ภายใต้กระบวนการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน ทุกคนต่างตระหนักดีถึงความสำคัญของการบ้าน
หากแต่บทบาทของการบ้านสำหรับเด็กนักเรียนในยุคนี้ แตกต่างจากประสบการณ์ของคนที่เป็นพ่อแม่มากน้อยเพียงใด
และทำอย่างไรที่ ผู้ปกครองและนักเรียนจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ตรงกัน
ในรายงานการศึกษาของอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ผ่าน http://uk.education. com ระบุว่าการบ้านซึ่งแต่เดิมถือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการเรียนการ
สอนที่แต่ละโรงเรียนจัดขึ้นตามความเหมาะสม ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี
โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางสำหรับเด็กแต่ละกลุ่มอายุไว้อย่างชัดเจน
เด็กในชั้นประถมศึกษา ได้รับการแนะนำว่าควรจะมีชั่วโมงสำหรับการบ้านไม่ต่ำกว่า
1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเน้นไปที่การอ่าน สะกดคำ และจำนวนนับ โดยเพิ่มจำนวนชั่วโมงให้มากขึ้นตามช่วงชั้น
ที่เด็กเรียน โดยในช่วง 2 ปีสุดท้ายของประถมศึกษา ควรมีชั่วโมงสำหรับการบ้านนี้ไม่ต่ำกว่า
30 นาทีต่อวัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนชั้นประถมนั้น การบ้านยังต้องมีลักษณะที่ผูกพันกับการเรียนรู้
และกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่สนุกสนาน เพราะเด็กในช่วงวัยดังกล่าวได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ
ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเดิน การฟัง การพูดและทักษะทางสังคม
โดยไม่ได้พึ่งพาการบ้านของโรงเรียนมากนัก การกำหนดเงื่อนเวลาในลักษณะที่ว่า
"จะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ภายในพรุ่งนี้" จึงไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ
สำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ได้รับคำแนะนำให้มีชั่วโมงสำหรับการบ้าน
ตั้งแต่ 45-90 นาทีต่อวันในช่วงปีแรกของการเรียนระดับนี้ และมากถึง 2-2.5
ชั่วโมงในช่วงปีที่สูงขึ้น โดยการบ้านของนักเรียนมัธยม จะมีความแตกต่างจากเด็กในวัยประถมอย่างมาก
จากผลของรายวิชาที่เพิ่มขึ้น และเป็นเหตุให้ ในหลายครอบครัวรู้สึกว่าเด็กในปกครองมีงานที่ต้องทำมากเกินไปในแต่ละวัน
เนื้อหาของการบ้านในระดับมัธยม จึงเน้นไปที่การกระตุ้นให้นักเรียนสามารถบริหารเวลา
เพื่อทำการบ้านให้เสร็จทันกำหนดในแต่ละวัน และการมีการบ้านในลักษณะของโครงการต่อเนื่องระยะยาว
ซึ่งความช่วยเหลือของผู้ปกครองย่อมเป็นสิ่งน่ายินดี แต่ทั้งนี้ ไม่ควรเป็นไปในลักษณะที่ผู้ปกครองเข้ามาทำการบ้านเหล่านั้นเอง
หากแต่เป็นผู้กระตุ้นและแนะนำให้เด็กได้แสดงศักยภาพออกมามากกว่า
นอกจากนี้ การที่เด็กในช่วงวัยมัธยมจะหาพื้นที่ภายในครอบครัวเพื่อทำการบ้านโดยลำพัง
ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสมาชิกส่วนอื่นของครอบครัว ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในความเป็นจริง
ซึ่งผลการวิจัยบางชิ้นได้ชี้ว่าการทำการบ้านพร้อมกับการฟังเพลง หรือแม้กระทั่งการเปิดโทรทัศน์ไปด้วย
กลับส่งเสริมให้เด็กทำการบ้านได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า เด็กๆ มิได้เบนความสนใจไปสู่สิ่งเร้าอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งย่อมให้ผลที่แตกต่างกันมาก
แม้ว่าการบ้านจะเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็นสำหรับการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน
แต่ผู้ปกครองควรจะตระหนักด้วยว่า กิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร
และทักษะทางสังคม ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยต่อพัฒนาการของเยาวชน การนั่งชมรายการโทรทัศน์
ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารที่น่าสนใจ รวมถึงละครน้ำเน่า ก็สามารถส่งเสริมความเข้าใจต่อบรรทัดฐานของสังคมที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ไม่น้อย
ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าผู้ปกครองจะสามารถส่งเสริมให้เด็กในปกครองเข้าใจ
ต่อมิติที่หลากหลายของสังคมผ่านกลไกการบ้านเหล่านี้ได้มากน้อยและดีเพียงใด
ซึ่งสำหรับเยาวชนไทยในยุคสมัยปัจจุบัน ดูเหมือนว่าชั่วโมงการเรียนพิเศษ หลังการเรียนในระบบโรงเรียนปกติ
จะช่วงชิงเวลาและพื้นที่ส่วนนี้ไปหมดแล้ว