ทรูเชื่อ 3 ตัวหลักที่เป็นสูตรสำเร็จของการให้บริการบรอดแบนด์ เผยปีหน้านำเทคโนโลยี MPLS เข้ามาให้บริการ รุกตลาดทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พร้อมขยายเครือข่ายไปพร้อมทีเอ ออเร้นจ์ หลังร่วมทีมงานด้านเครือข่ายเข้าด้วยกัน ส่วนการแข่งขันปีหน้าเดือดแน่ และจะมีบริการหลักๆ คือเสียง ข้อมูล และวิดีโอสตรีมมิ่ง สำหรับบริการ ADSL BizPack-Lite ลูกค้าให้ความสนใจมาก ยัน 7-11 ให้ติดตั้งทั่วกทม. 1,500 สาขา
นายนนท์ อิงคุทานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ว่า สูตรสำเร็จของบริการบรอดแบนด์ซึ่งกลุ่มเรียกว่าไฮสปีด อินเทอร์เน็ตนั้นหลักๆ มี 3 แนวทางคือ 1.เรื่องของเครือข่ายที่ครอบคลุม อย่างบริการของกลุ่มทรูขณะนี้มีเครือข่ายทั้งหมด 750 โหมด ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลถึง 99% โดยลงทุนประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท 2.การทำต้นทุนในการให้บริการที่ต่ำ และราคาค่าบริการสมเหตุสมผล ซึ่งกลุ่มทรูสามารถทำตรงนี้ เนื่องจากมีการผสมผสาน หรือ Synergy ในเรื่องของเทคโนโลยีและบริการภายในบันเดิลไปด้วยกันได้ 3.การมีบริการที่ครบวงจร สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกรูปแบบ
ส่วนแผนการดำเนินงานในปีหน้า ทรูมีแผนจะขยายเครือข่ายไปพร้อมกับทีเอออเร้นจ์ที่ขยายชุมสายเพิ่มอีก 8 ชุมสาย นอกจากนี้ยังจะมีการเน้นเรื่องของคุณภาพบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการนำ MPLS (Multi Protocol Label Switching) เป็นโครงข่ายหลัก ที่เดิมใช้ Internet Protocol หรือ IP เป็นโครงข่ายหลัก เทคโนโลยีที่ทรูจะนำมาให้บริการนี้ จะทำให้ IP กำหนดคลาสหรือชั้นของลูกค้าได้ว่าเป็นกลุ่มโฮมยูสหรือองค์กรธุรกิจ เพื่อสร้างลำดับความสำคัญและหาบริการที่เหมาะสมให้กับกลุ่มลูกค้า
"การลงทุนในการขยายเครือข่ายอย่างในปีหน้าที่จะขยายไปในต่างจังหวัดก็จะพิจารณาพื้นที่ที่มีการใช้งานมากเป็นหลัก และทีมงานโดยเฉพาะด้านเน็ตเวิร์กซึ่งกำลังจะเมิร์ซกันก็จะไปพร้อมออเร้นจ์"
นายนนท์กล่าวถึงบริการ ADSL BizPack-Lite ซึ่งเป็นบริการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านเทคโนโลยี Asymmetric Digital Subsriber Line หรือ ADSL ผ่านสายโทรศัพท์ที่เพิ่งนำออกสู่ตลาดได้ประมาณ 2 เดือนว่า บริการดังกล่าวมีด้วยกัน 2 แบบคือ 1.บริการในลักษณะของการเชื่อมต่อสาขา 2.เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือ BizNet Internet โดยการนำแพกเกจ บันเดิลไปกับบริการของทรู อินเทอร์เน็ตหรือเอเชียเน็ทเดิมแบบไฮ-สปีดในลักษณะบริการที่ไม่จำกัดชั่วโมง
ADSL BizPack-Lite หลังเปิดตัวไปได้รับความสนใจมากพอสมควร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งให้กับลูกค้า ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ลูกค้าประเภทธนาคาร แต่หลักๆ จะเป็นประเภทเซอร์วิส อินดัสตรี อย่างขณะนี้มี 7-11 ในเขตกรุงเทพฯที่จะให้ติดตั้งบริการนี้ให้แล้วประมาณ 1,500 สาขา
ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคตอบรับบริการ ADSL BizPack-Lite คือ 1.ราคาที่ให้บริการน่าสนใจทั้งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมถึงเอสเอ็มอีด้วย เนื่องจากบริการ ADSL BizPack-Lite สามารถทำให้ลูกค้าลดต้นทุนได้ 40-50% อย่างลูกค้าที่เป็นธนาคารที่ใช้เชื่อมต่อ เอทีเอ็มที่มีวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือที่เรียกกันว่าเว็บเอทีเอ็ม 2.มีเครือข่ายบริการครอบคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑลถึง 99% มีขีดความสามารถในการรองรับหรือคาปาซิตี้เกือบ 3 แสนวงจร
"ADSL BizPack-Lite จะอยู่ตรงกลางระหว่าง Dial up กับลิสไลน์ ในเรื่องของราคา แต่สปีดจะสูงกว่า"
เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า อย่างความเร็วที่ 128K ถ้าเป็นบริการลีสไลน์ค่าบริการ รายเดือนจะอยู่ที่ 9,500 บาท Dial up ประมาณ 1,000 บาท แต่อาจจะต่อติดบ้างไม่ติดบ้าง หรือบางทีหลุด และจะได้ความเร็วอยู่ที่ 56K ขณะที่บริการ ADSL BizPack-Lite จะคิดค่าบริการอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน แต่คุณภาพบริการและความเร็วจะดีกว่า
ด้านภาวะการแข่งขันในรอบปี 2548 นายนนท์กล่าวว่า ต้นปีหน้าการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น ผู้ให้บริการทุกรายต้องพยายามลดต้นทุนในการให้บริการ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มคุณภาพทั้งเรื่องของเครือข่ายและบริการ แต่หลักๆ ที่จะเห็นในปีหน้าคือเรื่องของบริการเสริมที่จะออกมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการประเภทเสียง ข้อมูล และวิดีโอ ที่เป็นทีวีบรอดแบนด์ เป็นต้น
"ปีหน้าบริการเสริมที่ออกสู่ตลาดคือจะเป็นทริปเปิลคือ เสียง อินเทอร์เน็ตที่เป็นเดต้า และวิดีโอสตรีมมิ่ง"
สำหรับกลุ่มทรูเริ่มให้บริการบรอดแบนด์มาประมาณ 3 ปี และเริ่มเห็นตลาดชัดเจนมากขึ้นเมื่อต้นปีนี้ หลังให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมาประมาณ 2 ปี โดยมีลูกค้าอยู่ประมาณ 10,000 ราย แต่ขณะนี้มีลูกค้ามากกว่า 1.5 แสนราย และเชื่อว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปีหน้ากลุ่มทรูจะมีบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เซอร์วิส โพรวายเดอร์ หรือเอเอสพี การทำเอาต์ซอร์สซิ่งผ่านบรอดแบนด์ เป็นต้น และกลุ่มทรูเชื่อมั่นใน จุดแข็งที่มีอยู่คือเรื่องของบริการที่ครบวงจรหรือโทเทิ่ล โซลูชัน
|