ในปี 2002 เราจะหาโลกที่มีค่าแก่การพรรณนาไม่ได้อีกแล้ว เพราะชีวิตมนุษย์ปนเปกันอย่างกลมกลืน
ระหว่างการทำงานกับการเล่น ไม่จำเป็นต้องเอาคนจำนวนมากมาย มากระจุกในพื้นที่เล็กๆ
ในที่ทำงาน หรือใกล้ศูนย์ธุรกิจสำคัญๆ แม้อยู่บ้านก็อาศัยคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ
เชื่อมต่อกับสังคมภายนอกได้อย่างไร้พรมแดน จนยากที่จะทำนายว่าความสนุกสนานจะมีมากมายหลายหลากขนาดไหนจากโลกดิจิตอล
ทั้งนี้มนุษย์มีอานุภาพมาก แต่จนปัญญาที่จะทำลายขยะคอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัยได้
ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ช่วงยุคแรกที่ธุรกิจเมืองไทยเริ่มตื่นตัวใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์
Office Automation โดยมีตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์รายใหญ่ เช่น ไอบีเอ็ม, เอ็นอีซี,
เนชั่นแนล, ซีร็อกซ์ เป็นผู้ให้บริการเต็มรูปแบบแก่ธุรกิจต่างๆ
นิตยสารผู้จัดการให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่นี้
โดยเปิดหน้าคอลัมน์ "คอมพิวเตอร์ผู้จัดการ" ตั้งแต่ฉบับแรก ให้ผู้อ่านเข้ามามีส่วนร่วมถามปัญหาด้วย
เพราะขณะนั้นการใช้ระบบปฏิบัติการ OS ยังมีผู้รู้อยู่จำกัดในวงของธุรกิจใหญ่เท่านั้น
หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจจากการลดค่าเงินบาทในปี 2527-2533 ธุรกิจใหญ่น้อยต้องปรับตัวครั้งใหญ่
โดยเฉพาะความพยายามลดต้นทุนด้วยวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพภายใน ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาธุรกิจนี้
เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินที่มีธุรกรรมอันทันสมัย ที่เห็นเด่นชัดว่าเชื่อมโยงกับธุรกิจโลก
(Globalization) ได้พัฒนาระบบเครือข่าย ATM (Automatic Teller Machine) ที่เป็นเทคโนโลยีเปิดของทุกธนาคารร่วมกัน
ทำให้ช่วยลดต้นทุนของสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีไอบีเอ็ม (ประเทศไทย)
เป็นบริษัทหลักที่พัฒนาขายระบบ MIS (Management Information System) ทำให้คนไอบีเอ็มกลายเป็นที่ต้องการของตลาด
เกิดภาวะสมองไหลในยุคสมภพ อมาตยกุล เป็นผู้จัดการใหญ่ ในยุคทองของเศรษฐกิจไทยปี
2533
หลังจากปี 2534 เมื่อสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักภายใต้การนำ
ซัดดัม ฮุสเซ็น อำนาจธุรกิจใหม่ในประเทศไทยได้เกิดขึ้น คือ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
(Telecommunication)
คลื่นลูกแรกที่เป็นโมเดลของความสำเร็จคือ กลุ่มชินวัตรของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ที่ได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 ดาวเทียม เพจเจอร์ และเคเบิลทีวี
ขณะที่กลุ่มยูคอมของตระกูลเบญจรงคกุล ได้สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 800
และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 2 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพฯ
เท่านั้น ขณะที่ทีทีแอนด์ทีได้ส่วนภูมิภาค ซึ่งนิตยสารผู้จัดการเคยวิเคราะห์ไว้ในฉบับเดือนมิถุนายน
2538 เรื่อง "ทุนสื่อสาร : การเคลื่อนทัพของเงินและอำนาจ" โดยไพเราะ เลิศวิราม
ได้เกริ่นนำไว้ว่า
"ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ ทุนสื่อสารได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แซงหน้ากิจการที่เคยทรงอิทธิพลในอดีตอย่างเกษตรกรรม
อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อย่างไม่ติดฝุ่น"
"ยุคของเครือข่าย" ได้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่มี Big players ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลเหล่านี้
ใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของ information super highway ทุกสาย และได้พัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
แต่ก็มีปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่แน่ใจว่า สังคม Knowledge Integration
ที่มี "โลกในเรือน เพื่อนในมือ" จะเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้ว่าภาพจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์
อาจเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นสังคมไร้พลังเรียนรู้ (non-learning society) เท่านั้น!!