ไทยสมาร์ทคาร์ดในเครือเซเว่นฯ อวดโฉมบัตรเติมเงินสด "สมาร์ทเพิร์ส" หลังซุ่มพัฒนามานานกว่า 3 ปี พร้อมเปิดใช้งาน มี.ค.2548 เตรียมอัดงบ 100 ล้านบาทเร่งสร้างการรับรู้ ตั้งเป้าปีแรกมีผู้ใช้ 2 ล้านใบ และไม่ต่ำกว่า 5 ล้านใบใน 3 ปี เร่งเจรจากลุ่มขนส่งมวลชน รถไฟลอยฟ้า-ใต้ดิน ร่วมโครงการ หลังดึงพันธมิตรเจ้าพระยาเรือด่วน แท็กซี่สุวรรณภูมิ และร้านค้าอีก 28 รายได้สำเร็จ
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเติมเงินดิจิตอล "สมาร์ทเพิร์ส" เปิดเผยว่า ขณะนี้บัตรเติมเงินดิจิตอล "สมาร์ทเพิร์ส" พร้อมที่จะเปิดใช้บริการแล้วในเดือน มี.ค. 2548 หรืออย่างช้าภายในเดือน เม.ย. 2548 หลังจากที่พัฒนารูปแบบบัตรดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว โดยจะเริ่มติดตั้งเครื่องรับบัตรสมาร์ทเพิร์สในเซเว่น อีเลฟเว่นสาขาในกรุงเทพฯก่อน แล้วจะทยอยติดตั้งไปยังสาขาต่างจังหวัด
ในเบื้องต้นลูกค้าสามารถซื้อบัตรและเติมเงินได้ที่เซเว่นอีเลฟเว่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารพันธมิตรแล้วต่อจากนั้นจะขยายผลไปยังร้านค้าที่พันธมิตรต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเซเว่น อีเลฟเว่น มีสาขาทั้งหมด 2,850 สาขา ในเดือนมี.ค.ปีหน้าจะมีสาขาครบ 3,000 สาขาทั่วประเทศ
บัตรสมาร์ทเพิร์สเป็นบัตรเงินสดที่สามารถเติมเงินได้ไม่จำกัดจำนวนเพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการ มีอายุของบัตรไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้บริหารบัตรเครดิต และบัตรเดบิตระดับโลก และมีบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการแบรนด์ "VISA CASH" ในประเทศไทย ซึ่งผู้ที่ถือบัตรสมาร์ทเพิร์สสามารถใช้บัตรดังกล่าวได้ในร้านค้า ตู้เอทีเอ็ม ระบบขนส่งมวลชน ที่มีสัญลักษณ์ "VISA CASH"
ด้านการลงทุนตัวเครื่องรับในปีหน้าบริษัทเตรียมใช้งบอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในการทำ โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับบัตรดังกล่าว หลังจากที่บริษัทลงทุนและพัฒนาระบบต่าง ๆ ภายในทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 395 ล้านบาท มีกลุ่มธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, กรุงไทย การ์ด, ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารนครหลวงไทย บริษัทเอกชน ได้แก่ ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นแกนนำหลัก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท สหวิริยาโอเอ และบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ เป็นผู้ร่วมถือหุ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่ากลุ่มธนาคารรายอื่นสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นจากบริษัทเพิ่มเติม
บริษัทฯคาดว่าจะสามารถจำหน่ายบัตรสมาร์ทเพิร์สในปีแรกได้จำนวน 2 ล้านใบ และภายใน 3 ปีจะมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านใบหากสามารถขยายจำนวนร้านค้า และการบริการต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน โดยวางไว้ว่าจะสามารถใช้ได้กับร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านหนังสือ โรงภาพยนตร์ แท็กซี่ รถทัวร์ รถไฟลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา ซึ่งในปีหน้าจะวางจำนวนเครื่องในทุกร้านค้าพันธมิตรจำนวนกว่า 10,000 เครื่อง
นายเฉลิมชัย ฉัตรชัยกนันท์ Chief Commercial Officer บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด กล่าวเสริมว่า การลงทุนตัวเครื่องรับบัตรสมาร์ท เพิร์สนั้น เบื้องต้นบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยมีต้นทุนประมาณเครื่องละ 15,000 บาท แต่จะเก็บค่าใช้บริการติดตั้งเครื่องกับร้านค้าพันธมิตร และเก็บค่าบริการใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าว 1-2% คล้ายกับบัตรเครดิต ซึ่งร้านค้าฯ จะได้รับผลประโยชน์ในด้านการสร้างความสะดวกสบาย ให้กับลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด เพื่อแข่งกับคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน
ทั้งนี้ บริษัทได้ทยอยเซ็นสัญญากับพันธมิตรร้านค้า บริการต่างๆ เพื่อเปิดให้ร้านค้าเปิดให้บริการรับชำระค่าสินค้า บริการด้วยบัตรสมาร์ท เพิร์สไปแล้ว 28 ราย แบ่งเป็น 8 ธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มร้านสะดวกซื้อ เริ่มด้วย เซเว่น อีเลฟเว่น กลุ่มร้านหนังสือ ได้แก่ บุ๊ก สไมล์, ซีเอ็ด กลุ่มร้านอาหารจานด่วน ได้แก่ ศิริวัฒน์แซนวิช, เดลิฟรองซ์, พิซซ่าทูเดย์, อีซี่ส์, บัวบาน, เชสเตอร์ กริลล์, ไทย ไทย, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เลอร์
กลุ่มร้านขนม ได้แก่ อากิโกะ, มิสซิส ฟิลด์ส, ดังกิ้น โดนัท, โอ บอง แปง, ขนมบ้านอัยการ กลุ่มร้านกาแฟ ได้แก่ คอฟฟี่แมกซ์, เชสเตอร์ คาเฟ่ กลุ่มสถานบันเทิง ได้แก่ จีเอ็มเอส, บูมเมอแรง, มีเดีย เน็ตเวิร์ก กลุ่มขนส่ง ได้แก่ เรือด่วนเจ้าพระยา, สหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ร้านทำผมแฮร์เทค, แว่นกรุงไทย และร้านทำผมชลาชล โดยล่าสุดได้จับมือร่วมกับ เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ เพื่อเปิดให้บริการรับชำระค่าตั๋วภาพยนตร์ผ่านบัตรสมาร์ทเพิร์
|