|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติย้ำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่กระทบเศรษฐกิจ เหตุประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป ชี้ปีนี้ยังโตระดับ 6% ขณะที่ปีหน้าโตระดับ 5.5 - 6.5% ตามที่คาดการณ์ ด้านแบงก์เฉพาะกิจของรัฐรอจังหวะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เตรียมพิจารณาต้นปีหน้า แต่คาดปรับไม่มาก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลาดพันธบัตรซื้อคืนระยะ 14 วัน (อาร์/พี) เป็น 2% ว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นแล้ว แต่ ธปท.ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ในปี 2547 จะขยายตัวได้ในระดับ 6% ขณะที่ในปี 2548 ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตรา 5.5-6.5%
"ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้ว และในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ดี"
ส่วนนโยบายอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น ธปท.จะพิจารณาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี ธปท.สามารถขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ เพื่อดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่หากจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท.จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว
"จังหวะไหนที่ ธปท.เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ก็จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากไม่ต้องการให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถูกผลกระทบ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ขึ้นแล้วไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทยอยปรับขึ้น เพราะธปท.ให้ความสำคัญของการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)" ผู้ว่าการธปท. กล่าว
สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น และจะก่อให้เกิดภาวะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ธปท.ได้พิจารณาในหลายปัจจัยแล้ว รวมถึงเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วย ซึ่งไม่เป็นห่วงว่าจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีก เนื่องจาก ธปท.ได้เข้าไปดูแลตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
ในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธปท.จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น จะต้องเป็นไปตามกลไกตลาด และสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้จะพบว่าจำนวนสภาพคล่องสุทธิในระบบได้ลดลงมาก โดยจากการตรวจสอบของธปท. พบว่า ในปัจจุบันมีสภาพคล่องเหลือไม่ถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับ 700,000 ล้านบาทในช่วงก่อนหน้า
ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในปี 2547 นี้ ธนาคารได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร โดยที่ผ่านมายังไม่มีการปรับขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย แม้ว่า ธปท.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในรอบปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยตลาดอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะเริ่มพิจารณาความเหมาะสม ประมาณช่วงไตรมาสที่ 1 พาณิชย์ด้วย แต่คงปรับไม่สูงมาก เชื่อว่าตลอดทั้งปีคงขยับขึ้นไม่เกิน 1% และจะขึ้นก็จะปรับทั้ง 2 ขา คือ ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งธนาคารต้องรอดูทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ด้วย
ทั้งนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวของธนาคาร จากระดับ 6% เป็น 7% นั้นจะกระทบต่อลูกค้าธนาคารประมาณ 60% ของทั้งหมดจำนวน 800,000 ราย ซึ่งจะทำให้ค่างวดในการผ่อนที่อยู่อาศัยอายุ 20 ปีกับธนาคาร เพิ่มขึ้นประมาณ 500 บาทต่องวด หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของค่างวด ขณะที่อีก 40% จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุ 3 ปีกับธนาคารอยู่แล้ว ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 3ปี ของธนาคาร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.25% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงและมีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน
ด้านนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องดูถึงสถานการณ์โดยรวมเสียก่อน โดยหากมองจากสภาพคล่องของธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 6% ของเงินฝากทั้งหมด ถือว่ายังมีเพียงพอที่จะบริหารจัดการได้อยู่จึงจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมก่อน แต่ในช่วงต้นปีหน้าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ น่าจะได้เห็นความชัดเจนในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร
"การปรับอัตราดอกเบี้ยนั้น สิ่งที่สำคัญคือสถานการณ์ทางด้านการเมืองหลังเลือกตั้ง ซึ่งหากรัฐบาลยังเป็นชุดเดิมอยู่ ทางออมสินก็สามารถที่จะดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และจะสามารถพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ถูกต้อง เพราะในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ ดอกเบี้ยในตลาดนั้นจะมีผลต่อการลงทุนโดยรวมได้ด้วย"
นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่าในปี 2547 นี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้พยายามประคองอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเดิม โดยตลอดทั้งปียังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเลย อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มพิจารณาความเหมาะสมประมาณช่วงไตรมาสที่ 1 แต่คงปรับในอัตราไม่มากนักเพราะเชื่อว่าธปท.คงจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกมากนักในปีหน้า
สำหรับเหตุผลที่เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ เป็นเพราะสภาพคล่องมีอยู่ยังถือสามารถจะดำเนินงานบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารได้ลดลงจากเดิม 25% ในเดือนกันยายน 2547 เหลือเพียงประมาณ 23%ในเดือนตุลาคม 2547 เท่านั้นจึงทำให้สามารถยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับเดิมอยู่ และเชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ อาทิ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ไข้หวัดนก และการสูงขึ้นของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในปีนี้จะยุติลงไปไม่ส่งผลกระทบถึงปีหน้าอย่างแน่นอน
|
|
 |
|
|