29 ม.ค.
- ฝ่ายปราบปรามกรมศุลกากร ได้ยึดเรือขนส่งน้ำมัน ชื่ออาเซียน โปรโมเตอร์
สัญชาติสิงคโปร์ พร้อมอายัดน้ำมันสำเร็จรูปเบนซิน 95 จำนวน 250,000 บาร์เรล
หรือประมาณ 41 ล้านลิตร ซึ่งเข้าเทียบที่ท่าเรือเขาบ่อยา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
เพื่อขนถ่ายน้ำมันที่บรรทุกมาเข้าบรรจุในคลังน้ำมัน ของบริษัท ปตท. โดยสงสัยว่า
เรือลำดังกล่าวกระทำการโดยผิดกฎหมาย ด้วยการสำแดงเท็จในการทำพิธีการศุลกากรขาเข้า
และปลอมแปลงเอกสารในการตรวจยึดเรือและอายัดน้ำมันครั้งนี้ ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน
13 ก.พ.
- เหตุการณ์เริ่มปรากฏเป็นข่าว เมื่อกรมศุลกากร
ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารของ ปตท.และไทยออยล์ จำนวน 13 คน เช่น จุลจิตต์
บุณยเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยออยล์ วิเศษ จูภิบาล
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. สุรงค์ บูลกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
ฝ่ายการค้าต่างประเทศ พิพัฒน์ สุวรรณชฏ กรรมการผู้จัดการ ปตท.
สาขาประเทศสิงคโปร์ รวมถึงทิษณุ รัตนรัต ตัวแทนบริษัททราฟิกูร่า
บริษัทนายหน้าที่รับซื้อน้ำมันล็อตนี้จาก ปตท.ฯลฯ
โดยข้อหาที่แจ้งระบุว่า
บุคคลทั้งหมดต้องสงสัยว่าจะร่วมกันกระทำความผิดในการสำแดงเท็จ
และปลอมแปลงเอกสารในการนำเข้าน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปจากสิงคโปร์
เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ. ศุลกากร
14 ก.พ.
- มานิต วิทยาเต็ม อธิบดีกรมศุลกากร
ได้เปิดแถลงข่าวลำดับเหตุการณ์การติดตามกรณีนี้ของกรมศุลกากร
โดยระบุว่าโรงกลั่นไทยออยล์ได้ขายน้ำมันล็อตนี้ให้กับบริษัททราฟิกูร่า
ในช่วงกลางเดือนมกราคม โดยบรรทุกลงเรือที่ชื่อมัณฑะเลย์
เรือดังกล่าวได้นำน้ำมันออกไปถ่ายลงเรืออาเซียน โปรโมเตอร์
หลังจากออกจากน่านน้ำไทยไปแล้วประมาณ 24 ไมล์ทะเล และหลังจากเรืออาเซียน
โปรโมเตอร์ได้รับถ่ายน้ำมันจากเรือมัณฑะเลย์แล้ว
ได้แล่นเรือไปยังประเทศสิงคโปร์
ก่อนที่จะย้อนกลับนำน้ำมันมาเพื่อเตรียมถ่ายลงคลังทัณฑ์บนของ ปตท.
ที่เขาบ่อยา ในวันที่ 29 มกราคม
ซึ่งเป็นวันที่กรมศุลกากรเข้าไปตรวจยึดเรือ
15 ก.พ.
- พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้
พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ รอง ผบ.ตร.ตั้งทีมงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง
ช่วงนี้ประเด็นของข่าวยังมุ่งไปในเรื่องที่ ปตท.สำแดงเอกสารเท็จ
เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และมีประเด็นเพิ่มเข้ามาว่า
น้ำมันล็อตนี้เป็นน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่ง
ปตท.ต้องการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีกระแสออกมาว่ากรณีนี้
เป็นเรื่องที่กรมศุลกากรต้องการเรียกสินบนจาก ปตท. เป็นเงิน 50 ล้านบาท
เพราะเกิดเหตุขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม
แต่เพิ่งปรากฏออกมาเป็นข่าวในวันที่ 13 กุมภาพันธ์
16 ก.พ.
- วิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการ ปตท. ออกมาชี้แจงกรณีนี้ว่า
เป็นการรับฝากน้ำมันในคลังทัณฑ์บนของ ปตท.จากบริษัททราฟิกูรา
เพื่อรอส่งออกไปยังประเทศอื่น แต่กรณีที่ต้องสำแดงว่าเป็นการซื้อขาย
เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้กรณีที่สินค้าเสียหาย
จะสามารถเครมเงินประกันจากบริษัทประกันภัยได้
18 ก.พ.
- ตำรวจเริ่มต้นกระบวนการสอบสวน
มีการนำตัวอย่างน้ำมันจากเรืออาเซียน โปรโมเตอร์
มาตรวจสอบว่ามีแหล่งที่มาจากไทยออยล์หรือไม่
19 ก.พ.
- ประเด็นเริ่มสับสนเมื่อ พล.ต.ต.ชาลี เกาะนันท์ ผบก.รน.
ออกมายืนยันว่า
กระบวนการขนน้ำมันตั้งแต่ออกจากบริษัทไทยออยล์ไปจนถึงคลังสินค้าทัณฑ์บน
ถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่าง
ส่วนการที่กรมศุลกากรเข้าไปตรวจยึดครั้งแรกเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นน้ำมันเถื่อน
แต่เมื่อพบว่าเป็นน้ำมันถูกกฎหมาย จึงพยายามหาข้อหาให้ ปตท. ว่าสำแดงเท็จ
ซึ่งมีโทษสูงสุดเพียงปรับ 50,000 บาท ขณะเดียวกัน
กรมศุลกากรยอมปล่อยให้เรืออาเซียน โปรโมเตอร์เดินทางออกจากประเทศไทย
25 ก.พ.
- กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
ได้รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันที่เก็บตัวอย่างมาจากเรืออาเซียน
โปรโมเตอร์ ปรากฏว่าเป็นน้ำมันที่ไม่ได้มาตรฐาน
ทำให้ประเด็นเริ่มเปลี่ยนจากการหาต้นตอน้ำมัน กลายเป็น ปตท.
ต้องการจะนำน้ำมันที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาขายในประเทศ
28 ก.พ.
- เป็นเส้นตายที่ พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ
กำหนดไว้ว่าจะต้องสรุปสำนวนการสอบสวนกรณีนี้ให้เสร็จ
ปรากฏว่าการสอบสวนยังไม่สามารถได้ข้อยุติ จึงต้องเลื่อนกำหนดออกไปอีก 1
สัปดาห์
4 มี.ค.
- พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ
ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการแจ้งสำแดงการนำเข้าน้ำมันของ ปตท.
ได้เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อรายงานความคืบหน้าการสอบสวนคดีดังกล่าว
โดยได้ออกมากล่าวหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์
จึงจะสามารถสรุปผลทางคดีได้