Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2545
หมู่บ้านสามขา ชุมชนเข้มแข็งด้วยการเรียนรู้             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

กศน.ภาคเหนือ ประภาคารแห่งการเรียนรู้

   
search resources

Education




บนเส้นทางที่กันดาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านขนาด 152 ครอบครัวในตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ ชุมชนที่แบกหนี้สินรวมกว่า 18 ล้านบาท กำลังแสวงหาหนทางอยู่รอดใหม่ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ ที่อาจจะเป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนแห่งอื่นในอนาคต

หากพิจารณาจากบริบททางกายภาพของหมู่บ้านสามขา ซึ่งเป็นที่ราบต่างระดับเชิงเขา ที่แวดล้อมด้วยภูเขาสูงต่ำลดหลั่น และผืนป่าที่บางส่วนยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ ชุมชนหมู่บ้านสามขา ก็คงเป็นเพียงหมู่บ้านในชนบทเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความพิเศษไปกว่าชุมชนแห่งอื่นๆ อีกทั้งยังอาจจะเป็นชุมชนที่มีความสำคัญน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะมิได้มีสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ หรือแม้แหล่งเพาะปลูกที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจใดๆ

แต่ชุมชนนี้กลับมีความน่าสนใจในระดับที่มูลนิธิไทยคม และมูลนิธิศึกษาพัฒน์ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ทั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเหนือ, ปูนซิเมนต์ ไทย ลำปาง หรือแม้กระทั่ง NECTEC ต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือร่วมมือเข้าสู่ชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะทำให้ชุมชนบ้านสามขา เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาระดับรากหญ้า

คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า ผลพวงจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ชุมชนบ้านสามขาถูกดูดซับให้เป็นส่วนหนึ่งในกระแสบริโภคนิยม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุมชนอื่นๆ ในสังคมไทย และต้องเผชิญกับวิบากกรรมร่วมกัน เมื่อฟองสบู่ที่พองโตในช่วงก่อนหน้านี้ได้แตกออก

"เราเริ่มจัดประชุมสมาชิกในหมู่บ้าน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เพราะแต่ละครัวเรือนมีหนี้สินท่วมตัว และยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถปลดหนี้สินเหล่านี้ได้" จำนงค์ จันทร์หอม ผู้ใหญ่บ้าน ย้อนอดีตหมาดๆ ของชุมชนให้ฟัง

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนบ้านสามขา ก่อนหน้านี้ ดูจะเป็นภาพสะท้อนที่ย่อส่วนสังคมไทยไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวหมู่บ้านสามขา ต่างพยายามแสวงหาเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น รวมถึงรถกระบะ และจักรยานยนต์ ซึ่งล้วนแต่มีเข็มมุ่งไปในทางที่ต้องการแสดงสถานะทางสังคม มากกว่าจะใช้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต

"เวลานั้น ทุกคนพยายามที่จะมีของฟุ่มเฟือย เหมือนกับการแข่งกัน ถ้าบ้านนี้มีรถมอเตอร์ไซค์ พรุ่งนี้อีกบ้านหนึ่งต้องมีรถกระบะ ซึ่งทั้งหมดเป็นการกู้ยืมเงินคนอื่นมาซื้อทั้งนั้น"

ปัญหาใหญ่ของชุมชนอยู่ที่การกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อมาใช้หนี้สินเดิม ทำให้มูลหนี้ซึ่งแต่เดิมมีอยู่น้อย เริ่มพอกพูนทับถม พร้อมกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นเงา และกลายเป็นมูลหนี้ก้อนใหญ่ในที่สุด โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2543 หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนมีมากถึง 122,248 บาท และเป็นหนี้เสียถึง 591,543 บาท

"จากหนี้สินก้อนแรกประมาณ 1 หมื่นบาท ชาวบ้านต้องไปกู้เงินจำนวนมากขึ้นมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งบางคนมีหนี้สินรวมกว่าแสนบาท ขณะที่รายได้ที่แท้จริงของชาวบ้านมีเฉลี่ยไม่ถึง 6 พันบาทต่อครอบครัว"

เมื่อปัญหาเริ่มพอกพูนและขยายตัวกว้างขวางขึ้นในปี 2541 แกนนำของชุมชนที่ประกอบด้วยจำนงค์ จันทร์หอม ผู้ใหญ่บ้าน, ชาญ อุทธิยะ และ จสอ.ชัย พร้อมด้วยครูศรีนวล วงศ์ตระกูล จึงคิดริเริ่มที่จะจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพื่อเป็นธุรกิจชุมชน โดยมีเงินออมในแต่ละเดือนกว่า 23,000 บาท มีทุนหมุนเวียน 700,000 บาท โดยส่วนหนึ่งของเงินปันผล นำไปเป็นสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลและสมาชิกที่เสียชีวิต

ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านหมู่บ้านสามขา ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสมาชิกหมู่บ้าน ส่งผลให้ในปี 2542 สมาชิกของชุมชนได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย โดยสามารถเรียกคืนหนี้เสียได้รวม 102,580 บาท แต่นั่นอาจจะยังห่างไกลจากเป้าหมาย ที่สมาชิกหมู่บ้านคาดหวังไว้ โดยในปี 2543 สมาชิกหมู่บ้านได้ร่วมกันทบทวนวิธีใหม่เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

"เราพยายามเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนของเราเอง ว่ามีลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร มีภูมิประเทศเหมาะสมกับการประกอบกิจกรรมอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ก่อนการวางแผนดำเนินงาน" จสอ.ชัย วงศ์ตระกูล แกนนำของชุมชน เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ครูศรีนวล วงศ์ตระกูล ภรรยาของชัย ซึ่งรับราชการเป็นครูอยู่ในโรงเรียนบ้านสามขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการ Lighthouse ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ซึ่งที่นี่ทำให้เธอได้รับแนวความคิดว่าด้วยการเรียนรู้ใหม่ๆ ตามแนวทาง Constructionism เข้ามา ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านสามขา ที่เธอรับผิดชอบอยู่เท่านั้น หากแต่เธอยังนำเอาความคิดความรู้ที่ได้จากการอบรมดังกล่าว ขยายผลให้สมาชิกชุมชนคนอื่นได้ร่วมรับรู้ด้วย

การประชุมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาหนี้เสียของชุมชน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความกังวลใจมาอย่างต่อเนื่องถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกัน ภายใต้บรรยากาศที่ไม่แตกต่างจากกระบวนการเรียนรู้ตามแนว Constructionism ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (immersion learning) เท่าใดนัก

ชาญ อุทธิยะ แกนนำชุมชนอีกคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ในการประชุมสมาชิกหมู่บ้านเพื่อหามูลเหตุของปัญหาหนี้เสีย ทำให้พบว่าชาวบ้านใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย และกิจกรรมที่ไม่จำเป็นอย่างมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากการบริโภคที่ล้นเกินความจำเป็น ที่ประชุมจึงมีความเห็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยเน้นไปที่การลดละเลิกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้เสีย

"เมื่อก่อนเวลาบ้านไหนมีงานบุญ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ จะต้องจัดหาสุรา หรือบุหรี่มาจ่ายแจก ซึ่งล้วนแต่เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มพูนอะไร จึงมีการตกลงกันว่านับจากนี้ เจ้าภาพไม่จำเป็นต้องเสียเงินใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ในชีวิตประจำวันชาวบ้านก็เลิกสูบบุหรี่ กินเหล้า ทำให้เริ่มจะมีเงินออมเงินเก็บมากขึ้น" ชาญ อุทธิยะ ซึ่งครั้งหนึ่งก็เสียเงินจำนวนมากไปกับการดื่มกิน แต่วันนี้เขาเป็นหัวแรงสำคัญในการพัฒนาชุมชน กล่าวในอารมณ์ที่อยากย้อนเวลาได้

ขณะเดียวกันโรงเรียน ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงสถานที่ในการให้ความรู้แก่เยาวชน ที่ล้วนแต่เป็นลูกหลานของสมาชิกในชุมชน ก็ปรับเปลี่ยนบทบาท และเพิ่มสถานะของการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแกนนำชุมชนได้หารือกับ สุชิน เพ็ชรักษ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ กศน.ภาคเหนือ ในฐานะผู้จัดการโครงการ Lighthouse และ Constructionism Lab จังหวัดลำปาง ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระดับชุมชน ภายใต้กิจกรรมฝึกอบรมและแนะนำการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งติ๊บจ้าง ใน 10 ตำบลของจังหวัดลำปาง ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ภาคเหนือ ในช่วงต้นปี 2544 ที่ผ่านมา

กิจกรรมร่วมระหว่างชุมชนบ้านสามขา และ Constructionism Lab ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยครูและเยาวชน รวมถึงผู้แทนชุมชนต่างมีโอกาสหมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรมของ กศน.ภาคเหนือ ก่อนที่มูลนิธิศึกษาพัฒน์ โดยพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จะให้ความสนใจการพัฒนาของหมู่บ้านสามขา ในฐานะที่เป็นกรณีตัวอย่างของ village that learn โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนในกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของชุมชน และความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยี พร้อมกับการรับเป็นธุระในการจัดหาอุปกรณ์ และจัดอบรมเพื่อพัฒนาสมาชิกของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง กศน.ภาคเหนือ และมูลนิธิศึกษาพัฒน์ รวมถึงมูลนิธิไทยคม ส่งผลให้ความช่วยเหลือร่วมมือที่หมู่บ้านสามขาได้รับจากองค์กรภายนอก ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมเยาวชนและผู้แทนชุมชนจากหมู่บ้านสามขา เพื่อเพิ่มทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และการสร้างกระบวนการคิด ผ่านโปรแกรม Micro Worlds และ LEGO-Logo รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีของปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง เข้ามาเป็นวิทยากรในการจัดทำระบบบัญชีกองทุนหมู่บ้านและบัญชีครัวเรือนด้วย

กระบวนการสร้างเสริมชุมชนให้เข้มแข็งและเรียนรู้ร่วมกัน อีกประการหนึ่งอยู่ที่การพัฒนาให้เกิดแหล่งบริการสารสนเทศของโรงเรียนและชุมชน โดยนอกจากจะมีสนับสนุนคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ในจำนวนที่มากพอจะตั้งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ของชุมชนที่โรงเรียนบ้านสามขาแล้ว ยังมีการสนับสนุนติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการข้ามพ้นข้อจำกัดของชุมชนที่เครือข่ายสายโทรศัพท์ยังเข้ามาไม่ถึงอีกด้วย

แม้ว่าชุมชนบ้านสามขาจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ และผู้แทนของชุมชนมีโอกาสจะนำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชุมชน ให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ตามคำเชิญของหน่วยงานมากมาย รวมทั้งการที่ครูจากโรงเรียนบ้านสามขา อย่างครูศรีนวล วงศ์ตระกูล จะมีโอกาสนำเสนอรายละเอียดโครงการวิจัยเพื่อการปฏิรูปการศึกษาทั้งโรงเรียน แต่ดูเหมือนว่าวิบากกรรมของชุมชนหมู่บ้านสามขายังมิได้สิ้นสุดลง โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยอนาคตของโรงเรียนบ้านสามขา ซึ่งมีจำนวนนักเรียนประมาณ 50 คน

"จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนเกิดมีขึ้นนานมาแล้ว เพราะครูใหญ่ของโรงเรียนบ้านสามขาในอดีต ก็ล้วนแต่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านและเป็นผู้นำทางความคิด ที่สมาชิกส่วนใหญ่ให้การเคารพ วัด โรงเรียน และชุมชน เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ซึ่งในวันนี้เราหวังว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชนมากขึ้นเท่านั้น"

เป็นเพียงเสียงสะท้อนของแกนนำชุมชนบ้านสามขา ซึ่งกำลังกังวลใจเกี่ยวกับการยุบโรงเรียนบ้านสามขา ตามนโยบายของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่มีฐานของสมการในการจัดการศึกษาอยู่ที่จำนวนนักเรียนในแต่ละโรงเรียน ว่ามีมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่าต่อการลงทุนในการจัดจ้างครูหรือไม่ โดยมีเกณฑ์ขั้นต่ำของนักเรียนในโรงเรียนอยู่ ที่ 80 คนต่อ 1 โรงเรียน

"การคิดคำนวณตัวเลขจำนวนนักเรียนอย่างที่ทำอยู่ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของหน่วยงานรัฐ จากส่วนกลางต่อสภาพที่เป็นอยู่จริงของพื้นที่ ทำไมไม่คิดว่าสมาชิกของชุมชนกว่า 600 คนได้ร่วมเรียนรู้กับโรงเรียน ความสำคัญของโรงเรียนต่อชุมชนอยู่ตรงนี้มากกว่า" ชาญ อุทธิยะ ย้ำความสัมพันธ์ของโรงเรียนบ้านสามขาที่มีต่อชุมชนแห่งนี้

เรื่องราวมากมายของชุมชนหมู่บ้านสามขา อาจบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า ชนบทมิใช่ที่อยู่ของคนด้อยปัญญา หากแต่เพียงพวกเขาขาดโอกาสเท่านั้น ซึ่งบทเรียนของหมู่บ้านสามขาอาจเป็นแบบอย่างในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่หลายฝ่ายมุ่งหมายอยากให้เกิดขึ้น

แต่สำหรับแกนนำชุมชนหมู่บ้านสามขา พวกเขามิได้ยึดติดกับคำว่าชุมชนเข้มแข็งมากนัก ในทัศนะของพวกเขา สิ่งที่พวกเขากำลังทำเป็นเพียงการรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ปัญหาเก่า และเรียนรู้เพื่อแสวงหาหนทางในการยืนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจเป็นนิยามที่มีความหมายมากยิ่งขึ้นอีก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us