ถ้าท่านจำได้ช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของโรงภาพยนตร์ยุคใหม่ในบ้านเรา
และจุดขายที่สำคัญที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ของการแข่งขันคือ "โรงหนังเสียงดี"
ปัจจุบันเทคโนโลยีระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ถูกนำมาขายกินสู่โฮมเธียเตอร์ตามบ้าน
ทำให้การชมภาพยนตร์ที่บ้านได้อรรถรส ไม่แพ้การชมที่โรง ซึ่งระบบเสียงที่สมบูรณ์และแพร่หลายสู่โฮมเธียเตอร์
เห็นจะหนีไม่พ้นระบบ Dolby Digital 5.1 และระบบ DTS 5.1 ซึ่งเป็นระบบเสียงเซอร์ราวด์ที่สมบูรณ์แบบ
มีช่องเสียงอิสระ ถึง 5 ช่องเสียง บวกกับช่องสำหรับเสียงต่ำอีก 1 ช่อง ระบบเสียง
5.1 สามารถสร้างบรรยากาศในการชมภาพยนตร์ได้อย่างเหลือเชื่อ และที่สำคัญคือได้รับการยอมรับทั้งผู้ชมและผู้ผลิต
เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง
ส่วนประกอบของระบบเสียงสำหรับโฮมเธียเตอร์ ทั้งระบบ Dolby Digital 5.1
และ DTS 5.1 ยอดฮิตมีอยู่ด้วยกัน 5 ส่วน
หนึ่ง เครื่องเล่นดีวีดี
สอง ภาคถอดรหัส และแปลงสัญญาณ (Decoder) ส่วนนี้จะบรรจุอยู่ในเครื่องขยายเสียงเซอร์ราวด์
(Surround Amplifier) หรือบรรจุอยู่ในเครื่องเล่นดีวีดีบางรุ่น ทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณเสียง
ในรูปข้อมูลดิจิตอลมาเป็นสัญญาณเสียง 6 ช่องเสียง (รวมช่องเสียงความถี่ต่ำสำหรับ
Active Subwoofer) เพื่อขยายออกลำโพงต่อไป
สาม ภาคขยายเสียง 5 ช่องสัญญาณ ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียงเพื่อขับลำโพง
ภาคนี้เป็นส่วนประกอบของเครื่องขยายเสียงเซอร์ราวด์ หรือจะใช้เครื่องขยายเสียงทั่วไป
(เช่น Integrated Amps) แต่จะต้องใช้หลายตัวเพื่อให้ครบ 5 ช่องเสียง
สี่ ลำโพงชุด 5 ตัวประกอบด้วย ลำโพงคู่หน้าซ้ายขวา ลำโพงหน้ากลาง และลำโพงเซอร์ราวด์คู่หลัง
ห้า Active Subwoofer เป็นลำโพงเสียงต่ำที่มีเครื่องขยายเสียงในตัว ทำหน้าที่ผลิตเสียงต่ำมากๆ
เพื่อให้เกิดคลื่นอากาศ สร้างความสั่นสะเทือน (หรือความบึ้ม) เช่น เวลามีการระเบิดอย่างถล่มทลาย
ลำโพงนี้จะต่อกับช่องสัญญาณ LFE หรือ Low Frequency Effects สัญญาณนี้คือที่มาของจุดหนึ่งของชื่อ
5.1
เห็นรายการอุปกรณ์แล้ว รู้สึกจะเห็นภาพของความยุ่งยากลอยมาแทนภาพยนตร์เรื่องโปรด
กว่าจะได้โรงภาพยนตร์ส่วนตัวไว้ที่บ้าน ต้องอาศัยทั้งเม็ดเงินลงทุน (ซึ่งเป็นเอ็นพีแอลแน่นอน)
บวกความพยายามทั้งการเรียนรู้และลงมือ แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพื่อให้เกิดทางเลือกหรือจะเรียกว่าโฮมเธียเตอร์ทางเลือกก็ได้
ผมขอเสนอวิธีสร้างระบบเสียงสำหรับโฮมเธียเตอร์ด้วยตัวเอง 3 วิธี ซึ่ง ผมขอตั้งชื่อว่า
วิธีบะหมี่สำเร็จรูป วิธีมาตรฐาน และวิธีไม่ลองไม่รู้
วิธีบะหมี่สำเร็จรูป ชื่อก็บอกเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว
