Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2545
ทำไมต้อง "สวนกุหลาบฯ" การแสวงหาถิ่นถาวรของโรงเรียนต้นแบบ             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

120 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย ปฐมบทการศึกษาสมัยใหม่ของไทย
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
ความเป็นสวนกุหลาบ มุมมองจากด้านในของตึกยาว
สมาคมศิษย์เก่า สวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

   
search resources

โรงเรียนสวนกุหลาบ




ในครั้งที่มีการขยายเขตพระราชวังออกไป ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระราชวังด้านใต้มีที่ว่าง จึงโปรดฯ ให้ทำสวนปลูกต้นกุหลาบ สำหรับเก็บดอกใช้ในราชการจึงเกิดมีสวนกุหลาบขึ้นในพระราชวัง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา และในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้แบ่งสวนกุหลาบส่วนหนึ่งสร้างคลังศุภรัตน ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน แต่พื้นที่นอกจากสร้างคลังศุภรัตน ยังคงเป็นสวนกุหลาบต่อมาอย่างเดิม

เมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เจริญพระชันษา ถึงเวลาจะเสด็จออกมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 4) มีพระประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดฯ ให้จัดตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ในสวนกุหลาบ ตรงตึกคลังศุภรัตน ซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เรียกพระตำหนักนี้ ว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้

พระตำหนักสวนกุหลาบ ที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จประทับ นั้น มีตึกขนาดย่อมๆ 5 หลังเรียงกันจากด้านเหนือลงไปด้านใต้ คือ ศาลาห้องมหาดเล็กหลังหนึ่ง ตึกท้องพระโรงหลังหนึ่ง ตึกที่ประทับหลังหนึ่งโดยมีหอพระ หลังหนึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลาง ต่อนั้นไปได้สร้างตึกแบบฝรั่งเพิ่มเติมอีกหลังหนึ่ง แต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 4 เสียก่อน

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฯ ให้กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบแทน จนออกจากวัง และจากนั้นมาก็ใช้เป็นคลังเก็บของเรื่อยไป

ต่อมาได้โปรดฯ ให้เลือกสรรลูกผู้ดีมาฝึกหัดจัดเป็นกรมทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์ และให้เป็นที่ศึกษาหา ความรู้ในราชสำนักสำหรับราชการด้วย และพระองค์เองก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ครั้นเมื่อกรมทหารมหาดเล็กเจริญขึ้นทรงพระราชดำริว่า "เชื้อสายราชสกุลชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์มีอยู่มากแต่มักไม่ได้รับการอบรม บางคนประพฤติเสเพลเป็นนักเลงหัวไม้ เมื่อเกิดถ้อยความก็ขึ้นชื่อว่า เชื้อเจ้านายไปรังแกผู้อื่น" จึงโปรดให้หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ซึ่งมีอายุสมควรจะฝึกหัดเข้าเป็นทหารมหาดเล็ก

เมื่อพระน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ในกาลต่อมา ทรงเห็นว่าฐานะของทหารมหาดเล็กได้เสื่อมไปไม่เหมือนแต่ก่อน ประกอบกับสมัยนั้นราชการกระทรวงต่างๆ เปลี่ยนแปลงแบบแผนเป็นอย่างใหม่ เป็นที่นิยมของคนหนุ่มๆ ขึ้นมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งมีเพียงทหารมหาดเล็กอย่างเดียว กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงคิดจะบำรุงฐานะให้สูงศักดิ์ขึ้นเหมือนดังเดิม โดยการจัดตั้งเป็นโรงเรียน จะได้มีผู้สมัคร เข้ามามาก เมื่อพระน้องยาเธอฯ นำความเห็นขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย โดยได้มีพระราชดำรัสสั่งให้จัดตั้งโรงเรียนตามที่คิดนั้น และรับที่จะทรงอุดหนุนด้วย

ครั้นจะเลือกหาที่ตั้งโรงเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กก็ไม่มีที่พอแก่การจัด กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งตอนนั้นใช้เป็นคลังรุงรังรกอยู่ไม่เป็นประโยชน์นัก จึงได้เรียกชื่อว่า "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2424 เป็นต้นมา

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้จัดการฝึกหัดอย่างทหาร และเรียนแบบสามัญเหมือนโรงเรียนทั้งปวง ต่อมากิจการงานของโรงเรียนเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ มีหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์และบุตรหลานของข้าราชการ สมัครเรียนมากขึ้นทุกที จนเกินจำนวนตำแหน่งนายทหารมหาดเล็ก จนเกิดเป็นปัญหาว่าจะจัดตั้งเป็นโรงเรียนทหารมหาดเล็กตามความคิดเดิม ซึ่งต้องจำกัดจำนวนนักเรียน หรือให้เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดราชการทั่วไป

ปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่า "การเล่าเรียนเป็นหลักสำคัญ ของชาติบ้านเมือง สมควรที่จะได้รับการส่งเสริมเพื่อให้คนได้เล่าเรียนเต็มที่" และอีกตอนหนึ่งความว่า "ถ้าหากเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนสำหรับข้าราชการทั่วไป จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองยิ่งกว่าเป็นโรงเรียนสำหรับนายทหารมหาดเล็กกรมเดียว" พระองค์จึงโปรดฯ ให้ขยายการเรียนวิชาการสำหรับเป็นข้าราชการพลเรือน เพราะในสมัยนั้น ระบบราชการงานเมืองประยุกต์เปลี่ยนแปลงไปตามอารยธรรมตะวันตกแบบใหม่ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งตั้งความมุ่งหมายที่จะฝึกนักเรียนเพื่อเป็นทหารมหาดเล็กไว้แต่เดิม จึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

เมื่อโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้รับนักเรียนอายุเยาว์ลงกว่าแต่ก่อน เพื่อให้มีเวลาเล่าเรียนนานขึ้น ตึกหมู่พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเดิมใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอน ของโรงเรียนไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้ จึงได้โปรดฯ ให้สร้าง ตึกยาวทางพระราชวังด้านใต้ (ปัจจุบันรื้อเสียแล้ว) เพื่อใช้เป็นที่เล่าเรียนและที่อยู่นักเรียนอีกหลังหนึ่งด้วย การตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจึงนับว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อปีระกา พ.ศ.2427 นั่นเอง

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2441 จึงขยายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวัง ผู้บัญชาการกระทรวงและบรรดานักเรียนเก่าของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้ปรารถนาที่จะรักษาเกียรติศักดิ์ของโรงเรียนให้คงไว้ แต่จะให้เรียกชื่อตามเดิมคงมิได้ เพราะมิได้ตั้งอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบดังแต่ก่อนแล้ว จึงต้องลดชื่อลงเหลือเพียง "โรงเรียนสวนกุหลาบ"

การที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ย้ายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวังตามพระราชโองการ ก็บังเกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะมีนักเรียนมาก แต่สถานที่เรียนมีน้อยไม่สามารถเรียนรวมกันในแห่งเดียวได้ จึงต้องแยกสถานที่เรียนออกไปเป็นสองส่วน กล่าวคือ เป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ

หลังจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนสวนกุหลาบก็ได้เคลื่อนย้ายไปใช้พื้นที่ของวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือ เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือ เพื่อรอการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งในช่วงนี้มีโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยอยู่ 2 ที่ โดยอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมมหา ราชวัง เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบไทยในโรงเรียนมหาดเล็ก หลวง ซึ่งโรงเรียนนี้คาดว่าเกิดจากการเคลื่อนย้ายไปยังวัดมหาธาตุ นั้นเคลื่อนย้ายไปไม่หมด

ต่อมากระทรวงธรรมการได้งบประมาณในการสร้างที่ว่าการกระทรวงใหม่ และกระทรวงต้องการให้โรงเรียนพระตำหนัก สวนกุหลาบเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัด ทดลองวิธีสอน และตำรา เรียน จึงยกตึกหลังแรกใน 3 หลัง ให้เป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวังหน้า ซึ่งในความเป็นจริง กระทรวงมุ่งหมายจะให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษมารวมกันที่นี่ แต่สถานที่คับแคบไป จึงนำมาเฉพาะโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยเพียงฝ่ายเดียว

ในปี พ.ศ.2452 กระทรวงธรรมการ ได้ย้ายสถานที่ทำการใหม่ โรงเรียนสวนกุหลาบจึงต้องย้ายด้วย โดยได้ย้ายไปอาศัยอยู่ ณ บริเวณศาลาวัดมหาธาตุด้านใต้เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กริมคลองมหานาค (โรงเรียนสวนกุหลาบโรงเลี้ยง เด็กริมคลองมหานาค) ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 5 ของการย้ายโรงเรียนหลังจากถือกำเนิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยย้ายออกจากพระบรมหาราชวังไปแล้ว แต่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษยังคงอยู่ในพระบรมหาราชวัง โดยย้ายจากที่เดิมมาอยู่ที่ตึก 2 หลัง ริมพระที่นั่งสุทธัยสวรรค์ เรียกว่า "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบริมพระที่นั่งสุทธัยสวรรค์ ต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่ ณ วังพระองค์เจ้าภานุมาศ ซึ่งหมายถึง "วังหน้า" เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวังหน้า โดยอาศัยเก๋งจีนที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สอน

