สินค้าที่สวยงามแต่ละชิ้นในโชว์รูมแห่งนี้ ลูกค้าคนไทยหลายคนอาจจะต้องผิดหวัง
เลือกซื้อกลับบ้านไม่ได้ เมื่อทางร้านขอให้ซื้ออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท
หรือ ประมาณ 3 พันเหรียญสหรัฐ เพราะที่นี่เน้นการส่งออก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า
ข้าวของเก๋ไก๋ที่วางโชว์อยู่ เช่น จานชามเซรามิก แจกันตั้งโต๊ะ หรือแจกันวางพื้น
ดีไซน์ออกมาให้มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้สอยจริงของลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อไว้ไปใช้จริงๆ
ไม่ได้เอาไปวางโชว์ความสวยแปลกแต่อย่างเดียว รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นโต๊ะ
เก้าอี้ จึงต้องเน้นในเรื่องโครงสร้างที่แข็งแรงเป็นสำคัญ
ดิสทัต วัธนา ผู้ก่อตั้งบริษัท Bahari เป็นคนสำคัญในการออกแบบและดีไซน์สินค้า
วันนี้เวลาส่วนใหญ่ของเขาคือ การทำตลาดที่อเมริกาเป็นหลัก โดยมีน้องชายคือ
ศุภฤทธิ์ วัธนา เป็นผู้รับผิดชอบงานทางด้านการผลิตในเมืองไทย ทั้ง 2 คน ไม่ได้จบมาทางด้านออกแบบจากสถาบันใดๆ
ทั้งสิ้น อาศัยการเรียนรู้ และใจรักอย่างเดียว คนพี่จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
และไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารระหว่างประเทศจากอเมริกา ส่วนน้องชายศึกษามาทางด้านเครื่องยนต์
แต่ในที่สุดทั้ง 2 คน กลับมาลงตัวในงานที่ Bahari
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ดิสทัตตัดสินใจลาออกจากผู้จัดการของฟิตเนสเซ็นเตอร์
ที่โรงแรมไฮแอท เอราวัณ เมื่อมั่นใจว่าตัวเองต้องการทำงานหนักและท้าทายกว่านี้
ซึ่งมันน่าจะเป็นธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการค้าขายของตกแต่งบ้าน
ที่ได้รับรู้มาตลอดว่า ฝรั่งเข้ามาในเมืองไทยขนของออกไปขายประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย
แล้วทำไมคนไทยจะทำการตลาดเองบ้างไม่ได้
และแล้วเขาก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานใหม่ โดยเริ่มจากเดินหาซื้อของจากจังหวัดเชียงใหม่
ลุยเข้าไปหาแบบแปลกๆ ดีไซน์สวยๆ จากทุกที่แล้วเอาขึ้นเครื่องบินติดตัวไป
ขายเองที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งแต่ละครั้งก็สามารถขนไปได้ไม่เกิน 15 กิโลกรัม
ไปถึงที่โน่นก็ทำตลาดโดยการวางแผงขายกับพื้นถนน หรือเปิดท้ายรถขายของ ทำทุกอย่าง
จนกระทั่งเริ่มมีออร์เดอร์เข้ามา จากนั้นก็ขยับไปจัดบูทตามงานแสดงสินค้าต่างๆ
เมื่อยอดออร์เดอร์มากขึ้นจากที่เคยแบกของขึ้นเครื่องบินไปเอง ก็เปลี่ยนเป็นเช่าตู้คอนเทนเนอร์ส่งทางเรือแทน
แรกๆ เคยส่งของเพียง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต บางครั้งไม่เต็มตู้ แต่ตอนนี้บางคราวอาจจะต้องเช่าพร้อมกันหลายตู้
สินค้าที่ออกไปแรกๆ จะเป็นพวกแจกันขนาดใหญ่ ที่ทำจากพวกไม้มะม่วงออกแบบเป็นรูปทรงกลม
ทรงกระบอก พร้อมๆ กับงานเซรามิก ซึ่งเน้นเป็นของใช้บนโต๊ะ และเมื่อปลายปี
2544 แจกันใส่ดอกไม้ ที่ดีไซน์คล้ายๆ กับ "ลูกหนำเลี้ยบ" หรือที่ฝรั่งเรียกว่า
"Eye Shape" กลายเป็นสินค้ายอดนิยม ของ Bahari
ปี 2543 Bahari เริ่มมีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ที่ทำจากผักตบชวา
ซึ่งเป็นงานฝีมือจากชาวบ้านในจังหวัดอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท โดยชาวบ้านพวกนี้จะถักเป็นเปียยาวๆ
มัดไว้เป็นกองใหญ่ ทางบริษัทก็จะรับซื้อแล้วขนเอาไปผลิตที่โรงงานในจังหวัดเชียงใหม่
สีของเฟอร์นิเจอร์พวกนี้เป็นสีน้ำเงินเทา ที่มีชื่อเรียกเฉพาะ ว่า "มิดไนต์บลู"
ซึ่งถือว่าเป็นสีที่เป็นเอกลักษณ์ของ Bahari และยังเป็นสีที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด
ส่วนเฟอร์นิเจอร์ประเภทตู้ชั้น ที่ทำจากไม้อัดสัก จากสีดำปีนี้จะเปลี่ยนไปเป็นสีขาวแทน
ในปี 2545 นี้ Bahari ยังไม่หยุดอยู่กับที่คงมีลีลาใหม่ๆ ของเฟอร์นิเจอร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง
คราวนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหญ้าแฝก ซึ่งเป็นงานละเอียดที่ยากขึ้น ลายเปียจะเล็กกว่าผักตบชวามาก
ดังนั้นราคาค่อนข้างสูงทีเดียว โดยจะเน้นที่สีธรรมชาติ ซึ่งเป็นสีเขียวออกขาว
โดยมีตลาดอเมริกาเป็นตลาดหลักอีกเช่นเคย
ความกล้าที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งแท้ๆ ที่กลายเป็นผู้สร้างงานให้กับผู้คนในชนบท
เริ่มสร้างหลักฐานที่มั่นคงให้ครอบครัว และยังสามารถทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า
20 ล้านบาทต่อปี