ทารุน ซอว์นีย์ ผู้จัดการภูมิภาคการป้องปรามการละเมิด กลุ่มพันธมิตรธุรกิจผู้ผลิตซอฟต์แวร์
(Business Software Alliance : BSA) วัย 40 ผู้นี้ก็เป็นเหมือนกับทีมงานของบีเอสเออีกหลายคน
ที่ต้องเผชิญอยู่กับความท้าทายของอาชีพการทำงาน ในการเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ให้กับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจผู้ผลิตซอฟต์แวร์
แม้ธุรกิจค้าซอฟต์แวร์เถื่อนจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ด้วยผลกำไรจำนวนมากที่ได้
เมื่อเทียบกับต้นทุนเพียงน้อยนิดใน การก๊อบปี้โปรแกรมซอฟต์แวร์ใส่แผ่นซีดีซึ่งมีต้นทุนไม่กี่บาท
ทำให้ธุรกิจก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ เป็นที่เฟื่องฟู และค้าขายกันดาษดื่น เม็ดเงินที่ได้จึงเย้ายวนมากกว่า
โทษปรับ 180,000 บาท หรือจำคุกสูงสุด 9 เดือน
ถึงแม้ว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะออกแรงผลักดันให้มีการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเกือบทุกประเทศ
แต่ความหวังที่การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จะหมดไป 100% จึงเป็นไปไม่ได้
อย่างดีก็คือ ทำให้สัดส่วนการละเมิดลดลง และนี่ก็ เป็นภารกิจของเหล่าทีมงานบีเอสเอ
พวกเขาถูกจ้างมาสำหรับหน้าที่เหล่านี้
ซอว์นีย์ เกิดและโตในอินเดีย แต่ไปเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจที่ประเทศอังกฤษ
ทำให้เขาเป็นตำรวจผิวสีเพียงคนเดียวในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาการแบ่งแยกผิวยังมีอยู่มาก
เขาบินกลับมาใช้ชีวิตตำรวจที่ฮ่องกง ทำอยู่ได้ 3-4 ปี ขอทุนรัฐบาลเรียนต่อจนจบปริญญาตรี
สาขารัฐศาสตร์ และการปกครอง
หลังเรียนจบซอว์นีย์ย้ายมาทำงานอยู่ในแผนกสืบสวนสอบสวนพฤติกรรมตำรวจ ขณะเดียวกันก็สอนเรื่องกฎหมายอาชญากรรม
และการเป็นผู้นำ ทำอยู่นาน 4 ปี ตัดสินใจลาออกจากชีวิตการเป็นตำรวจที่ฮ่องกง
เปลี่ยนอาชีพมาทำงานให้กับ MPA เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ในส่วนของลิขสิทธิ์เพลงในแถบเอเชียแปซิฟิก
"อาชีพตำรวจ เราคาดการณ์ได้ว่า จะได้เงินเดือนเท่าไร ได้เงินกี่ขั้น เป็นงานเดิมๆ
ที่ต้องทำทุกวัน" ซอว์นีย์บอก
อาชีพใหม่ของซอว์นีย์ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเขา ต้องเดินทางตลอดเวลา
จากการรับผิดชอบปราบปรามละเมิดลิขสิทธิ์ดนตรีและภาพยนตร์ให้กับ MPA เป็นจำนวนถึง
14 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ
อยู่ตลอดเวลา เขาต้องเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องกระบวนการของการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะแหล่งผลิต
ขั้นตอนการค้าขาย เริ่มขายที่ไหน ใครเป็นผู้ขาย รวมถึงการส่งออก ช่องว่างของกฎหมายหรือแม้แต่ทำไมรัฐบาลของแต่ละประเทศ
จึงไม่ใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่ลงนามในข้อตกลงทางกฎหมายแล้ว
เหตุการณ์รุนแรงที่สุดของเขาในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การตรวจโรงงานผลิตซีดีปลอมในกรุงจาการ์ตา
ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีกลุ่มอิทธิพลหนุนหลัง ซึ่งทำให้เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด
"ปกติแล้วต้องใช้เวลาตรวจเป็นชั่วโมง แต่นี่เราไปได้แค่ 20 นาที ตำรวจที่ไปด้วยตะโกนบอกให้หนีออกมาให้เร็วที่สุด
ตอนนั้นทุกคนวิ่งกันสุดชีวิต หยิบหลักฐานเท่าที่จะหยิบได้" ซอว์นีย์เล่า
หลังจากสิ้นเสียงของตำรวจผู้นั้น รถยนต์คันหนึ่งก็วิ่งสวนออกมา และการต่อสู้ก็เริ่มขึ้น
"นับว่าเป็นโชคดีที่ผมหนีออกมา ได้ทัน ไม่เช่นนั้นผมก็คงต้องเป็น 1 ในผู้ที่บาดเจ็บ"
หลังจากทำงานอยู่กับ MPA 2 ปี ซอว์นีย์ตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานกับบีเอสเอ
ซึ่งมีรูปแบบการทำงานคล้ายกัน ต่างกันที่กลุ่มผู้ละเมิด MPA นั้นพุ่งเป้าไปที่โรงงานผลิต
