ขณะที่บริบทโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีกรมวิชาการ กรมสามัญศึกษา
และสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นดาวเด่น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
ภาคเหนือ กำลังพลิกบทบาทของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ให้ขึ้นมาเป็นหน่วยงานระดับแนวหน้าอีกส่วนหนึ่ง
ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
บทบาทของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ภาคเหนือ ดำเนินไปด้วยนโยบายเชิงรุกที่มิได้มุ่งเน้นการฝึกอบรมด้านวิชาการ
หรือวิชาชีพให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบ ดังเช่นที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเช่นในอดีต
หากแต่กำลังเร่งสร้างโครงข่ายของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในมิติที่น่าสนใจยิ่ง
ภายใต้โครงการ Lighthouse หรือ ประภาคารแห่งการเรียนรู้ รวมถึงการจัดตั้ง
Constructionism Lab ซึ่งมีฐานะไม่ต่างไปจากการเป็นฐานที่มั่นของแนวความคิดการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา
ที่มีมูลนิธิศึกษาพัฒน์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน บทบาทของ กศน.ภาคเหนือ
ดูจะข้ามพ้นขีดจำกัดเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยหลักพื้นฐานที่ว่า "เนื้อแท้ของการศึกษาก็คือ
การรู้คุณค่าของตัวเอง และงานที่เกิดขึ้น"
ความคิดในการพัฒนาโครงการ Lighthouse เริ่มด้วยการจุดประกายของ Nicholas
Negroponte ผู้อำนวยการ Media Lab แห่ง MIT ซึ่งได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม
2539 พร้อมกับการย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบใหม่ในโรงเรียน
โดยควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาเลยทีเดียว
"บุคลากรระดับนำของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณพารณ อิศรเสนา
ณ อยุธยา มีความเห็นสอดคล้องกับแนวความคิดดังกล่าว และเริ่มติดต่อเชื้อเชิญ
Seymour Papert ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ทฤษฎี Constructionism ให้เข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย"
สุชิน เพ็ชรักษ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน.ภาคเหนือ ในฐานะผู้จัดการโครงการ
Lighthouse และ Constructionism Lab เล่าถึงที่มาของโครงการดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
ขณะเดียวกันกลุ่มทำงานด้านการพัฒนาการศึกษาของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ก็ได้จัดประชุมระดมสมองเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษา
ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมระดมสมองนักการศึกษา นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
และนักอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญของการศึกษาไทย อยู่ที่การเน้นการสอนมากกว่าการเรียน
ขาดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ขาดการพัฒนาทักษะในการคิด
และการใช้ความรู้โดยนักเรียน และที่สำคัญที่สุดก็คือแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในองค์กรทางการศึกษาเอง
ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมในครั้งนั้น กลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ส่งไปถึง
Seymour Papert ได้พิจารณา ก่อนที่เขาจะเดินทางมาศึกษาสภาพการจัดการศึกษาที่เป็นจริงของไทย
ในช่วงปลายปี 2539 ภายใต้ทัศนะที่ว่าไม่ประสงค์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ชี้แนะให้กระทำการใดๆ
โดยไม่ได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่และสภาพที่แท้จริงของสังคมนั้น
ในเอกสารที่ Seymour Papert ได้นำเสนอต่อมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ในเดือนมีนาคม
2540 ได้กล่าวถึงแนวความคิดพื้นฐานของโครงการ Lighthouse ไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า
ประภาคาร เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเครื่องช่วยเหลือสำหรับหาทิศทางการเดินเรือในบริเวณที่มีอันตราย
ทหารเรือที่มีความคิดดี ใช้เครื่องมือหลายอย่างร่วมกันเสมอ โครงการนี้มิได้กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของไทย
หากแต่เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าช่องทางใดที่สามารถผ่านเข้าไปได้
และที่ใด เป็นหินโสโครกที่ควรจะหลบเลี่ยงให้พ้น
"คำแนะนำที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ Seymour Papert ในการดำเนินโครงการ
Lighthouse อยู่ที่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติในระบบการศึกษาของไทย
ที่เดิมเน้นครูเป็นศูนย์กลาง (teachercentered) และเรียนตามหลักสูตรกำหนด
(curriculum-driven) มาสู่การมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner-centered)
แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด
(mindset) ของผู้ที่เกี่ยวข้อง" สุชินย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ
แผนการดำเนินงานของโครงการ Lighthouse จึงจัดวางไว้เป็นสามขั้นตอน กล่าวคือ
(1) การจัดโครงการทดลองนำร่อง ที่ต้องแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้
ในลักษณะที่ต้องมีความแตกต่างจากระบบเดิมอย่างชัดเจน
(2) ใช้โครงการนำร่องชี้ให้สาธารณชน ได้มองเห็นรูปแบบที่นำไปสู่การเปลี่ยนกรอบความคิดได้
และ
(3) สร้างตัวอย่างใหม่ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน
กระบวนการของโครงการ Lighthouse ในระยะเริ่มแรกในช่วงปี 2541 จึงเริ่มต้นด้วยการจัดอบรมบุคลากรที่ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน
อำเภอเมืองลำปาง หลายครั้ง ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน
ที่มีสำนักงานอยู่ภายในบริเวณเดียวกัน ทั้งศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน
อำเภอเมืองลำปาง, ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดลำปาง, ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดลำปาง
และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเหนือ
"หลังจากการอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรหลายครั้ง จึงได้มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรในโครงการ
Lighthouse โดยใช้ชื่อ Constructionism Lab เพื่อสื่อสะท้อนความหมายในการเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา
โดยใช้ทฤษฎี Constructionism เป็นหลัก"
แม้ว่า กศน. ภาคเหนือ จะแสดงออกซึ่งความแข็งขันในการเปลี่ยนแปลงและกล้าที่จะทดลองแนวความคิดใหม่ๆ
แต่กรณีการจัดตั้ง Constructionism Lab ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเป็นเพียงตัวอาคาร
สำหรับการฝึกอบรม หากยังเป็นหน่วย multimedia และศูนย์สารสนเทศด้วยระบบ electronic
library คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิไทยคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเยี่ยมชม โครงการ
Lighthouse ที่ กศน.ภาคเหนือแห่งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ก่อนหน้าที่
ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยจะเข้าครองอำนาจรัฐในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสียอีก
หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายและแผนดำเนินงานของโครงการ
Lighthouse ที่มี กศน.ภาคเหนือ เป็นศูนย์กลาง ได้ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการที่ตั้งไว้อย่างได้ผล
ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการขยายแนวความคิดว่าด้วย Constructionism ไปสู่สังคมวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงเรียนแนวใหม่อย่างดรุณสิกขาลัย หรือการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ขึ้นในโรงเรียนบ้านสันกำแพง
ซึ่งอยู่ในระบบของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ การขยายแนวความคิดเข้าสู่บุคลากรในสถาบันราชภัฏลำปางและสถาบันราชภัฏแห่งอื่นๆ
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางการศึกษา ที่นับเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่นี้
"กศน. จะเป็นประหนึ่งแกนนำในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ โดยจะต้องผ่องถ่ายแนวความคิดนี้ไปสู่สถาบันราชภัฏ
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูให้มีทัศนะในการสอนแบบใหม่ พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน
โดยเริ่มจากชั้นประถมศึกษา และการขยายไปสู่ภาคเอกชน รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งชุมชน"
แนวทางในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ระดับชั้นเรียน
(class that learns) มาสู่การเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (school that learns)
ก่อนที่จะเป็นการเรียนรู้ร่วมระดับชุมชน (community that learns) และขยายไปสู่จังหวัด
(province that learns) และภูมิภาค (regional that learns) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างชาติ
(nation that learns) ที่สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ในอนาคต
แนวความคิดดังกล่าวได้รับการกำหนดนิยามในฐานะกลุ่มลำปางหรือ Lampang Cluster
ซึ่งเป็นประหนึ่งห้องทดลองขนาดใหญ่ ที่มีองค์ประกอบหลากหลายกระจายอยู่ทั่วทั้งเขตภาคเหนือ
โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนเท่านั้น
หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในระดับชุมชน ภายใต้แนวทาง
Constructionism อีกด้วย
"สิ่งที่ กศน.ภาคเหนือดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มิใช่การถ่ายทอดความรู้ (knowledge
transfer) ที่มีลักษณะเดียวกันเหมือนกันหมด ภายใต้กฎระเบียบที่ตายตัวเช่นในอดีต
หากแต่เป็นการสร้างกระบวนการในการพัฒนาตัวเองของปัจเจกชนและชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน
ท่ามกลางความหลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ (knowledge construction)
ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มแต่ละคน ขึ้นอยู่กับการสังเคราะห์ประสบการณ์ที่ผ่านมามากกว่า"
สุชินซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักการศึกษาที่มีความเข้าใจในทฤษฎี Constructionism
มากที่สุดคนหนึ่งของไทย สรุปกิจกรรมของ กศน.ภาคเหนือ และโครงการ Lighthouse
ที่เขาเป็นผู้ดูแลได้อย่างหมดจด
ซึ่งหากหน้าที่และบทบาทของกระบวนการศึกษาเรียนรู้ อยู่ที่การแปลงแนวความคิดที่เป็นนามธรรมให้สามารถบังเกิดผลขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ
นี่คือตัวอย่างน่าสนใจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ และคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า
จะสามารถเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดที่ฝังรากอยู่ในแวดวงการศึกษาไทยได้มากน้อยเพียงใด