มีความเป็นไปได้ที่การกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจจะถูกเลื่อนออกไป
ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีรายได้จากการแปรรูป จำเป็นต้องหาเงินทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาชดเชยชั่วคราวก่อน
แล้วช่องทางอยู่ตรงไหน?
นับตั้งแต่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูป
ทำให้รัฐบาลชุดนี้ต้องพิจารณาถึงการกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นเกี่ยวกับความพร้อม
แม้ว่ารายได้ขาดหายไปในช่วงระยะเวลา ที่ต้องเลื่อนการกระจายหุ้นออกไปก็ตาม
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรองปลัดกระทรวงการคลัง
สมหมาย ภาษี ออกมาประกาศถึงแนวทางการระดมทุนรูปแบบ อื่น เพื่อทดแทนในระหว่างที่รัฐวิสาหกิจ
ไม่สามารถกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนได้ โดยทั้งสองได้เรียกเครื่องมือชนิดใหม่นี้ว่า
"Exchangeable Bond" หรือ ECB
ECB ที่ว่าเป็นพันธบัตรชนิดหนึ่ง และหากรัฐวิสาหกิจจะระดมทุนระหว่างที่ยังไม่สามารถกระจายหุ้นได้
ผู้ถือหุ้นใหญ่จะต้องเป็นผู้ออกพันธบัตรนี้ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ย
หรือสิทธิในการแปลงสภาพพันธบัตร เป็นหุ้นทุนของรัฐวิสาหกิจเมื่อมีการแปรรูปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมีการออก ECB แล้วการกำหนดอายุพันธบัตรในระยะเวลายาว เช่น
3 ปี 5 ปีอาจจะไม่เหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่นักลงทุนมีความ คาดหวังการแปรรูปในระยะเวลาไม่นาน
"มีข้อสงสัยว่าการแปรรูปจะถูกเลื่อนไปเท่ากับอายุของ ECB หรือไม่" อมตา อิศรางกูร
ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้กล่าว "ECB อายุยาวเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจที่มีโครง
การแปรรูปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า"
ขณะที่พันธบัตรดังกล่าวที่มีอายุ สั้นๆ ไม่เกิน 2 ปี มีความเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจที่จะถูกแปรรูปในอีกไม่นาน
แต่ข้อจำกัดอยู่ที่ความสนใจจากนักลงทุน "พวกเขาน่าจะรอซื้อหุ้นสามัญ ดังนั้นรัฐบาลต้องกำหนดอายุ
ECB ให้สอดคล้องกับช่วง เวลาการกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจ" เธอชี้
สำหรับความคาดหวังของนักลงทุน ส่วนใหญ่จะรอแปลงสภาพพันธบัตร เนื่องจากราคาแปลงสภาพจะเท่ากับราคาขายหุ้นให้แก่ประชาชนครั้งแรก
หรือ IPO ถ้าตัดสินใจแปลง ECB เป็นหุ้นทุนอาจจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มในรูปของกำไรจากการขายหุ้น
(capital gain) หากราคาตลาดสูงกว่าราคา IPO
ตรงกันข้ามถ้าราคาตลาดต่ำนักลงทุนจะมีผลขาดทุนจากการขายหุ้น (capital loss)
เมื่อหักกลบดอกเบี้ยที่ได้รับแล้วทำให้ผลตอบแทนทั้งหมดลดลง นักลงทุนบางส่วนไม่สนใจแปลงสภาพด้วยการขอไถ่ถอนเงินต้นคืน
ผลตอบแทนที่ได้รับทั้งหมดจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรเท่านั้น
"ปกติบริษัทที่สนใจออก ECB มักจะมีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่ดี ตลาดจึงคาดหวังว่าในอนาคตราคาหุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
นักลงทุนจึงใฝ่ฝันถึงคำว่า capital gain" อมตา อธิบาย
เมื่อเป็นเช่นนี้นักลงทุนจึงมีความต้องการที่จะรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย
"ข้อดีของผู้ออก ECB คือ ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ" เธอบอก นั่นหมายถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐจะต่ำด้วย
แต่เมื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่าใดนักลงทุนยิ่งต้องการผลตอบแทนจาก capital
gain สูงๆ มาชดเชยสูงเท่านั้น "พวกเขาคาดหมาย ว่าราคาแปลงสภาพจะต้องต่ำ"
ปัญหาที่ตามมาคือ การกำหนด ราคา IPO ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้ากำหนดราคาแปลงสภาพสูงมีแนวโน้มว่านักลงทุนจะไม่ยอมรับอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ซึ่งไม่ต่างไปจากการออกพันธบัตรรัฐบาลทั่วไป
ดังนั้นเงื่อนไขของ ECB ต้องมีความดึงดูดต่อการลงทุน เพราะแสดงถึงความสนใจต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ในอนาคตด้วย