"สมคิด"มั่นใจแผนฟื้นฟู "ทีพีไอ" ดึง 3 พันธมิตรหลัก "กบข.-ปตท.-ออมสิน" ทำข้อตกลงเบื้องต้นในการเข้ามาถือหุ้น คาดไม่มีปัญหา ขณะที่ผู้บริหารแผนทีพีไอแจงคลังมีสิทธิเด็ดขาดในการหาผู้ร่วมทุน และการขายหุ้นทีพีไอโพลีน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดหาพันธมิตรร่วมทุน บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) ว่า ขอให้คณะกรรมการคณะทำงานจัดหาผู้ร่วมลงทุนและการจัดสรรส่วนทุนและการขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ตามแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ เสนอเรื่องถึงตนเองเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นให้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และธนาคารออมสินไว้ก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
สำหรับเรื่องการยกระดับฐานะบริษัทเงินทุน (บง.) และ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) เป็นธนาคารพาณิชย์นั้น ณ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเซ็นอนุมัติให้แห่งใดทั้งนั้น
ขณะที่นายสุวิช นิวาตวงศ์ ในฐานะตัวแทนคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯสรุปสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ภาระหนี้เงินกู้ยืมประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นดังนี้คือ Tranche A : ภาระหนี้จำนวนเทียบเท่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 5 ปี โดยมีดอกเบี้ยในอัตรา ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) -1% สำหรับหนี้สกุลบาท, LIBOR +1% สำหรับหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐและหนี้สกุลเยน และ EURIBOR +1% สำหรับหนี้สกุลยูโร
สำหรับหนี้ในกลุ่ม Tranche B : ภาระหนี้จำนวนเทียบเท่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 10 ปี โดยเริ่มชำระคืนเงินต้นงวดแรกหลังจากชำระหนี้ Tranche A ข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีดอกเบี้ยในอัตรา MLR สำหรับหนี้สกุลบาท, LIBOR+2% สำหรับหนี้สกุลเหรียญสหรัฐ และหนี้สกุลเยน และ EURI BOR+2% สำหรับหนี้สกุลยูโร
ส่วนกลุ่ม Tranche C : ภาระหนี้จำนวนเทียบเท่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่ 10 โดยมีดอกเบี้ยในปีที่ 1=1%, ปีที่ 2=2%, ปีที่ 3=3% และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป =4% และกลุ่มTranche D : ภาระหนี้จำนวนเทียบเท่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อสิ้นปีที่ 12 โดยมีดอกเบี้ยในปีที่ 1=1%, ปีที่ 2=2%, ปีที่ 3 =3% และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป =4% หนี้ที่มีวิธีการชำระพิเศษ : ภาระหนี้จำนวนเทียบเท่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จะดำเนินการชำระและปลดหนี้ด้วยเงินที่ได้จากการขายส่วนทุนตามแผน และการขายหุ้นทีพีไอโพลีน (รายละเอียดอยู่ในส่วนของการปรับโครงสร้างทุน) ภาระหนี้ดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะดำเนินการปลดหนี้ (write off) ดอกเบี้ยค้างจ่ายทั้งหมด
การปรับโครงสร้างทุนลดทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วลงในอัตรา 90% โดยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท มูลค่าทุนที่ลดลงดังกล่าวจะนำไปลดผลขาดทุนสะสมของทีพีไอ ซึ่งภายหลังจากการลดทุน จะมีผลทำให้ทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วเดิม 78,489.11 ล้านบาท ลดลงเหลือ 7,848.91 ล้านบาท ทั้งนี้จำนวนหุ้น จะยังคงมีจำนวนเท่าเดิม คือ 7,848.91 ล้านหุ้น ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อขายให้กับผู้ร่วมลงทุนให้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไว้เพื่อรองรับการออกหลักทรัพย์ให้แก่พนักงานในประมาณ 5% ของ ทุนจดทะเบียน กระทรวงการคลังมีสิทธิโดยเด็ดขาดในการจัดหาผู้ร่วมลงทุน และการขายหุ้นทีพีไอโพลีน
ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะต้องเป็นนิติบุคคลไทยซึ่งเป็นกองทุนหรือนิติบุคคลที่มีความชำนาญในการประกอบธุรกิจปิโตรเคมี หรือปิโตรเลียม หรือกระทรวงการคลัง โดยอาจเป็นนิติบุคคลเพียงรายเดียวหรือนิติบุคคลหลายรายก็ได้หุ้นที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ร่วมลงทุนประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมที่เจ้าหนี้ถืออยู่และหุ้นสามัญเพิ่มทุนรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดเป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมของทีพีไอจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือประมาณ 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
สำหรับผลของการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างทุนภาระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 2,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คงเหลือเป็นภาระหนี้ภายหลังการปรับโครงสร้างประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลขาดทุนสะสมของทีพีไอจะหมดไป ซึ่งหากทีพีไอมีผลกำไรสุทธิ ก็สามารถ พิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เมื่อได้มีการชำระหนี้ก่อนกำหนดหรือมีการลดหนี้เป็นจำนวน ไม่น้อยกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนระยะเวลาดำเนินการตามแผนให้ขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนออกไปอีก 1 ปี โดยให้ครบระยะเวลาดำเนินการตามแผนในวันที่ 31 ธันวาคม 2548
|