"สันติ คุณาวงศ์" ประธานชมรมห้างสรรพสินค้าภูธร (PDS) คนปัจจุบันถือเป็น 1
ในกลุ่มทุนค้าปลีกต่างจังหวัดเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่รอดพ้นการถูกกลืนโดยทุนค้าปลีก ที่ใหญ่กว่าจากส่วนกลางหรือต่างประเทศ
สันติเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้นำของชมรมห้างสรรพสินค้าภูธร ในยุคที่อาจเรียกว่า
ตกต่ำถึงที่สุดยุคหนึ่ง ในช่วง 2 ปีเศษ ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า PDS แทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
ออกมาจากสมาชิก ที่เคยรวมตัวกันแน่นตั้งแต่ปี 2536 ภายใต้เป้าหมายใช้เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห้างต่างจังหวัดให้ดีขึ้น
แต่ขณะนี้สมาชิกทำได้เพียงพยายามแก้ปัญหาให้กับตนเองให้ได้เท่านั้น
"ตอนนี้คงต้องปล่อยให้เถ้าแก่แต่ละคนที่บางรายเป็น NPL บางรายถูกทุน ขนาดใหญ่กลืนไปแล้ว
พยายามแก้ปัญหาตนเองให้ตกก่อน" ประธานชมรม PDS ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับบอกว่ากิจกรรม ที่จะร่วมกัน เพื่อบุกไปข้างหน้า
คงจะน้อยลง แต่สมาชิกชมรมยังคงพบ หารือกันบ่อยๆ
สันติ คุณาวงศ์ หรือ "เฮียเล้ง" นับ เป็นรุ่นที่ 3 ในตระกูล "คุณาวงศ์"
เริ่มธุรกิจ จากการเปิดร้าน "โค้วไจ้เซ้ง" กิจการขายเสื้อผ้าเล็กๆ ในนครสวรรค์
ก่อนสงคราม โลกครั้ง ที่ 2 จนกลายมาเป็นบริษัทเสริมแสงเซลส์แอนด์เซอร์วิส
จำกัดในเวลาต่อมา
เขาเกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2493 เป็นบุตรคนโตของนายเยี่ยม-นางพรทิพย์
คุณาวงศ์ จบการศึกษาระดับมัธยม 6 ที่โรงเรียนนครสวรรค์ บ้านเกิด แม้เขาจะมีโอกาสเข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาในกรุงเทพฯ
แต่ด้วยนิสัย ที่ชอบเที่ยวเตร่จึงเรียนไม่สำเร็จ ทางครอบครัวจึงเรียกตัวกลับ
และให้ช่วยงานในร้านเสริมแสงการไฟฟ้า โดยให้ทำหน้าที่เดิน ตลาดเอง ซึ่งในช่วงนั้น
ลูกจ้างได้ลาออกจนเกือบหมด บีบบังคับให้เขาต้องลงมาทำงานเอง เต็มตัว และสามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยการพัฒนาร้านเสริมแสงการไฟฟ้า
จนกลายเป็นบริษัทเสริมแสงเซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด ศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทันสมัยที่สุดในภาคเหนือตอนล่างยุคนั้น
พร้อมๆ กับกระจายซับดีลเลอร์ออกไปในพื้นที่ 8 จังหวัดรอบข้าง ในจำนวน ที่มากถึง
453 แห่ง
ในปี 2530 สันติเป็นแกนนำของกลุ่ม "9 เอ็ม" ที่มี สันติ คุณาวงศ์ เป็นแกนนำ และ
มีนักธุรกิจยังเติร์กในจังหวัด เช่น วีระชัย สุทธพงษ์ สุโข นภาพร ชัย เฉลิมศิลป
ศักดา ไชยประสิทธิ์ เป็นสมาชิกร่วมลงทุนเปิดห้างแฟรี่แลนด์นครสวรรค์ ด้วยเงินลงทุนกว่า
100 ล้านบาท ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของวงการค้าปลีกจังหวัดจนห้างแฟรี่แลนด์ได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า ที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่าง
และยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
ในช่วงกระแสการเคลื่อนย้ายฐานค้าปลีกสู่ภูมิภาคของทุนขนาดใหญ่จากส่วนกลาง
เมื่อปี 2537-2538 ผู้ประกอบการค้าปลีกในท้องถิ่นหลายต่อหลายรายต้องล้มพับกลางกระดานมา
ไม่ว่าจะเป็นตันตราภัณฑ์ของตระกูล "ตันตรานนท์" ที่ลือลั่นของเชียงใหม่ในอดีต
ยิ่งยงสรรพสินค้าแห่งอุบลราชธานี เป็นต้น
แต่แฟรี่แลนด์นครสวรรค์ เลือกใช้วิธีหันกลับสู่ ที่มั่น ตั้งป้อมต่อสู้ด้วยกำลังของตน
เองอย่างเต็มที่ ตัดสินใจพับแผนการขยายสาขา ที่เคยวางไว้ทั้งหมด ปิดกิจการที่ได้ขยายไป
แล้วทั้ง ที่พิจิตร สลกบาตร เพื่อลดภาระลงทันที
การเพิ่มทุนของแฟรี่แลนด์จาก 67.7 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาท ลบจุดอ่อน ที่เคยใช้เงินกู้ เพื่อการลงทุนค่อนข้างมากมาตลอด
ทำให้เกิดปัญหาเรื่องภาระดอกเบี้ยเงินกู้ การเพิ่มทุนจดทะเบียนจะช่วยลดภาระดังกล่าวลง
ต่อจากนั้น ได้ดึงซัปพลายเออร์เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย คือ ไอซีซีถือ 10% สหพัฒน์
5% บูติคนิวซิตี้ และนิวซิตี้กรุงเทพฯ รายละ 2.5% และกลุ่มเอ็มเคเค ผู้ผลิตเสื้อผ้าบูติกรายใหญ่
อีก 2.5% ถือเป็นกรณีแรก ที่ห้างสรรพสินค้าต่างจังหวัด ที่มีซัปพลายเออร์ร่วมถือหุ้น
การดึงซัปพลายเออร์เข้ามาร่วมทุนด้วยของแฟรี่แลนด์ ไม่ได้สิทธิพิเศษในการสั่งซื้อสินค้าดีกว่าห้างสรรพสินค้าอื่นๆ
แต่สิ่งที่ได้ก็คือ การเทรนนิ่ง-ข้อมูลการตลาดระดับลึก ที่นำมาใช้รองรับการแข่งขัน
หมาก ที่ 3 ที่สันติ และกลุ่ม 9 เอ็ม นำมาใช้ก็คือ การปรับปรุงการบริการทั้งก่อน-หลังการขาย
การจัดกิจกรรมทางการตลาดทุกรูปแบบ จากนั้น ก็แยกการบริหารธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ ที่ค่ายนี้เข้าไปเป็นซับแอเรียไลเซนส์ให้กับเอเอ็ม/พีเอ็ม
ออกมาบริหารต่างหาก
สันติประเมินว่า จากนี้ไปกลุ่มทุนค้าปลีกในส่วนภูมิภาค จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเปิดเกมรุก
แต่การเดินหน้าของทุนท้องถิ่นครั้งนี้ จะต่างจาก 4-5 ปีก่อน ที่ใช้วิธีขยายการลงทุน
เพิ่มสาขา เพิ่มพื้นที่ขาย ด้วยเงินลงทุนมหาศาล หันมารุกด้านการบริการลูกค้าให้มากที่สุด
เท่า ที่จะมากได้