ก่อนหน้านี้ บริษัทประกันภัยไม่สามารถรู้ได้ว่า รถยนต์ของลูกค้าที่เอาประกันที่ถูกขโมยหายไปไหน
กว่าจะติดตามจนเจอรถยนต์คันนั้นก็อาจจะถูกขายข้ามชายแดนไปแล้ว หรือไม่ก็อยู่ในสภาพที่กลับมาใช้งานได้อีก
เช่นเดียวกับบริษัทขนส่ง พวกเขาไม่รู้ว่า พนักงานขับรถขนสินค้าออกนอกเส้นทาง
หรือขับรถเร็วเกิน กำหนดหรือไม่ จนกว่าจะถูกใบสั่งจากจราจร
แต่เทคโนโลยีกลับช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ปัจจุบันบริษัทขนส่งจะรู้ได้ทันที
ว่ารถบรรทุกสินค้าคันใด ที่ขับออกนอกเส้นทาง หรือจอดรถนานเกินเวลากำหนด หรือเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกับรถ
บริษัทประกันภัยไม่เพียงแต่จะรู้ว่า รถยนต์ที่ถูกขโมยไปอยู่บริเวณไหน แล้วพวกเขายังสามารถตัดขั้วไฟแบตเตอรี่รถยนต์คันดังกล่าวได้ทันที
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยี ที่เป็นระบบเฝ้าติดตาม และบริหารจัดการยานพาหนะ
ซึ่งมีใช้งานแล้วในหลายประเทศ ส่วนในไทยจะได้ใช้ระบบดังกล่าว กับระบบเฝ้าติดตามและบริหารจัดการจัดยานพาหนะผ่านระบบดาวเทียม
ที่ใช้ชื่อบริการว่า G-Track
ระบบ G-Track นี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระบบจีเอสเอ็ม
ของเอไอเอส ระบบแผนที่บอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ผ่านระบบดาวเทียม (Geographic)
ของบริษัท อีเอสอาร์ไอ บวกกับการบริหารฐานข้อมูล ของบริษัท Advance Mobiz
Tech Data Center
ระบบการทำงานของ G-Track จะเป็นการทำงานผ่านเครือข่ายดาวเทียม เพื่อแจ้งตำแหน่งพิกัดของยานพาหนะ
เพื่อติดตามว่ารถยนต์หรือรถบรรทุกสินค้าเดินทางอยู่ตำแหน่งไหน ออกนอกเส้นทาง
หรือใช้ระยะทางตามที่กำหนดหรือไม่ จากนั้นจะส่งรายงานข้อมูลผ่านระบบ เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังศูนย์ควบคุม
และเป็นศูนย์ Call Center ของบริษัท
ศูนย์ข้อมูลจะทำหน้าที่ในการประมวลข้อมูล เช่น ระยะทาง อัตราความเร็ว สถานะการจัดส่งสินค้า
สรุปเป็นรายงานส่งให้ลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งลูกค้าจะนำไปใช้ในการควบคุมหรือบริหารการจัดสินค้า
หรือรถยนต์ต่อไป
"การทำงานของรถจะอยู่บนถนน กุญแจสำคัญของบริการนี้ เครือข่ายจะเป็นหัวใจ
เพราะปกติแล้ว ระบบจีพีเอสจะบอกแค่ตำแหน่งของที่ตั้งของรถเพียงอย่างเดียว
เพราะเวลาจะส่งข้อมูล จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ" สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์
ผู้จัดการฝ่ายบริการเสริม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บอก
การส่งผ่านข้อมูลของระบบ G-Track จะทำผ่านระบบส่งข้อความสั้น หรือ SMS
ของเอไอเอส ทั้งในการสื่อสารและควบคุมระหว่างรถยนต์ และศูนย์ควบคุม
ทั้งนี้ ภายในรถจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ ที่เรียกว่า Mobile Unit เป็นอุปกรณ์
จะมีระบบบอกตำแหน่งของรถ และมีปุ่มเตือน และติดตั้ง sim card ของโทรศัพท์มือถือของระบบจีเอสเอ็ม
เพื่อใช้เครือข่ายของจีเอสเอ็มในการส่งผ่านข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมของบริษัท
ที่ตั้งอยู่บนอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3
ระบบดังกล่าว นอกจากจะควบคุม บริหารการจัดส่งสินค้าให้เป็นไปตามที่กำหนด
เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ หรือฉุกเฉิน เช่น รถออกนอกเส้นทาง หรือรถถูกขโมย
เจ้าหน้าที่ในศูนย์ควบคุมจะสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ SMS ตัดระบบไฟฟ้าในรถ
เพื่อให้รถหยุดวิ่งได้ทันที
ระบบนี้จะเหมาะกับองค์กรธุรกิจที่ต้องขนส่งสินค้า บริษัทให้เช่าแท็กซี่
หรือ บริษัทประกันภัย ที่จะใช้ควบคุมการบริหาร สินค้า หรือรถยนต์ ส่วนราคาอุปกรณ์และค่าบริการจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของบริการว่า
ต้องการฟังก์ชันการทำงานแบบใด
สำหรับลูกค้าส่วนบุคคล หากต้อง การใช้บริการนี้ จะมีรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่าย
ทั้งที่เป็นโทรศัพท์มือถือ และเป็นเครื่อง พีดีเอ ที่ติดตั้งระบบจีพีเอสอยู่ในตัว
ส่วนประโยชน์ที่จะใช้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน