|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ชาติ ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอีก 0.25% เป็น 2% ระบุไม่ได้ขึ้นตามเฟดแต่ต้องการคุมเงินเฟ้อ ชี้หมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว ผู้กู้ต้องปรับตัว ดูกำลังตัวเอง เชื่อการปรับขึ้นไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ด้านผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ยันไม่ปรับดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ แต่จะขึ้นในช่วงครึ่งแรกปีหน้า 3 สลึงถึง 1 บาท ด้านตลาดหุ้นไทยขานรับบวกเพิ่ม 11.10 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉียด 2 หมื่นล้าน
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า คณะกรรมการมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 14 วันอีก 0.25% ต่อปี จาก 1.75% ต่อปี เป็น 2.0% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศควรปรับเข้าสู่ระดับที่สูงขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ประกอบกับเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปีขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4% ทั้งจากการส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนเริ่มชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.0% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงของไทยติดลบมาประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ต้นปี 2546 และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง ติดลบอยู่ 2.33%
"การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ธปท.ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม แต่การปรับขึ้นในครั้งนี้บอร์ดกนง.ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ"
นางอัจนากล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งนี้ คงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องแม้ดอกเบี้ยจะขยับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยหมดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างผิดปกติแล้ว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองเริ่มมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวบ้างแล้วตั้งแต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งก่อน แต่ในครั้งนี้คงจะมีผลต่อเนื่องกับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง
"การที่ค่าเงินบาทแข็ง ราคาน้ำมันลดลง จะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อเงินเฟ้อได้ แต่อาจเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ดังนั้น ธปท.จึงยึดนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในการคุมเงินเฟ้อไว้มากกว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ เศรษฐกิจก็จะขยายตัวอย่างยั่งยืนไม่ได้"
ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศนั้น ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง เงินทุนระยะสั้นยังไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะเกินดุล และน่าจะเกินดุลอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2548 แต่สิ่งที่น่าจับตาดูคือเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทผันผวนเกินไปนัก
ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 4 ใหม่ให้ สอดคล้องกับราคาที่เกิดขึ้นจริง จากก่อนเดิมที่ได้ประมาณไว้ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
"จากการพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นด้วย ทำให้พบว่าในปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในระดับเดิมคือ 5.5-6.5% และยังอยู่ในระดับ ดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2548 ขณะที่อัตราเงิน เฟ้อทั่วไปช่วงนี้อาจจะขยับลดลง แต่ประมาณการยังคงเป็นตัวเลขเดิมคือ เฉลี่ย 2.5-3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0-1% ในขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปปี 48 อยู่ที่ 3-4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.5-2.5%"
สำหรับประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องนั้น นางอัจนากล่าวว่า เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวล แต่ความเชื่อมั่นกับผลของการใช้จ่ายจริงมีความเกี่ยวเนื่องกันไม่มาก โดยจากการประเมินของ ธปท.พบว่าความเชื่อมั่นมีผลต่อการลดการใช้จ่าย 0.78 และความเชื่อมั่นของนักธุรกิจมีผลต่อการลงทุนที่แท้จริง 0.6
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์และผู้กู้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับตัว ธปท.คงจะไม่แนะนำอะไร ซึ่งผู้ที่ให้กู้จะต้องรู้ว่า ต่อไปนี้อัตราดอกเบี้ยจะไม่อยู่ในระดับต่ำอีกแล้ว ส่วนผู้กู้ก็จะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ด้วย
ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนให้สามารถขยายตัวต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจากพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้เชื่อว่าทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อ ในระยะต่อไปคงจะลดลง เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจะสามารถลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้
ขึ้นดอกเบี้ยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2548 สศค.คาดการณ์จีดีพีขยายตัวอยู่ที่ระดับ 6% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% ขณะที่ในปีนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8-3% ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับดังกล่าว
"การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่ธปท. กังวลต่อภาวะเงินเฟ้อในอนาคต และคำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยได้ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์แห่งใดจะปรับขึ้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เอง" นายสมชัย กล่าว
แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าแน่
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีของ ธปท.ถือเป็นการส่งสัญญาณจาก ธปท. ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่ง แต่ในส่วนของธนาคารกรุงเทพเองจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และฝากภายในสิ้นปีนี้ และจะมีการทบทวนอีกครั้งในช่วงต้นปี 2548 โดยต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและสถานการณ์ในตลาดการเงินเป็นหลัก
"ปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแรง และไม่ควรเป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสม"
นางสาวอังคณา สวัสดิ์พูน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารขนาดใหญ่และสภาพคล่องในระบบเป็นหลัก แต่คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นในอย่างปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งสัดส่วนการปรับเพิ่มน่าจะอยู่ที่ 0.75-1.00%
จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของธปท. ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทุนของไทย โดยมีแรงซื้อเงินบาทเข้ามาทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก่อน จะปิดตลาดที่ระดับ 39.43-39.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปิดการซื้อขายที่ 657.18 จุด เพิ่มขึ้น 11.10 จุด มูลค่าการซื้อขาย 19,350.93 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,787.73 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6.56 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,794.29 ล้านบาท
เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกสลึงตามคาด
สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบาย (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งประชุมกันเมื่อวันอังคาร (15) มีมติขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 0.25% นอกจากนั้นในคำแถลงภายหลังการประชุม ยังมีน้ำเสียงเชื่อมั่นว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัด ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเฟดยังจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกในการประชุมครั้งต่อไปต้นปีหน้า
อัตราดอกเบี้ยที่เอฟโอเอ็มซีลงมติกัน คือ เฟดฟันด์เรต หรืออัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมระหว่างธนาคารในชั่วข้ามคืน ทั้งนี้เฟดฟันด์เรตจะมีผลชี้นำ ภาวะดอกเบี้ยในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้นทั้งหลาย
เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยคราวนี้ ซึ่งเป็นการขยับคราวละสลึงเป็นครั้งที่ 5 ต่อเนื่องกันแล้วนั้น เหล่านักเศรษฐศาสตร์และตลาดการเงินต่างคาดหมายกันอยู่ทั่วไปแล้ว ดังนั้นจึงแทบไม่ส่งผลอะไรต่อตลาดนัก ราคาหุ้นวอลล์สตรีทไต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ตกลงมา ส่วนราคาของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็สูงขึ้นบ้างจากการที่เฟดแสดงท่าทีไม่อนาทรเรื่องภาวะเงินเฟ้อ
คำแถลงของเอฟโอเอ็มซีบอกว่า เนื่องจากคาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ คณะกรรมการจึงเชื่อว่าสามารถผละออกจากนโยบายอันเอื้ออำนวย (ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยต่ำ) ด้วยฝีก้าวที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงตอกย้ำคำมั่นสัญญาที่จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ถ้าหากข้อมูลเศรษฐกิจปรากฏออกมาว่าจำเป็นต้องลงมือสกัดกั้นเงินเฟ้อแล้ว
ก่อนการประชุมคราวนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนแสดงความสงสัยว่า เฟดอาจจะแถลงเตือนว่ามีความเสี่ยงในเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งสัญญาณแสดงว่าพร้อมลงมือขึ้นดอกเบี้ย กันคราวละมากกว่าที่เป็นอยู่ ทว่าคำแถลงที่ออกมาไม่มีน้ำเสียงเช่นนั้นเลย โดยยังย้ำว่า เอฟโอเอ็มซีเห็นว่าความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจจากด้านของเงินเฟ้อ และจากด้านความอ่อนตัวรอบใหม่ ยังคงอยู่ในภาวะสมดุล
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ระดับท็อปของวอลล์สตรีท ปรากฏว่าแทบทั้งหมดมีความเห็นว่าเฟดคงจะขยับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกรอบในการประชุมนัดต่อไปเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ขณะที่ 16 รายจาก 22 รายซึ่งสำรวจในคราวนี้มองว่า การประชุมครั้งถัดไปในเดือน มีนาคม เฟดก็จะขึ้นดอกเบี้ยไปอีกเช่นกัน
อนึ่ง จากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตขึ้นไปเป็น 2.25% คราวนี้ ทำให้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2544 เป็นต้นมา ที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯสูงกว่าในเขตประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) โดยในยูโรโซนนั้นดอกเบี้ยระยะสั้นยังยืนที่ 2.0% ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าจะทำให้เงินยูโรแข็งขึ้นอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์
|
|
 |
|
|