วิธีการคือท่านหาซื้อชุดเครื่องเล่นดีวีดีแบบ All-In-One คือมีทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นรวมอยู่ครบถ้วน
ชุดดังกล่าวจะประกอบด้วยเครื่องเล่นดีวีดี ที่มีภาคถอดรหัสในตัว รวมทั้งยังมีภาคขยายเสียงซึ่งสามารถขับลำโพงได้โดยตรง
และลำโพงที่จะขับก็แถมมาให้ด้วย 5 ตัวรวมทั้งลำโพง Subwoofer อีกหนึ่งด้วย
(บางเจ้าแถมขาตั้งลำโพงมาให้ครบ) เพียงแต่ท่านระดมทุนซื้อชุดบะหมี่สำเร็จรูปที่ว่านี้มาต่อสายลำโพงให้ครบ
วางตำแหน่งลำโพงตามคู่มือแนะนำ ต่อสายสัญญาณวิดีโอไปยังเครื่องรับโทรทัศน์เป็นอันเสร็จ
ท่านจะได้ชุดโฮมเธียเตอร์ในเวลาไม่นานกว่าการต้มน้ำให้เดือดเพื่อทำบะหมี่
ข้อเสนอแนะนำในการซื้อชุดบะหมี่สำเร็จรูป คือควรเลือกซื้อชุดที่มีระบบถอดรหัสทั้ง
Dolby Digital และ DTS ในตัว มี Active Subwoofer มีคุณภาพเสียงที่ดีสำหรับการฟังซีดีเพลงและชมภาพยนตร์
ที่อาจจะต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษคือ เสียงที่ได้จากลำโพงชุดที่แถมมาจะต้องทำให้ท่านพึงพอใจ
แน่นอน สุ้มเสียงชุดบะหมี่ย่อมไม่สามารถต่อกรกับชุดใหญ่แบบครบสูตรได้ แต่ควรจะต้องรองรับคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับโฮมเธียเตอร์คือ
"ได้อารมณ์ของการดูหนัง" เนื่องจากชุดบะหมี่มักจะมีราคาไม่แพงมาก (เมื่อเทียบกับการซื้อทีละชิ้นตามสูตรมาตรฐาน)
ท่านไม่จำเป็นต้องเลือกรุ่นที่ถูกที่สุด (รุ่นถูกสุดราคาประมาณ 2 หมื่นบาท)
เพราะอาจไม่คุ้มค่าและที่น่าวิตกคือ ดูไปดูมาต้องเสียสตางค์ซื้อชุดใหญ่อีกรอบ
วิธีมาตรฐาน คือ ซื้อเครื่องเล่นดีวีดี เครื่องขยายเสียงเซอร์ราวด์ ลำโพง
ชุดโฮมเธียเตอร์สำหรับ 5 ช่องเสียง และ Active Subwoofer ใช้งบประมาณขั้นต่ำไม่หนี
5 หมื่นบาท วิธีนี้ท่านจะสามารถเลือกอุปกรณ์ตามความพอใจของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพ
เสียง คุณสมบัติพิเศษหรือรูปลักษณ์ ท่านสามารถจับคู่ชุดลำโพงกับเครื่องขยายเซอร์ราวด์ให้เข้าชุดกัน
ข้อแนะนำถ้าจะให้เสียงฟังกลมกลืนกันควรซื้อลำโพงเป็นชุด 5 ตัว ซึ่งจะเป็นแพ็กเกจลำโพงสำหรับโฮมเธียเตอร์
สุดท้ายเลือก Active Subwoofer ให้เข้าชุดอีกชิ้น
วิธีสุดท้าย ไม่ลองไม่รู้ สำหรับบุคคลที่อยู่ไม่สุขชอบเล่นโน่นเล่นนี่
(อย่างผมเองเป็นต้น) คือการเลือกซื้อเป็นชิ้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องจัดเป็นชุด
วิธีการนี้เกิดจากการที่ผมมีเครื่องเสียงที่ใช้ฟังเพลงอยู่แล้วหลายชุด พอมีโครงการจะสร้างโรงภาพยนตร์ส่วนตัว
ก็เลยคิดที่จะนำสิ่งของที่มีอยู่มารวมกัน ผมเลือกเครื่องเล่นดีวีดีที่มีภาคถอดรหัสอยู่ในตัวทั้งระบบ
Dolby Digital และ ระบบ DTS ขอเน้นว่าระบบถอดรหัส DTS เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่พิถีพิถันในเรื่องของเสียง
