่างอะไรจากการหยิบโบว์ลิ่งมาทำให้ทันสมัย กลายเป็นกีฬาฮิตในหมู่วัยรุ่น หรือการนำเอาคาราโอเกะมาจากญี่ปุ่น แล้วดัดแปลงให้กลายเป็นกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

"คุณต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคมีชีวิตอย่างไร เขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร แล้วก็ ครีเอตไลฟ์สไตล์ขึ้นมา ยกตัวอย่างเมื่อก่อน หลายศูนย์การค้าไม่มีโรงหนัง เวลาที่เขาคิดสร้างขึ้นมาไม่ได้คิดถึงโรงหนัง เขาคิดถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ คิดถึงร้านเฟอร์นิเจอร์ก่อน แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว วันนี้ศูนย์ต้องมีโรงหนัง ต้องคิดถึงโรงหนังก่อน แล้วเดี๋ยวนี้โรงหนังก็ไม่พอ ต้องมีโบว์ลิ่ง อีกหน่อยเราจะบอกว่าโบว์ลิ่งก็ไม่พอแล้ว ต้องมีแคลิฟอร์เนียฯ ด้วย อันนี้คือการครีเอตเทรนด์ให้คนตาม"

ถึงแม้เขาจะมองว่า ธุรกิจของเมเจอร์ฯ คือไลฟ์สไตล์ แต่หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ทุกวันนี้วิชาก็ยังคงเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่แตกต่างจากครั้ง ที่ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ของตนเองเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพียงแต่อสังหาริมทรัพย์ ที่เขาพัฒนาขึ้นมาคราวนี้ไม่ได้เป็นที่พักอาศัยหรือศูนย์การค้าเช่นผู้ประกอบการรายอื่น แต่เป็น Entertainment Complex ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง และคาราโอเกะที่เป็นตัวสร้างรายได้หลัก นอกจากนี้ยังมีรายได้ค่าเช่าพื้นที่จากผู้ค้ารายอื่นด้วย

เมื่อเมเจอร์ฯ เข้าระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในปี 2545 ยิ่งช่วยเพิ่มความเข้มแข็งด้านกำลังทุน ทำให้การขยายธุรกิจเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจาก การเพิ่มจำนวนสาขาของเมเจอร์ฯ เองแล้ว ยังมีการขยายธุรกิจไปถือหุ้นในบริษัทอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย การขยายธุรกิจของเมเจอร์ฯ ในช่วงนี้ นอกจากจะเป็นไปตามวงจรชีวิตของธุรกิจที่ถึงคราวต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นแรงกดดันประการหนึ่งที่ผลักดันให้ต้องมีการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะหากไม่สามารถสร้างอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องก็ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นโดยตรง

การขยายธุรกิจของเมเจอร์ฯ ส่วนหนึ่งก็สะท้อนบุคลิกของวิชาเอง เขาเล่าว่า ความสนใจของเขาไม่ได้อยู่แค่เพียงธุรกิจโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะความสนใจในสิ่งรอบตัวของเขานั่นเอง ในระหว่างที่สนทนากับ "ผู้จัดการ" เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบโมเดลโรงภาพยนตร์กับธุรกิจโรงแรมในการอธิบายถึงการทำ E Cinema ซึ่งเป็น low cost cinema ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ (อ่าน Re-positioning) เช่นเดียวกับมุมมองต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งความเห็นต่อการได้รับความนิยมในสินค้าบางแบรนด์ เช่นเดียวกับการที่บางแบรนด์เสื่อมความนิยม ลงไป

"ผมไปกินอาหารตามร้านอาหารบ่อย ผมก็จะรู้ว่าร้านนี้ขายได้เท่าไร เชฟมาจากไหน เจ้าของเป็นใคร แล้วจะขยายสาขาไหม ถ้าจะขยายสนใจจะมาเมเจอร์ฯหรือเปล่า" เขายกตัวอย่างความคิดที่ไม่หยุดนิ่งในการมองหาโอกาสให้กับเมเจอร์ฯ

อย่างไรก็ตาม การเลือกธุรกิจที่จะขยายออกไปของเมเจอร์ฯ ก็ยังคงอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้าง synergy ให้กับธุรกิจหลัก ได้แก่ บริษัทสยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ ผู้พัฒนาศูนย์การค้าชุมชน (Neighborhood Mall) ในพื้นที่กรุงเทพฯ บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ ดำเนินธุรกิจฟิตเนส เซ็นเตอร์ รวมทั้งการเข้าถือหุ้น 80% ในบริษัทเมเจอร์ ซีนี พิกเจอร์ หรือเดิมคือ นนทนันท์ เอ็นเตอร์ เทนเมนท์ ที่ทำธุรกิจนำเข้าภาพยนตร์อิสระและจัดจำหน่ายให้กับโรงภาพยนตร์ ตลาดวีซีดีและดีวีดี และบริษัทแปซิฟิก มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่เป็นบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายภาพยนตร์เช่นกัน

การเข้าลงทุนในสยามฟิวเจอร์ฯ ทำให้เมเจอร์ฯ มีแขนขาในการลงทุนในโครงการ ที่มีสเกลเล็กลงกว่าโครงการซีนีเพล็กซ์ ช่วยให้ขยายสาขาได้มากขึ้นและเร็วขึ้น จากการเข้าลงทุนเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ยังสามารถพ่วงธุรกิจอื่นของเมเจอร์ฯ ทั้งโบว์ลิ่งและคาราโอเกะไปในโครงการได้อีกด้วย เช่นเดียวกับกรณีของแคลิฟอร์เนียฯ ที่กลายเป็นแม่เหล็กตัวหนึ่งในการดึงคนให้เข้าใช้บริการทั้งในซีนีเพล็กซ์และโครงการของสยามฟิวเจอร์ฯ ด้วย

ส่วนการเข้าถือหุ้นในเมเจอร์ ซีนีพิกเจอร์และแปซิฟิก มาร์เก็ตติ้งฯ ก็เป็นการขยาย ธุรกิจต่อจากโรงภาพยนตร์ ทั้งในส่วนต้นน้ำและปลายน้ำ โดยทั้ง 2 บริษัทจะเป็นผู้จัดหา ภาพยนตร์เพื่อเข้าฉายในโรงและยังรับหน้าที่จัดจำหน่ายเมื่อมีการนำภาพยนตร์ออกมาผลิตเป็นวีซีดีและดีวีดีอีกด้วย

การขยายตัวของเมเจอร์ฯ ยังคงจะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปีนี้นอกจาก E Cinema แล้ววิชาบอกว่าเขาจะรุกไปที่การทำ CRM (Customer Relationship Management) จากฐานข้อมูลลูกค้าของเมเจอร์ฯ และอีจีวี (อ่าน CRM ในความหมายของ Major) ซึ่งน่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเมเจอร์ฯ ได้ไม่น้อย

หลังจากการควบรวมกิจการกับอีจีวี ทำให้เมเจอร์ฯ กลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดโรงภาพยนตร์ในประเทศกว่า 70% รวมทั้งความสำเร็จของการขยายออกสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ ทำให้น่าจับตามองว่า หากเมเจอร์ฯ ยังรักษาความสำเร็จจาก การขยายตัวออกไปในธุรกิจต่างๆ เช่นนี้ ต่อไปรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นไปตามการกำหนดและชี้นำของ เมเจอร์ฯ ก็เป็นได้ เช่น ดูหนังที่เมเจอร์ฯ หรืออีจีวี เล่นโบว์ลิ่งที่เมเจอร์โบวล์ ร้องเพลงที่เมเจอร์คาราโอเกะ ออกกำลังกายที่แคลิฟอร์เนียฯ เดินชอปปิ้งในศูนย์การ ค้าของสยามฟิวเจอร์ฯ ที่มีเมเจอร์ฯ เป็นผู้ถือหุ้น

"ผู้จัดการ" ถามวิชาตรงไปตรงมาว่า แนวโน้มเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งเขาเลี่ยงไม่ตอบตรงๆ แต่อธิบายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่เขาจะต้องอ่านใจผู้บริโภคให้ออกว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วทำอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ เพียงแต่สิ่งเหล่านี้เป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งที่เมเจอร์ฯ เป็นคนสร้างขึ้นมา

"ผมไปไหนก็จะคอยสังเกต ผมจะรู้ว่าผู้บริโภคชอบอะไร เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าผมหรือใครจะตัดสินว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เราเพียงแต่คิดว่าถ้าเราเป็นผู้บริโภค โซลูชั่น ควรจะเป็นอย่างไร ง่ายเลยทีนี้ เราต้องถามว่าถ้าทำอย่างนี้ผู้บริโภคจะสะดวกขึ้นไหม จะชอบไหม ก็ไม่ยาก"
ความสำเร็จของเมเจอร์ฯ ในการสร้างโมเดลผู้ประกอบการฮาร์ดแวร์ในอุตสาหกรรมบันเทิงและยังต่อยอดออกไปสู่ธุรกิจอื่นที่มี synergy ช่วยเสริมกัน ทำให้ เกิดการคาดหมายว่า ธุรกิจนี้จะเป็นหนึ่งใน ไม่กี่อุตสาหกรรมของไทยที่มีความเข้มแข็ง พอที่จะขยายตัวออกสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ แต่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าวิชาจะสามารถครีเอตเทรนด์ ให้เกิดขึ้นในต่างแดนได้เหมือนกับที่เขาทำสำเร็จในประเทศได้หรือไม่   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us