เครื่องมือที่ช่วยให้คุณใจกว้าง
Mark Williams มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของคนเรา ที่มีต่อคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม
ในฐานะที่ปรึกษา นักฝึกอบรม และนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จ เขาใช้เวลา 17
ปี เป็นผู้นำการสัมมนาที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม
เป็นการสัมมนาที่มีเป้าหมายจะช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะเปิดใจกว้างต่อความแตกต่าง
และตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมของคนอื่น และหนังสือเล่มนี้ก็คือผลจากความพยายามตลอดหลายปีของเขา
ที่ต้องการจะสร้างเครื่องมือที่เราสามารถนำไปใช้ทำความเข้าใจและสื่อสาร เกี่ยวกับความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้
แว่นทั้งสิบ
"แว่น 10 ชนิด" หมายถึง มุมมอง 10 มุมมองที่แตกต่างกัน ที่คนเรามีต่อความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ
ความเป็นชาติและวัฒนธรรม มุมมองหมายถึงทัศนคติ ความเห็นและความรู้สึกของเรา
แว่นทั้งสิบมีอะไรบ้าง
- Assimilationist คือ พวกที่มีมุมมองแบบส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว คนที่มีมุมมองแบบนี้ต้องการให้ปัจเจกยอมซ่อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน
เพื่อหลีกทางให้แก่วัฒนธรรมระดับชาติและอุดมการณ์ชาตินิยม
- Colorblind คือกลุ่มที่ให้คุณค่าแก่ปัจเจกและไม่สนใจเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ
โดยเชื่อว่าการไม่ให้ความสำคัญกับสีผิวเป็นการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม
- Culturalcentrist คือ พวกที่มีมุมมองว่าวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
คนที่มีทัศนคติแบบนี้ต้องการเน้นความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น
และต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอคติ
- Meritocratist กลุ่มนี้เชื่อมั่นในการทำงานหนัก คุณความดีส่วนตัว และการแข่งขัน
ว่าเป็นสิ่งที่จะตัดสินความสำเร็จในชีวิต
- Victim/Caretaker นี่เป็นมุมมองของคนที่เห็นว่าการได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสระเป็นเป้าหมายที่สำคัญ
และยังคงรู้สึกทุกข์ทรมานจากการกดขี่ในอดีตที่บรรพบุรุษเคยได้รับมาเป็นเวลาหลายชั่วคน
'แว่น' ที่เหลืออีก 5 ชนิดได้แก่ Elitist, Integrationist, Multiculturalist,
Seclusionist และ Transcendent
อิทธิพลของความรับรู้ที่เรามีต่อคนอื่น
แว่นหรือมุมมองเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการกระทำของเราอย่างลึกซึ้ง ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนไม่ว่าจะเป็นการบริหารคน
การให้บริการลูกค้า การทำงานร่วมกับคนอื่น หรือติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ต่างก็สวมแว่นชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดในแว่นทั้งสิบ
ในการมองและรับรู้เกี่ยวกับคนอื่น แว่นมุมมองที่เขาสวมอยู่จะทำให้เขาลงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อคนอื่น
ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม คนเราสามารถเปลี่ยนมุมมองได้
การทำความเข้าใจกับมุมมองต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราสามารถจะมองเห็นและเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของตัวเราเองที่แสดงออกไป
ว่าเกิดจากเรากำลังสวมแว่นชนิดใดในแว่นทั้งสิบ และทำให้เราสามารถสังเกตเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของเราได้
มุมมองที่เรามีต่อคนอื่น ไม่เพียงมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับครอบครัว
กับเพื่อน และเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อการทำงานของเราอีกด้วย
ผู้จัดการสามารถใช้ความรู้เรื่องมุมมองนี้ทำความรู้จักกับพนักงานของตน และสามารถพัฒนาจุดแข็งของพนักงานเหล่านั้นได้
ผู้นำอาศัยความรู้เรื่องมุมมองสร้างระบบทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสม กับพนักงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม
และสามารถจะกำหนดวิธีที่องค์กรจะสื่อสารกับลูกค้าและชุมชนได้อีกด้วย การรับรู้ที่เรามีต่อคนอื่นยังมีบทบาทสำคัญต่อบริษัทในแง่ของการจัดหาคัดเลือกพนักงาน
การจ้างงาน การจัดพี่เลี้ยงให้พนักงานใหม่ การฝึกอบรม และการจ่ายค่าตอบแทน
ความรู้เรื่องมุมมองที่เรามีต่อบุคคลอื่น ทำให้เราตระหนักถึงมุมมองที่เรามีต่อลูกค้า
และที่สำคัญกว่าคือทำให้รู้ว่าลูกค้ามีมุมมองต่อเราและบริษัทของเราอย่างไร
มุมมองเกิดจากอะไร
เมื่ออธิบายถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของมุมมองแต่ละมุมมองแล้ว Williams ได้อธิบายต่อไปว่า
มุมมองเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ และการตีความหมายที่เราได้รับและเรียนรู้มา
บวกกับเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ระดับการศึกษา ความคิดทางการเมือง อาชีพและอื่นๆ
ที่เรามีและเป็นอยู่ ทั้งสองส่วนนี้รวมกันก่อเกิดเป็นมุมมองเฉพาะตัวของแต่ละคน
ที่จะฝังติดแน่นอยู่ในความเป็นตัวตนของเรา
หลังจากให้คำอธิบายที่มากพอที่จะทำให้ผู้อ่านของเขาเข้าใจถึงแว่นทั้งสิบแล้ว
Williams ก็ชี้ให้เห็นว่า ความรู้ความเข้าใจเรื่องมุมมองทำให้เราเปิดใจกว้างรับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้
แม้แต่ในโลกของการทำงาน พนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องมุมมองย่อมได้เปรียบพนักงานอื่นๆ
ในเรื่องของการวางตัวและความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อันสามารถนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้
บริษัทที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องมุมมองย่อมได้เปรียบคู่แข่งในการแข่งขันทางธุรกิจ
เมื่อเรารู้ว่า แต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกันไปอย่างไร เราย่อมสามารถสื่อสารกับเขาได้ดีขึ้น
ท้ายสุด Williams กล่าวว่า เราควรปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการถูกผูกมัดด้วยแว่นทั้งสิบ
เขาได้เสนอ 'แว่นที่สิบเอ็ด' ซึ่งมีมุมมองว่าโลกและมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
โดยสามารถคงไว้ทั้งความหลากหลายและความยั่งยืน เขาชี้ว่า แว่นที่สิบเอ็ดนี้เองที่จะเป็นเครื่องมือ
ที่ทำให้องค์กรสามารถใช้ความหลากหลายที่มีอยู่ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
สามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูงสุด และสามารถประสบความสำเร็จในระดับสูงสุด