Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2545
120 ปี สวนกุหลาบวิทยาลัย ปฐมบทการศึกษาสมัยใหม่ของไทย             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

สวนกุหลาบฯ คือ ที่อยู่ของปัญญาชน
"สวนกุหลาบฯ ในอดีต เปิดให้เด็กคิด และเติบโตโดยไม่สูญเสียตัวตน"
"เป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯเพราะพ่อเลือกไว้แล้ว"
"เด็กไทยมีความสามารถมากกว่าระบบ"
"ไม่ต้องการให้สถาบันต้องแปดเปื้อน"
ทำไมต้อง "สวนกุหลาบฯ" การแสวงหาถิ่นถาวรของโรงเรียนต้นแบบ
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
ความเป็นสวนกุหลาบ มุมมองจากด้านในของตึกยาว
สมาคมศิษย์เก่า สวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

   
search resources

โรงเรียนสวนกุหลาบ




เวลาที่ยาวนานนับเนื่องได้ร้อยยี่สิบปี หากเปรียบเป็นชีวิตของมนุษย์ ก็คงชราภาพมากแล้ว แต่ภายใต้ความแก่ชรานั้น ย่อมมีทั้งริ้วรอย สีสัน และเรื่องราวเล่าขานมากมาย เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ โรงเรียนหลวงที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาอย่างเป็นระบบแห่งแรกของไทย "โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ"

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นับเป็นสถานศึกษาเก่าแก่ ที่สืบเนื่องมาจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2424 จากพระราชปณิธานของพระองค์ที่ว่า "เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไปตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน" ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนหลวงแห่งนี้ และบ่งบอกถึงภารกิจของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ประวัติศาสตร์ย่อมมีหลายด้าน และบางด้านบางส่วนมิเคยได้รับการบันทึกไว้

หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงของยุคสมัยในขณะนั้น ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลาดังกล่าว นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของสยามประเทศ ท่ามกลางการคุกคามและถาโถมของอิทธิพลจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี่กับอังกฤษ ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผลต่อการศึกษาโดยเป็นการเปิดสังคมไทยให้รับวิทยาการแผนใหม่ ในอัตราเร่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

การจัดตั้งโรงพิมพ์ โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารี เมื่อปี พ.ศ.2378 เพื่อใช้พิมพ์เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในราชอาณาจักร ติดตามมาด้วยการตั้งโรงพิมพ์ภาษาไทยแห่งแรกขึ้นที่วัดบวรนิเวศฯ เพื่อพิมพ์หนังสือทางพุทธศาสนา พร้อมๆ กับการเขียนแบบเรียนภาษาไทยเล่มใหม่ เพื่อขยายฐานความรู้ในสังคมไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ล้วนแต่เป็นความพยายามที่จะทัดทานกระแสคุกคามจากโลกตะวันตกในห้วงเวลานั้นด้วย

นอกจากนี้ ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่งในรัชสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2398 ความตื่นตัวในการอุดช่องว่างความด้อยพัฒนาได้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม และเป็นจุดกำเนิดของกิจกรรมสมัยใหม่จำนวนมากในเวลาต่อมา

อิทธิพลของอังกฤษที่แพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้การเรียนภาษาอังกฤษเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังครองพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และทรงผนวช ก็ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจนมีความเชี่ยวชาญ เพราะตระหนักว่าภาษาอังกฤษจะเป็นหนทางนำไปสู่วิชาการที่ก้าวหน้าของตะวันตก และเมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ส่งเสริมให้พระราชโอรสและพระราชธิดา ได้มีโอกาสได้ศึกษาภาษาอังกฤษและวิทยาการต่างๆ ของตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

การรับสั่งให้มีการสืบหาครูฝรั่งจากเมืองสิงคโปร์ มาเป็น ผู้ถวายอักษรให้บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่ต้องไม่สอนศาสนาคริสต์ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในที่สุดได้โปรดเกล้าฯ ให้จ้าง แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) สตรีชาวอังกฤษ ให้เข้ามารับหน้าที่นี้ ตามคำกราบบังคมทูลแนะนำของ วิลเลียม อดัมซัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว ที่สิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ.2405 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งผ่านพระราชดำริที่ว่า ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารบ้านเมืองในอนาคต

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ศึกษาภาษาอังกฤษกับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ เรื่อยมาจนกระทั่งมีพระชันษาครบผนวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี ในปี พ.ศ.2408

เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ Mr.Francis G Patterson ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2416 พร้อมกับให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับสอนภาษาอังกฤษอีกโรงหนึ่งที่ตึกสองชั้น ริมประตูพิมานไชยศรีด้านตะวันออก ซึ่งการสอนของ Mr.Francis G Patterson ที่โรงเรียนแห่งนี้ ได้สร้างให้เกิดบุคคลสำคัญให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ กระทั่ง Mr.Francis G Patterson ลากลับประเทศอังกฤษ ในอีก 5 ปีต่อมา

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของโรงเรียนที่ดำเนินการโดยคณะมิชชันนารีทั่วอาณาบริเวณที่เรียกว่า รัตนโกสินทร์ ในด้านหนึ่งย่อมเป็นแรงกระตุ้น ให้ต้องมีการวางรากฐานการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างยิ่งยวดในราชอาณาจักรสยาม โดยเริ่มต้นจากการให้การศึกษาแก่เชื้อพระวงศ์ในราชสำนักเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะคลี่คลายไปสู่การให้ความรู้แก่ประชาชนวงกว้างเช่นในปัจจุบัน

"การเกิดขึ้นของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในปี 2424 เป็นภาพสะท้อนของความพยายามในการสร้างความทันสมัยให้แก่สังคมไทย โดยอาศัยการศึกษาแบบตะวันตกมาเป็นกลไกสำคัญ" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ อธิบายมูลเหตุแรกตั้งโรงเรียนหลวงแห่งนี้

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากภูมิหลังของสำนักเรียนในสังกัดของคณะมิชชันนารี ที่กำลังแพร่ขยายเครือข่ายอยู่ในขณะนั้นจะพบว่า หมอสอนศาสนาที่มีบทบาทสูงส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคณะหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ในคณะเพรสไบทีเรียน ซึ่งในห้วงเวลานั้นได้จัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตกขึ้นบนที่ดินตำบลกุฎีจีน (ซึ่งเป็นรากฐานของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ที่นับเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในเวลาต่อมา) ขณะที่กลุ่มมิชชันนารีชาวยุโรป ทั้งโปรตุเกส และฝรั่งเศส ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นคู่แข่งขันกับอังกฤษในการล่าอาณานิคมในขณะนั้น ก็พยายามเผยแผ่ศาสนาตามแนวทางคาทอลิก ควบคู่กับการสอนหนังสือแก่เด็กไทยด้วยเช่นกัน

ชาญวิทย์ระบุว่า รัฐไทยเชื่อในความเป็นมหาอำนาจของอังกฤษ และภาษาอังกฤษ ว่าเป็นปัจจัยที่จะนำพาประเทศให้รอดพ้นจากการคุกคามของประเทศอื่นๆ ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาแข่งขันกันอยู่ในภูมิภาค อีกทั้งความใกล้ชิดที่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง มีต่อครูชาวอังกฤษในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อิทธิพลของอังกฤษในราชสำนักไทยขณะนั้นอยู่ในกระแสสูง การจัดวางระบบการศึกษาของไทยในห้วงเวลานั้น จึงมีลักษณะที่โน้มเอียงไปในทางที่จะถอดแบบการศึกษาของอังกฤษอยู่ไม่น้อย

การจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบขึ้นในพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการศึกษาไทยในสมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระราชปณิธานที่มีต่อการจัดการศึกษาอย่างชัดเจน โดยพระองค์เชื่อว่า "การที่จะแก้ไขบ้านเมือง เห็นอย่างเดียว แต่ต้องจัดการศึกษา กล่าวคือต้องคิดฝึกหัดผู้คนของเราขึ้นโดยเร็ว"

โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดการเรียนในลักษณะที่ไม่ใช่โรงทานขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 2414 ก่อนที่จะขยายมาสู่การตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษในกรมมหาดเล็กที่มี Mr.Francis G. Patterson เป็นครูใหญ่ และท้ายที่สุดเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งล้วนแต่เป็นประหนึ่งลำดับขั้นการทดลองเพื่อการจัดการศึกษาไทย โดยรูปแบบการจัดที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้กลายเป็นตัวแบบในการจัดสร้างโรงเรียนสำหรับประชาชนขึ้นตามวัดและสถานที่ต่างๆ ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ยังได้สะท้อนความมุ่งหมายที่จะตอบสนองความต้องการด้านกำลังพล เพื่อเข้ารับราชการตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นกระทรวง ทบวง กรม จากผลของการปฏิรูปราชการแผ่นดินในรัชสมัยดังกล่าวด้วย

"สังคมไทยเป็นสังคมราชการ สวนกุหลาบฯ ในสมัยนั้น จึงเป็นแหล่งผลิต แหล่งสร้างผู้คนเพื่อไปเป็นกำลังสำหรับราชการ ก่อนที่จะมีการจัดวางระบบการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนรับใช้ราชการในที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากโรงเรียนฝึกหัดราชการพลเรือน" แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการและศิษย์เก่าคนหนึ่ง ชี้ความสำคัญของสวนกุหลาบฯ ผ่านยุคสมัยย้อนหลังกลับไป

การเป็นแหล่งผลิตผู้คนเข้าสู่ระบบราชการของสวนกุหลาบฯ ในทัศนะของแก้วสรร จึงเป็นโอกาสให้มีนักเรียนที่เรียนดีมีความสามารถจากทุกท้องถิ่นของสยามประเทศ เข้ามาเรียนในสถานศึกษาแห่งนี้ เพราะหน่วยงานราชการต้องการใช้ผู้คนเหล่านี้ในการบริหารกิจการบ้านเมือง

แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากในวัง แต่ "สวนกุหลาบฯ ไม่ใช่โรงเรียนของพวก elite หากเป็นแหล่งรวมของช้างเผือก ลูกชาวนา สามัญชน และเมื่อผู้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสรับราชการจนเติบโต มีชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคม ความรู้สึกว่าสวนกุหลาบฯ เป็นโรงเรียน elite จึงเกิดขึ้นในชั้นหลัง" แก้วสรรย้ำ

ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษ โรงเรียนหลวงแห่งนี้ ได้มีโอกาสเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านต่างๆ ขึ้นเป็นหลักในการสนองงานและบริหารกิจการบ้านเมืองมาตามสมควร ซึ่งในด้านหนึ่งย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น สังคมไทยยังมิได้เปิดกว้างขวางดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเลือกในเรื่องการศึกษา การดำรงอยู่ของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ หรือเมื่อเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกที่มีอยู่น้อยในขณะนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนั้น ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการวางพื้นฐานระบบการศึกษาของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อ 120 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตลอดเรื่อยมาเมื่อมีการกำหนดหลักสูตรแห่งชาติ หรือแม้กระทั่งในห้วงเวลาที่กำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปการศึกษา และการแสวงหาทิศทางที่เหมาะสมเช่นในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนปัญหาพื้นฐานของสังคมการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดีในอีกมิติหนึ่ง

จากหน่อเหง้ารากฐานที่เริ่มต้นขึ้นในฐานะโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ที่มีลักษณะเฉพาะชัดเจน แปรเปลี่ยนมาสู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่มีสถานะเป็นโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาแห่งนี้ ย่อมไม่แตกต่างจากโรงเรียนของรัฐแห่งอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายการรับนักเรียนและดำเนินรูปแบบการเรียนการสอน ตามหลักสูตรที่กรมวิชาการกำหนดเป็นแม่บท

ความคลี่คลายของบริบททางสังคม ซึ่งมิได้จำกัดโอกาสทางการศึกษาไว้เฉพาะในหมู่ชนชั้นนำทางสังคม หากแต่ประชาชนทั่วไปก็มีโอกาสเข้ารับการศึกษาอย่างมีระบบระเบียบยิ่งขึ้น ทำให้กรณีว่าด้วยความเป็นเลิศทางวิชาการของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ปรับเปลี่ยนจากประเด็นของการมีนักเรียนได้รับทุนเล่าเรียนหลวง หรือการเดินทางไปต่างประเทศเมื่อครั้งอดีต ไปสู่เรื่องราวของการสอบได้คะแนนเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศ หรือสัดส่วนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มากกว่าโรงเรียนแห่งอื่นแทน

กรณีดังกล่าวนับเป็นแรงกระตุ้นและดึงดูด ให้นักเรียนที่เรียนดีจากทั่วทุกภูมิภาคต่างเดินทางมาสอบคัดเลือก ด้วยหวังจะเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า กระบวนการสอบคัดเลือกย่อมส่งเสริมให้ปริมาณนักเรียนที่เรียนดีในโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ในห้วงเวลานั้นมีสัดส่วนมากกว่าที่อื่นๆ ด้วย

เมื่อมีการประกาศให้โรงเรียนแต่ละแห่งดำเนินนโยบายการรับนักเรียนในพื้นที่บริการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดว่าด้วยการกระจายโอกาสและความเป็นเลิศทางวิชาการ จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงขนาดใหญ่ไปสู่โรงเรียนรอบนอก เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานทางวิชาการร่วมกัน ในช่วงปี 2534-2535 ความท้าทายที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเผชิญจึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีต้นทุนเบื้องต้นที่เคยได้เปล่าเช่นในอดีตอีกแล้ว

กระนั้นก็ดี นโยบายการรับนักเรียนในพื้นที่บริการ ที่ได้รับการยอมรับในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติกลับได้รับการวิพากษ์ว่าเป็นนโยบายที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะหากประเมินในเชิงคุณภาพแล้ว นโยบายดังกล่าวได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีแนวโน้มจะด้อยคุณภาพลงไปเกือบจะพร้อมกัน มากกว่าที่จะเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพดังที่ตั้งใจไว้

ความเป็นเลิศทางวิชาการที่นักเรียนส่วนใหญ่มุ่งหมายจะได้รับจากโรงเรียน จึงเปลี่ยนแปรไปสู่การสมัครเรียนในสถาบันกวดวิชา ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและแตกแขนงไปสู่รายวิชาต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจง โดยมีเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การเพิ่มโอกาสในการสอบแข่งขันเข้าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเกือบจะมีฐานะเป็นช่วงเวลาตัดสินชีวิตในอนาคตของนักเรียนเหล่านี้ไปแล้ว

"สิ่งที่โรงเรียนสอน ไม่ได้มุ่งไปที่การสอบเพื่อให้ได้คะแนน แต่ต้องการสะท้อนแนวความคิดและความเป็นมาของทฤษฎีต่างๆ เพื่อบ่มเพาะปลูกฝังให้นักเรียนคิดเป็น ขณะที่สถาบันกวดวิชาจะเน้นที่การทำโจทย์เพื่อให้ได้คำตอบ ได้คะแนน" สมพงษ์ รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนปัจจุบันอธิบาย

ธุรกิจสถาบันกวดวิชา กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่านับพันล้านบาทในแต่ละปี ขณะที่ภาพของนักเรียนในทุกช่วงชั้นที่เดินทาง ไปเรียนกวดวิชาพิเศษในช่วงเย็น และวันเสาร์อาทิตย์ กลายเป็นปรากฏการณ์ปกติที่คุ้นชินสายตามากขึ้นทุกที

ขณะที่ปัญหาด้านจิตสำนึกของบุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องเผชิญกับภาวะการบีบรัดทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ก็ดูจะอยู่ในระดับที่ยากจะเยียวยา โดยมิพักต้องกล่าวถึงคุณภาพในเชิงวิชา การที่ต้องพิสูจน์ทราบในเชิงประจักษ์อีกมาก

สมพงษ์ระบุว่า การเอาข้อสอบย้อนหลังห้าปี สิบปี มาวางเรียงกันแล้วทำโจทย์เฉพาะข้อที่ว่าด้วยแรงโน้มถ่วง มันง่ายกว่าการที่จะสอนว่า Newton พบแรงโน้มถ่วงของโลกอย่างไร มีประโยชน์เพียงใด และสูตรการคำนวณมีที่มาอย่างไร "ครูอาจารย์จำนวนไม่น้อยเลยหันไปเอาดีกับการกวดวิชา ติวข้อสอบ" แทนที่จะมารอรับเงินเดือนครู ที่ไม่มีทางเพียงพอต่อการยังชีพแบบพอเพียงในยุคสมัยปัจจุบัน

นอกจากนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการศึกษาหาความรู้ได้ 3 ทาง ทั้งการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนปกติ การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน (การศึกษานอกโรงเรียน : กศน.) และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย (Homeschool) ยิ่งทำให้สถานการณ์ของสถานศึกษาแต่ละแห่ง มีแนวโน้มจะทรุดต่ำลงไปอีก

เพราะในอนาคตสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ สามารถที่จะจัดตั้งขึ้นในฐานะที่เป็นทางเลือกของการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยสถาบันการศึกษาในระบบจะต้องให้การรับรองและรับโอนหน่วยกิต ที่ผู้เรียนทำได้เข้าสู่ระเบียนผลการเรียน พร้อมกับมอบวุฒิการศึกษาของโรงเรียนให้แก่ผู้เรียนที่ได้ลงทะเบียนไว้ในระบบด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อหันมาพิจารณากิจกรรมนักเรียน ที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมที่ช่วยสร้าง ภูมิปัญญา และหนุนนำให้เกิดสำนึกความคิด ความรับผิดชอบในหมู่เยาวชน ซึ่งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเคยเป็นต้นแบบมาอย่างยาวนาน ก็มีสภาพไม่แตกต่างจากระบบการศึกษาที่ครอบอยู่ขณะนี้เท่าใดนัก

ความเฟื่องฟูของกิจกรรมนักเรียนสวนกุหลาบฯ ที่ก้าวล้ำนำหน้าไปสู่การจัดงานสังคมนิทรรศน์ และวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ ไล่เรียงไปถึงการจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน และสภานักเรียน ล้วนสะท้อนความอิสระ และเสรีภาพทางความคิดของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

แต่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมที่คลี่คลายไป กิจกรรมนักเรียน จำนวนไม่น้อยจึงเป็นเพียง "งานประจำที่ต้องทำสืบต่อกันไป" โดยมีคณาจารย์คอยติดตาม กำกับอย่างใกล้ชิด และนักเรียนแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย

"ช่วงนี้ไม่มีการคิดเรื่องโครงงานใหม่ๆ ครับ เพราะลำพังเรื่องการทำแหวนรุ่น ถ่ายภาพ ทำรูปเล่มหนังสือสมานมิตร เตรียมงานรับน้องใหม่ปีหน้า ก็ไม่มีเวลาเหลือแล้ว" สมาชิกในคณะกรรมการนักเรียนคนหนึ่ง เล่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ฟัง

หนังสือสมานมิตร หรือหนังสือรุ่นประจำปีของนักเรียน เคยเป็นหนังสือที่ได้รับการจับตามอง และเฝ้าติดตาม เพราะในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งโรงเรียนแล้ว ยังเป็นหน้าต่างบานใหญ่สำหรับนักเรียนในการแสดงออก ซึ่งทัศนะแนวความคิดที่มีต่อสังคมโรงเรียน และสังคมภายนอกที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ได้ดีที่สุด

แต่คงไม่มีหนังสือสมานมิตรเล่มใด ได้รับการกล่าวถึงมาก เท่า "ศึก.." หนังสือสมานมิตรประจำปี 2517 ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสิงหาคม 2516-สิงหาคม 2517 รวมทั้งได้ตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับระบบการศึกษา และปัญหาทางสังคมไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากเหตุการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ถึงขั้นมีการเผาทำลายหนังสือ "ศึก..." ในช่วงบ่ายของวันที่มีการแจกจ่ายหนังสือเล่มนี้

"เนื้อหาของ "ศึก..." โดยรวมเป็นวิชาการ แต่มันมีลักษณะท้าทาย ท้าทายค่านิยมเรื่องรักโรงเรียน รักสถาบัน ซึ่งเป็นค่านิยม ที่ไม่ค่อยมีเหตุผลหนักแน่นรองรับ เป็นเพียงสิ่งฟุ่มเฟือยที่คนในวัยเด็กสามารถครอบครองได้ แต่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เข้าสู่วัยทำงาน เรื่องเหล่านี้อาจเป็นยิ่งกว่าน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทรเสียอีก"

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซึ่งในปี 2517 เขาเป็นประธานนักเรียน และรับผิดชอบการจัดทำหนังสือศึก โดยมีประชา สุวีรานนท์ เป็นสาราณียากร กล่าวไว้ใน "คุยกับคนเก่า ณ ที่เดิม" ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือสมานมิตรประจำปี 2527 หรือ 10 ปีหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไว้อย่างน่าฟัง

แต่ในห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 120 ปีแห่งการสถาปนาโรงเรียนของเหล่าบรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่างชื่นชมกับประวัติความเป็นมาที่เนิ่นนานมากกว่าศตวรรษของโรงเรียน ที่เก่าแก่และเคยมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยกำลังดำเนินไปนี้ จะมีใครสักกี่คนคิดถึงการก้าวย่างต่อไปในโลกที่เป็นจริงของยุคสมัยแห่งปัจจุบันบ้าง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us