เนื่องจากเป็นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และเพลง ในขณะที่การปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของบีเอสเอ
จะเป็นองค์กรธุรกิจ และร้านค้าปลีกเป็นหลัก
ประสบการณ์ของเขาในช่วง 8 เดือน ที่ทำงานอยู่กับบีเอสเอ และต้องดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในกลุ่มร้านค้ารายย่อย
ตามห้างสรรพสินค้าใน 14 ประเทศ ทำให้เขาเรียนรู้รูปแบบหรือกระบวนการค้าซอฟต์แวร์เถื่อนที่ซับซ้อน
และแยบยลมากขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อซื้อจากนักสืบ รูปแบบการค้าจะเปลี่ยนจากร้านค้าไปซื้อขายผ่านทางอีเมล
ที่กลายเป็นช่อง ทางขายซอฟต์แวร์เถื่อนไปแล้ว หรือบางครั้ง ผู้ขายจะใช้วิธีขายแผ่นซีดีเปล่าให้ลูกค้าถือ
ออกนอกห้างสรรพสินค้า จนกระทั่งแน่ใจว่าไม่ได้ถูกติดตาม จะเอาแผ่นซีดีก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ปลอมมาเปลี่ยนให้
"คนขายบางราย เขาไม่วางแผ่นซีดี บนแผง พอลูกค้าติดต่อซื้อจ่ายเงินแล้ว
เขาใช้วีธีควักออกมาจากกางเกงหยิบให้ ลูกค้า" ซอว์นีย์เล่าถึงประสบการณ์ในการติดตาม
และล่อซื้อซอฟต์แวร์เถื่อนจากหลายประเทศในย่านเอเชีย
ซอว์นีย์เชื่อว่า แต่ละประเทศจะมีปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป เช่นกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในมาเลเซีย
ส่วนฟิลิปปินส์ การตรวจจับองค์กรจะมีความยุ่งยากมาก นอกจากมีผู้แจ้งเบาะแสแล้ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องเข้าตรวจหาหลักฐานจนแน่ชัดก่อนจะออกหมายค้น ในขณะที่เมืองไทย
จากการรับรู้ของเขา ผู้ผลิตหรือผู้ค้าจะมีผู้มีอิทธิพลสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
และการวางขายซอฟต์แวร์เถื่อนอย่างโจ่งแจ้ง
แม้การปราบปราบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่การทำด้วยงบประมาณ
และกำลังคนของบีเอสเอมีจำกัด งบประมาณส่วนใหญ่จึงต้องจัดสรร ไปตามความรุนแรงของปัญหา
จำเป็นต้องพึ่งพารัฐบาล เขายกตัวอย่าง ห้างขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซิมลิมของสิงคโปร์
และห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย ทั้งสองแห่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งซอฟต์แวร์เถื่อน
แต่เวลานี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศเอาจริง
ปัจจุบัน ตัวเลขการละเมิด ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทย ในปี 2000 ยังมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์
ซอฟต์แวร์อยู่ 79% และเป็นอันดับ 5 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงสุด
รองจากจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ปากีสถาน ความหวังในการทำให้ห้างพันธุ์-ทิพย์พลาซ่า
และห้างสรรพสินค้าอื่นๆ เป็นห้างสรรพสินค้าที่ปลอดซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นความหวังอย่างหนึ่งของบีเอสเอ
นอกเหนือไปจากปราบปรามให้องค์กรธุรกิจเลิกใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน แต่ซอว์นีย์
ยอมรับว่าการปราบปรามซอฟต์ แวร์เถื่อนให้หมดสิ้นลงคงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่า การกวาดล้างซอฟต์แวร์เถื่อน ที่เริ่มมาตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว
จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้ร้านค้าซอฟต์แวร์เถื่อน ลดจำนวนลงจาก 100 ร้าน
เหลือ 25 ร้าน มีการจับกุมการละเมิดไปแล้ว 17 คดี มีจำนวนซีดีเถื่อนที่ยึดมาได้
1,684 แผ่น คิดเป็นมูลค่า 106 ล้านบาท
แต่มูลค่า 2.2 ล้านเหรียญต่อห้างสรรพสินค้า แต่ละร้านค้าจะมีรายได้จากการค้าซอฟต์แวร์เถื่อนวันละ
70,000-80,000 บาท ทำให้กิจการนี้ยังคงหอมหวน และเป็นภารกิจที่ซอว์นีย์และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
ของบีเอสเอ ยังต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป