บอร์ด N-PARK จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ สำหรับการเปิดทางให้กลุ่มซิตี้เรียลตี้ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่แลกหุ้นกับบริษัทดังกล่าว เชื่อจะเกื้อหนุนในการดำเนินธุรกิจและเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรด้วย หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียว
นายเถาถวัลย์ ศุภวานิช กรรมการบริหาร บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ว่าได้มีมติให้เสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติให้กลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท ซิตี้เรียลตี้ จำกัด (ซิตี้เรียลตี้) ซึ่งนำโดยนายชาลี โสภณพนิช (กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่) เข้าร่วมทุน โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะทำการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท จำนวน 7,600 ล้านหุ้น
โดยชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทเป็นหุ้นของซิตี้เรียลตี้ และบริษัทจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 76,000 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนจำนวน 80,571,600,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน156,571.60 ล้านบาท โดยจัดสรรหุ้นสามัญใหม่จำนวน 7,600 ล้านหุ้น ให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ (ซึ่งเท่ากับร้อยละ 48.54 ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุนจดทะเบียน) นั้น บอร์ดบริษัทได้ประชุมกันอีกครั้งเมื่อ 13 ธันวาคม 47 เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ ดังนี้
1. เหตุผลและความจำเป็นในการเพิ่มทุน เพื่อเป็นการชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่ของซิตี้เรียลตี้ ในอัตราส่วน 55.91 หุ้นใหม่ของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ต่อ 1 หุ้นของซิตี้เรียลตี้ มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 10 บาท และในการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทในด้านต่างๆ ดังนี้
1.1 ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายรับได้ทันที จึงช่วยทำให้บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในระยะสั้นเพิ่มขึ้น และในระยะยาวถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทซึ่งสอดคล้องกับนโยบายธุรกิจอสังหาริมทรัพยครบวงจรของบริษัท ซึ่งจะช่วยขยายฐานรายได้ของบริษัทในอนาคตให้เพิ่มมากขึ้น
1.2 การลงทุนในซิตี้เรียลตี้จะทำให้สัดส่วนโครงสร้างอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดอันเนื่องมาจากขนาดที่ใหญ่ขึ้น (Economies of scale) เนื่องด้วยขนาดและปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลดีในการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เช่น เครือบริหารโรงแรมต่างประเทศ บริษัทท่องเที่ยว บริษัทโฆษณา บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผู้ขายสินค้าและบริการ และบริษัทประกันภัยต่างๆ เป็นต้น และทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายได้
1.3 การลงทุนในซิตี้เรียลตี้ เป็นการเพิ่มสินทรัพย์สุทธิ (net assets) ให้แก่บริษัท ดังนั้น สัดส่วนของหนี้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (debt to equity ratio) ของบริษัทจะลดลงจาก 1.13 เท่า เป็น 0.57 เท่า (คำนวณจาก งบการเงินรวมของบริษัท ณ วันที่ 30 กันยายน 2547) ซึ่งเมื่อผนวกกับชื่อเสียงที่ดีของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ บริษัทคาดว่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในด้านความมั่นคงของบริษัทเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขอผ่อนผันกับบริษัท ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุม หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท และข้อตกลงที่มีนัยสำคัญระหว่างกัน ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัท ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุม หรือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทและไม่มีข้อตกลงที่มีนัยสำคัญระหว่างกัน
3. ประโยชน์และผลกระทบจากนโยบายหรือแผนการบริหารบริษัทของผู้ขอผ่อนผันรวมทั้งความเป็นไปได้ของนโยบายหรือแผนการบริหารบริษัทดังกล่าว ซิตี้เรียลตี้ เป็น บริษัทที่มีโครงการคุณภาพและมูลค่าสูงอยู่หลายโครงการ เช่น อาคาร เอ็มโพเรียม โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถรองรับนักเรียนได้กว่า 1,500 คน โครงการริเวอร์ไซด์การ์เด้น มารีนา ซึ่งเป็นคอนโดมิ-เนียมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์หรูบนเนื้อที่กว่า 9.13 ไร่ ริมแม่น้ำ เจ้าพระยาติดกับโรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี โครงการบางกอก การ์เด้น คอนโดมิเนียมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์หรูริมถนนนราธิวาส ราชนครินทร์ โครงการไอเฮ้าส์ โครงการที่อยู่อาศัยภายใต้การพัฒนาของ บริษัท ซิตี้ วิลล่า จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่ง ในบริษัทย่อยของซิตี้เรียลตี้ โครงการประกอบด้วยตัวอาคารสูง 8 ชั้น บนพื้นที่ 7.49 ไร่หลังอาคารสำนักงาน RCA บนถนนพระรามเก้า เป็นต้น
ดังนั้น การที่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้าร่วมทุนตามหลักการที่จะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัตินั้นควรจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และคุณภาพทรัพย์สินรวมทั้งธุรกิจในอนาคตของบริษัท เนื่องจากซิตี้เรียลตี้เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มีชื่อเสียง และมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของบริษัท และผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่จะเข้าซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาทนั้น จะช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงิน
สำหรับนโยบายหรือแผนการบริหารบริษัทของผู้ขอผ่อนผันนั้น บอร์ดมีความเห็นว่าภายหลังจากที่ผู้ขอผ่อนผันทำการซื้อหุ้นสามัญเพิ่ม ทุนของบริษัทจำนวน 7,600 ล้านหุ้นแล้ว บริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจ ตามแผนงานและนโยบายเดิมที่ได้ดำเนินการอยู่ เนื่องจากการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือกันในลักษณะพันธมิตร ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะลักษณะธุรกิจสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทจะต้องมีการพิจารณาในส่วนของนโยบายหรือแผนการบริหารให้มีความสอดคล้องและเป็นการส่งเสริมกัน โดยจะระมัดระวังไม่ให้เกิด ความขัดแย้งในการดำเนินงานของทั้งสองบริษัทต่อไป
4. ความเห็นที่เสนอต่อผู้ถือหุ้นว่าควรหรือไม่ควรอนุมัติให้ผู้ขอผ่อนผันได้หลักทรัพย์ที่ออกใหม่พร้อมทั้งเหตุผล เห็นควรอนุมัติให้ผู้ขอผ่อนผันได้หลักทรัพย์ที่ออกใหม่โดยไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ จากเหตุผล และความจำเป็นรวมถึงประโยชน์ที่กล่าวมาในข้อ 1 และข้อ 3 โดยในการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้าร่วมทุนกับบริษัทดังกล่าวถือเป็นการร่วมมือทางธุรกิจ และเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจรวมถึงเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท และฐานะทางการเงินของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ไม่มีนโยบายเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด รวมถึงการชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทของกลุ่ม ผู้ถือหุ้นถือได้ว่าเป็นราคาที่เหมาะสม และสมเหตุสมผลเช่นกัน
|