กำเนิด MouseDriver
กรณีศึกษาการเริ่มต้นธุรกิจ
MouseDriver เป็นเมาส์คอมพิวเตอร์ที่หน้าตาคล้ายหัวไม้กอล์ฟ (golf driver)
เป็นผลิตภัณฑ์เพียงตัวเดียวที่บริษัท Platinum Concepts, Inc. ผลิตและขาย
(อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่อีกตัวหนึ่งในปี 2002 นี้) หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องจริงของ
John Lusk และ Kyle Harrison ซึ่งเพิ่งจบ MBA จากมหาวิทยาลัย Wharton มาหมาดๆ
แต่สามารถประสบความสำเร็จในการก่อตั้งบริษัท Platinum Concepts เพื่อผลิตและขายเมาส์คอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ที่พวกเขาเป็นคนคิดขึ้น
เรื่องราวของ 2 มหาบัณฑิตหนุ่มในหนังสือเล่มนี้ อาจเป็นกรณีศึกษาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่ดีที่สุดกรณีหนึ่งเท่าที่คุณเคยได้อ่านมา
แผน A (และ B และ C)
แผนการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ของ Lusk กับ Harrison เพื่อผลิตและขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นความคิดของพวกเขา
เริ่มต้นขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยรูปแบบการวางแผนแบบแผน A แผน B และ แผน C แผน
A คือพวกเขาจะลองสอบถามข้อมูลและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ แผน B คือ ลงมือลุยด้วยตัวเองและแก้ไขปัญหาไปตามสถานการณ์
ส่วนแผน C คือ ใช้สมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ถ้าไม่นับการที่ทั้งสองสามารถหาผู้ผลิตในฮ่องกงได้โดยการแนะนำของเพื่อนที่เคยเรียน
Wharton ด้วยกันแล้ว แผน A แทบจะใช้ไม่ได้ผลเลย ส่วนแผน B ใช้ได้ผลดีมาก
เช่น พวกเขาค้นพบร้าน ที่สามารถออกแบบกล่องที่จะใช้บรรจุสินค้าของพวกเขาได้จากศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง
(Brookstone เป็นผู้ออกแบบสีของกล่องที่ใส่ MouseDriver ส่วน Nordstrom's
เป็นผู้ออกแบบกล่อง) ส่วนแผน C เป็นแผนที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ทั้งสองมากที่สุด
"หลายครั้งที่เราพบว่าเยลโลเพจเจสมีประโยชน์กับเรามากกว่าเพื่อนๆ ที่ Wharton
เสียอีก" Lusk เล่า (ทั้ง Lusk และ Harrison ถือเป็นผู้ประพันธ์ร่วมของหนังสือเล่มนี้
แต่ Lusk เป็นคนเขียนเพียงคนเดียว) "แผน C มักใช้ได้ผลกว่าแผน A อยู่เสมอ
เมื่อเราลองวิเคราะห์ดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็พบว่ามีสาเหตุ 2 ประการที่น่าสนใจมาก
ประการแรกซึ่งเห็นได้ชัดก็คือ เรากำลังอยู่ในโลกธุรกิจที่ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะจบ
MBA หรือเปล่า"
ทำไม MBA จึงไร้ความหมาย
ประการที่สองคือ ทั้งสองได้ตระหนักว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจที่พวกเขาได้เรียนมา
มิได้เตรียมนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยธุรกิจไม่ได้สอนการเริ่มต้นธุรกิจ
แต่สอนให้ 'เป็นลูกจ้าง' มากกว่า โดยทั้งสองเห็นว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยธุรกิจสอน
คือการเตรียมนักศึกษาให้พร้อมเข้าทำงานในวาณิชธนกิจ บริษัทที่ปรึกษา และฝ่ายจัดการของบริษัทใน
Fortune 500 "แม้แต่เวลาที่สอนเรื่องการเริ่มต้นธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจก็จะเน้นสอนแต่การตั้งกิจการใหม่
ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้มหาศาล และ/หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมได้"
Lusk เขียนต่อไปว่า "วิธีการสอนแบบนี้เป็นการละเลยธุรกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในโลกแห่งความเป็นจริง
ที่มีผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่อย่างอยู่ในมือและมีพนักงานเพียงไม่กี่คน ซึ่งไม่มีหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมได้"
ประสบการณ์แห่งชัยชนะและความเจ็บปวดที่ Lusk และ Harrison ได้รับ คือประสบการณ์เดียวกับใครก็ตามที่มีความคิดดีๆ
และได้เริ่มต้นธุรกิจเพื่อขายความคิดนั้น ได้เผชิญมาแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
ไปจนถึงการค้นให้พบช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อจะสามารถส่งสินค้าของคุณให้ถึงมือลูกค้าเป้าหมายได้
ตั้งแต่การได้รับบทเรียนว่า พนักงานขายอาจทำให้คุณต้องเสียเงินมากกว่าที่จะทำเงินให้คุณ
จนถึงการเรียนรู้ว่าจะลงทุนทำการตลาดผ่านสื่อไหนและอย่างไรจึงจะไม่เสียเงินเปล่า
ทั้ง Lusk และ Harrison ทำให้คุณได้เห็นรายละเอียดของเส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ
ที่ทุกคนที่มีความฝันอยากจะเริ่มต้นธุรกิจจะต้องเตรียมตัวเผชิญ ก่อนจะตัดสินใจออกเดินทางไปบนเส้นทางสายนี้