เพราะระบบเสียง DTS โดยทั่วไปจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าระบบ Dolby Digital
ด้วยเหตุใช้การลดทอนข้อมูลเสียงที่น้อยกว่า
ผมต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล คำวิจารณ์ทั้งไทยและเทศ และต้องไปทดลองฟังเสียงลำโพงชุดต่างๆ
อยู่เป็นเวลานานกว่าจะตัดสินใจซื้อแต่ละชิ้น ผมใช้ลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ที่ใช้ในห้องบันทึกเสียงเป็นลำโพงคู่หน้า
ลำโพงคู่นี้ผมมีอยู่แล้วเป็น ลำโพงคู่โปรดของผมที่ใช้ฟังเพลง ถือเป็นตัวเอกในระบบเสียงของผมเลย
ลำโพงนี้ให้เสียงต่ำที่เยี่ยมมากเหมาะในการเป็นลำโพงคู่หน้า ผมขอยืมลำโพงฟังเพลงที่มีชื่อของเดนมาร์กข้างหนึ่ง
มาเป็นลำโพงกลางหน้าเป็นการชั่วคราว กำลังหาซื้อตัวจริงอยู่ ลำโพงเซอร์ราวด์คู่หลังใช้ลำโพงอังกฤษชื่อดี
เสียงดี ราคาประหยัด ผมเลือกลำโพงตู้เปิด ที่มีรูหายใจ (Air Port) อยู่ด้านหน้าเพราะมีความจำเป็นต้องวางใกล้ฝาผนัง
พอดีห้องฟังเพลงและดูหนังของผมมีขนาดไม่ใหญ่คือประมาณ 4 คูณ 4 เมตร แต่ผมบุผนังห้องทั้งหมด
รวมทั้งเพดานด้วยวัสดุซับเสียง และผมใช้หลักการของ Near Field Monitor คือจุดฟังอยู่ไม่ไกลจากลำโพง
เพราะฉะนั้นจะได้ยินเสียงตรงจากลำโพงเป็นหลัก ลำโพงคู่หลังผมมีปัญหาเสียงเบสบวม
เพราะต้องตั้งติดฝาผนัง แต่เนื่องจากจุดฟังอยู่ใกล้ลำโพงหลัง ผมจึงสามารถลดระดับความดังของลำโพงคู่หลังได้
เพื่อลดอาการบวม เครื่องขยายเสียงผมมีสามสัญชาติ มีอังกฤษ ญี่ปุ่น และไทย
ต่อสัญญาณเสียง (อนาล็อก) โดยตรงจากเครื่องเล่นดีวีดี ผมเลือกซื้อ Active
Subwoofer ขนาดย่อมมาใช้ดูหนังอย่างเดียว ผมจะไม่ใช้ Subwoofer ฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดี
หรือดูคอนเสิร์ตดีวีดี กรณีดีวีดี ผมมักจะเลือกระบบเสียงระบบสเตอริโอ (PCM
ไม่ลดทอน ไม่เซอร์ราวด์) ทำให้ผมเลือก Subwoofer ได้ไม่ยากนัก ผมเลือกตัวที่มีขนาดกะทัดรัด
แต่บึ้มได้หนักแน่น
วิจารณ์อย่างไม่รวบอำนาจและเข้าข้างตนเอง เมื่อเทียบกับระบบเสียงที่ผมเคยไปทดลองฟังที่ต่างๆ
มา ระบบไม่ลองไม่รู้ของผมไม่ด้อยกว่าใคร ใช้ได้ทั้งดูหนังและฟังเพลง มีข้อเสียอยู่ที่การปรับระดับความดังของเครื่องขยายเสียงแต่ละตัวให้แม่นยำ
ทำได้ยาก บางครั้งหลงต้องใช้แผ่น TEST หรือแผ่นที่คุ้นช่วยปรับอยู่เป็นระยะๆ
หวังว่าท่านคงพอได้ไอเดียเกี่ยวกับระบบเสียงสำหรับโรงภาพยนตร์ส่วนตัว ข้อแนะนำทิ้งท้าย
อย่าเชื่อคำวิจารณ์ หรือข้อแนะนำต่างๆ ในทันที ท่านต้องหาโอกาสดูกับตาและฟังกับหู
และถ้าจะให้ดีควรให้เวลาและทดลองฟังเปรียบเทียบกันหลายๆ ชุดก่อนการตัดสินใจ
เพื่อให้โรงภาพยนตร์ในฝันของท่านเป็นฝันดีที่เป็นจริง ถึงตรงนี้ผมถือโอกาสจบข้อเขียนชุดโฮมเธียเตอร์ไว้เท่านี้
คราวหน้าพบกันด้วยเรื่องอะไรขอเวลาคิดเดือนหนึ่งครับ สวัสดี