หลังจากทำการเรียนการสอนในสถานที่ดังกล่าวได้ระยะหนึ่ง ก็ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่สตรีสวนสุนันทาลัย (ปากคลองตลาด) เนื่องจากโรงเรียนนี้มีนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จำต้องปรับปรุงและมีการพักการเรียนการสอนไว้ก่อน โรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งยังไม่มีสถานที่แน่นอน จึงได้ย้ายมาเปิดการสอนเป็นการชั่วคราว เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือขอพระราชทานที่โรงเรียนสตรีสุนันทาลัย เพื่อปรับปรุงให้เป็น "โรงเรียนราชินี" โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย จึงได้ย้ายมารวมอยู่กับโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพราะว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้มีการปรับปรุงซ่อม แซมโรงเรียนครั้งใหญ่ โดยใช้งบประมาณในการสร้างโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแห่งใหม่ โดยมีข้อตกลงในการก่อสร้าง "ตึกแม้นนฤมิตร์" ซึ่งเป็นตึกเรียนหลังใหม่ และให้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร์ ทั้งนี้โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระบรมราชโองการให้กรมศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการทำสัญญาก่อสร้าง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนนามโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์แทน โดยอ้างถึงคำสั่งของปลัดทูลฉลองของกระทรวงธรรมการ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง โรงเรียนสวนกุหลาบจึงย้ายมารวมกับโรงเรียนประถมเทพศิรินทร์เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษเทพศิรินทร์

การเดินทางอันยาวนานของ "สวนกุหลาบ" ในการหาแหล่ง พำนักที่ถาวรใกล้สิ้นสุดลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างตึกยาวขึ้นในพื้นที่ของวัดราชบูรณะ เพื่อดำเนินการสอน โดยได้ทรงมอบให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบและใช้งบประมาณของวัดราชบูรณะ ซึ่งเดิมสร้างตึกให้ชาวบ้านเช่า เปลี่ยนเป็นการสร้างเพื่อให้โรงเรียนเช่า สำหรับใช้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ และในปี พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทอดพระเนตรการก่อสร้างด้วยพระองค์เองก่อนสวรรคตในปีเดียวกันนั่นเอง

ทั้งนี้ด้วยความคิดของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ศิษย์เก่าเลขประจำตัวหมายเลข 2 ของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ รวมกับนักเรียนสวนกุหลาบจากที่ต่างๆ อาคารตึกยาวจึงได้เกิดขึ้น และการเดินทางอันยาวนานก่อนจะลงหลักปักฐานในที่ตั้งปัจจุบันก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ.2454 โดยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็ได้รวมกับฝ่ายไทยและได้แหล่งที่พำนักถาวร พร้อมกับนามว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" สืบมา

แม้ว่า สวนกุหลาบฯ จะมีต้นกำเนิดจากการเป็นโรงเรียนพระราชทาน ในฐานะเป็นโรงเรียนทดลองต้นแบบสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษาไทยสมัยใหม่ ตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ซึ่งหลายฝ่ายภาคภูมิใจ แต่จากประวัติศาสตร์การก่อตั้งโรงเรียนในช่วง 30 ปีแรก กลับชี้ให้เห็นถึงแง่มุมบางประการของการจัดการศึกษาไทยในสมัยนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้สืบเนื่องเป็นมรดกของความไม่สามารถในการจัดการของรัฐไทยในสมัยปัจจุบันด้วย

ความพยายามที่จะยึดโยงคำว่า สวนกุหลาบฯ จากรากเหง้าเดิมที่คลี่คลายไปในช่วง 30 ปีแรกของการก่อตั้ง กลายเป็น ฐานของสมการ ในการจัดรูปแบบและแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยในยุคสมัยต่อมา

การเกิดขึ้นของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ นนทบุรี, สวนกุหลาบฯ ปทุมธานี, สวนกุหลาบฯ รังสิต, สวนกุหลาบฯ สมุทร ปราการ หรือแม้กระทั่งสวนกุหลาบฯ เพชรบูรณ์ และสวนกุหลาบฯ ชลบุรี ควบ คู่กับการนำชื่อของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของนักเรียนและผู้ปกครองแห่งอื่นๆ ไปตั้งเป็นชื่อสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นใหม่ ดำเนินไปภายใต้ฐานความคิดว่าด้วยการกระจายโอกาสและมาตรฐานการศึกษาอย่างง่ายๆ โดยละเลยที่จะพิจารณาให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีอัตลักษณ์เฉพาะ และเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจให้แก่นักเรียนได้อย่างเป็นเอกเทศ

คุณูปการของประวัติศาสตร์น่าจะอยู่ที่การเป็นบทเรียน สำหรับอนุชนรุ่นหลังในการสรรค์สร้างให้เกิดนวัตกรรมขึ้น มากกว่าการยึดโยงอยู่กับอดีต โดยปราศจากรากดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us