Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2545
"เด็กไทยมีความสามารถมากกว่าระบบ"             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

120 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย ปฐมบทการศึกษาสมัยใหม่ของไทย

   
search resources

ธีรยุทธ บุญมี




เมื่อกล่าวถึงชื่อ ธีรยุทธ บุญมี ผู้คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยย่อมนึกถึงภาพของอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษา ผู้เป็นกำลังสำคัญที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยหน้าใหม่ โดยมีประชาชนเป็นผู้ร่วมบันทึก ขณะที่บางส่วนได้ยินชื่อของเขา ผ่านงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมภายใต้ชื่อที่สื่อมวลชนระบุว่าเป็น ธีรยุทธโพลล์

แต่จะมีใครรู้บ้างว่าในปี 2511 ชื่อของ ธีรยุทธ บุญมี คือชื่อของนักเรียนสวนกุหลาบฯ ที่สอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของประเทศไทย สายวิทยาศาสตร์ ด้วยคะแนนรวมร้อยละ 91.90 แต่ไม่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงเหมือนกับที่ผู้สอบได้ที่หนึ่งในแต่ละปีได้รับ ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงว่าอายุเกินเกณฑ์ ก่อนที่จะเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีผลงานปรากฏในบรรณพิภพเป็นหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์

"การเป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯ ไม่ได้มีจุดใหญ่อยู่ที่การทำให้ผมเรียนเก่ง เรื่องเรียนเก่งเป็นประเด็นเล็กน้อยมากที่ผมได้จากสวนกุหลาบฯ สิ่งยิ่งใหญ่ที่ผมได้รับจากสวนกุหลาบฯ น่าจะอยู่ที่การทำกิจกรรม เป็นประสบการณ์ของการทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นกระบวนการที่บ่มเพาะให้เด็กมีความมั่นใจที่จะคิด ที่จะแสดงออก และรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง"

ในฐานะนักสังคมศาสตร์ ธีรยุทธตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของสวนกุหลาบฯ ต่อการศึกษาและสังคมไทย โดยโยงไปถึงจารีตของสวนกุหลาบฯ ในการพัฒนาเด็ก ซึ่งเขาเชื่อว่ามิได้เกิดขึ้นที่สวนกุหลาบฯ เพียงแห่งเดียว แต่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ จากผลของประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

เขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวสามัญชน ชนชั้นกลาง ที่ค่อนข้างมีปัญหาในทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ผู้ลากมากดี แต่ด้วยความสามารถในการเรียนในปี 2507 เขาสอบเข้าเป็นนักเรียนชั้น ม.ศ.1 ของสวนกุหลาบฯ ได้ ซึ่งเมื่อถึงชั้น ม.ศ.2 เขาก็เริ่มศึกษางานเขียนของนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง Einstein โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory) และงานของนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ ชื่อก้องโลกคนอื่นๆ ทั้ง Paul Dirac และ Richard Feynman

"ตอน ม.ศ.2 ก็ถือว่าเป็นนักเรียนที่มีชื่อเสียงแล้ว อาจารย์ สิปปนนท์ เกตุทัต และอาจารย์ระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งและมีชื่อเสียงของไทย อยากสนับสนุน ก็เลยได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับท่าน"

ธีรยุทธเล่าถึงการเดินสนทนาระหว่างเด็กนักเรียนชั้น ม.ศ.2 จากสวนกุหลาบฯ กับศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างอาจารย์ระวี ภาวิไล รอบบริเวณสระน้ำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นภาพน่าประทับใจและชวนให้สงสัยว่าบทสนทนาของนักเรียนสวนกุหลาบฯ ต่างวัยทั้งสองคนเป็นอย่างไรไว้อย่างน่าฟังว่า

"ผมเรียนท่านว่า ได้อ่านงานเรื่อง The Idea of Relativity แล้ว เห็นว่า ทำไมมันดูง่ายจัง ซึ่งอาจารย์ระวีก็ไม่ว่าอะไร เพียงแต่ให้ข้อคิดว่า จุดสำคัญมิได้อยู่ที่การแก้สมการทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่อยู่ที่เราจะต้องเข้าใจปรัชญาของสิ่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งแนวความคิดที่อาจารย์ระวีพูดถึงนี้เป็นสิ่งที่มีค่ามาก ตอนหลังก็ได้มาประยุกต์ใช้กับงานทางสังคมศาสตร์ด้วย"

โอกาสในการได้แลกเปลี่ยนกับผู้ทรงภูมิรู้ดังกล่าวในด้านหนึ่ง ได้กลายเป็นสะพานเชื่อมองค์ความรู้จากแหล่งอื่นๆ นอกโรงเรียน ให้เข้ามาสู่สังคมของโรงเรียน เพราะลำพังห้องสมุดของโรงเรียน ซึ่งได้ชื่อว่าก้าวหน้าและทันสมัยในยุคนั้น ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใฝ่รู้ของนักเรียนขณะนั้นแล้ว

