ในอดีตธุรกิจคัสโตเดียนถูกธนาคารต่างชาติธนาคารยักษ์ใหญ่ของท้องถิ่นครอบงำ
ปัจจุบันขนาดไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป และผู้เล่นรายใหม่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ธุรกิจคัสโตเดียนเริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผู้เล่นเป็นธนาคารต่างชาติ
ที่มีเครือข่ายดำเนินกิจการในไทยเพื่อให้บริการลูกค้าที่เข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันนักลงทุนท้องถิ่นยังใช้บริการน้อยมาก
จนกระทั่งปี 2535-2536 ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งไปถึง 1700 จุด มูลค่าซื้อขายต่อวันทะลุ
20,000 ล้านบาท ทำให้หนี้ซึ่งให้บริการรับฝากทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินสด
หลักทรัพย์ตราสารทุน ตราสารหนี้ รวมถึงสัญญาโฉนด ทะเบียนทรัพย์สิน หรือติดตามสิทธิประโยชน์ในหลักทรัพย์
เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล
แม้ว่าธุรกิจคัสโตเดียนเป็นธุรกิจประเภท ปริมาณสูงแต่กำไรต่ำ (high-volume,
low profit) แต่ดูเหมือนว่าธนาคารพาณิชย์ต่างให้ความสำคัญกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่และธนาคารขนาดเล็ก
ที่มีฐานการเงินแข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือมีเทคโนโลยีทันสมัย ต่างกระโดดเข้ามาแย่งพื้นที่จากความต้องการเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
"ผู้ที่ดำเนินธุรกิจคัสโตเดียนจะต้องมีชื่อเสียง มีฐานะการเงินมั่นคง จะต้องมีเครือข่ายที่ดี"
จิตติวัฒน์ กันธมาลา ผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์บริการดีบีเอส ไทยทนุบอก
ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ เป็นหนึ่ง ในผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาดำเนินกิจการคัสโตเดียนช่วงที่ดีบีเอสและไทยทนุ
เริ่มทำงานด้วยกันเมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ด้วยการจัดตั้งบริษัทไทยทนุ
ดีบีเอส ขึ้นมาเพื่อให้บริการคัสโตเดียน อีก 2 ปีถัดมาบริษัทดังกล่าวได้ถูกรวมเข้าเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของธนาคาร
"ลูกค้าที่เข้ามารับบริการจากเราส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์ค่อนข้างใหญ่" จิตติวัฒน์เล่า
"พวกเขาต้องการหลักประกัน หรือมั่นใจว่าผู้ให้บริการจะไม่ล้มหายตายจาก"
หลังจากนั้นเป็นต้นมาธุรกิจคัสโตเดียนของดีบีเอส ไทยทนุ ได้รับผลตอบรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 80 รายและสินทรัพย์ที่ต้องดูแลประมาณ 3 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะการได้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ของธนาคารกรุงไทย
ที่มีมูลค่ารวม กว่า 1.4 แสนล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นปีทองของธนาคารสำหรับการดำเนินกิจการ
"ผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินมากมาย ทำให้มีตลาดใหม่
คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมา ขณะที่เรามีระบบการจัดเก็บข้อมูลเอกสารที่ควบคุมด้วยบาร์โค้ด
ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ"
ความสำเร็จของดีบีเอส ไทยทนุกับธุรกิจคัสโตเดียนในปีที่ผ่านมานั้นปฏิเสธ
ไม่ได้ว่าเกิดจากการสนับสนุนจากดีบีเอสในสิงคโปร์ "พวกเขาไม่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจนี้ใหม่"
จิตติวัฒน์ชี้ "ความช่วยเหลือจึงมีมาอย่างต่อเนื่อง"
เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งขับเคลื่อนและแรงจูงใจได้ดีที่สุด การเพิ่มศักยภาพของตนเองอยู่เสมอคือ
ความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังเป็นความแตกต่างของผู้เล่นระดับเล็กๆ ด้วยกันเอง
และการได้เปรียบด้านการแข่งจากความสามารถของต้นทุนระบบ และการให้บริการ
"ไม่มีลูกค้ารายไหนที่อยู่ดีๆ จะเปลี่ยนมาใช้บริการกับเราอย่างฉับพลัน
ต้องหาเทคโนโลยีดีๆ หรือใกล้ชิดพวกเขาตลอดเวลา" จิตติวัฒน์ชี้ "คัสโตเดียนมีบทบาทต่อตลาดเงิน
ตลาดทุน และกำลังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ให้กับพวกเรา"