ฟินันซ่าระดมทุนออกตั๋ว B/E 2 พันล้าน ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐ 1.5-1.75% ก่อนระดมอีกระลอก 4 พันล้านบาท มี FMO การันตี 25% เผยแผนปีหน้าขยายธุรกิจบล.-กองทุนต่างชาติ เตรียมปรับสัดส่วนลงทุนสินทรัพย์ในไทยเพิ่มต่างประเทศ 50:50 คาดบล.โกยกำไรปีนี้ 200-250 ล้านบาท ส่วนวาณิชฯดัน 10 บริษัทเข้าตลท. ด้าน บง.ฟินันซ่าไม่ได้แบงก์ก็ไม่เป็นไรเพราะที่ผ่าน มาลงทุนไปมากแต่กำไรน้อย พร้อมยืนยันหาก N-PARK ยุคใหม่ขายทิ้งหุ้นที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาฯก็ไม่มีปัญหา
นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ FNS กล่าวว่า ในช่วงต้นปีหน้าบริษัทวางแผนระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเตรียมออกตั๋ว B/E วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแผนที่จะเตรียมออกตั๋ว B/E วงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หลังจากที่บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับความน่าเชื่อที่ระดับ BBB โดยในส่วนของตั๋ว B/E วงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท จะได้รับประกันตรา สารทางการเงินโดยบริษัท Nederlandse Financierungs-maatschappijvoor Ontiwikkelingsladen N.V. หรือ FMO ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน ธุรกรรมการเงินของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือ 25% ของการออกตราสาร
ทั้งนี้ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี แต่สามารถเจรจาต่อสัญญาเพิ่มได้อีก 2 ปี ซึ่งสัญญาดังกล่าว จะประกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับเงินต้นหรือดอกเบี้ยของตราสารทางการเงิน
B/E 2 พันล.ขายใน-ตปท.
สำหรับตั๋ว B/E ที่จะออกในช่วงต้นปี 2548 ซึ่งจะระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศนั้นจะยังไม่มีการการันตีเงินต้น โดยจะกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 1.50-1.75% ซึ่งเม็ดเงินที่ได้จากการออกตั๋วประมาณ 500-600 ล้านบาท จะนำมาใช้ชำระหนี้ให้บริษัทในเครืออีกประมาณ 1,000 ล้านบาทและเป็นเงินทุนในบริษัทในเครือ
นายวรสิทธิ์ ยังกล่าวถึง B/E ที่จะออกโดยได้การรับประกันจาก FMO นั้นเงินที่ได้บริษัทจะนำไปรีไฟแนนซ์เงินกู้เดิม รวมถึงการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยที่ผ่านมารายได้ในส่วนดังกล่าวสูงเกือบ 20% ทั้งนี้ระยะเวลาของตั๋ว B/E จะอยู่ในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฟินันซ่า FNS มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท ทรัพย์สินโดยประมาณ 10,000 ล้านบาทและหนี้สิน 7,000 ล้านบาท ด้านสินทรัพย์ปัจจุบันของบริษัทอยู่ในประมาณ 75% ของจำนวนสินทรัพย์ 10,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 25% เป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศ โดยในอนาคตอีก 3-5 ปี บริษัทจะพยายามกระจายสินทรัพย์ในต่างประเทศและในประเทศให้มีสัดส่วนเท่ากันประมาณ 50 : 50
ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากประเทศไทยความเสี่ยงมาจากทั้งด้านตลาดทุนรวมถึงความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในประเทศ
ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนกับกองทุนเอเชีย เดฟ ฟันด์ ในประเทศสิงคโปร์ จากต้นปีที่ผ่านมามีเงินกองทุนดังกล่าวมีเงินทุนประมาณ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะขึ้นไปที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และสิ้นปี 48 จะมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ปีหน้าบริษัทจะไปลงทุนในกองทุนของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงแรกบริษัทฟินันซ่าเข้าไปลงทุนในกองทุนดังกล่าวประมาณ 16 ล้านเหรียญแต่ปัจจุบัน เหลืออยู่ประมาณ 12 ล้านเหรียญ"
รายได้หลักโบรกฯพุ่ง 25%
นายวรสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ในส่วนของบริษัทในเครือในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์มีกำไรประมาณ 200 ล้านบาท กลุ่มกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมีกำไรประมาณ 176 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทเงินทุนมีกำไรประมาณ 31 ล้านบาท โดยรายได้หลักของบริษัทจะอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มกองทุนในต่างประเทศ
ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไร 200-250 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุที่รายได้และกำไรปี 2547 ใกล้เคียงกับปี 2546 เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของบริษัทก็สามารถรักษาระดับมูลค่าการซื้อขายของบริษัทได้
นอกจากนี้มาร์เกตแชร์ของบริษัทที่ปรับขึ้นโดยต้นปีอยู่ที่ระดับประมาณ 1% ปรับขึ้นมาเป็นที่ระดับ 3% กว่าในปัจจุบัน โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะรักษาระดับมาร์เกตแชร์ให้คงระดับดังกล่าว ในส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจปีนี้ปรับลดลงไป 25% เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้อกับการเข้าจดทะเบียน ทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายๆ บริษัทเลื่อนการเข้าจดทะเบียนออกไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนที่บล.ฟินันซ่าเป็นที่ปรึกษารวมถึงเป็นแกนนำและร่วมจัดจำหน่าย 6 บริษัทราคาก็ปรับตัวขึ้นเหนือราคาจองได้ทั้งหมด
สำหรับสัดส่วนรายได้ของบล.ฟินันซ่ามาจากธุรกิจหลักทรัพย์ประมาณ 65% และอีก 35% เป็นรายได้จากงานวาณิชธนกิจ สำหรับปี 2548 คาดว่าสัดส่วนรายได้จะใกล้เคียงกับปีนี้
ด้านแผนงานในส่วนของงานธุรกิจวาณิชธนกิจในปี 2548 บริษัทเป็นที่ปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน 4-5 บริษัท และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 4-5 บริษัท โดยคาดว่าในปีหน้าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนทั้งสิ้นประมาณ 10 บริษัท มูลค่าการระดมทุนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 400-2,000 ล้านบาท
N-PARK บริหารคงเดิม
ส่วน กรณีที่ นายชาลี โสภณพนิช กลุ่มซิตี้เรียลตี้ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแนเชอรัล พาร์ค หรือ N-PARK โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ในด้านการบริหารงานมากนัก เพราะที่ผ่านมานายชาลี เคยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฟินันซ่าผ่านทางหลักทรัพย์ เอเซีย มาแล้ว
"กรณีการเข้าถือหุ้นดังกล่าวของกลุ่มซิตี้เรียลตี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ส่งผลอะไรกับบริษัทฯเพราะก่อนหน้านี้นายชาลี เคยถือหุ้นของ FNS มาแล้ว และโดยส่วนตัวผมกับคุณชาลีก็รู้จักกันมาก่อน แต่เรื่องดีลครั้งนี้ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด" นายวรสิทธิ์ กล่าว
นายวรสิทธิ์กล่าวว่า ต่อไป N-PARK คงจะมีการเน้นขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ทั้งนี้หาก N-PARK กับกลุ่มใหม่จะมีการขายหุ้นที่ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือขายหุ้น FNS ออกมาก็ไม่เป็นไร แต่อย่างไรก็ตามทางบริษัทเตรียมแนวทางแก้ไขไว้แล้ว
เรื่องแบงก์ยังไม่ชัดเจน
ด้านความคืบหน้ายกระดับ บง.ฟินันซ่า ขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งยังไม่ได้คำตอบว่าสามารถดำเนินงานต่อไปได้หรือไม่ แต่ในส่วนของบง.บีฟิท จะควบรวมกิจการก็ต่อเมื่อได้รับการยกระดับขึ้นเป็นธนาคาร
"ปัจจุบันธุรกิจ บง.ตอนนี้ไม่ได้ทำรายได้ให้บริษัทมาก ถ้าแบงก์ชาติคิดว่า บง.ฟินันซ่า ไม่เหมาะสมที่จะเป็นแบงก์ ผู้บริหารคงจะเข้าไป เจรจากับ ธปท.และสอบถามว่า ธปท. มีนโยบายสำหรับธุรกิจ บง. อย่างไร ซึ่งบริษัทพร้อมจะดำเนินงานตามแผนแม่บทของสถาบันการ เงินของธปท.อยู่แล้ว" นายวรสิทธิ์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มการควบรวมกิจการในปีหน้าน่าจะมีมากขึ้น เนื่องจากหลายธุรกิจต้องการการขยายตัว และลดการแข่งขัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหญ่เข้ามาได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ปัญหาส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากมีการควบรวมจะเป็นเรื่องของบุคลากรมากกว่า สำหรับข้อสังเกตว่าหากการยกระดับของบง.ฟินันซ่าเป็นแบงก์ไม่ผ่านเกณฑ์ของธปท.นั้น การควบรวมกิจการกับบง.สินเอเซีย ที่เป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพ เรื่องดังกล่าวไม่มีความเป็นไปได้
|