"เด็กไทยมีความสามารถมากกว่าระบบ นอกจากห้องสมุดของโรงเรียนแล้ว พวกเราก็ไปหาหนังสือจากห้องสมุดของ British Council ไปหาหนังสือจากห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งอาจารย์สิปปนนท์ และอาจารย์ระวี เป็นผู้ยืมหนังสือให้ แล้วเราก็มาเวียนกันอ่าน มาถ่ายเอกสาร แจกจ่าย ความรู้มันก็เพิ่มพูนขึ้นอีก ตอนพวกเราอยู่ ม.ศ.5 ความรู้เราเท่ากับเด็กปี 2 ในมหาวิทยาลัย"

ความก้าวหน้าในองค์ความรู้ที่มีมากกว่าการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติของธีรยุทธ และเพื่อนๆ ร่วมชั้นของเขา ก้าวหน้าไปสู่ความรู้สึก "ขบถ" ต่อรูปแบบการสอบภายในโรงเรียน ด้วยการไม่เข้าห้องสอบกลางภาค และได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อมาในหมู่นักเรียนสวนกุหลาบฯ อีกหลายรุ่นที่ไม่เข้าห้องสอบกลางภาคในปีการศึกษาสุดท้าย แต่นั่นอาจไม่มากเท่ากับการที่ธีรยุทธบรรยายถึงความสวยงามของปรัชญาคณิตศาสตร์

"สมการคณิตศาสตร์ ที่นักวิทยาศาสตร์แต่ละท่านคิดค้นขึ้นมา มันมีความสวยงามซ่อนอยู่ เวลาที่เราเขียนสมการที่ไม่ลงตัว มันจะไม่งาม มีความรู้สึกรกรุงรัง แต่ถ้าเป็นสมการที่ลงตัวมันจะสวยมาก เหมือนการวาดภาพ ซึ่งใครเห็นก็จะรู้สึกว่า อันนี้ใช่" เขากล่าวพร้อมกับหยิบหนังสือ Relativity&Geometry ของ Roberto Torretti ซึ่งเขาบอกว่ายังไม่ดีนัก แต่ก็ใช้ได้สำหรับการอ่านยามว่าง

เขาเชื่อว่าประเพณีและจารีตในการกล่อมเกลาเด็กของสวนกุหลาบฯ เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเรียนเก่งอย่างเขามิได้เติบโตในลักษณะที่มีมิติเดียว ความเป็นโรงเรียนของสามัญชนในช่วงสมัยที่เขาเรียน ทำให้ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนไม่ได้เดินอยู่ในโรงเรียนอย่างมีปมด้อย นักเรียนมีโอกาสทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย และทำให้เกิดสังคมที่ดี

"นักเรียนสวนกุหลาบฯ gear ตัวเองให้รับรู้โลกผ่านกิจกรรมกว้างขวาง ไม่ได้ gear ตัวเองให้เป็นเด็กที่เรียนดีอย่างเดียวเหมือนนักเรียนที่อื่น ซึ่งถือเป็นความพิเศษ ที่เกิดจากดุลยภาพระหว่างนักเรียนกับครู และครูกับครูในการเปิดกว้างให้เด็กได้ใช้สิ่งแวดล้อมสร้างประสบการณ์ ซึ่งเป็น spirit ที่หายาก"

กระนั้นก็ดี ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากในยุคของเขา ธีรยุทธเห็นว่า สวนกุหลาบฯ เองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาหวังจะเห็นจากความเป็นสวนกุหลาบฯ ก็คือการเชื่อมโยงตัวตน สถาบันและประเทศชาติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

"พิพิธภัณฑ์การศึกษาที่จะเกิดขึ้นในตึกยาวของสวนกุหลาบฯ ไม่ควร focus อยู่เฉพาะความเป็นสวนกุหลาบฯ แต่ต้องไปไกลถึงสังคม ไปถึงชุมชนที่อยู่แวดล้อมซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นการให้ค่ากับสวนกุหลาบฯ ในระดับที่น้อยกว่าคุณค่าของสังคมข้างนอกที่ใหญ่กว่า"

เป็นทัศนะของธีรยุทธ บุญมี นักคิดที่ไม่เชื่อว่า แนวความคิดว่าด้วย role model จะสามารถใช้ได้กับสังคมไทย แต่เขาก็ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นกรณีตัวอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง ไม่เฉพาะกับประชาคมสวนกุหลาบฯ เท่านั้น แต่ในสังคมวงกว้าง เขาก็ได้รับคำชื่นชมมากมายเช่นกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us